หยุดวิ่งไล่ “ความสุข” กันเสียเถอะ


ความสุขที่ไม่ยั่งยืน ความสุขฉาบฉวย หรือเปลือกความสุข ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องดิ้นรนไขว่คว้า หรือวิ่งไล่ไปตลอดชีวิต



หยุดวิ่งไล่ “ความสุข” กันเสียเถอะ

ชาวพุทธผู้ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต ย่อมเข้าใจว่า “สุข” กับ “ทุกข์” เป็นสิ่งคู่โลก เช่นเดียวกับ ลาภ-เสื่อมลาภ  ยศ-เสื่อมยศ...  สรรเสริญ- นินทา (โลกธรรม ๘)  ดังนั้น ถ้าต้องการความสุขก็ต้องทำให้ความทุกข์ลดลงหรือดับไป “ยิ่งทุกข์ลดน้อยถอยลงเท่าใด ความรู้สึกเป็นสุขก็จะทวีเพิ่มมากเท่านั้น”จะเห็นว่า ธรรมะของพระพุทธองค์จึงเป็นไปเพื่อการดับทุกข์  ตามหลักแห่งความจริง (อริยสัจจ์ ๔) กล่าวคือ ให้รู้จักทุกข์ รู้สาเหตุที่แท้จริงของทุกข์ รู้สภาวะเมื่อดับทุกข์  และรู้วิธีดับทุกข์  ซึ่งการเข้าถึงหลักแห่งความจริงนี้ ขึ้นอยู่สติปัญญาของแต่ละบุคคล และพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติให้เห็นผลด้วยตนเอง

คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า  ความสุขอยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัดวงจรทุกข์ได้เท่าใด ความสุขก็จะเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องวิ่งไล่ “ความสุข” ให้เสียเวลาเปล่า  ถ้าพิจารณาดูให้ดี ความสะดวกสบาย ที่เกิดจากความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี ที่ทุกคนไขว่คว้าแสวงหานั้น มักหามาด้วยความอยากได้อยากมีอยากเป็น ความอยากอย่างไม่สิ้นสุดนี่เอง ที่ทำให้คนแสวงหาความสุขใหม่อย่างไม่รู้จักพอ (โลภ)  ความสุขของคนหนึ่งอาจเป็นความทุกข์ของคนหนึ่งหรือหลายคน จึงอาจมีผู้ขัดขวาง ทัดทาน หรือขอร้องไม่ให้ทำ เมื่อนั้นย่อมมีอารมณ์เป็นทุกข์ไม่พึงพอใจ (โกรธ) เมื่อเคยชินกับความสุข ย่อมติดสุข ติดสบาย คิดหาวิธีทำให้ตัวเองสุขสบาย ไม่อดทนต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความลำบากแม้เพียงเล็กน้อย (หลง) มีความเชื่อว่า ความสุขต้องมีทรัพย์ มีอำนาจ ปฏิเสธความเรียบง่าย พอเพียง  เมื่อเป็นเช่นนี้ความทุกข์จะต้องแวะเวียนมาหา จึงไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืน

ท่าน ว. วชิรเมธี กล่าวว่า ความสุขของคนเราเกิดได้ ๓ ทาง

๑.  เกิดจากความมี ตามวิสัยของผู้ครองเรือน ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์สมบัติ ได้ใช้จ่ายทรัพย์อย่างเพียงพอ ไม่เป็นหนี้ และประกอบอาชีพอันสุจริตตามความถนัด มีใจรัก

๒.  เกิดจากการทำความดี  อย่างเช่น ได้ช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น สังคม ได้อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ได้ทำนุบำรุงพระศาสนา จิตใจย่อมอิ่มเอิบ เป็นสุข

๓.  เกิดจากปัญญา เมื่อพิจารณาเห็นจริงว่า การวิ่งไล่ความสุขด้วยความอยาก ไม่ใช่ทางแห่งความสุขที่แท้จริง จึงแสวงหาความเรียบง่าย สะอาด สว่าง สงบ ใกล้ชิดธรรมชาติ  หรือหาวิธีทำจิตใจให้สงบ ตามพุทธภาษิตที่ว่า “นตฺถิ  สนฺติปรํ  สุขํ” สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี 

กลวิธีสร้างความสุขโดยวิธีเอาชนะความทุกข์ (ประยุกต์ตามกลวิธีแก้ทุกข์ ของ พ.อ.ปิ่น  มุทุกันต์)

๑.  ไม่ขยายทุกข์ ต้องระงับความวิตกกังวล เชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ และเป็นเรื่องปกติธรรมดา ยอมรับสภาพ ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น หาทางปรับปรุงแก้ไข ไม่โทษคนอื่น

๒.  ไม่ตีตนไปก่อนไข้ คือไม่คิดวิตกกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิด  ไม่คิดหนักใจในงานที่ยังไม่ลงมือทำ ไม่คาดหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก

๓.  ยุบทุกข์ที่ไม่จำเป็นออกเสียบ้าง ไม่ต้องใส่ใจกับปัญหาเล็กๆน้อย การนินทาว่าร้าย คำวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องเหลวไหลไร้สาระ รู้จักให้อภัย สร้างนิสัยให้มีความเมตตา

๔.  ลดความอยากลง ควบคุมความอยากให้อยู่ในขอบเขตพอเหมาะพอควร  พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่

เพียงเท่านี้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้า หรือยังยินดีจะวิ่งไล่ความสุขไปตลอดชีวิตก็ตามใจ


หมายเลขบันทึก: 537827เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2013 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แต่ความสุขก็ทำให้เรามีความหวังนะครับ  ...อิ อิ

"ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้ขออนุญาตนำบันทึกเรื่อง "GotoKnow" The growth of mind" ของท่าน ไปอ้างอิงในบันทึก "เพราะเหตุใด ใครๆ จึงรัก GotoKnow" ที่นี่ http://www.gotoknow.org/posts/537245 แต่ดูเหมือนท่านจะยังไม่ได้รับรู้ ทำให้ไม่ค่อยสบายใจนัก จึงขอเรียนให้ท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าท่านรับรู้แล้ว กรุณาแจ้งด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท