ปัญหาสัญชาติของอากาศยาน


พัฒนาการของหลักสัญชาติอากาศยาน

        อากาศยานที่ไม่มีสัญชาติจะเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ธรรมดาที่ไม่อาจมีสิทธิหรือปฏิบัติภารกิจในฐานะอากาศยานได้เลย การไม่มีสัญชาติจะทำให้คุณค่าของอากาศยานหมดไป สัญชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เสมือนเป็นตัวกำหนดความเป็นอากาศยานเลยทีเดียว แนวความคิดเรื่องสัญชาติอากาศยานได้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1901 ต่อมาได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศไปในที่สุด นอกจากสัญชาติอากาศยานจะมีบทบาทในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงสิทธิและหน้าที่ระหว่างรัฐกับอากาศยานแล้ว ยังเป็นหลักพื้นฐานกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ฉะนั้น หากมีความคลุมเครือในประเด็นเกี่ยวกับสัญชาติอากาศยานแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาการปรับใช้หลักกฎหมายเหล่านั้นตามมาด้วย

       บทความนี้จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงเหตุผลและความเป็นมาของหลักสัญชาติโดยทั่วไปแล้วจึงจะพิจารณาหลักสัญชาติอากาศยานซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงพัฒนาการของสัญชาติอากาศยาน

       สัญชาติ นอกจากจะมีบทบาทในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงสิทธิและหน้าที่ระหว่างรัฐกับบุคคลธรรมดาแล้ว ยังมีบทบาทเช่นเดียวกันนี้ระหว่างรัฐกับอากาศยานอีกด้วย แนวความคิดเรื่องสัญชาติอากาศยานเริ่มก่อตัวตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนในที่สุดได้กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศไปแล้ว อนุสัญญาชิคาโก ค.ศ. 1944 "กำหนดให้การจดทะเบียนเป็นที่มาของสัญชาติอากาศยาน ในขณะเดียวกันก็ยอมให้รัฐใช้ดุลยพินิจกำหนดเงื่อนไขของการจดทะเบียนตามที่เห็นสมควร" ซึ่งส่งผลให้รัฐมีทางปฏิบัติในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป

       ประชากรเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของความเป็นรัฐ สิ่งที่จะชี้ว่าบุคคลหนึ่ง ๆ เป็นประชากรของรัฐหรือไม่ คือ สัญชาติ ฉะนั้น สัญชาติจึงทำหน้าที่เป็น เครื่องมือทางกฎหมายที่ผูกพันประชากรเข้ากับดินแดนเพื่อประกอบขึ้นเป็นรัฐ กฎหมายสัญชาติได้อยู่ในบริบทของกฎหมายจารีตประเพณีมานาน จนกระทั่งหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ความจำเป็นทางการทหารและสิทธิทางการเมือง ทำให้มีการกำหนดหลักสัญชาติไว้ในมาตร 2 ถึงมาตร 6 แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 อันนับเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรว่าด้วยเรื่องสัญชาติฉบับแรกของโลก ต่อมาหลักสัญชาติได้ขยายขอบเขตครอบคลุมถึงสิ่งอื่น ๆ ด้วย เช่น เรือ อากาศยาน บริษัท สายการบิน เป็นต้น จริงอยู่ที่กฎหมายภายในจะกำหนดเงื่อนไขของการได้มาซึ่งสัญชาติ แต่ก็ต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของกฎหมายสนธิสัญญา

       โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับ ผู้ทรงสิทธิในกฎหมายระหว่างประเทศ และวัตถุแห่งสิทธิในกฎหมายระหว่างประเทศ

        ผู้ทรงสิทธิ คือ บรรดาองคาพยพ เช่น รัฐ องค์การระหว่างประเทศ องค์อำนาจปกครองดินแดนร่วมกันของหลายรัฐ องค์อำนาจกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ซึ่งล้วนแต่มีความสามารถในการครอบและใช้สิทธิหรือพันธกรณีระหว่างประเทศ

       วัตถุแห่งสิทธิ คือ สิ่งใด ๆ เช่น ดินแดน บุคคล อากาศยาน ซึ่งไม่สามารถครองหรือใช้สิทธิและพันธกรณีดังกล่าวได้ด้วยตนเอง หากจะต้องกระทำโดยผ่าน ผู้ทรงสิทธิในกฎหมายระหว่างประเทศ เท่านั้น

       กฎหมายระหว่างประเทศได้เข้ามาสานผลประโยชน์ระหว่างผู้ทรงสิทธิทั้งหลายในการจัดสรรวัตถุแห่งสิทธิ และในขณะเดียวกันก็กำหนดขอบเขตอำนาจของผู้ทรงสิทธิที่มีเหนือวัตถุแห่งสิทธินั้น ๆ สถาพการณ์เช่นนี้เอง ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องสัญชาติขึ้น โดยรัฐจะมอบสัญชาติของตนให้แก่วัตถุแห่งสิทธิดังกล่าว เพื่อเป็นการกำหนดความสัมพันธ์เชิงสิทธิและหน้าที่ระหว่างรัฐกับวัตถุที่ได้รับสัญชาติ กล่าวคือ บุคคลหรือสิ่งที่ได้รับสัญชาตินั้นจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากรัฐผู้ให้สัญชาติ ในขณะเดียวกันรัฐผู้ให้สัญชาติจะมีเขตอำนาจตามหลักบุคคลหรือหลักกึ่งบุคคลกึ่งดินแดนเหนือวัตถุนั้น อีกทั้งยังมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศต่อรัฐอื่นในความเสียหายใด ๆ จากวัตถุดังกล่าว โดยสรุปแล้ว รัฐผู้ให้สัญชาติจะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิของวัตถุนั้น เป็นผู้ควบคุมดูแลให้วัตถุนั้นปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นผู้ให้หลักประกันแก่ประชาคมระหว่างประเทศว่าจะไม่เกิดความเดือดร้อนจากวัตถุนั้น

       กล่าวกันว่า หลักสัญชาติอากาศยานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะอากาศยานไร้สัญชาติจะมีสถานะเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น หามีสิทธิใด ๆ ที่อากาศยานพึงมีไม่

        นอกจากนี้ สนธิสัญญาพหุภาคีเกี่ยวกับการเดินอากาศที่สำคัญทุกฉบับ กล่าวคือ อนุสัญญาปารีส ค.ศ. 1919 อนุสัญญามาดริด ค.ศ. 1926 และอนุสัญญาฮาวานา ค.ศ. 1928 ก็ล้วนแต่มีบทบัญญัติว่าด้วย หลักสัญชาติอากาศยานทั้งสิ้น และที่สำคัญที่สุดคืออนุสัญญาชิคาโก ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้ยืนยันการใช้หลักสัญชาติอากาศยานเช่นเดียวกัน โดยกำหนดว่าอากาศยานพึงมีเครื่องหมายสัญชาติและทะเบียนที่เหมาะสมหากต้องการเดินอากาศระหว่างประเทศ ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วพอจะสรุปได้ว่า หลักสัญชาติอากาศยานได้กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศไปแล้ว 

หมายเลขบันทึก: 53841เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2006 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท