หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ปรากกการณ์การขับเคลื่อน (บูรณาการโดยใช้ศาสตร์ในคณะเดียวกัน)


การขับเคลื่อนงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ภายใต้โครงการเชิงรุก "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน"  ก่อเกิดประเด็นในเชิงชุดความรู้หลายประเด็น  เช่น  การบูรณาการศาสตร์การทำงานในพื้นที่เดียวกัน  ซึ่งประกอบด้วยการบูรณาการศาสตร์โดยใช้ศาสตร์ หรือวิชาชีพภายในคณะ  และการบูรณาการศาสตร์ระหว่างคณะ 


โดยในเบื้องต้น  จะนำเสนอภาพรวมของการขับเคลื่อนศาสตร์ในคณะเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน  ดังนี้  


คณะวิทยาการสารสนเทศ :  6 หลักสูตรในพื้นที่เดียวกัน 


การบูรณาการศาสตร์ในคณะเดียวกันที่โดดเด่นที่สุด คือการทำงานของ “คณะวิทยาการสารสนเทศ”  เนื่องจากทุกหลักสูตร จำนวน 6 หลักสูตรได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการการ “เรียนรู้คู่บริการ”  ในพื้นที่เดียวกัน (ชุมชนหนองบัว ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม)  นับตั้งแต่การพัฒนาโจทย์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดประเด็นการขับเคลื่อน (issue Scoping)  ให้สัมพันธ์กับวิชาชีพของแต่ละหลักสูตร  การออกแบบกิจกรรมและจัดทำแผนกลวิธี  (Strategies)  การลงชุมชนแบบมีส่วนร่วม  มุ่งเน้นความร่วมมือในมิติ “บวร”  ที่ประกอบด้วย “วัด โรงเรียน ส่วนราชการ” อย่างครอบคลุม  




โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลนั้น  ได้กำหนดให้นิสิตจากทุกหลักสูตรได้ลงพื้นที่พร้อมกัน  เพื่อสำรวจทรัพยากรโดยรอบของชุมชน  (Natural  resources) ซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้างโอกาสให้นิสิตต่างหลักสูตรได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งในเวทีชุมชนและเวทีในมหาวิทยาลัย  โดยการออกแบบกิจกรรมการศึกษาทรัพยากรชุมชน ผูกโยงไปสู่การวิเคราะห์บริบท หรือสภาพทั่วไปของชุมชน (Context)อย่างน่าสนใจ  คือ

ระยะที่ 1  มุ่งเน้นให้นิสิตได้พบปะกับ “ผู้นำชุมชน”  ในพื้นที่ อบต.หนองบัว เสมือนการสร้างความคุ้นเคยกับผู้นำชุมชนรับฟังข้อมูลเบื้องต้นในองค์รวมของพื้นที่ โดยยังไม่ไห้นิสิตกระจายตัวลงพื้นที่เพื่อสัมผัสจริงเป็นรายหมู่บ้าน ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ถือเป็น “เทคนิค” การลงชุมชนที่มุ่งให้นิสิตได้ติดต่อประสานงานกับแกนนำชุมชนเป็นอันดับแรก
ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการแบ่งนิสิตเป็นกลุ่มตามจำนวนหมู่บ้าน  และให้นิสิตลงชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกรายหมู่บ้าน  โดยมีผู้นำชุมชน ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่อกระบวนการเก็บข้อมูล  เสมือนการยกฐานะ “ผู้นำชุมชน” สู่การเป็นเสมือน “คุณอำนวย” หรือผู้อำนวยการการเรียนรู้แก่นิสิต (Facilitatorจากนั้นจึงจัดเวทีให้นิสิตร่วมกันสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการคืนข้อมูลกลับให้สู่ชุมชนได้ร่วมตรวจทานความถูกต้องอีกรอบ

ระยะที่ 3 มุ่งเน้นการสังเคราะห์ข้อมูลบริบทชุมชน เพื่อจัดกระทำเป็น “ชุดความรู้”  จัดเก็บเป็น “สารสนเทศ”  ในรูปของเอกสารและบันทึกลงในระบบเว็บไซด์ของ อบต.หนองบัว หรือศูนย์สารสนเทศของชุมชน เพื่อให้สะดวกต่อการเผยแพร่และสืบค้นข้อมูล




นอกจากการเรียนรู้ของนิสิตในสังกัดคณะวิทยาการสารสนเทศแล้ว กระบวนการทำงานของอาจารย์ในแต่ละหลักสูตรก็เป็นในทำนองเดียวกัน  กล่าวคือ  มีการพบปะ พูดคุย ประชุมทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เน้น “สุนทรียการสนทนา” (Dialogue)  หรือ “โสเหล่”  เป็นระยะๆ เพื่อให้แต่ละหลักสูตรได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหว หรือความคืบหน้าการทำงานร่วมกัน  หรือแม้แต่การมอบหมายภารกิจนั้น  บุคลากรคนใดบุคคลหนึ่งไม่สะดวกที่จะลงปฏิบัติงานในพื้นที่  ก็จะได้รับมอบหมาย หรืออาสารับช่วงภารกิจอื่นๆ  แทนเป็นการหนุนเสริมการทำงานร่วมกันในอีกรูปแบบหนึ่ง






คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ : 3 หลักสูตรในประเด็น "ผู้สูงอายุ"


กรณีคล้ายคลึงกันนี้ปรากฏพบในการทำงานของหลักสูตร จำนวน 3 หลักสูตรจาก “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์” ที่ลงปฏิบัติการงานชุมชน อบต.แกดำ (อ.แกดำ จ.มหาสารคาม)  ด้วยเหมือนกัน  กล่าวคือ มุ่งเน้นการเรียนรู้คู่บริการในประเด็น “ผู้สูงอายุ” ของชุมชนแกดำ เช่น ออกแบบศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  (สาขาสถาปัตยกรรม)  การจัดทำคู่มือและการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงที่พักอาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุ  (สาขาสถาปัตยกรรม : การก่อสร้าง)  หรือการออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์  เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาพืชสมุนไพร (สาขานฤมิตศิลป์)  โดยบูรณาการการศึกษาผ่านภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุเป็นที่ตั้ง  





ในเรื่องของการออกแบบศูนย์การเรียนรู้และการออกแบบบรรจุภัณฑ์สมุนไพรนั้น ได้บรรจุเป็น “แผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบล”  ส่วนกระบวนการเรื่องช่างชุมชนนั้น  เสมือนการ “ติดตั้งชุดความรู้” ให้กับชาวบ้านเป็นรายบุคคล เพื่อสร้างเครือข่ายในการดูแลชุมชนร่วมกัน  ซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดในการ “ดูแลตนเอง”  หรือแม้แต่การต่อยอดเพื่อ “สร้างรายได้”  ที่เกี่ยวกับการปลูกสร้างและปรับปรุงที่พักอาศัยได้ด้วยเช่นกัน






คณะเทคโนโลยี :  2 หลักสูตรว่าด้วย "การผลิตดอกไม้สร้างรายได้ในระบบเกษตรอินทรีย์"


นอกจากนี้การขับเคลื่อนกระบวนการ “ผลิตดอกไม้” ของกลุ่มวิสาหกิจบ้านทุ่งนาเรา (ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม)  ของสาขาเทคโนโลยีการเกษตร และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ (คณะเทคโนโลยี)  เป็นอีกหนึ่งพื้นที่การบูรณาการศาสตร์ในคณะเดียวกัน  ซึ่งเป็นพื้นที่การต่อยอดจากงานวิจัยเดิมของบุคลากรในคณะเทคโนโลยี  โดยใช้ประเด็นของการผลิตดอกไม้เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกัน  ผ่านกลไกการศึกษาสภาพดิน  ระบบน้ำ  การบำรุงรักษาดินและดอกไม้ (ดอกมะลิ ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ)  ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์   รวมถึงการประสานเกษตรจังหวัดมาช่วยหนุนเสริมกระบวนการผลิตดอกไม้ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์  เพื่อลดทอนปริมาณการผลิตดอกไม้ด้วยสารเคมีให้น้อยลง

ส่วนกรณีนิสิตนั้น พบว่าทั้งสองหลักสูตรมอบหมายให้นิสิตได้ออกแบบการเรียนรูบริบทชุมชนด้วยตนเอง  ด้วยการนำองค์ความรู้จากการอบรมเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน”  มาประยุกต์ใช้ในชุมชนบ้านทุ่งนาเรา  เพื่อให้เข้าใจสภาของชุมชนมากยิ่งขึ้น  ส่วนในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้น นิสิตจะมีบทบาทเป็น “ผู้ช่วยอาจารย์”  มากกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยตนเอง 


ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 542095เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2013 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2013 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาชื่นชมค่ะอาจารย์

มาชื่นชมผลงานอันเป็นรุปธรรมของน้องแผ่นดินค่ะ

หายไปนานนะคะ ไม่เห็นบทบันทึกมาระยะหนึ่ง

ได้คำตอบที่ชัดเจนมาเป็นภาพผลงานในบันทึกนี้ค่ะ

ขอให้ประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปนะคะ

มีรายละเอียดค่อนข้างมาก

ดีใจที่นิสิตได้ออกชุมชนเป็นระบบ

ไม่ได้ข่าวชุมชนแกดำนานมากๆ

นับเป็นกิจกรรมที่มีค่ายิ่งสำหรับนิสิต และชุมชนจ้ะ ชื่นชมจ้ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท