วินัยคือการใช้ชีวิต โปรดอย่ามองข้าม "ความเป็นธรรมดา"


.... เรื่องเหล่านี้อาจมองดูว่าเป็นเรื่องที่ง่ายๆ แต่ในชีวิตทั่วไปแล้วกลับพบว่าทำได้ยากจริงๆ ....หรือว่าสิ่งเหล่านี้มัน “ธรรมดา” เกินไป เราจึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ แต่มักจะไปตื่นเต้น ไปเล่นกับ “คำใหญ่ๆ” แทน...

          เมื่อพูดถึง วินัย เรามักจะคิดไปถึงการทำตามระเบียบ การทำตามกฎข้อบังคับ นึกถึงการปฏิบัติตัวของตำรวจ ทหาร นึกถึงการปฏิบัติตามสิกขาบทของพระสงฆ์  ในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า “Discipline” ใครที่เคยอ่านหนังสือชื่อ วินัยประการที่ห้า (The Fifth Discipline)” คงจะจำได้ว่าผู้เขียน (ซึ่งก็คือ Peter Senge) ได้พูดว่า ถ้าต้องการจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) หรือ LO ได้ จะต้องฝึกให้ได้ทั้งห้าวินัย ดังต่อไปนี้:

          1. มีวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)

          2. มีการเรียนรู้ร่วมกัน (Team Learning)

          3. มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้พัฒนา (Personal Mastery)

          4. มีการสร้างรูปแบบทางความคิดตลอดเวลา (Mental Model) และ

          5. มีความคิดที่เชื่อมโยงเป็นระบบ (Systems Thinking)

          ผมมองว่า วินัย เป็นเรื่องของ การใช้ชีวิต  ครับ ....วินัยสงฆ์ เป็นการใช้ชีวิตของพระสงฆ์ วินัยทหาร เป็นการใช้ชีวิตของทหาร  วินัยทั้งห้า  เป็นการใช้ชีวิตของคนในองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO) ทุกวันนี้ไม่ใช่มีแค่เรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ เรื่องเดียวนะครับ บางองค์กรก็ประกาศว่าจะเป็น “HPO (High Performance Organization)”  บ้างก็บอกว่าต้องการจะเป็นองค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization) บ้างก็ใช้คำว่า “Living Organization” “World-Class Organization” ….  จะเห็นได้ว่ามีชื่อแตกต่างกันนับไม่ถ้วน ทั้งนี้ขึ้นอยูกับว่าผู้บริหารแต่ละท่านนั้นจะ คลิ๊ก กับคำๆ ไหน

          ผมเองมักจะรู้สึกอึดอัดใจกับคำเหล่านี้ ทุกๆ ทีเวลาที่พบว่าแม้แต่เรื่องที่ง่ายๆ เช่น เรื่องการตรงต่อเวลา หรือ การจดจ่อต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า  เช่น ฟังผู้ที่กำลังนำเสนอด้วยความตั้งใจ ไม่พูดคุย  ไม่เปิดมือถือในห้องประชุม/สัมมนา  หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องของการ เข้าคิว ซื้อของก็ตาม  เรื่องเหล่านี้อาจมองดูว่าเป็นเรื่องที่ง่ายๆ แต่ในชีวิตทั่วไปแล้วกลับพบว่าทำได้ยากจริงๆ ....หรือว่าสิ่งเหล่านี้มัน ธรรมดา เกินไป เราจึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ แต่มักจะไปตื่นเต้น ไปเล่นกับ คำใหญ่ๆ แทน

          ผมว่าเราไม่ควรมองข้าม ความเป็นธรรมดา  เหล่านี้ เพราะนี่คือ รากฐาน ที่สำคัญสำหรับการบริหารชีวิต บริหารองค์กรครับ หากเราต้องการพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวไกลต่อไป เราคงต้องหันมา ใส่ใจ และสร้างวินัยเหล่านี้ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เรามุ่งหวังไว้  ก็คงเป็นไปได้แต่เพียง ความฝัน เท่านั้นเองครับ

หมายเลขบันทึก: 54414เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  1. เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
  2. ธรรมชาติมนุษย์ เรื่องที่ดูง่าย มักจะทำได้ยากกว่า เรื่องที่ดูยากครับ

เรียน ดร.ประพนธ์

ครูอ้อยได้อ่านบันทึกของท่านบ่อยมาก  วันนี้มีประเด็นที่โดนใจมาก  เลยขออนุญาตแสดงความคิดเห็นด้วยนะคะ  จากเรื่องเครื่องตอกบัตรบอกความซื่อสัตย์ของมนุษย์

หากท่านเพ่งเล็งไปที่ผู้บริหาร  เรื่องธรรมดาก็จะกลายไม่ธรรมดา  เพราะท่านเหล่านั้นไม่มองเห็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องไม่ธรรมดา  ท่านปฏิบัติจนเคยชินกับเรื่องธรรมดา  และผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปเช่นกันค่ะ

เปรียบเสมือนเครื่องตอกบัตร  มีไว้เพื่อควบคุมความซื่อสัตย์  แต่คนก็จะให้คนอื่นนำบัตรของตนไปตอกบัตรเสียอีก  ต่อให้มีอะไรมากำหนดความซื่อสัตย์แล้ว  แต่คนไม่ได้ปฏิบัติออกมาจากใจจริง  เครื่องอะไรก็ไม่มีความหมายค่ะ

มาสาย....จนอีกไม่กี่นาทีก็กินข้าวกลางวันแล้ว  แบบนี้เรียกสายหรืออะไรดีคะ(ไม่ได้ว่าใครนะคะ)

เพิ่งเข้าไปอ่านเรื่องเครื่องตอกบัตรของครูอ้อย เห็นด้วยร้องเปอร์เซนต์....ใส่ comment ไว้ด้วยครับ ....จะขอแชร์เรื่องที่ผมไปเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) บอกแต่ว่าภารกิจของหน่วยนี้ จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความซื่อสัตย์มากๆ ....แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ มีบางคนที่มาเข้าสัมมนาในช่วงเช้า เซ็นต์ชื่อทั้งเช้าและบ่าย (จริงๆ แล้ว ทำไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าว่า) ครั้นช่วงสายๆ (ตอนพัก break) ก็เห็นท่านหายไปซะแล้ว

ครูอ้อยเห็นครูน้อยไปไหนมาไหนในเรื่องของการอบรม  ตรงไปตรงมา  กลับมาต้องเขียนรายงาน  พอเขียนแล้วก็เคยถูกว่าในที่ประชุมว่า  "ที่ไปอบรมมาขยันรายงานแต่ไม่รู้ว่าทำหรือเปล่า "

แต่ก็ยังดีกว่าผู้บริหารบางท่านไปประชุมยังโดดเลย  อย่าว่าแต่เขียนรายงาน 

เป็นอย่างนั้นจริงๆค่ะ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  ในคราวประชุมเชิงปฏิบัติการ  ไปทั้งหมด  ประมาณ 8 คน  ผู้บริหารขอกลับก่อนตอนบ่าย  แต่พอวันรุ่งขึ้นถามเพื่อนที่อยู่โรงเรียนว่า  ท่านไม่ได้กลับมาโรงเรียนตอนบ่าย  อ้าวแล้วไปไหนล่ะ

เป็นต้นค่ะ

  วินัย คือต่อหน้า ต้องมีคนเห็น ส่วนจริยธรรม คือทั้งต่อหน้าและลับหลัง (อยากจะอยู่พวกหลัง แต่ทำยากจังครับอาจารย์)

เห็นด้วยคะ งานของคุณหมอบางท่านให้ผู้ป่วยมารอแต่เช้า ตี 5 มาออกตรวจ 10 โมง  เที่ยงก็ไปคลินิค 14 น.มาตรวจ 15.30 น.รับลูกกลับบ้าน

ไม่รู้วินัย หรือจริยธรรม

บางท่าน ดีมากมีส่วนน้อยที่กล่าว แต่ทำให้ส่วนใหญ่เสียหายแก้ไม่ได้

เรื่องนี้น่าจะสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรของคนในชาติค่ะ     ก่อนสอนKM อาจารย์จะกรุณาเตือนอาจจะทำให้ลูกศิษย์ทั้งหลายได้คิดและทำตามน่าจะดีนะคะ

ดิฉันพยายามให้เจ้าหน้าที่นั่งหน้าเวลามาฟังป่านนี้ยังทำไม่ค่อยได้เลยค่ะ     ประเด็นของอาจารย์ดิฉันเห็นด้วยอย่างมากและจะนำไปสร้างเป็นวินัยให้คนในองค์กรค่ะ    

เรียน อ.ดร.ประพนธ์ค่ะ สิ่งที่อาจารย์เรียก “วินัย” เป็นเรื่องของ “การใช้ชีวิต” นั้นดิฉันกลับมองว่า...เป็นเรื่องของมารยาทมากกว่าค่ะ วินัยของอะไร...ถ้าไม่อยู่สภาพนั้นๆวินัยก็อาจจะไม่ทำก็ได้.... แต่ถ้าเป็นมารยาทของคน...ไปอยู่ที่ไหนๆ...ความเป็นคนยังมี...มารยาทมันก็ตามมาเองค่ะ(ดูจากเด็กสมัยนี้ก็พอบอกได้...จากลูกๆของดิฉันเอง...ไม่ค่อยจะมีมารยาท...ทั้งๆที่สอนจนเบื่อ...)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท