Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ : Standard Chartered Bank


เอาเรื่องนี้มาบันทึกเป็นกรณีสำหรับห้องเรียนกฎหมายที่สอนค่ะ เป็นตัวอย่างของนิติบุคคลที่เกิดตามกฎหมายต่างประเทศที่เข้ามาประกอบการในไทย และมาลงทุนตั้งบริษัทลูกในประเทศไทย แต่มิใช่การร่วมทุนตั้งนิติบุคคลใหม่ แต่เป็นการ take over จากนิติบุคคลเดิม ธนาคารที่เกิดใหม่จึงเป็น "นิติบุคคลตามกฎหมายไทยที่มีองค์ประกอบต่างด้าวเข้มข้น" และเรื่องที่นำมา ยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารทั้งสองและคนสัญชาติไทยที่มีเป็นลูกจ้างในธนาคารนี้

 ในอดีตนั้นชื่อ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารสัญชาติอังกฤษอายุกว่า 111 ปี อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในกลุ่มลูกค้ารายย่อย
จนเมื่อสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป ตัดสินใจซื้อกิจการธนาคารนครธน เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสแตนดาร์ด ชาร์เตอรด์ นครธน ชื่อนี้จึงเริ่มเป็นที่คุ้นหูลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นฐานเดิมของนครธน

บทบาทการทำธุรกิจของกลุ่มได้เริ่มขยับขยายฐานจากการให้บริการแก่กลุ่มนิติบุคคล มาสู่ลูกค้ารายย่อยบุคคลทั่วไปมากขึ้นนับแต่นั้นมา แต่กระนั้นก็ตาม ชื่อสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน ก็ยังเป็นเพียงชื่อธนาคารที่มีคนรู้จักในวงจำกัด

จนเมื่อ 2 ปีก่อน สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน ได้เริ่มพาโลโกและผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อย ขึ้นไปเปิดตัวท่ามกลางมวลชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ด้วยการติดป้ายโฆษณาทั้งด้านในและด้านข้างตัวรถไฟฟ้า จนทำให้ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และชื่อสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน เป็นที่ติดตามวลชนกลุ่มใหญ่

ภายในเวลาไม่นาน ธนาคารสแตน ดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน จึงได้เริ่มเข้าเก็บเกี่ยวดอกผลจากฐานลูกค้าบุคคลในกลุ่มใหม่ ที่เริ่มขยายตัวขึ้นจากตรงนี้

ความสำเร็จในกลยุทธ์การตอกย้ำชื่อและตัวผลิตภัณฑ์ของธนาคารให้กลายมาเป็นที่รู้จักจดจำได้ในกลุ่มคนหมู่มาก ส่วนหนึ่งต้องยกให้เป็นผลงานของอารยา ภู่พานิช ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดนำสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS มาสร้างให้เป็นฐานลูกค้ารายย่อยกลุ่มใหม่ให้สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) หลังสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สาขากรุงเทพฯ ได้รวมกิจการเข้ากับสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน เมื่อเดือนตุลาคม 2548

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตามแผนแม่บทการเงินใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่ซื้อกิจการธนาคารพาณิชย์จากทางการ ต้องเลือกดำรงสถานภาพอย่างหนึ่งอย่างใดได้เพียงสถานภาพเดียว

แต่ในปัจจุบันอารยาไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยคนสำคัญของสแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ด (ไทย) ในการพัฒนาสินค้าใหม่ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตเพื่อส่งลงเจาะตลาดรายย่อยในประเทศอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมของปีก่อน เธอได้ตอบรับแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในไทย ซึ่งผลักดันให้เธอเข้าทำงานฝ่ายงานบริหารในธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด สาขาสิงคโปร์

ฐานะใหม่ของอารยาจึงกลายไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดวางนโยบายเชิงกลยุทธ์การทำธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อไร้หลักประกัน (Unsecured Lending) อย่างบัตรเครดิต อันเป็นงานถนัดของเธอ ให้แก่ทุกสาขาในเครือสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป ที่ตั้งอยู่ใน 56 ประเทศ ส่งลงเจาะตลาดทั่วโลก

ทั้งนี้อารยาเป็นผู้บริหารระดับสูงชาวไทยคนแรกจากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่เข้าทำงานในฝ่ายบริหารของกลุ่มที่สิงคโปร์

"บทบาทตอนนี้คือดูแลธุรกิจของทั้งกรุ๊ป เรียกว่าเป็น group product ไม่ได้ดูเป็น country หรือ regional ถ้า group หรือ Standard Chartered Group จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งของเราอยู่ที่ลอนดอน แต่ส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารมาอยู่ที่สิงคโปร์ ใน group ที่มีสาขาอยู่ จะมีเจ้านายที่จะดูแล unsecured lending ทั้งหมดทั่วโลกที่ Standard Chartered อยู่ แต่ในความรับผิดชอบของเราจะเป็นเรื่อง strategy หาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในส่วน personal loans กับ credit card ทำอย่างไรที่จะช่วยปรับปรุงธุรกิจในแต่ละประเทศด้วย" อารยาอธิบายถึงบทบาทใหม่ในสิงคโปร์

อารยาเคยผ่านงานด้านการตลาดและการขายมาอย่างโชกโชน ทั้งที่วาเคไทย, ธนายง และ Citibank ที่เธอเคยเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ฝ่าย Mortgage, Unsecured Lending นานถึง 4 ปี ระหว่าง 2538-2542 ก่อนที่จะย้ายเข้ามาเป็นกำลังคนสำคัญในสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เมื่อปี 2542 โดยดูแลงานด้านการตลาด และผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลทุกตัวของธนาคาร

หากย้อนหลังไป 5 ปีก่อน เมื่อครั้งสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ยังใช้ชื่อสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน อารยามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบการเติบโตของตลาดบุคคลธนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วน unsecured loans ร่วมกับ Annemarie Durbin ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ เมื่อต้นปี 2546 ก่อนจะขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการ

"เราก็เหมือนกับเจ้าของกิจการคนหนึ่ง ที่นี่เขาให้ความสำคัญพนักงานโดยการให้โอกาส แม้ว่าตอนนั้นอาจจะอายุยังไม่มาก แต่ก็สามารถดูแลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในตอนนั้นของกลุ่มธุรกิจ consumer banking ได้ และโชคดีที่ได้รับคัดเลือกให้มาทำงานที่สิงคโปร์"

ชีวิตการงานและความรับผิดชอบใหม่นี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องหนักหนาสำหรับเธอ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยทำอยู่ในเมืองไทย เพราะงานหลักๆ ของอารยาตอนนี้ไม่ใช่งานขาย แต่เป็นงาน ด้านการวางแผนกลยุทธ์ และเดินทางไปตามประเทศต่างๆ ที่มีสาขาของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป ตั้งอยู่ เพื่อเรียนรู้ตลาดและธุรกิจในแต่ละประเทศ

ขณะที่ความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงานในสิงคโปร์นั้น ดูเหมือนจะลดลงอย่างฮวบฮาบ เหลือแค่ 4-5 คนที่นั่งทำงานร่วมกันอยู่ในออฟฟิศเล็กๆ แทนที่มีนับเป็นพันๆ เช่นในเมืองไทย

"ความเครียดน้อยลงนะ เพราะทุกวันเวลาอยู่เมืองไทย ต้อง worry ตลอดเวลาว่าพรุ่งนี้ จะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เราจะได้ตัวเลขเท่าไร กฎหมายจะออกอะไรใหม่หรือเปล่า ต้อง worry หลายเรื่องไปหมด เพราะต้องรับผิดชอบมากๆ ต้องดูแล sales เป็นพันๆ คน ลูกน้องที่อยู่กับเราอีก 30-40 คน" อารยาบอก

แต่หากถามอารยาถึงความเครียดที่อาจจะมีได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจากการทำงานระดับใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ จะได้รับคำตอบจากเธอว่าความเครียดของเธอจะอยู่ตรงภารกิจที่ต้องให้คำแนะนำ ซึ่งต้องแน่ใจว่าจะมีคุณค่ามากพอต่อการพัฒนาธุรกิจในแต่ละสาขาให้เดินหน้าต่อไป

เหตุผลที่อารยาเลือกตัดสินใจเดินทางไปรับตำแหน่งในสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะยังไม่เคยมีคนไทยจากกลุ่มธุรกิจบุคคลธนกิจในสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) เดินทางออกไปทำงานในสาขาต่างประเทศ ขณะที่อารยาเองก็ต้องการที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพคนไทยที่สามารถจะทำงานแบบนี้ได้เช่นกัน ทั้งเวลานั้นอารยาเริ่มรู้สึกแล้วว่าเธอได้ทำงานให้สแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ด (ไทย) มานานเต็มทีแล้ว จึงต้องการออกไปเห็นอะไรที่ใหม่ขึ้น

ตอนนั้นอารยายังเคยมีความคิดด้วยว่า สิงคโปร์ ฮ่องกง กลุ่มใหญ่ในสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป น่าที่จะต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถอย่างยิ่ง เธอจึงต้องการพาตัวเอง ออกไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมจากคนที่นั่น เพื่อที่ว่าเมื่อวันหนึ่งเธอได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เธอจะได้นำสิ่งดีๆ ที่เธอเรียนรู้มาจากประเทศต่างๆ กลับเข้ามาช่วยสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) พัฒนาธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าขึ้นเป็นทั้งอันดับ 1 ของกลุ่ม และของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยด้วย

"จริงๆ แล้วพอไปถึง เราสู้กับเขาได้เยอะแยะไปหมด สามารถทำอะไรได้มากมาย แต่คนไทยอาจจะเป็นคนที่มีนิสัยที่ถ่อมตน จะทำอะไรทีเราไม่ค่อยโฆษณาและไม่โอ้อวด เราอาจจะมีปัญหาอีกด้านในเรื่องภาษาที่ไม่ได้เก่งมาก มันเป็นจุดหนึ่งที่อยากแชร์ให้น้องๆ ในเมืองไทยฟังว่าหากอะไรที่เราทำดีแล้วเราต้องโฆษณาให้ดังๆ หน่อย"

เมื่อมองย้อนกลับมาในประเทศไทย อารยายืนยันว่าคนในธนาคารพาณิชย์ไทยล้วนแต่มีศักยภาพที่ไม่น้อยหน้าต่างชาติ เพียงแต่อาจจะขาดโอกาสที่ดีเหมือนอย่างเธอ ที่ได้ออกไปเรียนรู้หาประสบการณ์เพิ่มเติมในแหล่งต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับการใช้ชีวิตทำงานในต่างแดนนั้น ไม่ได้สุขสบายเหมือนอย่างตอนที่อยู่ในเมืองไทย เพราะอารยาไม่ได้มีรถประจำตำแหน่ง ไม่ได้มีเลขาฯ ส่วนตัว และไม่ได้มีห้องทำงานหรือบ้านพักที่ใหญ่โตหรูหราเหมือนอย่างที่คนอาจจะเข้าใจ

ทุกวันนี้เธอต้องอาศัยรถเมล์เป็นรถประจำตำแหน่งใหม่ของเธอ และมีห้องทำงานขนาดเล็กๆ ที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานที่มีทั้งสิ้น 6 คน โดยมีเลขาฯ 1 คนที่ใช้ร่วมกันทั้ง office ส่วนที่พักของเธอนั้นเป็นเพียงอพาร์ตเมนต์เล็กๆ แต่น่าอยู่

"ใหม่ๆ ตอนไปอยู่เหงามาก นิสัยคนสิงคโปร์ไม่เหมือนกับพวกเราที่พอเสร็จงานก็รวมกลุ่มกันไปหาข้าวกินต่อ แต่คนที่โน่นพอเลิกงานก็กลับบ้าน หรือไม่ก็ไป fitness ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นิยมกันมากในสิงคโปร์ ตอนนี้เราก็เริ่มมีเพื่อนคนไทยแล้วแต่ไม่มากนะ เป็นคนไทยในซิตี้ แบงก์ ในฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์ คนไทยใน 2 แบงก์นี้ก็เก่งๆ กันทุกคน"

ดูเหมือนอารยากำลังมีความสุขอย่างมากกับแผนการเดินทางเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ในระดับโลกครั้งแรกในชีวิตการทำงานของเธอ แม้จะมีสัญญาว่าจ้างให้ทำงานในสาขาสิงคโปร์เพียง 2 ปี แต่ดูเหมือนว่าหากเป็นไปได้อารยาอาจจะยังไม่เดินทางกลับมาประจำยังเมืองไทย เพราะเธอบอกว่าเธออาจจะหารือกับผู้ใหญ่ในสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) เพื่อลองมองหาสาขาอื่นๆ ในเครือเพื่อเดินทางเข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ต่ออีกสักช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นช่วยสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) รุกตลาดอีกครั้งเมื่อเธอกลับมาประจำในเมืองไทยแล้ว

ความคิดที่มาในแนวทางนี้ของอารยา ดูเหมือนจะสอดคล้องต้องตามผลในแบบทดสอบ Gallop Organization ที่แต่ละปีสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด จะนำมาให้พนักงานทดลองทำเพื่อค้นหาคุณสมบัติโดดเด่นที่แต่ละคนมี โดยผลนี้บ่งชี้ไว้ว่าอารยามีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นอันดับ 1 ในเรื่อง learning ที่อาจแปลความได้ว่าเธอมีความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ   
 ----------------------------------------

จาก นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2549
 
อารยา ภู่พานิช คนไทยสู้เขาได้
โดย สุจินดา มหสุภาชัย   

http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=52419
 

 


หมายเลขบันทึก: 53999เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2006 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท