บริหารการศึกษาแบบให้เกียรติ หรือลดเกียรติ ครู


ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่ประหลาดและผิดพลาดหรือเปล่าครับ

บริหารการศึกษาแบบให้เกียรติ หรือลดเกียรติ ครู

ผมเขียนบันทึกเตือนสติครู เรื่อง ครูจะทำงานยกระดับคุณค่า หรือจะลดระดับคุณค่า ของตน  และพบว่า กลายเป็นบันทึกยอดนิยม  มีคนเข้าไปอ่านจำนวนมากกว่าบันทึกอื่นๆ ของผม

เป้าหมายของการเขียนบันทึกนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้คน (รวมทั้งตัวครูเอง) เห็นคุณค่ายิ่งใหญ่ของครู ต่ออนาคตของบ้านเมือง  และส่งเสริม (empower)  ให้ครูได้ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่นี้ ได้อย่างเต็มความสามารถ

ผมขอเสนอ (ด้วยความเคารพ) ว่า รูปแบบของการบริหารการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ในปัจจุบัน  ที่เป็นระบบควบคุมและสั่งการ (command and control) จากส่วนกลาง อย่างเข้มงวด  ทำให้สังคมได้ประโยชน์ จากครู ลดน้อยลง  ทำให้ครูมีคุณค่าต่ำ  เป็นการบริหารระบบการศึกษาแบบไม่ให้เกียรติครู หรือลดเกียรติครู

การบริหารระบบการศึกษา  ระบบการสร้างครู  ระบบการให้ผลประโยชน์ครู ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้ครูมีเกียรติน้อยลง  ผมคิดเช่นนี้ ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด 

เพราะเกียรติของคนเรา และของวิชาชีพ เป็นสิ่งที่คนอื่น หรือคนในสังคม เขามอบให้  ไม่ใช่สิ่งที่คนในวงการวิชาชีพให้กันเอง หรือคนในวงวิชาชีพเรียกร้อง

สิ่งที่คนในวงวิชาชีพให้กันเอง หรือเรียกร้องให้แก่ตนเอง เรียกว่า ผลประโยชน์  ไม่ใช่เกียรติ

เกียรติเป็นสิ่งที่ได้จากการบำเพ็ญคุณประโยชน์  ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าต้อง earn ไม่ใช่ ask for

การบริหารการศึกษาแบบควบคุมเข้มงวดที่ใช้อยู่ จึงทำให้ครูไม่มีโอกาสริเริ่มสร้างสรรค์  ทำให้ครูง่วนอยู่กับการสนองผู้บังคับบัญชา  และทำเพื่อตนเอง  หย่อนการสนองศิษย์   เป็นครูเพื่อศิษย์ยากขึ้น  การบริหารระบบการศึกษาแบบปัจจุบันจึงเป็นการลดคุณค่า และเกียรติภูมิของวิชาชีพครูโดยไม่ตั้งใจ

โปรดพิจารณาให้ถ้วนถี่  จะเห็นว่าระบบการบริหารการศึกษาในปัจจุบันตั้งอยู่บนความไม่ไว้วางใจครู  ไม่เอื้ออำนาจให้ครูได้มีอำนาจและความรับผิดชอบ (authority & responsibility) ในการทำหน้าที่ของตน  แต่เอาอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (ส่วนกลางในที่นี้หมายถึงที่ สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษา)  ให้บังคับบัญชาครูแบบลงรายละเอียด  

ระบบการวัดผลประเมินผล เป็นระบบที่ชัดเจนมาก ว่าไม่ไว้วางใจครู  แยกเอาอำนาจหน้าที่ในการวัดผลออกจากครู  ลองศึกษาระบบในประเทศที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีมากดูเถิด  จะเห็นว่าเขามอบอำนาจและความรับผิดชอบแก่ครูอย่างมาก  โดยที่จะต้องมีระบบหนุนและตรวจสอบด้วย  ว่าครูได้ทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ จริง 

ระบบที่เริ่มต้นด้วยความไม่เชื่อถือครู เป็นระบบที่ทำลายเกียรติภูมิของครู  และลดคุณค่าของครู โดยไม่รู้ตัว

ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่ประหลาดและผิดพลาดหรือเปล่าครับ

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 541966เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 07:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยครับ

คุณครูในปัจจุบันมีงานต้องรายงาน สพป สพฐ สพม เฮ้อ ไม่ต้องสอนกันพอดี

ขอนำไปเผยแพร่ต่อนะครับ

โดนใจมาก ๆ เลยจ้าท่านอาจารย์ เพราะครูเดี๋ยวนี้

จะกลายเป็นหุ่นยนต์ที่เขาใส่โปรแกรมอยู่แล้วจ้า

ที่จริงพวกเราอยากสอนให้เต็มที่ แต่ไม่รู้นโยบายอะไรนักหนา คิดกันไป

การศึกษาเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีมากมาย แต่ถอยเข้าคลองจริง ๆ

ครูปวดใจ ไม่ทำก็ไม่ได้ เป็นนโยบาย คิดกันไป

เปลี่ยนกันไปตามแต่ใครจะอยากได้ผลงานแบบไหน นี่ความคิดฉัน...

อันนี้ไม่ใช่ของฉัน เปลี่ยน ๆ ๆ ๆ

ครูไม่ต้องทำอะไร ...ประเมิน ๆ ๆ ๆ ๆ

มันจะประเมินอะไรกันนักหนา .... ไม่ต้องสอนกันหละนะ

แทนที่จะได้สอนเต็มที่ เต็มเวลา...แต่ต้องไปทำงานอื่นเยอะแยะไหม่เกี่ยวกับการสอน

เด็ดเขางอกกันพอดี...เดี๋ยวนี้เด็กมาโรงเรียนมีนกติดมาคนละตัว...

เพราะครูบางส่วนมัวแต่ทำผลงาน...บางส่วนทำแต่งานนโยบาย....

บินวนรอบ ๆ เด็ก บางเวลาบินมาเกาะหัวครูด้วย ....นกเอี้ยง .... ฮ่าฮ่าฮ่า

เอ...มองไปรอบรอบ ๆ ๆ ตัว ครูแกง เริ่มมีบินบ้างแล้วกระมังเนี่ย ฮา ....

ขอบคุณจ้าอาจารย์ที่ตั้งมาให้ระบาย...ความในใจ....ของครูผู้สอนที่ตั้งใจจะสอนเต็มที่เต็มเวลา

แต่ไม่ค่อยจะได้ทำแบบนั้นสักที....เบื่อจ้า ...เปลี่ยนนโยบายอีกแล้ว......

ตรงประเด็นครับ อาจารย์หมอ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท