BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๗ (คาถาที่สี่)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๗ (คาถาที่สี่)

ในคาถาก่อน นายธนิยะกล่าวสรรเสริญยกย่องภรรยาเพื่อให้เห็นสุขตามประสาชาวบ้าน แต่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องจิตใจเพื่อทรงแสดงให้เห็นว่ามีความโลเลไม่แน่นอน ในคาถานี้ นายธนิยะจะอ้างอย่างไร มาพิจารณาคาถาต่อไป

เราเป็นผู้เลี้ยงตนด้วยอาหารและเครื่องนุ่งห่ม

และบุตรทั้งหลาย ของเราดำรงอยู่ดี ไม่มีโรค

เราไม่ได้ยินความชั่วอะไรของบุตรเหล่านั้น

แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

จากวรรคแรก นายธนิยะบอกว่า "เราเป็นผู้เลี้ยงตนด้วยอาหารและเครื่องนุ่่งห่ม" แสดงว่า ภรรยามิใช่สิ่งจำเป็นในการเป็นอยู่ แม้ขาดภรรยาก็สามารถอยู่ได้ เพราะอาหารและเครื่องนุ่งห่มต่างหากที่เป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นอยู่ และในกรณีที่ไม่มีภรรยาก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครช่วยเหลือ ในวรรคที่สองมีคำตอบว่า "และบุตรทั้งหลายของเราดำรงอยู่ดีไม่มีโรค" นั่นคือ แม้ไม่มีภรรยาก็มีลูกถึง ๑๔ คนที่จะช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ได้ อีกทั้งลูกก็เป็นคนดีเพราะ "เราไม่ได้ยินความชั่วอะไรของบุตรเหล่านั้น " ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวอะไร "แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด"

เมื่อมาถึงตอนนี้ จะเห็นถึงยื้อแย่งความหมายของบทกลอนระหว่างนายธนิยะกับพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ พระพุทธองค์นั้นทรงลากเนื้อหาความหมายของบทกลอนไปสู่โลกุตตรธรรมคือหลักธรรมที่ข้ามพ้นโลก ขณะที่นายธนิยะก็พยายามลากเนื้อหาความหมายของบทกลอนมาสู่โลกิยธรรมคือวิถีชาวบ้านตามที่ตนเองถนัด

พระบรมศาสดาจะทรงแก้คาถานี้อย่างไร เราลองมาพิจารณาดู พระองค์ตรัสว่า...

เราไม่เป็นลูกจ้างของใคร เราเที่ยวไปด้วยความเป็นพระสัพพัญญู

 ผู้ไม่มีความต้องการในโลกทั้งปวง

 เราไม่มีความต้องการค่าจ้าง

 แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

คาถานี้ คัมภีร์อรรถกถาบอกว่าเนื้อความตื้น ไม่ได้ขยายความเท่าที่ควร ยกเว้นบทกลอนของนายธนิยะ พระอรรถกถาจารย์ให้ความเห็นว่า นายธนิยะแสดงออกถึงความเป็นใหญ่ เป็นไทแก่ตัวเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของใคร ส่วนในบทกลอนของพระพุทธเจ้านั้น พระอรรถกถาจารย์บอกว่า คนทั่วไปนั้นมักตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้เป็นใหญ่ มิได้เป็นไทแก่ตัวเอง คือเป็นทาสหรือลูกจ้าง แม้โดยที่สุดแล้วก็ตกเป็นลูกจ้างของตัณหาความทะยานอยาก จึงต้องทำอะไรๆ ไปตามที่ความทะยานอยากบีบบังคับ... ส่วนพระพุทธเจ้านั้น ไม่ทรงเป็นลูกจ้างของใคร โดยที่สุดแล้ว แม้เป็นลูกจ้างของตนเอง พระองค์ก็ไม่ได้เป็น เพราะพระองค์ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก จึงไม่ต้องทำอะไรเพื่อค่าจ้างตามความต้องการของตัณหา...

นั่นเป็นเพียงแนวคิดตามมติของพระอรรถกาจารย์เท่านั้น เรามาพิจารณากันอีกครั้ง นายธนิยะว่าไม่มีความยุ่งยากในการเป็นอยู่เพราะจัดการเรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแย้งด้วยแพที่ตระเตรียมไว้ แสดงว่ายังมีปัญหาบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้... นายธนิยะก็อ้างถึงภรรยาที่แสนดี ซึ่งจะสนับสนุนช่วยเหลือเติมเต็มได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแย้งด้วยจิตใจคนไม่แน่นอนโลเล ยากที่จะไว้วางใจได้... นายธนิยะก็อ้างว่าเขาเป็นอยู่ได้เพราะอาหารและเครื่องนุ่งห่ม และทั้งมีบรรดาลูกๆ ที่แสนดีซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือได้... เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า "ไม่เป็นลูกจ้างของใคร.... " เราจะตีความอย่างไร ?

ตามความเห็นของผู้เขียน... บรรดาลูกๆ นั้น ก็คล้ายๆ กับลูกจ้าง เขามีความหวังความต้องการบางอย่างจึงเต็มใจจะช่วยเหลือหรือทำตาม อีกอย่างหนึ่งนายธนิยะซึ่งเป็นพ่อแม้จะคล้ายๆ นายจ้าง แต่ในมุมกลับกัน อาจเป็นคล้ายๆ ลูกจ้างของบรรดาลูกๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ผู้เป็นพ่อมีความต้องการบางอย่างจึงเต็มใจที่จะช่วยเหลือลูกในทุกเรื่อง... พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง "ลูกจ้าง" อาจมีพระประสงค์อย่างนี้ก็ได้ ทั้งพ่อและลูกๆ มีความมุ่งหวังบางสิ่งบางอย่าง  จึงผลัดกันช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บางครั้งก็อาจเป็นนายจ้าง บางครั้งก็อาจเป็นลูกจ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับว่าฝ่ายใดจะได้ "ค่าจ้าง" ในกรณีนั้นๆ... แต่สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นลูกจ้างของใคร เพราะพระองค์ไม่มีความต้องการด้วยค่าจ้าง

ความคิดเห็นนี้ พอที่จะรับฟังได้หรือไม่ ก็ต้องตามไปพิจารณาในคาถาต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539685เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท