หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เรื่องเล่าจากนิสิต (สาขาสารสนเทศศาสตร์)


ครั้งนี้ผมได้ฝึกการเข้าหาผู้คนคน ฝึกการประสานงาน ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่น ฝึกการพูด ฝึกการซักถามเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของตนเอง รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน อันเป็นการตอบสนองความต้องการของชาวบ้านในชุมชนต่อศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

เวลา  09.00 น.พวกเราออกเดินทางไปเก็บข้อมูลหมู่บ้านในเขตตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งครั้งนี้ถือไปครั้งที่ 2 ด้วยรถโดยสาร  แต่ด้วยเหตุที่ผมมีนัดกับหมอเพื่อตรวจหัวเข่าที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์  จึงเดินทางล่วงหน้าไปก่อน หลังตรวจหัวเข่าเสร็จก็รีบเดินทางโดยรถมอเตอร์ไซด์มาหาเพื่อน ๆ  ในกลุ่มของผมที่ได้ลงพื้นที่เก็บภาพและหาข้อมูลเพิ่มเติมที่บ้านคุยเชือก หมู่ที่ 3  ซึ่งเราได้พ่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำพาไปสู่การเก็บข้อมูลต่างๆ



พ่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ทำหน้าที่พาพวกเขาเดินเก็บภาพภายในหมู่บ้านคุยเชือก  พร้อมทั้งอธิบายในสถานที่หรือเรื่องราวที่สำคัญเกี่ยวกับบ้านคุยเชือกให้ฟังอย่างละเอียดลออ   บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นสนุกสนาน  เหมือนพ่อกำลังพาลูกๆ เดินเที่ยวท่องอยู่ในหมู่บ้านของตนเอง 

ครั้นเวลา 12.00 น. เราทุกคนจึงได้นั่งรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารเล็ก ๆ ในบ้าน  พร้อมๆ  กับพูดคุยถึงการเดินเก็บภาพและหาข้อมูลที่ได้ในช่วงเช้า  เสมือนการประเมินผลการทำงานไปในตัวว่าบรรลุเป้ามายมากน้อยแค่ไหน  จากนั้นก็วางแผนการดำเนินงานของช่วงบ่ายว่าขาดเหลืออะไร  หรือเราต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

หลังจากรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จสิ้นลง  เราทุกคนก็ไม่รีรอที่จะตะลุยงานต่อในช่วงบ่าย  กระทั่งเวลาประมาณ  14.30 น. การเก็บข้อมูลต่างๆ ก็เสร็จสมบรูณ์  สมาชิกในกลุ่มของพวกเราต่างก็ได้เดินทางกลับมายังที่พัก ณ อบต.หนองบัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรกที่เดินทางกลับถึงที่พัก



หลังจากที่เหนื่อยจากการลงพื้นที่มาค่อนครึ่งวัน  ด้วยความเหนื่อยล้า  ต่างคนต่างเลือกที่จะนอนพักผ่อนด้วยการนอนรอเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ  ครั้นพอทุกกลุ่มมาถึงแล้ว  เราก็ได้นำรูปภาพและข้อมูลทั้งหมดมาจัดเก็บลงไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ร่วมกัน

พอตอนเย็น-เมื่อรับประทานอาหารเย็นเสร็จสิ้น  นิสิตและอาจารย์ก็จัดวงสะท้อนข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน  ทำให้แต่ละกลุ่มเกิดการเรียนรู้ในภาพรวมร่วมกัน  เห็นวิธีการและเรื่องราวทั้งเหมือนและต่างกัน เสมือนการทบทวนการเรียนรู้ร่มกันดีๆ นั่นเอง  จากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน 



ภายหลังจากที่อาบน้ำเสร็จ  เราต่างไม่รีรอที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง  เพื่อจัดกิจกรรม “เปิดใจ”  โดยเน้นการ “บอกเล่าประสบการณ์”  สู่กันฟัง  ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยให้ผมได้เรียนรู้และรับรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากอาจารย์ พี่ที่ดูแลและเพื่อน ๆ อย่างมหาศาล  โดยต่างคนต่างได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน  แบ่งปันทั้งข้อคิดในการเรียนและการใช้ชีวิตเหมือนพี่เหมือนน้อง 

กระทั่งกิจกรรมเปิดใจปิดตัวลง  พวกเราก็จับกลุ่มย่างเนื้อรอบดึกกับเพื่อน ๆ สรวลเสเฮฮากันอย่างสนุกสนาน  กระชับความสัมพันธ์กันและกันให้สนิทแน่นมากยิ่งขึ้น  ซึ่งมันทำให้ผมมีความสุขมากอย่างมหัศจรรย์




รุ่งเช้าของวันใหม่-ผมตื่นขึ้นมารับอากาศบริสุทธิ์หลังจากที่ได้นอนอย่างเต็มอิ่ม เมื่อทุกคนเสร็จจากกิจธุระส่วนตัวแล้วเราก็ได้รับประทานอาหารเช้ากัน จากนั้นผู้ชายก็มาจัดเตรียมพื้นที่รับรองงานที่จะเกิดขึ้นในช่วงสายผู้หญิงก็เก็บกวาดสถานที่ล้างจาน เราได้ประชุมกันคณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลหนองบัว ไว้หลายเรื่อง เช่น การประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีผู้คนเข้ามาใช้งาน  การมีส่วนร่วมของชุมชน  บัตรสมาชิก กฎระเบียบการใช้  กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ และการยืนยันตัวตนเข้าใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น   เมื่อเสร็จแล้วพวกเราก็หยิบจับกระเป๋าของใครของมันเดินขึ้นรถกลับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เหนือสิ่งอื่นใด  การมาลงพื้นที่ในครั้งนี้  ผมได้ฝึกฝนประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีขายที่ไหน  แม้แต่ในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยก็ยากยิ่งที่จะหาได้  เพราะครั้งนี้ผมได้ฝึกการเข้าหาผู้คนคน  ฝึกการประสานงาน  ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่น  ฝึกการพูด  ฝึกการซักถามเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของตนเอง  รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน  อันเป็นการตอบสนองความต้องการของชาวบ้านในชุมชนต่อศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้




นอกจากนี้แล้ว  การการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ พร้อมทั้งถ่ายภาพต่าง ๆ นอกจากความสำเร็จและความสุขที่ได้เรียนรู้แล้ว  ยังพบเห็นปัญหาและอุปสรรค์ต่างๆ ของการเรียนรู้ที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น  ดังเช่น

1.  สภาพอากาศตอนกลางวันร้อนมาก ๆ ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงพื้นที่ในครั้ง
2.  ปราชญ์ชาวบ้านไม่ค่อยอยู่บ้าน เหตุก็เพราะว่าช่วงที่เราลงไปยังอยู่ในช่วงของการเกี่ยวข้าว
3.  ชาวบ้านและคณะกรรมการไม่ค่อยที่จะออกความคิดเห็น อาจเป็นเพราะไม่รู้ปัญหา หรืออาจเป็นเพราะไม่กล้าที่จะแสดงความคิดออกมา

แต่อย่างไรก็ดี  การออกพื้นที่ในครั้งนี้  สอนอะไรหลายอย่างให้รู้น้ำใจเพื่อน การทำงานเป็นทีม ความสามัคคี ความช่วยเหลือของผู้นำและคนในชุมชนในทุก ๆ เรื่อง  สิ่งเหล่านี้ทำให้กระผมประทับใจในมิตรภาพของเพื่อนและชาวบ้านที่มีต่อเรา


ดร.ฉันทนา  เวชโอสถศักดา

สุดท้ายนี้อยากจะกล่าวถึง “อาจารย์เป็ด”  (ดร.ฉันทนา  เวชโอสถศักดา) ของพวกเรา  ซึ่งผมมีความเคารพนับถือมาโดยตลอด   โดยส่วนตัวแล้ว  ในสาขาเราผมจะกลัวอาจารย์มากที่สุด  อาจจะด้วยบุคลิกภาพของอาจารย์ก็เถอะ  แต่ผมก็ประทับใจอาจารย์เป็นอย่างมาก 

  • เพราะอาจารย์ได้เสียสละเวลาอันมีค่าและความสุขสบายส่วนตัวของท่านมากินนอนค้างคืนร่วมกับนิสิตอย่างไม่อิดออด  
  • ท่านมานั่งกินข้าวร่วมกันโดยที่อาจารย์ไม่ถือตัวเลยแม้แต่นิด  
  • อาจารย์เป็นกันเองกับนิสิตมาก  คอยให้คำปรึกษา ชี้แนะแนวทางการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด  ถ้าไม่มีอาจารย์เป็ด  ผมเชื่อว่าคงยากไม่ใช่น้อยกับการจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นนี้  -


....
หมายเหตุ :
เรื่องเล่าดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียนรู้ของนิสิตสาขาสารสนเทศศาสตร์
ที่เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน ปีงบประมาณ 2555
เรื่อง : ขจรศักดิ์  สิงห์โคตร 
ภาพ : คณะวิทยาการสารสนเทศ


หมายเลขบันทึก: 539662เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อีกแบบอย่างหนึ่งดีๆของการลงพื้นที่สัมผัสความเป็นจริงเพิ่มพูนประสบการณ์ที่น่าสนใจ...ขอบคุณค่ะ

ตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัยน่าจะมีวิชาเสริมหลักสูตรที่เน้นการทำโครงการเพื่อสังคมแล้วนะคะ ตอนนี้ อ. ก็เป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาอยู่ 2 กลุ่มค่ะ ตอนช่วงท้ายสุด อ. คงจัดกระบวนการให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่เขาทำค่ะ เพราะได้แรงบันดาลใจจากบันทึกของ อ.พนัสนะคะนี่ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท