ความประทับใจจากการไปเยี่ยมชื่นชมคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล


ผมมองว่า ยุคนี้น่าจะเป็นยุคทองของคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ เพราะเรารู้ว่ามีเหมืองทองอยู่ตรงหน้า หัวใจสำคัญที่สุดก็คือ สมาชิกของคณะต้องร่วมแรงร่วมใจจัดทีมกันขุด และรู้จักใช้เครื่องผ่อนแรง

          สภามหาวิทยาลัยไปเยี่ยมชื่นชมคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นคณะที่ 5  เมื่อวันที่ 10  ต.ค. 49   ผมมีความประทับใจเป็นพิเศษในประเด็นต่อไปนี้

          1. ก่อตั้งมาแล้ว 58 ปี   นับเป็นคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งแรกในภูมิภาค (ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย)   มีศิษย์เก่าเป็นคนต่างชาติ 1,500 คน   จากศิษย์เก่าจำนวนทั้งหมด 11,000 คน
          2. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อม   ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ม.บูรพา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  และมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะวิทยาศาสตร์   คณะสิ่งแวดล้อมฯ  และภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์)   ช่วยให้หลักสูตรปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม   มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ   นับได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพสูง  และภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมได้พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี GIS และ modelling ด้านสิ่งแวดล้อม   และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ   และได้ร่วมงานด้าน e-learning  กับ สกอ.
          3. จุดเด่นของคณะนี้ มีอย่างน้อย 6 ด้าน
                         (1) หลักสูตร สม.
                         (2) หลักสูตรการบริหารโรงพยาบาล
                         (3) ความสามารถด้านการวิจัย และระบาดวิทยา
                         (4) การจัดการเรียนการสอนภาคสนาม ร่วมกันหลายสาขาอาชีพ
                         (5) งานช่วยเหลือสังคม บริการวิชาการแก่สังคม เช่น สึนามิ
                         (6) ได้รับการยอมรับจากวงการต่างประเทศ มีกลไกความร่วมมือกับต่างประเทศหลายกลไก
          4. จุดที่น่าเป็นห่วง คือ
                         (1) ผลงานวิจัยตีพิมพ์ลดน้อยลง
                         (2) ผลงานเด่นไม่ชัดเจน
                         (3) ผลงานที่เรียกว่างานวิจัยนั้น   ส่วนหนึ่งเป็นงานบริการวิชาการตามความต้องการของหน่วยราชการ   และยังไม่มีกลไกให้งานเหล่านี้ยกระดับขึ้นเป็นงานวิจัยที่มีโจทย์คมชัดและสร้างความรู้ใหม่
          5. มีโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานวิชาการของคณะสาธารณสุขศาสตร์อย่างชัดเจน  คือ  "ลูกค้า"   หรือ  strategic  partner  ของคณะมีการขยายตัวและมีความหลากหลายมากขึ้น   จากเดิมเน้นที่กระทรวงสาธารสุขกระทรวงเดียว   ขยายมาเป็น 6 กระทรวงเป็นอย่างน้อย คือ
                         -กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                         -กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
                         -กระทรวงแรงงาน
                         -กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์
                         -กระทรวงศึกษาธิการ  (สกอ.)
                         -กระทรวงสาธารณสุข
          เมื่อ strategic  partner ชัด    รู้ความต้องการชัด   ก็จะสามารถพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย   โจทย์ของการทำงานเชิงสร้างสรรค์   เป็นโอกาสที่จะทำงานในระดับคุณภาพสูง   ผลกระทบสูง   เป็นที่ยอมรับและยกย่องทั่วไปได้
          6. ภารกิจสำคัญของผู้บริหาร คณาจารย์ และสมาชิกของคณะฯ   คือ การสร้าง platform การทำงานวิชาการที่รวมพลังความสามารถภายใน  และร่วมมือกับภายนอก   ในการผลิตผลงานระดับคุณภาพสูง   เป็นที่ภาคภูมิใจได้อย่างแท้จริง ออกมา   ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นความท้าทายของผู้บริหารชุดใหม่เป็นอย่างมาก   เคล็ดลับ คือ ให้ใช้พลังทั้งจากภายในคณะ  และใช้พลังจากภายนอกคณะเข้ามาเสริมทำให้ผู้คนภายในคณะเห็นช่องทาง  เกิดกำลังใจ   และเกิดการทำงานเป็นทีมที่มีเป้าหมายชัดเจน   เกิด success stories เล็กๆ   ภายในเวลาไม่นาน   ให้ความสำเร็จนั้น เป็น positive feedback หรือ reinforcement กลับมาสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจภายในคณะ
          7. การจัดการอย่างเป็นระบบและรวมพลังภายใน   เพื่อร่วมกันกำหนดโจทย์วิจัยภาพใหญ่   ร่วมกับ  strategic  partners  เพื่อหาทางดึงทุนวิจัยใหญ่ๆ  เข้ามาสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ  ที่เรียกว่าเกิด  product   champion  เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งและเป็นโอกาสอย่างยิ่ง
          8. ผมมองว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้องไม่ขายภาพลักษณ์ของความเก่าแก่   ไม่ยืนอยู่บนประวัติความรุ่งเรืองในอดีตเท่านั้น   แต่ต้องสร้างภาพลักษณ์ของความกระชุ่มกระชวย  กระฉับกระเฉง  มีการปรับตัวให้สมสมัย และนำสมัยอยู่ตลอดเวลา   โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ คือ ผลงานคุณภาพสูง  impact สูง ทั้งเชิงผลต่อสังคม และ impact factor สูง
  
          ผมมองว่า ยุคนี้น่าจะเป็นยุคทองของคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้  เพราะเรารู้ว่ามีเหมืองทองอยู่ตรงหน้า  หัวใจสำคัญที่สุดก็คือ สมาชิกของคณะต้องร่วมแรงร่วมใจจัดทีมกันขุด   และรู้จักใช้เครื่องผ่อนแรง
 
          การประชุมครั้งนี้ บรรยากาศเป็นทางการมากไปหน่อย   ส่วนหนึ่งคงจะมาจากใช้ห้องประชุมตามปกติ   ไม่ได้นั่งล้อมวงแบบใกล้ชิดกัน 

          การเยี่ยมชื่นชมนี้  ไม่มีการสรุป  ไม่มีเป้าหมายเพื่อสั่งการ  แต่มีเป้าหมายกระตุ้นจินตนาการและแรงบันดาลใจ

วิจารณ์   พานิช
11  ต.ค. 49

หมายเลขบันทึก: 54347เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2006 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท