กรุง เหลืองมโนธรรม: ครูในใจ


ผมเชื่อว่าครูก็ยังเป็นครูของนักศึกษาทุกคน ที่พร้อมจะตอบคำถาม ให้ความรู้ และ เป็นที่ปรึกษาแก่ลูกศิษย์เสมอ เพราะความเป็นครูของครูไม่เคยจากหายไปไหนและไม่เคยเลือนหายไปกับกาลเวลา

 แม้ผมจะเริ่มการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี แต่ความใกล้ชิดของผมต่ออาจารย์นพนิธินั้น เริ่มขึ้นเมื่อผมได้เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความประทับใจต่ออาจารย์นพนิธิจากประสบการณ์ของผมที่ได้เรียนกับท่าน มี ๒ ประการใหญ่ด้วยกัน คือ

 ๑. ความเป็นกันเองกับนักศึกษา

สิ่งนี้คือสิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้เมื่อเริ่มการศึกษากับอาจารย์นพฯ อาจารย์จะแทนตัวเองว่า "ครู" กับลูกศิษย์ ซึ่งโดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมชอบคำว่า "ครู" มากกว่า "อาจารย์" เพราะคำนี้สร้างความรู้สึกว่าผู้เรียนมีความใกล้ชิดกับผู้สอนมากขึ้น เป็นคำที่มีความอบอุ่นต่อทุกคนในห้องเรียน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเป็นไปอย่างอบอุ่น นักศึกษามีการกล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น ประการต่อมาที่ผมสัมผัสได้จากชั้นเรียนครูนพฯ คือ รอยยิ้มและความสนุกในการสอน ครูนพฯ จะเข้ามาห้องเรียนพร้อมกับรอยยิ้มพร้อมทักทายนักศึกษาทุกครั้ง ไม่มีครั้งใดเลยที่ครูจะไม่ปฏิบัติเช่นนี้ อันทำให้นักศึกษามีความรู้สึกที่ดีต่อการสอนที่จะมีต่อไป นอกจากนั้นในระหว่างชั้นเรียน ครูยังได้สร้างเสียงหัวเราะให้แก่นักศึกษา โดยครูจะหาเรื่องขำขันมาเล่าสู่กันฟัง ที่ผมจำได้มีเรื่องที่ผมชอบสองเรื่องคือ เรื่องที่ครูไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยมหิดลแล้วพิธีกรได้มีการเรียกชื่อครูผิดจาก รศ.นพนิธิ เบ็น รศ.นพ.นิธิ และ ในวิชาสิทธิมนุษยชนที่ครูนพฯ สอนเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม ครูได้ยกตัวอย่างว่า คำว่า "เท่า" หมายถึง "ความเสมอภาค" และ "เทียม" หมายถึง "ความไม่แท้" เมื่อมารวมกันแล้วจะเป็น "ความเสมอภาคที่ไม่แท้" เป็นเหตุให้ในสังคมไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะให้แก่นักศึกษาและลดบรรยากาศความเครียดและความง่วงซึมในชั้นเรียน ประการสุดท้ายของความเป็นกันเองของครูคือ การร่วมรับประทานอาหารเมื่อจบหลักสูตรการสอน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบที่มีครูมาชักชวนให้นักศึกษาไปทานอาหารด้วยกัน อันแสดงถึงน้ำใจและความเป็นมิตรต่อลูกศิษย์ของครู ซึ่งผมไม่เคยพบมาก่อน อันสร้างความประทับใจให้แก่ผมเป็นอย่างมาก

๒. การเปิดกว้างทางความคิด

สำหรับการเปิดกว้างทางความคิดของอาจารย์ในชั้นเรียนนั้น จะปรากฎได้ตั้งแต่ครั้งแรกของการเริ่มเรียนวิชา โดยปกติอาจารย์ผู้สอนประจำวิชาจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการสอนว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด แต่สำหรับครูนพฯแล้ว ครูจะถามนักศึกษาว่าต้องการจะเรียนแบบใด เช่น ต้องการให้ครูบรรยายอย่างเดียวและนักศึกษานั่งฟัง หรือ จะให้มีการทำรายงานแล้วมาอภิปรายหน้าชั้นเรียน อันจะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปในแนวทางที่ผู้สอนและผู้เรียนพึงพอใจ และ จะทำให้การเรียนการสอนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ ประการต่อมาสิ่งที่สนับสนุนว่าครูเปิดกว้างทางความคิด คือ การอนุญาตให้นักศึกษาโต้แย้ง และ ถกเถียงในประเด็นที่ครูสอนได้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้มีการถกเถียงประเด็นที่ครูได้สอน ซึ่งครูนพฯ จะรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา และ หากนักศึกษาเข้าใจผิด ครูจะอธิบายเหตุผลข้อความคิดที่ถูกต้องให้นักศึกษาฟัง เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือหากนักศึกษามีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจครูจะนำเก็บไปคิดพิเคราะห์ แล้วนำกลับมาอธิบายให้แก่นักศึกษา อันทำให้นักศึกษามีความกล้าคิด กล้าแสดงออก และ เปิดมุมมองใหม่ทางความคิด

สุดท้ายแม้ครูจะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม ผมเชื่อว่าครูก็ยังเป็นครูของนักศึกษาทุกคน ที่พร้อมจะตอบคำถาม ให้ความรู้ และ เป็นที่ปรึกษาแก่ลูกศิษย์เสมอ เพราะความเป็นครูของครูไม่เคยจากหายไปไหนและไม่เคยเลือนหายไปกับกาลเวลา ผมจะนำแบบอย่างความคิดและบุคคลิกความเป็นครูของครูเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของผมต่อไป และผมคงไม่มีคำใดที่จะแสดงความรู้สึกของผมต่อครูไปได้มากกว่าคำคำนี้ "ขอบคุณครับครูนพฯ"  

กรุง เหลืองมโนธรรม

๘ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 53839เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2006 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถูกต้องที่สุดค่ะ อาจารย์น่ารักมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท