จากพยาบาลชุดขาวเดินเข้าสู่ชุมชน


พยาบาลชุดขาว ก้าวสู่ชุมชน

 

บันทึก...พยาบาลชุมชนปากพะยูน   ตอน...  จากพยาบาลชุดขาวเดินเข้าสู่ชุมชน

                                                                                     โดย...ลูกหมูอ้วน

            พยาบาลคนหนึ่งและเพื่อนพยาบาลอีกคนหนึ่งรวมพลังเป็น 2 แรง ที่มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาแผ่นดินบ้านเกิดด้วยการนำแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานภายใต้ concept "ทำงานประจำสู่งานวิจัยและนำวิจัยสู่งานประจำ"เรา 2 คนจุดชนวนการสร้างสรรค์การทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพดังกล่าวโดยการเริ่มที่ พวกเราเองก่อน ซึ่งดิฉันขอเล่าถึงที่มาของ concept "ทำงานประจำสู่งานวิจัยและนำวิจัยสู่งานประจำ"ก่อนปี2545 ดิฉันมารับงานหัวหน้างานผู้ป่วยนอกของรพ.ชุมชน 30 เตียง (การได้มาซึ่งตำแหน่งหัวหน้างาน OPDจากการหยิบสลากเนื่องจากสมัยนั้น        

           งาน OPD ถ้าใครได้ไปถือว่าโชคไม่ดี(ซวย)ที่สุดเพราะผู้รับบริการบ่น(ด่า)มากที่สุด คนไข้มากที่สุด งานจำเจ ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย พูดแต่เรื่องเดิมๆ วันๆไม่เห็นมีอะไรนั่งแต่ซักประวัติให้หมอ พักกลางวันก็ช้ากว่าแผนกอื่นๆ ทะเลาะกับหมอประจำห้องตรวจ ประสานงา(งาน)เกือบทุกแผนก...อะไรๆก็ถาม OPD เรื่องอื่นๆอีกสารพันปัญหา คนไข้ก็เยอะ พยาบาลก็น้อย(ตอนนั้นอยู่ 2 คนแต่มีพยาบาลแผนกอื่นๆหมุนมาช่วยในวันที่มีคลินิกเบาหวานและความดัน(แม้เป็นOTน้องๆก็ไม่อยากได้เพราะคนไข้วันคลินิกมากจริงๆ) ความจริงในวันนั้นชื่อดิฉันอยู่ลำดับที่ 3 ซึ่งไม่น่าจะโดน  แต่ก็โดยเป็นจนได้เนื่องจาก ผู้ที่จับได้คนที่หนึ่ง คือน้อง GN 4 มีแนวโน้มจะย้าย คนที่ 2 เป็นGN 5มาปฏิบัติงานได้ประมาณ ปีกว่าๆ  กรรมการบริหารไม่ผ่านเหตุผลน้องเพิ่งย้ายมา ส่วนดิฉันอยู่ ลำดับ3 ก็GN 5 เหมือนกัน กรรมการบริหารผ่านเหตุผลคุณสมบัติเหมาะสมกับOPDได้แต่คิดในใจว่าจะหัวเราะหรือร้องให้ดี   ดิฉันนั่งคิดนอนคิด 1อาทิตย์เต็มๆและคิดว่าเอาละในเมื่อโชคลิขิตแล้วก็อย่าฝืนลิขิต ขอสู้ดูสักตั้งวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ไปรับงานแบบมึนๆ เมื่อรับงานเสร็จคืนนั้นนอนคิดทบทวนดูว่า จะเริ่มต้นอย่างไร จะทำอย่างไร จะปรึกษาใคร  แล้วจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง ไม่มีใครตอบได้  ดิฉันเริ่มต้นจากการศึกษาจากหนังสือมาตรฐานQAเล่มสีนำตาล และเล่มสีเขียวคลาสสิกที่เกี่ยวกับงานOPDทั้งหมด (อ่านไป-อ่านมาไม่ต่ำกว่า20 เที่ยว)สรุปบอกกับตัวเองว่าเอาล่ะฉันจะเริ่มจากการตัวชี้วัดที่QAต้องการจากวัดที่OPDทั้งหมดนี่แหละ โน๊ตมาทั้งหมด23รายการวันรุ่งขึ้นมาดูของจริงที่หน่วยงานปรากฏว่าไม่มีเลยไม่มีการจดบันทึก  รายละเอียดของกิจกรรม การทำงานไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ไม่มีการจัดเก็บข้อมูล ไม่มีหลักฐานที่มาของกิจกรรม ไม่มีการเก็บตัวชี้วัด ดังนั้นดิฉันนำปัญหานี้พูดคุยกับเพื่อนร่วมแผนกถึงจุดอ่อนของแผนกเราและเสนอแนวทางแก้ไขจึงได้มาซึ่งเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงาน และกำหนดขอบเขตการให้บริการและผู้รับผิดชอบงานชัดเจน โดยความสมัครใจและความถนัดของตนเองโดยที่ดิฉันเป็นผู้ให้คำนิยามและลักษณะงานและแนวทางปฏิบัติพร้อมกับให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำทุกอย่าง  หลังจากนั้น 1เดือนงานของแผนกเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น สมาชิกเรามีการพูดคุยถึงปัญหาการบริการในแต่ละวัน

           จากการสังเกตุและเหตุการณ์ที่ขึ้นและจากข้อร้องเรียนเรื่องการลัดคิว ระยะเวลารอคอย  พวกเรา(OPD)จึงปรับระบบบริการใหม่เป็น คลินิก one stop service เพื่อลดขั้นตอนบริการ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ก่อนปฏิบัติงานทั้งภาคเช้าและบ่าย และประชาสัมพันธ์ตามความเหมาะสมระหว่างรอตรวจ  ในคลินิก one stop service ผู้ป่วยเบาหวานและความดันนำแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวามาผสมผสาน ผลการดำเนินงานถือว่าประสบผลสำเร็จมากพอสมควร คือสามารถลดข้อร้องเรียนเรื่องระยะเวลารอคอยได้ทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยเรื้อรัง  ลดขั้นตอนบริการ สร้างความพึงพอใจทั้งผู้ป่วยและญาติที่มาตรวจทั่วไป  ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวานและความดัน มารับบริการตรงนัดเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยเบาหวานและความดันมีการดูแลตนเองดีขึ้นโดยดูจากผู้ป่วยที่มีผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยที่หมอปรับยาเพิ่มลดลง  ผู้ป่วยควบคุมโรคด้วยการDiet controlเพิ่มขึ้นจากเดิม และขยายผลไปยัง PCU ใกล้เคียง 2 PCU  ทีมงานของพวกเราได้รับรางวัล ชนะเลิศในการประกวดผลงานบุคลากรของรพ.ในภาคใต้ จัดโดยสถาบัน สคส. พรพ.และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดือน ก.ค. 2547

           สรุปผลการเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่อยู่ OPD คือ

          1.การทำงานต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ตนเองหรือตรวจสอบตนเองยอมรับในส่วนขาดและหาทางเติมเต็มซะต้องทำโดยเทน้ำชาเก่าออกจากถ้วยให้มากที่สุด ไม่ควรทำตัวเป็นน้ำชาล้นถ้วย

          2. การรู้   การเข้าใจงาน  และคน   โดยการศึกษารายละเอียด รวมทั้งจดบันทึกข้อมูลสำคัญไว้เพื่อประกอบการบริหารงานบุคคลและหน่วยงาน

          3.ประชุมชี้แจงพร้อมแสดงความรู้สึกและบอกและอธิบายเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน   ให้ทีมงานได้รับทราบและเข้าใจสำหรับการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันและเปิดโอกาสให้ทีมงานได้ซักถามข้อข้องใจ รวมทั้งใจกว้างรับฟังข้อเสนอแนะ

          4.การทำงานต้องยึดหลักโปร่งใส และมีคุณธรรม  และดำเนินงานด้วยกระบวนการ         P-D-C-A  คือ  ทำงานไป ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข วางแผนอยู่ตลอด  ตอนหลังมารู้ว่านั่นแหละคือการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้  

           สิ่งที่ภูมิใจคือ  ทุกวันนี้บางครั้งเมื่อดิฉันเดินผ่านหน้าบ้านเก่า (OPD) ดิฉันมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้แทนเพราะยกมือไหว้ ยกมือรับไหว้ ผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยที่รู้จัก ทั้งจับมือ ทั้งทักทายกัน เสียงดัง  ดูแล้วคล้ายๆผู้แทน.มาหาเสียงเลย   ทั้งๆที่ จนท.คนอื่นก็เดินผ่านเหมือนกันแต่บรรยากาศต่างกันและ มั่นใจได้ว่าบนรพ.นี้มีบรรยากาศแบบนี้มีไม่กี่คน  ดิฉันรู้สึกเหมือนมีพลังอันมหาศาลที่บอกดิฉันว่าจงทำดีต่อไปอย่าหยุด

 

           จากวันนั้น ถึงวันนี้ ดิฉันได้รับบทบาทใหม่  ต้องออกจากบ้านเดิมสู่อ้อมอกบ้านหลังใหม่คืองานชุมชน มาประมาณ 2 เดือน มาพบเพื่อนใหม่ไฟแรงต่างศาสนา แต่ว่ามีอุดมการณ์เดียวกัน เรา 2 คน ณ หน่วยงาน ชุมชน รพ.แห่งนี้ มีความมุ่งมั่น และศรัทธาอันแรงกล้าที่มุ่งหวังพัฒนาแผ่นดินบ้านเกิดเป็นแผ่นดินแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ 

            ตอนนี้เรา 2 คนเปรียบเสมือน รถที่มีน้ำมัน มีพขร.พร้อม ต้องการเดินทางขาดแต่เข็มทิศและแผนที่  ขณะนี้เรา 2 คน ได้ลงมือพัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบ โดยการลงไปสำรวจปัญหาชุมชนจากแผนที่เดินดิน และปัญหาสุขภาพของท้องถิ่นจากการพูดคุยได้ปัญหามาระดับหนึ่ง  ขณะนี้เราทำงานโดยการผสมผสานงานเยี่ยมบ้าน  (HHC ภาคชุมชน) งานผู้พิการ งานผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน  ...ขอเล่าต่อฉบับหน้าค่ะ

 

 



 

คำสำคัญ (Tags): #พยาบาลชุมชน
หมายเลขบันทึก: 5389เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2005 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     เขียนได้ดีมากครับ เอาข้อเท็จจริง สิ่งที่ทำจริง เขียนเป็นบันทึก เพื่อสะท้อนความรู้จากการทำออกมา หรือที่เรียกว่า

     และที่สำคัญจะเห็นการทำงานของคุณลูกหมูอ้วนและทีม ที่ได้นำเอาปัญหาจากงานประจำมาแก้ไข สรุปรวบรวม จัดการกับความรู้อย่างเป็นระบบ วันนี้มาบันทึกเพื่อ ลปรร.กันไว้ก็เยี่ยมมากครับ เห็นไหมล๊ะ คุณทำได้! ติดตามเรื่องนี้ดูซิครับ คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก

     ปล. ลองเข้าไปแก้ไข เพื่อจัด format ให้อ่านง่ายขึ้นก็ได้นะ โดยการ เทคนิดเล็ก ๆ นะครับ คือการ copy จากที่ที่เราพิมพ์ไว้ จากนั้นไปวางที่ Notepad ก่อน แล้วจึง copy จาก Notepad มาวางที่บันทึกนี้ (แทนของเดิม) จากนั้นก็ตีพิมพ์ใหม่ได้เลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท