กลอยในสวนหม่อน


กลอย มี 2 ชนิด ได้แก่ กลอยข้าวเจ้า มีเนื้อสีขาว และกลอยข้าวเหนียว มีเนื้อสีเหลือง กลอยมีสารที่ทำให้เบื่อเมา ก่อนนำมาบริโภคต้องทำให้สารดังกล่าวหมดไป

กลอย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในป่า แต่ภายหลังมีการนำมาปลูกไว้ในหมู่บ้าน โดยคนในรุ่นก่อนๆ หลังเสร็จจากการดำนา หรือประมาณเดือนกันยายน จะชวนกันเข้าป่าหาเก็บเห็ด ( เห็ดปลวกน้ำท่วม ) ขุดมัน รวมทั้งขุดกลอย เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน

กลอย อีกส่วนหนึ่งจะมีการนำไปปลูกขยายพันธุ์ไว้ในสวนหลังบ้าน หรือที่ดอนตามหัวไร่ปลายนา คุณแม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อสี่สิบปีที่แล้วเริ่มมีการนำกลอยมาปลูกแต่ยังไม่มากนัก ต่างกันกับสมัยนี้ที่มีปลูกกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นที่ป่าลดลง กลอยเริ่มหายากขึ้น การปลูกกลอยก็ทำได้ง่ายไม่ต้องพิถีพิถัน


ในหมู่บ้านของผมมีการปลูกกลอยอยู่หลายครอบครัว คุณแม่ถนอม ผู้ที่ผมนำเรื่องการปลูกผักเสี้ยนมาเขียนเป็นบันทึก (ดูบันทึก) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีการปลูกกลอย โดยปลูกผสมผสานไว้ในสวนหม่อน การปลูกกลอยของคุณแม่ถนอม จะแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ปลูกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ส่วนคนอื่นปลูกไว้บริโภคเท่านั้น

คุณแม่ถนอม ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า การปลูกกลอยนิยมใช้หัว เพราะทำได้ง่าย ( ช่วงเวลาในการปลูกตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม ) ส่วนการปลูกด้วยเมล็ด จะใช้วิธีการปล่อยให้เมล็ดร่วงหล่นลงพื้นดิน และงอกเป็นต้นใหม่ในช่วงต้นฤดูฝน ( ประมาณเดือนพฤษภาคม ) จากนั้นจึงขุดแยกไปปลูกกระจายตามสวนหม่อน


การจัดการความอุดมสมบูรณ์ ทำได้โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วให้คลุมหน้าดินด้วยใบไม้แห้งต่างๆ โดยปกติแล้วจะมีการกวาดใบไม้หรือมูลฝอยต่างๆ ใส่สวนหม่อนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งกลอย

กลอย จะขุดมาใช้แปรรูปเป็นอาหารได้ประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ( โดยทั่วไปนิยมแปรรูปกลอยในช่วงเดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม ) ถ้าปีใดฝนตกชุก มีการเจริญเติบโตดี เถาหรือต้นมีขนาดใหญ่ กลอยจะให้ผลผลิตได้เร็ว ( กลอยจะออกดอกในช่วงนี้ )


กลอย มี 2 ชนิด ได้แก่ กลอยข้าวเจ้า มีเนื้อสีขาว และกลอยข้าวเหนียว มีเนื้อสีเหลือง กลอยมีสารที่ทำให้เบื่อเมา ก่อนนำมาบริโภคต้องทำให้สารดังกล่าวหมดไป ซึ่งมีวิธีการดังนี้

1. ปลอกเปลือก หั่นเป็นแผ่นบางๆ ประมาณ 3 - 4 มิลลิเมตร เพราะจะทำให้น้ำล้างสารเบื่อเมาออกจากเนื้อกลอยได้ง่ายและเร็วขึ้น

2. นำกลอยที่หั่นแล้วใส่ภาชนะ โดยโรยเกลือเป็นชั้นๆ แล้วคลุกให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 3 คืน ( หัวกลอยขนาด 1 กก. ใส่เกลือประมาณ 2 กำมือ )

3. แช่น้ำเปล่า 2 วัน โดยในแต่ละวันล้างกลอย 2 - 3 ครั้ง ( ในขั้นตอนนี้หากแช่น้ำหลายวันจะทำให้กลอยเละ ไม่เป็นแผ่น ) ถ้ามีฟองอากาศตรงผิวน้ำด้านบน แสดงว่าล้างสารเบื่อเมาออกหมดแล้ว

4. ผึ่งให้น้ำแห้งหมาดๆ แล้วนำไปนึ่งเหมือนกับการนึ่งข้าว จนกลอยสุก สังเกตจากเนื้อกลอยมีสีใส ตักใส่ภาชนะโรยด้วยน้ำตาลทรายและมะพร้าวขูด


นอกจากการทำกลอยนึ่ง ในหมู่บ้านของผมยังไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น การใช้กลอยเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร เช่น ทำสารฆ่าแมลง ก็ยังไม่ปรากฏ


สถานที่ : บ้านแกงเลี้ยว ตำบลหนองใหญ่ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

www.thaicrudedrug.com


หมายเลขบันทึก: 543007เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

 

                ..... ทำขนมอร่อยมาก นะคะ .... 

 

 

 

 

เป็นพันธุ์พืชที่ต้องปลูกต่อ ๆ ไป นะึคะ  เยี่ยมยอดมากค่ะ  วันหนึ่งข้างหน้าพวกเราอาจได้พึ่งพา  เมื่ออาหารขาดแคลน

ที่บ้านปลูกแต่มันห้านาทีไว้ค่ะ  ยังไม่มีโอกาสปลูกกลอย

ขอบคุณขั้นตอนการทำอย่างละเอียดนะคะ

ขอบคุณที่เก็บรักษา ทั้งพืชพันธุและภูมิปัญญาไทย

;-)

http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/dioscore/dhispi_1.htm

...

ประโยชน์ : หัวกลอยใช้เป็นอาหารได้ ก่อนนำมากินจะต้องล้างสารพิษออกให้หมด โดยฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆ นำมาแช่ในน้ำเกลือแล้วถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำไหลเพื่อให้น้ำชะล้างสารพิษออกให้หมด เพราะ dioscorine เป็นแอลคาลอยด์ที่ละลายได้ดีในน้ำ ชาวป่าบางเผ่านำน้ำที่คั้นจากหัวกลอยมาผสมกับยางของต้นน่อง (Antiaris toxicaria Lesch.) อาบลูกดอกเพื่อใช้ยิงสัตว์ ในหัวกลอยยังมีแป้งในปริมาณสูง ในอินเดียนำมาเตรียมเป็นแป้งในทางอุตสาหกรรม


โทษ : หัวกลอยเป็นพิษ สารพิษที่พบในหัวกลอย คือ dioscorine ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์กลุ่ม tropane กลุ่มเดียวกับ hyoscine ที่พบในใบ ราก ดอก และเมล็ดลำโพง พิษของ dioscorine จะทำให้ระบบประสาทกลางเป็นอัมพาต การกินหัวกลอยที่ยังไม่ได้ล้างเอาสารพิษออกอาจทำให้เกิดพิษ ปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หายใจขัด หมดสติ และถ้ากินมากอาจทำให้ถึงตายได้หลังจากที่กินแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง

กลอยเป็นสมุนไพรที่มีสารอาหารกินแล้วอารมณ์ดี  แต่บางคนไม่กล้ากินเพราะกลัวแพ้ ได้ชิมบ้างใส่ในช้าวเหนียวมูล หรือคลุกน้ำตาลอย่างเดียวก็อร่อย  เมื่อก่อนที่ยังไม่กลัวน้ำมันทอด กลอยทอดกรอบๆชอบมาก ขอบคุณมากนะคะ

ที่บ้านไร่ยังมีอยู่ครับ

ปกติเอาไปฝาดแช่น้ำนานๆแล้วถึงเอามานึ่งกินครับ

ชอบทานข้าวเหนียวกลอย 

คนรุ่นก่อนจะฝานกลอยริมน้ำ ใส่กระชังให้น้ำไหลผ่าน

ไม่รู้ว่าหมู่ปลาแถวนั้นสูญพันธุ์ไปมากน้อย แต่ที่แน่ๆฝูงนกที่ลงมาจิกกินพากันตายเป็นเบือ

นั่นคือวิถีาวชนบท ปัจจุบันไม่พบเห็นวิธีการแบบนั้นแล้ว

อยากปลูกมั่งจังเลย ที่ไร่มีแต่มัน 5 นาที ปลูกข้ามปีแล้ว หัวมันแข็งเปลือกทำท่าจะเป็นท่อนไม้ไปแล้วค่ะ

ก็อยากให้มันเป็นพ่อแม่พันธุ์มัน 5 นาที 

- กลอย  กระจายพันธุ์ได้เองในสภาพธรรมชาติ เมล็ดที่ร่วงหล่นในปีนี้ จะเกิดเป็นต้นกล้าจำนวนมากในปีถัดไป    

- ขอบคุณครับที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของกลอย

- กินกลอยแล้วอารมณ์ดี กลอยทอดกรอบ เป็นเกร็ดความรู้ใหม่สำหรับผม 

- ขอบคุณทุกๆ  ท่านครับ ที่ให้ความสนใจเรื่องของกลอย  

เดี๋ยวนี้ จะหาอาหารปลอดภัยจากพิษ..คงต้องแหงนมองหาจนคอเคล็ด หรือไม่ก็มุดลงดิน อย่างที่คุณกอบเดชทำอยู่ เฮ้อ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท