การสู่ขวัญควาย (๒)


พิธีสู่ขวัญวัว ควาย เคยมีมาในอดีต แต่ในยุคนี้พิธีดังกล่าวจะไม่ค่อยมีแล้ว อาจจะเป็นเพราะ วัว ควาย ลดลง หรือ ไม่มีความจำเป็นจะใช้แรงงานสัตว์แล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันบ่อย และความผูกพันกับคนมีน้อยลงก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้หมอสู่ขวัญควายจึงไม่ค่อยมี แม้แต่คำสู่ขวัญวัว ควายก็ไม่ค่อยมีใครจดจำกัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ได้จัดพิธีสู่ขวัญควายขึ้น ด้วยเกรงว่า ประเพณี วัฒนธรรมดังกล่าวจะสูญหายไป โดยจัดที่บ้านคำครตา ตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย หนึ่งใน ๗๘ หมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยที่จัดตั้งขึ้นในจังหวัดยโสธร

เริ่มพิธีโดยชาวบ้านที่มีการเลี้ยงควาย นำควายของตนออกมาขังรวมกันไว้ในคอกรวมที่สร้างขึ้นไว้ชั่วคราวในบริเวณวัด หมอสู่ขวัญ หรือหมอสูตรขวัญ หรือหมอพราหมณ์ จะโยงด้วยสายสิญจน์ รอบคอกควาย ไปยังที่ปะรำพิธีซึ่งอยู่ใกล้กัน จากนั้นก็นิมนต์พระ ๙ รูป มาเพื่ออาราธนาขอศีลขอพร และสวดเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นก็ร่วมกันถวายปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วนำน้ำพระพุทธมนต์ไปประพรมแก่ชาวบ้านและควายที่อยู่ในคอก

ขั้นตอนต่อมา ชาวบ้านจะยกพานบายศรีที่จัดเตรียมไว้แล้วออกมาตั้งที่ปะรำพิธี พร้อมสำรับข้าวปลาอาหาร และเหล้าขาวหนึ่งขวด ที่พานบายศรี (พาขวัญ) ก็มีฝ้ายมงคลสำหรับผูกแขนชาวบ้านและผูกเขาควาย (หรือผูกสายสะพายก็ได้) นอกจากนั้นมีข้าวต้มมัด ไข่ไก่ต้ม ข้าวตอกดอกไม้ และเทียน ที่ขาดไม่ได้คือ หญ้าสนหนึ่งมัด แล้วโยงด้ายสายสิญจน์จากฝูงควายผ่านชาวบ้าน มายังพานบายศรี ก่อนที่หมอจะเริ่มสวด จะมีผู้อาวุโสเข้ามาผูกแขนให้หมอก่อนด้วยฝ้ายปอยใหญ่และปัจจัยตามศรัทธา

จากนั้นหมอพราหมณ์หรือหมอสู่ขวัญจะเริ่มป่าวประกาศเทวดาอารักษ์ แล้วร่ายคำสู่ขวัญเป็นทำนองพื้นเมืองอีสาน เมื่อถึงตอน "มาเด้อขวัญเอ๊ย" ชาวบ้านก็จะร้องรับแทบทุกคน ด้วยเสียงอันดัง ฟังแล้วรู้สึกมีมนต์ขลัง และจะร้องแบบนี้ไปเป็นช่วงๆ จนจบคำสู่ขวัญ

ต่อจากนั้นจะมีการนำฝ้ายมงคลจากพาขวัญ มาผูกข้อมือซึ่งกันและกัน แล้วนำฝ้ายมงคลไปผูกที่สายสะพายควายของตัวเอง (บางคนก็จะผูกที่เขาควายข้างใดข้างหนึ่ง) และแบ่งปันหญ้าที่นำเข้าพิธีไปป้อนให้วัวควายกินเพื่อเป็นสิริมงคล และพดกับควาย พร้อมลูบหัวลูบตัวอย่างเอ็นดู ซึ่งเป็นภาพที่ดูแล้วเกิดความปีติเป็นอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 54006เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2006 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท