กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ..สปา


 

ตอนแรกผู้เขียนเข้าใจว่า  กฎหมายที่เกี่ยวกับสถานประกอบการสปา น่าจะอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับสถานบริการทั่วไป จึงได้สืบค้นกฎหมายไปยังหัวข้อดังกล่าว แล้วได้พบความหมายของสถานบริการ ดังนี้

    สถานบริการ คือ สถานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า ดังนี้

1. สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง ประเภทที่มี และประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ ได้แก่ ไนต์คลับ บาร์ ภัตตาคาร เป็นต้น
2. สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย และบริการโดยมีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า (ได้แก่ ภัตตาคารที่มีหญิงบำเรอนั่งร่วมโต๊ะปรนนิบัติลูกค้า หรือโรงน้ำชาที่มีเตียงพักผ่อนหลับนอน และมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า เป็นต้น)
3. สถานที่อาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า (ได้แก่ สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการนวดแก่ลูกค้ารวมตลอดถึงร้านตัดผมหรือดัดผมซึ่งมีห้องนวดแก่ลูกค้าด้วย เป็นต้น)
4. สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือ การแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง (ได้แก่ ร้านคอฟฟี่ช้อบ ร้านขายอาหารหรือเครื่องดื่มโดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง เป็นต้น)
จากความหมายดังกล่าว ทำให้ไม่แน่ใจว่า จะจัดสปาให้เป็นสถานบริการ  ตามความหมายข้อที่ 3 และใช้ข้อกฎหมายที่บังคับใช้กับสถานบริการตามหัวข้อ 3 ได้หรือไม่  จึงได้สืบค้นต่อไปยังเวบไซค์เกี่ยวกับสปา และได้พบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่น่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง มีใจความว่า
" ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509    เป็นการสมควรกำหนดมาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ทั้งนี้เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ "

 ผู้เขียนจึงนำมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มาลงไว้ โดยนำมาลงเฉพาะในส่วนของ  " กิจการสปาเพื่อสุขภาพ"  ที่ผู้เขียนมีความสนใจ

     “กิจการสปาเพื่อสุขภาพ” หมายความว่า การประกอบกิจการที่ให้การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพ โดยบริการหลักที่จัดไว้ประกอบด้วย การนวดเพื่อสุขภาพและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพโดยอาจมีบริการเสริมประกอบด้วย เช่น การอบเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โภชนบำบัดและการควบคุมอาหาร โยคะและการทำสมาธิ การใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ก็ได้

มาตรฐานกิจการสปาเพื่อสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

มาตรฐานสถานที่ ของสถานประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพ

(1) ตั้งอยู่ในทำเลที่มีความสะดวก ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อ    สุขภาพ ไม่อยู่ ใกล้ชิดศาสนสถาน ในระยะที่จะก่อให้เกิดปัญหา หรืออุปสรรคในการปฏิบัติศาสนกิจ

(2) ในกรณีที่ใช้พื้นที่ประกอบกิจการสปา ในอาคารเดียวกันกับการประกอบกิจการอื่นซึ่งมิใช่กิจการสถานบริการ ต้องแบ่งสถานที่ให้ชัดเจน และกิจการอื่นนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการให้บริการในกิจการสปาเพื่อสุขภาพนั้น

(3) พื้นที่สถานประกอบการจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ติดต่อกับสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

(4) กรณีสถานประกอบการ มีการให้บริการหลายลักษณะรวมอยู่ในอาคารเดียวกันหรือสถานที่เดียวกัน จะต้องมีการแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน และแต่ละสัดส่วนจะต้องมีพื้นที่และลักษณะตามมาตรฐานของการให้บริการแต่ละประเภท

(5) การจัดบริเวณที่ให้บริการเฉพาะบุคคล จะต้องไม่ให้มิดชิดหรือลับตาจนเกินไป

(6) พื้นที่ที่ให้บริการทั้งภายใน และภายนอกสถานที่ประกอบกิจการสปา เพื่อสุขภาพต้องสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ

(7) อาคารต้องทำด้วยวัสดุที่มั่นคง ถาวร ไม่ชำรุดและไม่มีคราบสิ่งสกปรก

(8) บริเวณพื้นที่ที่มีการใช้น้ำในการให้บริการ พื้นควรทำด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดง่ายและไม่ลื่น

(9) จัดให้มีแสงสว่างที่เพียงพอในการให้บริการแต่ละพื้นที่

(10) จัดให้มีการระบายอากาศเพียงพอ

(11) มีการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยและน้ำเสียที่ถูกหลักสุขาภิบาล

(12) มีการควบคุมพาหะนำโรคอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

(13) จัดให้มีห้องอาบน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ห้องผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าและตู้เก็บเสื้อผ้าที่สะอาดถูกสุขลักษณะและปลอดภัยอย่างเพียงพอและควรแยกส่วนชาย หญิง

(14) จัดให้มีการตกแต่งสถานที่ที่เหมาะสม โดยจะต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้เสื่อมเสีย ศีลธรรม หรือขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีอันดี 



มาตรฐานผู้ดำเนินการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ 

(1) ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีผู้ดำเนินการคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลและรับผิดชอบในการดำเนินการสถานประกอบการนั้น ผู้ดำเนินการจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้


     (ก) มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
     (ข) มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย 
     (ค )มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตร ในสาขาที่เกี่ยวกับ สุขภาพหรือสาขาที่คณะกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานสถานประกอบการกลางรับรอง หรือให้ความเห็นชอบ หรือมีประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
     (ง)ผ่านการประเมินความรู้ ความสามารถ ตามที่คณะกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานสถานประกอบการกลางกำหนด
     (จ)กรณีเคยเป็นผู้ดำเนินการมาก่อน แต่ถูกเพิกถอนใบประเมินความรู้ความสามารถ จะต้องพ้นระยะเวลานับแต่วันที่ถูกเพิกถอน ไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะขอประเมินความรู้ ความสามารถใหม่ได้ 
    ( ฉ)ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 
     (ช) ไม่เป็นโรคต้องห้ามดังต่อไปนี้ 
             1) โรคพิษสุราเรื้อรัง 
             2)โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง 
             3) โรคจิตร้ายแรง 
             4)โรคอื่นในระยะรุนแรง ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสถานประกอบการ
     (ซ) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
     (ฌ) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(2) ผู้ดำเนินการต้องควบคุมดูแลกิจการของสถานประกอบการนั้นได้โดยใกล้ชิด และไม่เป็นผู้ดำเนินการสถานประกอบการแห่งอื่นอยู่ก่อน

(3) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้ดำเนินการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ หรือผู้ดำเนินการ ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ผู้ประกอบการจะต้อง จัดหาผู้ดำเนินการใหม่ และต้องแจ้งเป็นหนังสือ ให้กองการประกอบโรคศิลปะสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตท้องที่ ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนผู้ดำเนินการ ในระหว่างที่ดำเนินการจัดหาผู้ดำเนินการใหม่  ให้กิจการสปาเพื่อสุขภาพนั้นประกอบกิจการต่อไปได้ แต่ไม่เกิน 30 วัน 


ผู้ดำเนินการมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(1) ควบคุมและดูแลผู้ให้บริการในสถานประกอบการ ให้บริการตามนโยบายและคู่มือปฏิบัติงานของสถานประกอบการแห่งนั้นโดยเคร่งครัด

(2)จัดทำทะเบียนประวัติผู้ให้บริการและพนักงาน

(3) ทุกครั้งที่มีการจัดบริการรายการใหม่ หรือปรับปรุงบริการรายการใดๆ ในแบบแสดงรายการ หรือมีการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ จะต้องดำเนินการให้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการสำหรับบริการนั้น หรือจัดทำคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาผู้ให้บริการให้สามารถให้บริการนั้นๆ ได้ตามคู่มือที่จัดทำขึ้น

(4) ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

(5) ควบคุมดูแลมิให้มีการจัดสถานที่ รูปภาพ หรือสื่อชนิดอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการ
สามารถเลือกผู้ให้บริการได้

(6) ควบคุมและดูแลผู้ให้บริการในสถานประกอบการมิให้มีการลักลอบ หรือมีการค้า หรือร่วมประเวณี หรือมีการกระทำ หรือบริการที่ขัดต่อกฎหมาย วัฒนธรรม ศีลธรรมและประเพณีอันดี

(7) ควบคุมดูแลการบริการ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ต่างๆให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะและใช้ได้อย่างปลอดภัย

(8) ห้ามมิให้ผู้ดำเนินการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ
     (ก)  รับผู้มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์เข้าทำงาน
     (ข) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้เข้าไปอยู่ในสถานประกอบการระหว่างเวลาทำการ
     (ค) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในสถานประกอบการ
     (ง) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลย ให้มีการนำอาวุธเข้าไปในสถานประกอบการ โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

(9) ผู้ดำเนินการต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานโดยเคร่งครัด

(10) ผู้ดำเนินการต้องดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิการในการทำงานของ ผู้ให้บริการและพนักงาน และต้องมีมาตรการป้องกันการถูกล่วงละเมิดจากผู้รับบริการ

(11) ผู้ดำเนินการต้องแสดงใบรับรองมาตรฐานไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ชัดเจน ณ สถานประกอบการนั้น



มาตรฐานผู้ให้บริการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ 

(1) ผู้ให้บริการจะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
      (ก) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 
    (ข)ได้รับการอบรมหรือถ่ายทอดความรู้ ตามหลักสูตรจากหน่วยงานราชการ สถาบัน หรือสถานศึกษาที่คณะกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานสถานประกอบการกลางรับรอง หรือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในกิจการสปาเพื่อสุขภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านการทดสอบความรู้และประสบการณ์โดยคณะกรรมการตรวจและประเมินมาตรฐานสถานประกอบการกลาง
     (ค) ไม่เป็นโรคต้องห้ามดังต่อไปนี้
                 1) โรคพิษสุราเรื้อรัง
                 2) โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง 
                 3) โรคจิตร้ายแรง
                4) โรคอื่นในระยะรุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการ  ทำงานหรือโรคติดต่อ ในระยะร้ายแรง
      (ง) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 
      (จ)กรณีเคยเป็นผู้ให้บริการมาก่อนแต่ถูกคณะกรรมการตรวจและประเมิน มาตรฐานสถานประกอบการเพิกถอนใบประเมินความรู้ ความสามารถ จะต้องเลยระยะเวลาเพิกถอนไม่น้อยกว่า ๒ ปี จึงจะขอประเมินความรู้ ความสามารถใหม่ได้ 
 

(2) ผู้ให้บริการมีหน้าที่และข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้ 
      (ก) ให้บริการแก่ผู้รับบริการ ตามความรู้ และความชำนาญตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ ที่ได้ศึกษาอบรมมา 
       (ข) ไม่กลั่นแกล้ง ทำร้าย หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้รับบริการ
      (ค) เก็บความลับของผู้รับบริการ โดยไม่นำข้อมูลหรือเรื่องที่ได้ยินจากผู้รับบริการ ไปเปิดเผยจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับบริการหรือบุคคลอื่น
      (ง) ไม่แสดงอาการยั่วยวน กระทำลามกอนาจาร หรือพูดจาในทำนองให้ผู้รับบริการเข้าใจว่าผู้ให้บริการต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้รับบริการ และต้องไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้รับบริการหรือค้าประเวณี
      (จ) ไม่พูดจาหยอกล้อ หรือล้อเล่น หรือกระทำการใดๆ อันมิใช่หน้าที่ที่จะต้อง ให้บริการกับผู้รับบริการ โดยต้องให้บริการด้วยอาการสุภาพ อ่อนโยน
      (ฉ) ไม่ดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือของมึนเมา หรือยาเสพติด ในขณะให้ บริการแก่ผู้รับบริการ
      (ช) มีความซื่อสัตย์ สุจริตต่อหน้าที่ที่กระทำและไม่ลักขโมยทรัพย์สินของผู้รับบริการ
     (ซ) มีความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และไม่นำโรคติดต่อไปแพร่ แก่ผู้รับบริการและเพื่อนร่วมงาน
     (ฌ) ห้ามมิให้ผู้ให้บริการใส่เครื่องประดับหรือของมีค่า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน
      (ญ)เป็นผู้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี



มาตรฐานการบริการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ

(1) ผู้ประกอบการต้องจัดให้มี ผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามประกาศนี้ และห้ามมิให้นำ ผู้ที่ขาดคุณสมบัติมาให้บริการ เว้นแต่ผู้ให้บริการฝึกหัด ซึ่งมีจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ให้บริการที่มี 
 

(2) ผู้ประกอบการต้องจัดการบริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริการแต่ละประเภท โดยจะต้องมีบริการหลักประกอบด้วย การนวดเพื่อสุขภาพ การใช้น้ำเพื่อสุขภาพ เช่น บริการอบไอน้ำ อ่างน้ำวน บ่อน้ำร้อน บ่อน้ำเย็น เป็นต้น และให้มีบริการอื่น เช่น การพอกโคลน การเสริมสวย การออกกำลังกาย อาหารสุขภาพ โยคะ สมาธิและอื่นๆ อีก ๓ รายการเป็นอย่างน้อย
 

(3) สถานประกอบการต้องมีลักษณะการให้บริการดังนี้
     (ก) เวลาเปิดทำการให้เริ่มบริการได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา และเวลาปิดทำการ หรือให้บริการไม่เกิน 22.00 นาฬิกา
     (ข) ผู้ประกอบการต้องแสดงทะเบียนประวัติผู้ให้บริการ ตามแบบที่กระทรวง สาธารณสุขกำหนด 
     (ค)ผู้ประกอบการต้องจัดทำ ทะเบียนประวัติผู้รับบริการ ไว้เป็นหลักฐานตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยต้องเก็บรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้ไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับแต่วันที่จัดทำ
      (ง) ห้ามมิให้มีการบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือของมึนเมาทุกชนิด แก่พนักงานผู้ให้บริการหรือผู้รับบริการและต้องถือเป็นเขตปลอดบุหรี่
   (จ) การให้บริการจะต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ การประกอบวิชาชีพอื่นตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทางการแพทย์ กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
   (ฉ) การประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณาการให้บริการของสถานประกอบกิจการ จะต้องไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าสถานที่ดังกล่าว มีการให้การบำบัดรักษาพยาบาลอันอาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อความโฆษณานั้นจะต้องไม่เป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความเป็นจริง
     (ช) ผู้ประกอบการต้องแสดงรายการบริการ และอัตราค่าบริการไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่าย หรือสามารถให้ตรวจสอบได้
    (ซ) ผู้ประกอบการต้องไม่จัดหรือยินยอมให้มีรูปแบบการให้บริการ ที่อาจเข้าข่ายหรือฝ่าฝืนกฎหมายสถานบริการหรือบริการที่จะต้องขออนุญาตเป็นพิเศษ เช่น การพนัน การแสดงดนตรี การขับร้อง คาราโอเกะ สนุ้กเกอร์ เต้นรำ รำวง ตลอดจนจัดให้มีมหรสพอื่นๆ เป็นต้น 
     (ฌ) ผู้ประกอบการต้องกำหนดให้มีเครื่องแบบสำหรับผู้ให้บริการ โดยเป็นเครื่องแบบที่รัดกุม สุภาพ สะอาดเรียบร้อย สะดวกต่อการปฏิบัติงาน และต้องมีป้ายชื่อผู้ให้บริการติดไว้ที่หน้าอกด้านซ้าย



มาตรฐานความปลอดภัยกิจการสปาเพื่อสุขภาพ

(1) ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีชุดปฐมพยาบาล ไว้ในสถานประกอบการ และพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาที่มีการให้บริการ

(2)ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีป้ายหรือข้อความเพื่อแสดง หรือเตือนให้ผู้รับบริการระมัดระวังอันตรายหรือบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภยันตราย

(3)ในกรณีที่กิจการสปาเพื่อสุขภาพ มีการจัดให้มีบริการอบความร้อน อบไอน้ำ อ่างน้ำวนไว้บริการตลอดจนอุปกรณ์หรือบริการอื่นใดอันอาจก่อให้เกิดอันตรายไว้บริการ ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีพนักงานที่มีความรู้ ความเข้าใจและความชำนาญในการใช้อุปกรณ์นั้นเป็นอย่างดี เป็นผู้รับผิดชอบอุปกรณ์ และมีหน้าที่คอยตรวจตราดูแลการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวทั้งในขณะใช้งานและหลังการใช้งาน

(4) ผู้ประกอบการต้องจัดให้มี นาฬิกาที่สามารถมองเห็น อ่านเวลาได้โดยง่ายและชัดเจนจากจุดที่ผู้รับบริการกำลังใช้บริการอบความร้อน อบไอน้ำ และอ่างน้ำวนอยู่ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการสามารถควบคุมเวลาการใช้อุปกรณ์ด้วยตนเองได้โดยสะดวก

(5) ผู้ประกอบการต้องจัดให้มี ระบบฉุกเฉินสำหรับบริการอบความร้อน อบไอน้ำและ อ่างน้ำวน ซึ่งสามารถหยุดการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวได้โดยอัตโนมัติในทันทีที่เกิดจากภาวะซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับบริการ และการเข้าถึงเพื่อใช้ระบบฉุกเฉินนั้นต้องสามารถกระทำได้โดยง่ายและสะดวกในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

(6) ภายในบริเวณที่ให้บริการอบความร้อน อบไอน้ำ อ่างน้ำวน และบ่อน้ำร้อน น้ำเย็น ต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ และเครื่องตั้งเวลา เพื่อให้พนักงานผู้รับผิดชอบอุปกรณ์สามารถปรับและควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยสำหรับผู้รับบริการตลอดเวลา

(7) ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีระบบคัดกรองผู้รับบริการ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเข้าใช้บริการในบางแผนก โดยเฉพาะต้องไม่อนุญาตให้สตรีตั้งครรภ์ ผู้ใช้ยาบางประเภท ที่อาจเกิดปัญหาได้เมื่อเข้าใช้อุปกรณ์บางชนิด ผู้ที่เพิ่งจะดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเมาสุรา ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยโรคหัวใจเข้าใช้อุปกรณ์ หรือบริการที่เสี่ยงต่อภาวะนั้น เว้นแต่จะได้รับการสั่งให้ใช้อุปกรณ์จากแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง

(8) ผู้ประกอบการต้องดูแล และควบคุมคุณภาพน้ำที่ใช้สำหรับให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นอ่างน้ำวน สระน้ำ หรืออุปกรณ์การใช้น้ำชนิดอื่นใด ให้มีคุณสมบัติทางเคมีที่ปลอดภัยและไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ

(9) ผ้า อุปกรณ์และเครื่องมือทุกชนิดเมื่อใช้บริการแล้ว ต้องซักหรือล้างทำความสะอาดอย่างถูกสุขลักษณะ ก่อนนำกลับมาใช้บริการครั้งต่อไป และในกรณีที่การให้บริการมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น การใช้ไม้หรืออุปกรณ์ที่ใช้ขัดหรือขูดผิวหนังในการบริการกดจุดฝ่าเท้า ต้องผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าและควบคุมเชื้อได้ ไม่น้อยกว่าเทคนิคการปลอดเชื้อทุกครั้งหลังการให้บริการ

(10)ในกรณีที่ผู้ให้บริการอาจมีการหายใจรดบริเวณใบหน้าผู้รับบริการ เช่น ในการดูแลและนวดบริเวณใบหน้า ผู้ให้บริการต้องสวมอุปกรณ์ที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการหายใจรดบริเวณใบหน้าผู้รับบริการและการแพร่กระจายเชื้อระบบทางเดินหายใจไปสู่ผู้รับบริการ ในขณะที่มีการให้บริการทุกครั้ง

(11) ผู้ประกอบการต้องมีการดำเนินการป้องกัน การติดเชื้อที่เหมาะสม

(12) ต้องมีระบบการป้องกันอัคคีภัย ในสถานประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 

ลินดา วัฒนเกียรติวงศ์

4818140064

หมายเลขบันทึก: 54374เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2006 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
รรินทร์ สปาเฮลแอนบิวตี้

ดีคะ ได้ความรู้และดูแลควบคุมที่ร้านได้ถูกต้องตามกระทรวงสาธรณะสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท