งานครูโลก 2006 (ตอนที่ 1)


การจัดการความรู้จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดการเรียนรู้บ่อยๆ วิเคราะห์บ่อยๆ จะก่อให้เกิดจิตสำนึก ตระหนักรู้ Knowledge Management จะก่อให้เกิด Learning Management”

        

          ..จริงแล้วงานวันครูโลก 2006  จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5-6 ตุลาคม 2549    อาคาร 9   ศูนย์การประชุม อิมแพค เมืองทองธานี      จ๊ะจ๋าได้มีโอกาสเข้าร่วมเพียงช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา ในการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2   ซึ่งในห้องประชุมย่อย 6 หัวข้อเรื่องคือ การศึกษาและฝึกอบรมเพื่อตามทันโลกที่เปลี่ยนแปลง 

          ช่วงเช้า มีหัวข้อเรื่อง การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้   ซึ่งมี 2 ช่วงย่อย คือ ช่วงแรกนำเสนอความเป็นมาของการนำการจัดการความรู้ใช้เป็นเครื่องมือการทำงานใน โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ (Ed-KM)” พร้อมทั้งนำผู้ปฏิบัติมาพูดคุย ผ่านเรื่องเล่า ซึ่งมีการซักถามถึงความเป็นมา  การผ่านพ้นอุปสรรคในการดำเนินงานได้อย่างไร  ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนำ KM เข้าไปใช้ใน สพท. /โรงเรียน  และแนวทางการทำงานต่อไปข้างหน้า  โดยวิทยากรหลักคือ  ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ   และ Best practice คือ อ. อนุสรณ์ ฟูเจริญ  ผอ. สพท. สุพรรณบุรี เขต 2 และ อ. ปาริชาติ  ปรียาโชติ ผอ. โรงเรียนปรียาโชติ 

          ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ  ได้กล่าวแนะนำโครงการ ความเป็นมาของโครงการ และอุปสรรคการดำเนินงานในอดีต ว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรทางการศึกษาและการไม่เปิดใจ (ใจไม่รับและศรัทธา)  และพบว่ากับเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กรและการเปิดใจคือ การจัดการความรู้  และเน้นย้ำว่า การจัดการความรู้เพิ่มภาระงาน แต่ ใช้เป็นเครื่องมือเท่านั้น

          อ. อนุสรณ์ ฟูเจริญ  ผอ. สพท. สุพรรณบุรี เขต 2 ได้เล่าผ่านเรื่องเล่าถึงที่มาที่ไปของการนำเครื่องมือการจัดการความรู้ไปใช้ใน สพท. สุพรรณบุรี เขต 2     เริ่มจากความสนใจส่วนตัวก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ของ ดร. สุวัฒน์    ทำความรู้จักด้วยการศึกษาและอ่านแนวคิด Tacit Knowledge และ Explicit Knowledge ผ่านการสืบค้นจากอินเทอร์เนต   ประจวบเหมาะกับมีโครงการของ ดร. สุวัฒน์ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทันที     ขณะนี้อยู่ในช่วงปฏิบัติและปรับใช้  และพบรูปแบบที่เหมาะสมกับ สพท.  สุพรรณบุรี เขต 2   ซึ่งมี 3 ประเด็นคือ

           1. ใช้ KM เป็นเครื่องมือควบคู่ PAR&D (Participatory Action Research & Development - การวิจัยพัฒนาแบบมีส่วนร่วม)  เสริมสร้างพลังขับเคลื่อน กลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา

           2. ใช้ KM ควบคู่ PAR&D สร้างความรู้จริงในการพัฒนา

           3. ใช้ KM เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและได้ยกกรณีตัวอย่าง วิธีการนำ KM ไปใช้ในบริบทของตน โดยเริ่มจากมองไปที่วิสัยทัศน์ขององค์กร  มองกลยุทธ์      ปรับรูปแบบและวิธีการพัฒนา ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา  และใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงความฝังลึกของคนหน้างานจัดเก็บเป็นคลังความรู้ ทั้งในรูปเอกสารและเว็บไซต์ (Mangmoom & Blog)

          หลังจากนั้น อ. ปาริชาติ  ปรียาโชติ ผอ. โรงเรียนปรียาโชติ  เล่าว่า เป็นโอกาสที่ดีที่โรงเรียนตนเข้าร่วมโครงการฯ ดร.สุวัฒน์ และคิดว่าเป็นการเปิดรับสิ่งใหม่ โดยยึดถือว่า ไม่มีผิดไม่มีถูกทางความคิด และเมื่อได้รับการฝึกอบรมจากทีมโครงการฯ ก็นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูในโรงเรียนปรียาโชติ  และหันมามองดูถึงงานของตนสามารถที่จะสวมใส่กับเครื่องมือที่ได้รับการฝึกอบรม (ทุนของโรงเรียน) และพบว่า จะเริ่มที่งาน การศึกษาพิเศษ ซึ่งอยู่ในวิสัยทัศน์ขอโรงเรียน  ทดลองผ่านเรื่องเล่า สกัดขุมความรู้ แก่นความรู้ และคัดกรองสำดับความสำคัญ และได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมของเขต จ. นครสวรรค์ โดยนำเรื่องเล่าจัดทำในรูป E-book  และขณะนี้ได้จัดทำในรูป E-book 9 เรื่องแล้ว ได้แก่ การศึกษาพิเศษการอยู่ร่วมกัน ปั้นดาวก้าวเคียงเรือน   การดูแลคุณภาพชีวิตนักเรียนที่ดี  เป็นต้น

          สิ่งที่ ผอ.ปาริชาติ ได้เรียนรู้คือ KM คือเครื่องมือที่ให้ตนได้เรียนรู้จุดเด่น จุดแข็งที่ภาคภูมิใจ ได้เรียนรู้แนวทางและจัดทำแผนพัฒนาของโรงเรียนได้ รวมทั้ง ได้สร้างคุณค่าของคนเกิดขึ้นมากมาย จากการฟังเรื่องเล่าของครูในโรงเรียน และตนมีโอกาสในการรับรู้คุณค่าของครูเพิ่มขึ้นมากและสามารถบอกต่อได้ และเน้นย้ำว่า ได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของคนว่ามีค่ามากแค่ไหน  และทำให้ตนหันกลับไปมองที่ก้นบึ้งจิตใจของคน

           เมื่อจบการสนทนาแล้วก็ถึงช่วงซักถาม  มีคำถามที่น่าสนใจคือ ในการนำ KM  เป็นเครื่องมือการทำงาน จะผสมผสานงานเก่าและงานใหม่ได้อย่างไร   การขอคำแนะนำในการใช้ KM พัฒนาให้องค์กรทางการศึกษาสู่มุ่งหมายให้สำนึก และทำอย่างไรให้คนตระหนักรู้ 

          มุมมองของผอ. อนุสรณ์ได้ให้คำตอบในบริบทของตนว่า ทำอย่างไรให้ KM เนียนอยู่ในเนื้องาน   จะไม่เริ่มจากการบรรยาย   แต่เริ่มจากการนำกิจกรรมสำคัญในการความรู้ดึงความรู้ฝังลึก ตนได้เริ่มนำ KM เข้าไปในกระบวนการทำงานของตนเองก่อน โดยทีมงานสพท. เช่น นำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้าไปการประชุมผู้บริหาร 159 โรงเรียน  ของ สพท. สุพรรณบุรี 2  เปลี่ยนจากการประชุมเดิมๆ  เป็นการใช้กิจกรรมดึงเอาความรู้ฝังลึก ประสบการณ์ของแต่ละโรงเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เช่นหัวข้อ เรื่องระบบการช่วยเหลือนักเรียน   ไม่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้ตัว ความรู้ฝังลึกก็เริ่มเผยออกมา และจะทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเพิ่ม  ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นงานของเราเอง

          มุมมองของผอ.ปาริชาติ  ไม่ได้มองว่า KM เป็นเรื่องใหม่ โดยเปรียบเทียบว่า KM คือการทานข้าวที่เหมาะสมกับสถานการณ์ไหน  เช่น การกินข้าวนอกบ้าน หรือในบ้าน จะใช้ภาชนะแบบไหนที่เหมาะสม และให้ดึงผสมผสานระหว่างกัน   ทุกคนต้องเข้าใจธรรมชาติ  และคิดว่าการทำความรู้สึกร่วมกันและการเห็นถึงความสำคัญร่วมกัน ความรู้จะพรั่งพรูออกมาโดยไม่ต้องถามกันมากมาย

          มุมมองของดร. สุวัฒน์   การจัดการความรู้เป็นกระบวนการ ของการดึงเอาความรู้ฝังลึกของแต่ละคนในองค์กรมาพัฒนาวิธีการทำงาน การจัดการเรียนการสอน  แต่เราให้ความสำคัญของคนทำงาน เมื่อองค์กรให้เห็นความสำคัญกับคนทำงาน คนเหล่านั้นก็เกิดความภาคภูมิใจ  มีความสุขในการทำงาน      การจัดการความรู้จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพ  เมื่อเกิดการเรียนรู้บ่อยๆ วิเคราะห์บ่อยๆ จะก่อให้เกิดจิตสำนึก ตระหนักรู้    Knowledge Management จะก่อให้เกิด Learning Management” 

          สิ่งที่จ๊ะจ๋าได้เรียนรู้วันนี้คือ  ขุมทรัพย์มากมาย  แหละนี่คือ ประกายไฟหนึ่งที่แวดวงการศึกษาต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันและลึกลงไปในการทำงาน ก่อให้เกิดการเรียนรู้จนถึงการตระหนักรู้ ถึงจะใช้เวลามากเท่าไหร่ แต่การเรียนรู้ไม่เคยหยุดนิ่ง ถ้าเราใฝ่รู้ทุกอย่าง และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง     ในไม่ช้า องค์กรก็จะเกิดการเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กร จนอาจเรียกว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้  

สามารถคลิกเข้าไปอ่านความเป็นมาของโครงการดร. สุวัฒน์ได้ที่  Link  

หมายเลขบันทึก: 53901เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2006 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ตามมาอ่านพร้อมกับความหวังที่อยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งดีๆ เช่นกันค่ะ 
ความหวังเป็นสิ่งที่ดีคะ และถ้าเกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจ จะก็พลังแห่งการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่จ้า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท