"จุดอ่อนของคนวิตกจริต" ... (จริต ๖ ศาสตร์ในการอ่านใจคน)


สรุปลักษณะของคนวิตกจริตไปแล้ว ๕ บันทึก ดังนั้นบันทึกนี้จะชี้ "จุดอ่อน" ให้เราได้เข้าใจมากขึ้น ดังนี้


๑. คนวิตกจริตจะมองไม่เห็นภาพใหญ่ เห็นแต่ภาพเล็ก เพราะจิตใจชอบประเด็นเล็กประเด็นน้อย หยุมหยิมมากจนบ่อยครั้งลืมภาพใหญ่หรือประเด็นสำคัญ เพราะมุ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการมากจนเกินไป คิดมากเกินความจำเป็น ไม่สร้างสรรค์ ชีวิตเหนื่อยหน่าย ทำงานหนัก แต่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

การที่คนจริตนี้มักมองจุดเล็กจุดน้อยทำให้มองซ้ายก็เห็นปัญหา มองขวาก็เห็นปัญหาตลอด แต่มักจะหาทางแก้ไม่ได้ ทำให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจอยู่เป็นประจำยากที่จะหาความสุขได้


๒. เป็นคนวิตกกังวล ลังเล สงสัย มีความคิดมาก แต่ไม่กลั่นกรอง มันจะพูดออกมาเร็ว แต่ไม่ค่อยจะมีระบบ เป็นลักษณะฟุ้งซ่าน ไม่ตรงประเด็น เปลี่ยนแปลงความคิดอยู่ตลอดเวลา จุดยืนแปรผันกลับไปกลับมา ไม่ทำตามสัญญา เชื่อถือไม่ค่อยได้ สับสนปนเประหว่างเรื่องจริงกับเรื่องที่คิดขึ้นเอง หากอยู่ในสังคมไทยอาจได้รับการยกย่องเพราะเป็นคนคนเจ้าความคิด ช่างพูดช่างเจรจา แม้ว่าจริง ๆ แ้ล้วสิ่งที่พูดออกมามักจะไม่ได้คิดหรือกลั่นกรองเท่าไรก็ตาม

ความวิตกกังวลเป็นทุกข์ที่มนุษย์สร้างมันขึ้นก่อนที่ทุกข์จะปรากฎ ซึ่งสิ่งที่เรากังวลจะเกิดหรือไม่เกิดก็ยังไม่รู้และก็อาจไม่รุนแรงเท่ากับทุกข์ที่เราคาดคิดไว้ก่อนก็เป็นได้ ดังนั้นต้องระวังเสมอว่า ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ก็คือ ความคิดในทางลบของเราเอง ผู้เป็นวิตกจริตจึงมักถูกจัดการด้วยความคิดของตนนั่นเอง


๓. เป็นคนไม่ค่อยมีความรู้สึก ความรู้สึกแตกต่างจากอารมณ์ ความรู้สึกเกี่ยวกับจิตวิญญาณ การมีญาณสังหรณ์ คนที่มีลักษณะวิตกจริตแม้จะมีความคิดมากมาย แต่จะไม่สามารถเลือกความคิดที่ถูกหรือสะท้อนความเป็นจริง ไม่มีวิจารณญาณว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะจิตไปติดกับสมองด้านซ้าย ซึ่งเกี่ยวกับการหาเหตุผล กระบวนการความคิดทั้งปวง การคำนวณเลข การใช้ภาษา ซึ่งแตกต่างจากสมองด้านขวาซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างมโนภาพ ความไวของความรู้สึก และความสามารถในการรู้และเลือก

คนที่เป็นวิตกจริตจะใช้แต่สมองข้างซ้าย ซึ่งมีข้อมูลรกรุงรังไปหมด ในขณะที่สมองข้างขวาขาดการพัฒนาหรือไ่ม่ได้ความสนใจ ดังนั้น จึงมักเลือกอะไรผิด ๆ ก่อนเลือกก็ทุกขเวทนากับความไม่แน่ใจ เลือกแล้วก็ยังเลือกผิดอีก ดังนั้น จึงมักไม่รู้สึกว่า อะไรถูกอะไรผิด ไม่เข้าใจความรู้สึกคนอื่น และไม่ใส่ใจสภาพแวดล้อม อยู่แต่ในโลกความคิดของตนเอง และมักทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึก หรือไม่ก็ทำอย่างฝืนความรู้สึก จึงส่งผลให้มีแต่ความทุกข์ ความไม่พอใจ และความผิดหวังเป็นอาจิณ


๔. ชอบคิดซ้ำในเรื่องอดีตเมื่ออยู่คนเดียว แต่เมื่ออยู่กับคนอื่นจะคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ จะมีความสุขเพราะคิดว่าตัวเองสามารถคิดได้เร็วกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น ฉลาดปราดเปรื่องกว่าคนอื่น แต่กลับไม่เคยพิจารณาว่า วัน ๆ เสียเวลาเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระ หรือมัวแต่คิดเกี่ยวกับเรื่องในอดีต เหมือนหนังฉายซ้ำซาก ไม่มีประโยชน์แต่ประการใด


๕. มักเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ทำอะไรจับจดไม่เสร็จเสียสักอย่าง ผลก็คือเป็นคนเครียดตลอดเวลา เร่งรีบอยู่เสมอ มองภายนอกเป็นคนขยันมุมานะอดทน แต่มองลงไปลึก ๆ แล้วจะเห็นว่า การที่พยายามทำสิ่งเล็กสิ่งน้อยตลอดเวลาเป็นการแสดงออกของความอึดอัดรำคาญใจที่ต้องการระบายออก เพราะยังมีเรื่องอีกหลายร้อยเรื่องที่เลื่อนมาตลอด ผลคือ จิตใจไม่เคยมีความสุข สงบนิ่ง มีแต่ความวุ่นวายยุ่งเหยิง เราจะหยิบอะไรมาทำสักชิ้นก็ปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว คิดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ยังไม่ทำ ตำหนิตัวเองว่า ไม่มีระบบระเบียบ ผัดวันประกันพรุ่งเป็นอาจิณ ผลคือ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน จึงทำให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่จบไม่สำเร็จ กลายเป็นสิ่งที่ผัดวันประกันพรุ่งไปอีก นี่คือวงจรอุบาทว์ของจิตที่เรียกว่า "วิตกจริต"


๖.  สุขภาพร่างกายมักทรุดโทรม เพราะเสียพลังงานกับเรื่องคิดที่ฟุ้งซ่านหรือการพูดแบบน้ำไหลไฟดับ มีอาการเหนื่อยหรือถอนหายใจเป็นอารมณ์ เหนื่อยกายและเหนื่อยใจ โรคที่มักสังเกตเห็นได้โดยทั่วไปก็คือ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคไมเกรน เพราะการที่มัวแต่คิด จึงทำให้ลืมหายใจ กล้ามเนื้อจึงมักตึงหรือเจ็บปวด กอรปกับไม่ค่อยมีความรู้สึกอยู่แล้วเป็นอาจิณ ยกของหนัก ๆ ก็ไม่ค่อยรู้สึก เพราะใช้แต่กำลังสมาธิ ผลคือโอกาสที่กล้ามเนื้อฉีกขาดหรืออาการเคล็ดขัดยอกจึงมักเกิดกับวิตกจริต เพราะตอนยกของหนัก ๆ ไม่รู้สึก รู้ตัวอีกทีความเจ็บปวดทุกขเวทนาทางร่างกายก็ปรากฎชัดแล้ว



เรื่องนี้ต้องอาศัยการสังเกตตัวเองและคนใกล้ตัว

เพื่อพยายามทำให้เขากลับมาอยู่ตรงกลางของชีวิตให้มากที่สุด

แล้วเราอาจจะได้เรียนรู้กันในบันทึกต่อไป


บุญรักษา ทุกท่าน ;)...


................................................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือ ...

อนุสร จันทพันธ์ และบุญชัย โกศลธนากุล.  จริต ๖ ศาสตร์ในการอ่านใจคน.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๑.

            กรุงเทพฯ : อ้มรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๖.


หมายเลขบันทึก: 540066เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจมากค่ะ เรียนรู้ที่จะอ่านใจคน.. จริต ๖ ขอบคุณค่ะ

หนังสือขายดีครับเล่มนี้ kunrapee ;)...

ตามมาอ่านข้อคิดที่ได้จากการอ่านของอาจารย์ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ยินดีครับ คุณ tuknarak ;)...

งั้นติดตามไปด้วยกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท