เพราะเหตุใด ใครๆ จึงรัก GotoKnow


ขอจบบันทึกด้วยการเลียนถ้อยคำของ คุณ “Sila Phu-Chaya” ว่า "เพราะชุมชน GotoKnow ทรงคุณค่ามาก เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน"

  
                

เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ ไอดิน-กลิ่นไม้” สัมผัส GotoKnow ยังไม่ครบ 2 เดือน ยังกล้าที่จะเขียนบันทึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีวันเกิด GotoKnow แล้ว ณ ขณะนี้ “ไอดิน-กลิ่นไม้” เป็นสมาชิก GotoKnow มาครบ 2 ปีเต็ม เมื่อ "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ " เชิญชวนให้สมาชิกเขียนบันทึก บอกถึงเหตุผลที่ตนชื่นชอบ "ชุมชน GotoKnow" (เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี วันเกิดของ GotoKnow 28 พฤษภาคม 2556) แล้วมีหรือ ที่ “ไอดิน-กลิ่นไม้” จะนิ่งเฉยอยู่ได้

                                    

                                          Happy Anniversary of GotoKnow 8th Birthday

คงเป็นเพราะเรียนและสอนมาทางจิตวิทยา (Psychology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมภายนอก  (เช่นการเขียนบันทึก) และภายใน (เช่น ความรู้สึกนึกคิด) ของมนุษย์ เพื่อบรรยาย (Describe) อธิบาย (Explain) ทำนาย (Predict) และ ควบคุม (Control) พฤติกรรม (ควบคุม คือ การจัดสภาพแวดล้อม เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์) ทำให้ “ไอดิน-กลิ่นไม้”  อยากค้นหาคำตอบว่า สมาชิกท่านอื่นๆ มีความรู้สึกนึกคิดต่อ GotoKnow เหมือนหรือต่างไปจากตนเองหรือไม่ อย่างไร (บรรยายพฤติกรรม) และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (อธิบายพฤติกรรม) จึงได้อ่านบันทึกของสมาชิกที่เขียนบอกความรู้สึกนึกคิดของตนต่อ GotoKnow ในช่วงวันที่ 22-25 พฤษภาคม 2556 และเพื่อให้สามารถบรรยายและอธิบายพฤติกรรมได้ จึงได้ขออนุญาตนำความเห็นของ 13 ท่านมาอ้างอิง ทั้งนี้ ได้ขออนุญาตทุกท่านแล้ว (มี 4 ท่านที่ไม่ได้เข้ามาตอบ แต่คิดว่า [ทำนายพฤติกรรม] ท่านคงไม่ปฏิเสธ) ท่านที่ 14 เขียนบันทึกที่ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด ต่อ GotoKnow แต่ได้นำมาอ้างอิงเพื่อประกอบการอธิบายพฤติกรรม ในจำนวน 14 ท่าน จำแนกเป็นเพศชาย 7 เพศหญิง 7 มีอาชีพหลากหลาย ได้แก่ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา นักการศึกษา นักวิจัย หมออนามัย พนักงานบริษัท บุคลากรองค์กรเอกชน และนักศึกษา เป็นต้น เป็นสมาชิก GotoKnow มาเป็นเวลา 2-7 ปี ภาพและข้อมูลทั้ง 14 ท่าน มีดังนี้ (สถิติจำนวนบันทึก จำนวนความเห็นที่แสดง และจำนวนดอกไม้ที่มอบเป็นสถิติจากการสำรวจ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2556 ในช่วงเวลา 03.30-05.00 น. จึงอาจไม่ตรงกับข้อมูล ณ เวลาที่ท่านอ่าน เพราะเป็นตัวเลขที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา)

สำหรับ "ไอดิน-กลิ่นไม้" เอง รู้จัก GotoKnow แบบ “CASH (Computer Assisted Self Help)” โดยไม่ได้รับการเชิญชวนหรือคำแนะนำช่วยเหลือจากใคร เริ่มจากการพิมพ์คำค้น “Blog” ใน “Google” แล้วศึกษาหาความรู้ไปตามลำดับ และสุดท้ายได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก Weblog “GotoKnow. Org” และได้รับการลงทะเบียนเป็นสมาชิก ณ วันที่ 2 เมษายน 2554 เวลา 02.20 น. ได้เลขที่สมาชิก 147,999 นับถึงวันนี้ เป็นสมาชิกมาเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือนเศษ มีสมุด (Blog) 5 เล่ม บันทึกเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ 60 โดยบันทึกเดือนละ 2-3 เรื่องอย่างสม่ำเสมอ (เรื่องที่มีสถิติการอ่านสูงสุด คือ "การคิดนอกกรอบ...เตรียมเด็กและเยาวชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558" ใน Blog "E-tocoomunicate" ซึ่งลงบันทึกมาประมาณ 1 ปีมีผู้เข้าไปอ่าน 21,733 ครั้ง รองลงมา คือ เรื่อง "เรียนรู้เพื่อนรอบข้าง แบบอย่างผู้พัฒนาตนจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ" ใน Blog "Mantoknow" ซึ่งลงบันทึกมาประมาณ 9 เดือน มีผู้เข้าไปอ่านกว่าสองหมื่นครั้ง  ได้รับรางวัลครูเพื่อศิษย์ประจำเดือนมีนาคม 2555 ซึ่ง "ดร.ขจิต ฝอยทอง" ได้อ้างถึงงานครูของ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ในบันทึกเรื่อง "งานและงาน...คือมาลีแห่งชีวิต") แสดงความเห็นไป 3,008 ครั้ง และให้ดอกไม้ไป 1,897 ครั้ง (สังเกตว่า บันทึกของตนจะยาว เพราะมีประเด็น รายละเอียดและภาพประกอบมาก การเขียนแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการเตรียมและการเขียนนานเป็นสัปดาห์ บันทึกนี้ก็เช่นกัน [มันเป็นเอกลักษณ์ของหล่อนไปแล้ว] ต่างจากบันทึกส่วนใหญ่ ที่เขียนสั้นๆ เพราะนำเสนอเรื่องละประเด็นเดียว บางท่านเขียนได้วันละหลายเรื่อง ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านมากกว่า อนึ่ง จากสถิติทำให้บอกได้ว่า บางท่านแสดงความเห็นโดยอาจไม่ได้ให้ดอกไม้ บางท่านให้ดอกไม้โดยไม่ได้แสดงความเห็น และมีท่านที่ให้ดอกไม้และแสดงความเห็นไปพร้อมๆ กัน)

                  

                 

จากการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ในบันทึกที่ได้อ่าน พบว่า ผู้เขียนทุกท่านมีเจตคติ (Attitude) ที่ดีต่อ GotoKnow คือ มีความรู้สึกชื่นชอบ พึงพอใจ  ที่เป็นเช่นนั้น พอจะอธิบายเป็นภาพรวมได้ว่า เป็นเพราะ GotoKnow ตอบสนองความต้องการของสมาชิก ตาม "ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์" ที่มาสโลว์ได้อธิบายไว้ (Maslow’s Hierachy of Needs) ดังภาพล่าง (ตำราจิตวิทยาของไทยแทบทุกเล่ม ระบุความต้องการเพียง 5 ขั้น ตามความคิดแรกของ Maslow ทั้งที่ท่านได้ปรับขยายจาก 5 ขั้นเป็น 8 ขั้นมาตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งเป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว)  

                  

จากภาพข้างบน มาสโลว์ อธิบายว่า มนุษย์จะสนองความต้องการของตนไปตามลำดับ จากขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุดไปจนถึงขั้นที่ 8 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด ขั้นที่ 1 ความต้องการทางชีววิทยาและสรีรวิทยาหรือทางกาย (Biological and Physiological Needs) ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ความต้องการปัจจัย 4 เป็นต้น ขั้นที่ 2 เป็นความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) เช่น การปกป้องคุ้มครอง และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น ขั้นที่ 3 ความต้องการความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและต้องการความรัก (Belongingness and Love Needs) ขั้นที่ 4 ความต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (Esteem Need) ขั้นที่ 5 ความต้องการความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Needs) ขั้นที่ 6 ความต้องการสุนทรี ขั้นที่ 7 ความต้องการพัฒนาตนเองให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ (Self-actualization) และขั้นที่ 8 ความต้องการที่จะช่วยให้คนอื่นได้พัฒนาตนเองจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ (Transcendence)

กัลยาณมิตรส่วนใหญ่ มีมุมมองต่อ GotoKnow ในด้านการตอบสนองความต้องการในขั้นที่ 3 คือ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและต้องการความรัก และขั้นที่ 5 คือ ต้องการความรู้ความเข้าใจ ดังที่ "คุณลูกหมูเต้นระบำ" บอกว่า "GotoKnow เป็นพื้นที่ของมิตรภาพแห่งการเรียนรู้"…"คุณมะเดื่อ" พรรณนาว่า GotoKnow เป็น "สวนรุกขชาติที่สวยสดงดงามหลากหลายด้วยพฤกษชาติแห่งภูมิปัญญานานาพรรณ หอมอบอวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้ มิตรภาพอันอบอุ่น แต่งแต้มด้วยสีสันอันหลากหลายตระการตาของนานาบุปผชาติแห่งองค์ความรู้"…และ "คุณ tuknarak" บอกว่า ใน GotoKnow "มีหลากหลายเรื่องที่น่าสนใจ และผู้รู้แต่ละท่านจะเขียนบันทึกตามสิ่งที่ตนเองถนัดหรือชอบ …หลายครั้งได้จากประสบการณ์การทำงานของท่านนั้นๆ หลายครั้งได้จากการอ่านหนังสือดีๆ ของท่าน เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะผู้เขียนคิดว่า คงไม่มีโอกาสหรือเวลาที่จะอ่านหนังสือได้ทุกเล่ม แต่ที่นี่มีทุกสิ่งที่ต้องการศึกษา"

สำหรับ "คุณ tawandin" ได้ให้คุณค่า แก่ GotoKnow   ด้านการตอบสนองความต้องการขั้นที่ 7 คือ ความต้องการพัฒนาตนเองให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ เพิ่มขึ้นมาจากขั้นที่ 3 และ 5 โดยกล่าวว่า "...พื้นที่นี้คือ เบ้าหลอมสำหรับการอบรมกล่อมเกลา หัวใจ ชีวิต จิตวิญญาณ ด้วยพื้นฐานของ “ความรัก” เป็นฐานรากนำสู่การเรียนรู้ จัดระบบ ระเบียบ “โลกและชีวิต” ของตนรอบใหม่ อย่างสำคัญ...ต่อไป” เช่นเดียวกับ "kunrapee" ที่บอกว่า "GoKnow ช่วยให้ได้รับทราบข้อมูลความรู้กว้างไกลรอบด้าน...ทั้งเรื่องใกล้ตัวไกลตัวเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือรู้มาบ้างแต่ไม่ละเอียดลึกซึ้ง...ซึ่งส่งผลให้ kunrapee ปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีปฏิบัติหลายต่อหลายอย่างเหมือนจะเป็นคนดีขึ้นด้วย"…"คุณ pornpain EN   phunumyoy" ชี้ว่า "...ความรู้ที่ได้จาก GotoKnow เป็นความรู้จากผู้ปฏิบัติ ทำให้เห็นเนื้อหาสาระที่แท้จริงหรือความแตกต่างระหว่างสาขาวิชาชีพ ที่มีความหลากหลายในกลวิธีที่จะพัฒนางานของตนสู่เป้าหมาย หรือประสบผลสำเร็จของงานนั้นๆ” และ "คุณสมาน เขียว" ได้กล่าวถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ใน GotoKnow ของตนไว้อย่างน่าประทับใจ ว่า "...การท่องโลกการเรียนรู้ใน GotoKnow ของผมเป็นไปอย่างพินิจพิเคราะห์ จึงได้อิ่มใจกับองค์ความรู้เล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่ผู้คนมองข้าม ได้สัมผัสกับรูปแบบความสุขในโลกส่วนตัวที่น่าทึ่งของหลายชีวิตในทุกหลืบของสังคม ได้เรียนรู้วิธีทำงานของนักคิด นักกิจกรรมเพื่อสังคม นักวิชาการ นักการศึกษา ทั่วฟ้าเมืองไทย ได้ข้อคิดกลับด้านที่กระตุกต่อมคิดใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างไม่รู้จบ ผมรู้สึกว่า เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้..."

กัลยาณมิตรที่กล่าวถึง GotoKnow ในด้านการตอบสนองความต้องการขั้นที่ 6 ความต้องการด้านสุนทรี  คือ "คุณครูอิงจันทร์ฯ ณ เรือนปั้นหยา" ที่กล่าวว่า "...ก่อนอื่นครูอิงค์คิดทบทวนก่อนว่า ใจเรา เราเข้ามาที่นี่เพื่ออะไร มีวิธีหาความสุขจากที่นี่อย่างไรบ้าง ก็พบว่า สิ่งที่ทำให้มีความสุขคือ ความงามของธรรมชาติ ความงามด้านศิลปะ วัฒนธรรม ความสุขกับการสะสมภาพ เก็บคำคมต่าง ๆ สะสมบทกลอนสร้างสรรค์..." และ "ครูนพ" กล่าวถึงความดึงดูดใจของ GotoKnow ไว้ว่า "เสน่ห์ของตัวหนังสือ สาระความรู้ เรื่องราว คำบอกเล่า ข่าวสาร ที่ได้นำมาร้อยเรียงใน GotoKnow ไม่ได้มีเพียงสิ่งที่พบได้จากการอ่าน การเห็น หรือรับทราบ บนตัวหนังสือ สาระความรู้ เรื่องราว คำบอกเล่า ข่าวสารเท่านั้น แต่ยังมีความสวยงาม จินตนาการที่กว้างไกล ความอิ่มเอิบใจ และความฝัน ...ที่สัมผัสได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ...นี่คือ GotoKnow" ..."ไอดิน-กลิ่นไม้" เองก็ได้รับการตอบสนองความต้องการด้านสุนทรีเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งคือ การรวบรวมภาพนกจากสิงคโปร์ จากบันทึกและฝีมือถ่ายภาพของ "คุณปริม" โดยที่ได้ขออนุญาตเธอไว้แล้ว ดังภาพ

                   

"คุณ พ.แจ่มจำรัส" กล่าวถึง GotoKnow ในด้านการตอบสนองความต้องการขั้นที่ 2 คือ ต้องการความปลอดภัย ไว้อย่างน่าซาบซึ้งใจว่า "...เปิดประตูบ้านหลังหนึ่ง นามว่า Gotoknow... เพื่อเข้าไปโบยบินสู่โลกกว้าง โลกใบใหม่ ที่เราใคร่จะเลือกเรียนรู้ สร้างสุข...สร้างความหวัง เพื่อบอกเล่าเรื่องราว แบ่งปันประสบการณ์ ความฝันและความจริง...และนี้คือ โลกอีกใบหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้ามาซุกหลบความร้อนรุ่ม บอกเล่าสารทุกข์สุขดิบ...เข้ามาปล่อยวาง เพื่อตามจิตที่ลุ่มหลงไปในอารมณ์แห่งสิ่งแวดล้อมอันหลากหลาย ในแต่ละวันของชีวิต... เข้ามาซบอบอุ่นด้วยความไว้วางใจ" และ "คุณทิมดาบ" ได้กล่าวถึง GotoKnow ในด้านการตอบสนองความต้องการขั้นที่ 4 คือ ความต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ด้วยเนื้อเพลงว่า "...ค้นพบตนเองว่ามีคุณค่า ก็เมื่อเวลาได้มาพบเธอ..."…ซึ่ง “ไอดิน-กลิ่นไม้” ใคร่ขอยืมประโยคดังกล่าวมาใช้ เมื่อ “คุณ Sila Phu-Chaya” กล่าวเชิญชวนในสัปดาห์ก่อนๆ ว่า “อยากเรียนเชิญอาจารย์คัดเลือกบันทึกมาห้าบันทึกร่วมกิจกรรม Happy Ba ด้วยนะคะ …เพราะบันทึกของอาจารย์ทรงคุณค่ามาก เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันค่ะ” 

การเปิดหน้าแรกของ GotoKnow เปรียบเสมือนการเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ที่มีสินค้าแทบทุกชนิดไว้บริการแตกต่างตรงที่ GotoKnow  ให้บริการความรู้ ข้อมูลข่าวสาร แนวคิด จากมวลมิตรหลากหลายอาชีพและประสบการณ์ ที่สามารถเลือกอ่านได้ตามความสนใจ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อหา อย่างเช่นในเช้ามืดของวันที่ 24 พ.ค. “ไอดิน-กลิ่นไม้” ได้เลือกอ่านเรื่อง“น้ำพริก– ผักลวก”   เป็นเรื่องแรก “คุณอานนท์ ภาคมาลี” หมออนามัย ผู้เขียนได้เกริ่นนำไว้ว่า “เวลามีคนอายุยืน พอถามเคล็ดลับมักได้ยินคำตอบเรื่องอาหาร กินอาหารง่ายๆ ปรุงไม่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่เป็นผักธรรมดาเท่านั้นเอง เคล็ดลับอายุยืน คือ รับประทานอาหาร น้ำพริก – ผักลวก พืชสมุนไพรต่างๆ เป็นประจำ” หลังจากนั้นท่านก็ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารของผักชนิดต่างๆ รวมทั้งการนำไปประกอบอาหาร เช่น "ตำลึง : ใบตำลึงดับพิษร้อน แก้เจ็บตา ตาแดง ตาแฉะ ส่วนตำลึงทั้งต้นแก้โรคผิวหนัง ลดน้ำตาลในเลือด ใบตำลึงประกอบด้วยแคลเซียม  เส้นใยอาหาร และเบต้า-แคโรทีน กินได้ทั้งผลอ่อนสีเขียวและใบ ผลอ่อนนิยมนำมาแกงส้ม ลวกสุกกินกับน้ำพริก ใบตำลึงใส่ในแกงเลียง แกงจืดหมูบดตำลึง ก๋วยเตี๋ยว ต้มเลือดหมู เป็นต้น"  

                   

อนึ่ง การใช้บริการใน GotoKnow จะไม่แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาเหมือนการค้นหาความรู้จาก Google เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า “Learn, Care, Share, Shine” ดังที่ ไอดิน-กลิ่นไม้ อ่านจบแล้ว ก็ได้มอบดอกไม้ และชวนคุยว่า “บันทึกนี้ช่วยเสริมความเชื่อมั่นว่า ตนเองกินอาหารถูกทางแล้ว ไม่อยากอายุยืนมากนักหรอกค่ะ เอาแค่พอดีๆ แต่ที่สำคัญต้องมีสุขภาพดีด้วย ไม่ใช่เป็นผู้สูงวัยแบบ "นอนกิน" ...ขอบคุณสำหรับความรู้คุณค่าของผักแต่ละชนิดและการนำไปทำอาหาร "ไอดิน-กลิ่นไม้" ยึดหลักการกิน คือ "กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินกล้วยน้ำว้าเป็นขนมหวาน (สูตรการกินเพื่อสุขภาพที่ได้มาจากท่านวอญ่าฯ กัลยาณมิตรจากพัทลุง)การใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การกินพืชผักสมุนไพรที่ปลูกเองด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ปลอดภัยจากสารพิษ…นี่เป็นตัวอย่างที่ GotoKnow ตอบสนองความต้องการของสมาชิกในขั้นที่ 1 คือความต้องการพื้นฐานทางกาย

ตัวอย่างของการได้รับประโยชน์จาก GotoKnow ในการตอบสนองความต้องการในขั้นสูงสุด ขั้นที่ 8 ความต้องการช่วยให้คนอื่นได้พัฒนาตนเองจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ คือ การที่ ไอดิน-กลิ่นไม้” ได้จัดการเรียนรู้ผ่าน "Weblog GotoKnow" สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนกว่าร้อยคนจากแทบทุกสาขา ทุกคณะ ในภาคเรียนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ (1/2555) โดยให้นักศึกษาทุกคนสมัครเป็นสมาชิก GotoKnow แล้วเข้าไปเรียนรู้ด้วยการอ่านบันทึกที่อาจารย์เขียนประกอบบทเรียน อ่านบันทึกของท่านอื่นๆ ตามที่อาจารย์ชี้แนะ และอ่านงานเขียนอื่นๆ ตามความสนใจของนักศึกษาเอง และฝึกการเขียนแสดงความเห็น เขียนอนุทิน และเขียนบันทึกของตนเอง โดยเน้นไปที่ การเขียนบันทึกตาม "โครงการสรอ.ขอความรู้ของ EGA" ซึ่งมีนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากการเขียนด้วย การพัฒนานักศึกษาดังกล่าวเป็นการพัฒนาตาม "ลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี" ในด้าน "ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ในการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อประสบการณ์ชีวิต และมีทักษะการคิด"           

                   

                   

ตัวอย่างการสื่อสารของนักศึกษากับอาจารย์ ใน GotoKnow ได้แก่ (ราเชนทร์) นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 จากคณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีผลการประเมินงานเขียนก่อนการพัฒนา อยู่ในระดับปรับปรุง และมีผลการประเมินหลังพัฒนาในระดับดีเยี่ยม ได้เขียนอนุทินไว้ใน GotoKnow หลังจากการอ่านบันทึกของอาจารย์ ดังนี้ "วันที่ 6 สิงหาคม 2555 ตื่นเช้าขึ้นมาครับ เลย Log In เข้า gotoknow.org พบว่า 1) เจอภาพตัวเองโผล่ใน Blogs อง อ.วิไล รู้สึกแย่มากเลยครับเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลยเพราะว่ารูปภาพโปรไฟล์ไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่อาจารย์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าให้นักศึกษาไปแก้ไขให้ถูกต้องทุกคน...(แก้ไขเรียบร้อยแล้วนะครับอาจารย์) 2) เจอบทความที่ พออ่านแล้วก็ต้องอยากอ่านอีกรอบครับ เป็นบทความที่ประทับใจมากครับ ทั้งให้ข้อคิด สร้างแรงบันดาลใจ และสั่งงานด้วยครับ..."จงเรียนรู้ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง จุดไฟแห่งความฝันใฝ่ให้ตน อย่ามัวรอคนมาจุดให้" ...บทความนี้ทำให้ต้องคิดหนักเลยครับ ว่าเรามีแรงบันดาลใจหรือไม่มากแค่ไหนหรือแค่เล่นๆ 3) เจอคำว่า "ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity)" ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของนักศึกษา มรภ.อุบลราชธานี ซึ่งตัวเองไม่มีเลยครับ (ผมคงต้องปรับปรุงตัวเองอีกมาก แต่ก็จะทำให้ได้ครับ)                 

                 

 นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ 3 จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นว่า "วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ที่หนูได้เรียนกับอาจารย์ซึ่งเป็นวิชาที่พัฒนาทั้ง การพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมไปถึงการพัฒนาการใช้ IT อีกด้วย หนูยอมรับจริงๆ ว่าช่วงเรียนแรกๆ หนูท้อกับวิชานี้มาก เพราะคิดว่ามันยุ่งยากเกินไป แต่พอหนูเริ่มเรียนไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่าวิชานี้ช่วยใช้เราได้พัฒนาตนจริงๆ และก็ไม่ยากเกินกำลังของเรา ขอบคุณอาจารย์มากๆ นะคะ ที่ช่วยอบรมสั่งสอน และพยายามกระตุ้นให้พวกหนูให้มีความพยายามที่จะพัฒนาตนอย่างจริงจัง และหนูจะพยายามนำสิ่งที่อาจารย์สอนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด" และนักศึกษาสาขาวิชา วิศวกรรมเครือข่าย ชั้นปีที่ 2 จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้แสดงความเห็นหลังสิ้นสุดการเรียนรู้ในรายวิชา ไว้ว่า "...ยังมีอีกช่องทางที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของอาจารย์ได้ คือ www.gotoknow.org ขอขอบคุณเว็บแห่งการเรียนรู้นี้จริงๆ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งความรู้และแสดงความคิดเห็น แต่ยังเป็นศูนย์กลางระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ที่จะสามารถสื่อสารกันต่อไปได้"

"คุณแสงแห่งความดี" กล่าวว่า GotoKnow "เป็นแหล่งรวมบุคคลหลากหลายวิชาชีพมีความหลากหลายในมุมคิด...เปิดกว้างทุกมุมคิดเห็นและจินตนาการ" ชุมชน GotoKnow มีลักษณะดังที่ คุณ Sila Phu-Chaya” ได้ให้นิยามไว้ว่า "GotoKnow คือ สะพานบุญ...หากไม่มี Gotoknow เป็นร่มไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทุกทิศทั่วไทย และแผ่ไปไกลในต่างแดน เราซึ่งต่างมีสังคมของตนเอง ต่างมีอาชีพทำมาหากินของตนเอง ต่างมีวิถีการดำเนินชีวิตเป็นของตนเอง คงไม่อาจโคจรมาพบกัน แบ่งปัน และเรียนรู้สิ่งดี ๆ ร่วมกัน..."

และ ไอดิน-กลิ่นไม้” ได้ให้นิยามโดยการถอดรหัสคำว่า "GOTOKNOW" ในโอกาสครบรอบวันเกิดปีที่ 6 GotoKnow ไว้ว่า "GotoKnow” เป็น Weblog ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านที่แตกต่างกัน ได้เขียนเล่าเรื่องราว และเสนอแนวคิดเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองของสมาชิกแต่ละคน ให้เป็นผู้ที่มีความเปิดกว้างทางความคิด สามารถเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และความดีงาม ส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน ทั้งในส่วนตนและสังคม" นิยามดังกล่าวมาจากการหลอมรวมความหมายของคำ 8 คำที่ขึ้นต้นด้วยอักษร 8 ตัวของคำว่า "GOTOKNOW" ได้แก่ G = Gainfulness หมายถึง การเพิ่มพูน O = Opportunity หมายถึง โอกาส T = Timelessness หมายถึง ยั่งยืน ไม่มีที่สิ้นสุด O = Omnipotent หมายถึง การมีความสามารถในทุกๆ ด้าน K = Knowledge หมายถึง ความรู้ N = Narration หมายถึง การเขียนเล่าเรื่องราว O = Open-minded หมายถึง การเปิดกว้างทางความคิด และ W = Well-being หมายถึง สุขภาวะ ตัวอย่างหนึ่งจากนิยามดังกล่าว คือ ความเห็นของคุณครู Noktalay” ในบันทึกของ ไอดิน-กลิ่นไม้” เรื่อง "เมื่อวิชาชีพครู...ถูกกระทำย่ำยี" ความว่า "ครูนกอ่านแล้วสร้างกำลังใจในการทำงานมาก อยากให้ข้าราชการไทยได้สำนึกตามที่อาจารย์ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการครองตน ตามพระบรมราโชวาท ในสังคมจำเป็นต้องมีผู้ปิดทองหลังพระอยู่บ้าง เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ได้ ขอบพระคุณค่ะที่มาถ่ายทอด ประสบการณ์ต้นแบบที่ดีงามของสังคม"

ไอดิน-กลิ่นไม้” เคยบอกไว้ใน GotoKnow ว่า "11 เดือนกับการเป็นสมาชิก GotoKnow ทำให้ผู้เขียนได้ให้และได้รับในสิ่งที่เป็นการเติมเต็มให้กับชีวิต (Self-fulfillment) และเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา" และ ณ ขณะนี้ ก็ยังขอยืนยันคำเดิม

ที่กล่าวมา...เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบสำหรับ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์” ว่า เพราะเหตุใด พวกเราจึงรัก และจงรักภักดีต่อ ชุมชน GotoKnow” ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทั้ง 14 ท่าน ที่เป็นส่วนสำคัญในการบอกความในใจที่มีต่อ GotoKnow ในครั้งนี้ และขอจบบันทึกด้วยการเลียนถ้อยคำของ "คุณ Sila Phu-Chaya” ว่า...

               "เพราะชุมชน GotoKnow ทรงคุณค่ามาก เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน”

                  

                                        Happy Anniversary of GotoKnow 8th Birthday

                  

                  

                  

                  

                  

                  

                  

                  

หมายเลขบันทึก: 537245เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2013 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (71)

"GOTOKNOW" ไว้ว่า "GotoKnow” เป็น Weblog ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านที่แตกต่างกัน ....  ยิ่งนำมาแบ่งปันมากเท่าไหร่ .....พลัง...Synergy ยิ่งมาก นะคะ..... เห็นด้วยกับประโยคนี้ค่ะ  อาจารย์แม่ค่ะ  

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆ และมิตรภาพอันอบอุ่นที่มีให้กันเสมอมาค่ะ...


งาน Ethnography อย่างดีเลยค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

เห็นจริงอย่างที่อาจารย์จันกล่าวไว้จ้ะ 

สังเคราะห์ได้ยอดเยี่ยมมากค่ะ ไม่ได้เห็นงานแนวนี้บ่อยนัก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เลยนะคะ ที่สำคัญคือความใฝ่เรียนใฝ่รู้ และความเพียรสูงมากๆ ค่ะ. ชื่นชมมากๆ ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับบทความร้อยเรียงผสานวิชาการกับมิตรภาพอย่างลงตัว

ขออนุญาตแลกเปลียนความคิดคะ

ตัวเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่หลงรัก gotoknow เพราะ ขั้นที่ 3 ความต้องการความเป็นเจ้าของและความรัก (Belongingness and Love Needs) 
และเพื่อให้เป็นที่รัก ที่ยอมรับ เราอาจต้องแลกบางอย่าง
บางครั้งก็พบว่า  เรายอมรับในความเป็นมนุษย์ได้ง่ายกว่า การยอมรับในแง่ Professional หรือเปล่า?
สังเกตจาก บันทึก ความรู้สึก ปรัชญา จะมีผู้สนใจมากกว่า บันทึกเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ 
และการแสดงความเห็นมักเป็น เยี่ยมเยียนทักทาย มากกว่า ซักถาม ถกประเด็น
...
เนื่องจากพื้นที่นี้มีความหลากหลาย ผู้ที่แสวงหา ขั้นที่ 4 และ 5 Esteem และ Cognitive Need  
เพื่อพูดคุยเทคนิคอย่างลงลึก ควรเป็น forum ที่เป็นความสนใจเฉพาะคะ

ปล. ดีใจที่ได้รับทราบว่าอาจารย์ " เป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา"  :)

ขอบคุณมากที่อาจารย์ให้โอกาส ผมมาจังหวะพอดี

เยี่ยมเยียน ทักทาย เพราะ ความหมาย และ คุณค่า ;)...

แจกผลไม้ ดอกไม้ และยาหอม ;-) in G2K

ขอบพระคุณ ในน้ำใจอันดีงามของกัลยาณมิตรทุกท่าน ที่กรุณาเข้ามามอบดอกไม้ให้กำลังใจ และทักทายพูดคุยกับ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีที่มีต่อกัน...นี่แหละนะคะ คือ สายสัมพันธ์ที่สร้างความรู้สึกผูกพันของ "ชุมชน GotoKnow"  

Learn, Care, Share, Shine...ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณ อาจารย์แม่ ให้เกียรติ์ ผมอย่างสูงเลยครับ

บันทึกทรงคุณค่า

ค้นคว้าเขียนสังเคราะห์กลั่นกรอง

ร้อยมิตรสนิทใจ

โอ้โห.. อาจารย์รวบรวมบันทึกได้เยี่ยมมากค่ะ ละเอียดลึกซึ้ง ครอบคลุม รอบด้าน

ขอบคุณ "Dr.Ple" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ และการเสริมแนวคิดว่า ยิ่งสมาชิกใน "ชุมชน GotoKnow" ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านที่แตกต่างกัน มีการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดกันมากเท่าไร...พลัง...Synergy ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น...ใช่ค่ะ "ไอดิน-กลิ่นไม้" เห็นด้วย และเชื่อในแนวคิดที่ว่า 1+1 ต้องได้ผลลัพธ์มากกว่า 2 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเป็น "การประสานพลังประสานงานกัน" เหมือนการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรีของ "Dr.Ple" นะคะ (ข้อมูลจากบันทึกเรื่อง "เพชรบุรีดีทั้งเมือง" ของ "Dr.Ple" ) ไม่ใช่ "การประสานงา" เหมือนการแก้ปัญหาน้ำท่วมร่วมกันของรัฐบาลและกทม.


ขอบคุณดอกไม้กำลังใจจาก "ป๋าเด" นะคะ 

บอกว่า ป๋าเดก็รัก GotoKnow เหมือนกัน...รักก็ต้องแสดงออกนะคะ ห้ามรักแต่ปาก

ยายไอดินไม่เห็นป๋าเดเขียนบันทึกมา 2 เดือนแล้ว ยังไม่หายจากความเครียดที่ตกเป็นแพะรับบาปเหรอคะ โถ! เรื่องเล็กน้อยแค่นั้นเอง ต้องยายไอดินสิคะ เจอมาสารพัดหนักๆ ทั้งนั้นจนชาชินกับปัญหาแล้ว ได้แต่บอกกับตนเองว่า "บาดแผลตามร่างกาย คือ เครื่งหมายของจอมยุทธ" 

ขออภัย "Dr.Ple" และผู้อ่านทุกท่านนะคะ "ไอดิน-กลิ่นไม้" สะกดคำผิดในภาพประกอบการตอบความเห็นของ "Dr.Ple" ที่ถูก ต้องเป็น "นิจศีล" นะคะ ไม่ใช่ "นิจสิน"

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจจาก "คุณ tuknarak" และขอบคุณที่อนุญาตให้นำบันทึกมาอ้างอิงนะคะ

"ไอดิน-กลิ่นไม้" ตามไปอ่านบันทึก 2 เรื่อง ที่ "คุณ tuknarak" ถอดบทเรียนการจัดการความสุข โอ้โห! เกือบ 50 เรื่องเชียวนะคะ งานหนักมากเลย ชื่นชมความวิริยะอุตสาหะจริงๆ

ผู้สูงวัยอย่าง"ไอดินฯ" ทำเช่นนั้นไม่ไหวแน่ค่ะ วางแผนจะเลือกเรื่องที่เข้ากับ Happy 8 อย่างละ 1 เรื่องรวม 8 เรื่องค่ะ แจ้งคุณครูที่สั่งงานไปแล้ว ไม่ทราบว่าสามารถทำเช่นนั้นได้ไหมนะคะ (เห็นท่านบอกว่ากี่เรื่องก็ได้ จากผู้เขียนกี่คนก็ได้)


นี่แหละคือ อาจารย์แม่ตัวจริง เสียงจริง 

นำแต่ละบันทึกมาสังเคราะห์ รวบรวมเรียบเรียงเป็น 1 บันทึก ที่ทรงคุณค่า

ทึ่งกับเบื้องหลัง "กว่าจะมาเป็นบันทึก" ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมภาพ เตรียมเนื้อหา


สำหรับกระติกแล้ว กว่าจะมาเป็นบันทึกได้ก็ต้องใช้เวลา เพราะเขียนไม่ค่อยเก่งนัก แต่เพราะรักที่จะฝึก ค่ะ

    

น้องไปเห็นบทร้อยกรอง ที่เคยแต่งมอบ "พี่ใหญ่" ตอนที่น้องเป็นสมาชิก GotoKnow ได้ 11 เดือน ตอนนี้น้องเป็นสมาชิกมาครบ 2 ปี แล้ว อยากจะนำมามอบ "พี่ใหญ่" อีกครั้งหนึ่ง (ปรับคำในบางแห่งค่ะ) เพื่อเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า GotoKnow ทำให้น้องได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างไรค่ะ (ตอบสนองความต้องการขั้นที่ 7)

           ครบสองปี ที่ได้มา               เสริมปัญญา กับ gotoKnow

ได้เรียนรู้ และเติบโต                      รู้ทั้ง where to go และ what to be

           มีหนึ่งมิตร เหมือนชิดใกล้   คือ "พี่ใหญ่" ที่แสนดี

มี "ให้ปัน" เป็นวิถี                          ให้น้องนี้ ได้เดินตาม

           ขอชื่นชม และเชิดชู            ยอดพธู เมืองสยาม

เกียรติประวัติ อันงดงาม                 ทุกเขตคาม จงยลยิน


 

ขอบคุณ "หนูดร.จันทวรรณ" นะคะ ที่เห็นคุณค่าของบันทึกนี้ ในเชิงวิชาการ

อาจารย์แม่ยังซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือที่หนูมีให้อาจารย์แม่ ตอนที่เข้าระบบไม่ได้ มิรู้ลืม

ขณะนี้เวลา 02.46 น. อาจารย์แม่อยู่ที่ฟาร์ม 'net ช้ามากค่ะ กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน และหลายครั้งมากที่ตอบความเห็นไปแล้ว 'net หลุด ต้องเริ่มใหม่ซ้ำหลายครั้ง แต่ก็ไม่ละความพยายามค่ะ เพราะแรงดึงดูดใจของ "ชุมชน GotoKnow " 

ขอบคุณหนูจันทวรรณ ดร.ธวัชชัย และทีมงานตลอดจนหน่วยงาน องค์กรที่ให้การสนับสนุน GotoKnow มากนะคะ ที่ช่วยให้อาจารย์แม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทั้ง 8 ขั้นเลย อาจารย์แม่ใช้บริการคุ้มจริงๆ เลยค่ะ ได้รับทั้งความสุข ความรู้ ข้อคิด ได้รับโอกาสในการพัฒนาตน และพัฒนางาน สมกับ Slogan ที่ว่า "ชุมชน GotoKnow จัดการความรู้สู่จัดการความสุข" จริงๆ ค่ะ 

คุยกับ "คุณมะเดื่อ" เมือคืนนี้ตอนตีสาม พอจัดเก็บข้อมูล 'net หลุดเลยพักไว้ก่อน เช้านี้มาต่อใหม่ค่ะ

ขอบคุณ "คุณมะเดื่อ" นะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจทักทายพูดคุยกันเสมอมา "ไอดิน-กลิ่นไม้" รู้สึกอบอุ่นใจจริงๆ ค่ะ
ในครั้งนี้ ก็ขอขอบคุณที่อนุญาตให้นำงานเขียนถึง GotoKnow ด้วยภาษาสวยๆ ณ สวนรุกขชาติ...GotoKnow...มาอ้างอิง

คุณมะเดื่อขยันเขียนจังนะคะ ทั้งขยันให้ความเห็นด้วย คงไม่นานที่จะได้รับรางวัลสุดคะนึง ขอเอาใจช่วยนะคะ

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับ ดอกไม้กำลังใจและปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจจาก "คุณ Sila Phu-Chaya" ความว่า..."สังเคราะห์ได้ยอดเยี่ยมมากค่ะ ไม่ได้เห็นงานแนวนี้บ่อยนัก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เลยนะคะ ที่สำคัญคือความใฝ่เรียนใฝ่รู้ และความเพียรสูงมากๆ ค่ะ. ชื่นชมมากๆ ค่ะ"

เช้าวันนี้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้เข้าไป หาข้อมูลเพิ่มเติมจากบันทึก 2 เรื่องของคุณศิลา เพื่อนำไปใช้ประกอบการตีปัญหาโจทย์ และการวางแผนการถอดบทเรียนการจัดการความสุขค่ะ ตอนนี้ได้อ่านและคัดเลือกเรื่องจาก "บันทึกคัดเลือกของ ๓๑ บล็อกเกอร์ http://www.gotoknow.org/posts/537212" ได้ครบ 8 เรื่อง ตาม Happy 8  คือ Happy Body, Happy Heart , Happy Soul, Happy Brain, Happy Family, Happy Society, Happy Relax , และ Happy Money แล้วค่ะ แล้วจะนำไปดำเนินการถอดบทเรียนต่อนะคะ 

ขอขอบคุณ คุณศิลาอีกครั้งหนึ่งนะคะ ที่คิดกิจกรรม "ประเทืองปัญญา นำมาซึ่งประโยชน์สุข ของชุมชน GotoKnow" ให้ชาว Happy Ba ได้มีส่วนร่วม และให้โอกาส "ไอดิน-กลิ่นไม้" ที่มัวแต่เตรียมเกษียณ ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมมาแต่แรก ได้ร่วมในกิจกรรมที่ท้าทายนี้



 



                        

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ และวาจาเสริมพลังจาก "อาจารย์หมอป. "ขอบคุณอาจารย์สำหรับบทความร้อยเรียงผสานวิชาการกับมิตรภาพอย่างลงตัว"

จำได้ว่า ได้อ่านบันทึกแรกของอาจารย์หมอป. เกี่ยวกับการสนทนาพูดคุยกับคุณป้าที่มีอาการนอนไม่หลับ และได้นำแนวปฏิบัติการกินกล้วยน้ำว้าเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดี ไปใช้กับพ่อใหญ่สอจากบันทึกดังกล่าว

เมื่อวาน ได้แจ้งอาจารย์หมอป. ว่า ขอนำบันทึกเรื่อง "ความสุข+อาหาร=ชุดความรู้ ป. Happy Body ( http://www.gotoknow.org/posts/528087 ) ไปถอดบทเรียนการจัดการความสุข ในประเด็น Happy Body ซึ่งตอนแรกวางเป้าหมายที่จะเลือกเรื่องของ "อาจารย์หมอป." เป็น Happy Brain แต่มาลงตัวที่ Happy Body ซึ่งเป็นความต้องการจำเป็นสำหรับทุกคน ความต้องการพื้นฐานทางกาย

ข้อสังเกตของอาจารย์หมอป. ตรงกับ "ไอดิน-กลิ่นไม้" เลยค่ะ ..."...สังเกตจาก บันทึกความรู้สึก ปรัชญา จะมีผู้สนใจมากกว่า บันทึกเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ และการแสดงความเห็นมักเป็นเยี่ยมเยียนทักทาย มากกว่า ซักถาม ถกประเด็น..." และข้อเสนอแนะ "เนื่องจากพื้นที่นี้มีความหลากหลาย ผู้ที่แสวงหา ขั้นที่ 4 และ 5 Esteem และ Cognitive Need เพื่อพูดคุยเทคนิคอย่างลงลึก ควรเป็น forum ที่เป็นความสนใจเฉพาะ" ก็น่าสนใจค่ะ

วันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา"ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้เข้าไปมอบดอกไหมจุรีจากฟาร์มเพื่อร่วมอวยพรวันเกิดของอาจารย์หมอป.ในบันทึกของอ.วัสวัตค่ะ ...อยากจะขอเรียกตามความรู้สึกว่า "หนูปัทมา" เพราะอายุใกล้เคียงกับลูกๆ...ทราบจากอ.วัตสวัตว่าหนูไปเป็นนักเรียนหมอที่อเมริกาและจะกลับเมืองไทย 12 มิ.ย. ก็ขอให้เดินทางด้วยสวัสดิภาพนะคะ                              

ขอบคุณ "คุณอานนท์ ภาคมาลี " มากๆ เลยนะคะ ที่เขียนเรื่องดีๆ ให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้อ่าน นำไปใช้เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกาย และนำมาอ้างอิงในบันทึกนี้

ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังใจเยี่ยมเยียนทักทายกัน ตอนนี้เรารู้จักกันแล้วนะคะ เห็นคุณอานนท์เขียนเรื่องอาหารเยอะเลยตอนนี้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตหน่อยนะคะ คือแปลกใจที่เห็นจำนวนสมุด (Blogs) ของคุณอานนท์มีถึง 300 เล่ม ในขณะที่บางท่านมีเล่มเดียวแล้วเขียนบันทึกทุกเรื่องทุกด้านในสมุดเล่มนั้น "ไอดินฯ" มีสมุด 5 เล่ม เล่มที่เขียนบันทึกนี้ มีชื่อว่า "MantoKnow" ใช้เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน ที่ออกไปในแนวจิตวิทยาค่ะ  ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้า การเกษตรและการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ก็จะเขียนในสมุดเล่มที่ชื่อว่า "Proudtobe"... แต่คุณอานนท์เขียนบันทึกแต่ละเรื่อง ในสมุดแต่ละเล่ม เช่นเขียนบันทึก 300 เรื่อง ก็ใช้สมุดถึง 300 เล่ม ทำให้เปลืองสมุด...ขออนุญาตเสนอแนะว่า ควรสร้างสมุดว่าด้วยเรื่องอาหาร แล้วนำบันทึกที่เกี่ยวกับอาหารทั้งหมดไปใส่ในสมุดเล่มนั้น แล้วจำนวนสมุดก็จะน้อยลงค่ะ   

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ และถ้อยคำสั้นกระชับ ที่น่าประทับใจของ "อาจารย์ "Watsawat Deemarn"... "เยี่ยมเยียน ทักทาย เพราะ ความหมาย และ คุณค่า" 

รู้จักอาจารย์ครั้งแรก จากการเข้าไปอ่านบันทึกของอาจารย์ ที่เขียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้วิชาชีพครูสำหรับนักศึกษา โดยใช้นามแฝงว่า "อาจารย์องคุลีมาน"

และต่อๆ มาก็ได้อ่านงานเขียนของอาจารย์มาตามลำดับในขอบข่ายที่หลากหลาย เห็นได้จากอาจารย์มีสมุด 16 เล่มสำหรับเขียนบันทึก ส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นและความชื่นชมในด้านการมีจิตวิญญาณครูของอาจารย์

เรื่องรองสุดท้ายที่ได้เข้าไปอ่าน คือ ได้เข้าไปแสดงความยินดีกับ อาจารย์ในช่วงต้นเดือนพฤษาคม ความว่า "มีความสุขด้วยจริงๆ ค่ะ ที่อาจารย์เสือมีบ้านเป็นของตนเอง ...ด้วยแรงผลักดันจากที่ทำงาน ด้วยเป้าหมายของลูกกตัญญููที่ต้องการให้พ่อแม่มีที่พักสบายๆ เวลาไปเยี่ยม และด้วยการมีวินัยทางการเงินและความสามารถในการจัดการของตน..." ตอนนี้ก็หวังว่า อาจารย์จะอยู่ในบ้านหลังนั้นด้วยความสุข และความภาคภูมิใจนะคะ

                        




 

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-สบายดีนะครับ..

-ผมได้รับคำแนะนำให้รู้จัก G2K จากคุณ"สิงห์ป่าสัก"เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

-ได้สมัครและเริ่มบันทึกงานที่ทำและสิ่งที่ได้พบเจอ..

-เหตุที่ชอบก็คงเป็นเพราะว่าที่แห่งนี้ทำให้มีความคิดต่อยอดได้ในหลาย ๆ เรื่องครับ..

-และเหนือสิ่งอื่นใดที่ได้รับก็คือ"มิตรภาพดี ดีจากที่นี่ ซึ่งผมชอบใช้คำว่า"มิตรรัก G2K"อยู่เสมอ ๆ ครับ..

-มีบางท่านแอบแซวว่า "เหมือนกับ"มิตรรัก แฟนเพลง" 5555

-วันนี้ผมไปเก็บ"ผักส้มอูด"มา วันก่อนไปเก็บดอกกระเจียวแต่ได้รับการแนะนำให้รู้จัก "ย่านางแดง,รากขยัน" ก็เลยบันทึกไว้...

-อาจารย์แม่ไอดินดูแลสุขภาพด้่วยนะครับ..

-แอบเห็นรูปของอาจารย์แม่ที่เปลี่ยนใหม่..สดใสดีครับ...


หลังเกษียณนี่ สังเกตว่าตนเองสะกดคำผิดบ่อยๆ  

เคยยืมภาษาของ "อ.เสือหรืออาจารย์ "Wasawat Deemarn" (ชื่อที่เขียนข้างบนก็สะกดผิด) มาใช้ในช่วงที่เขียนบันทึกเรื่อง “ภาษาไทย : ภาษาชาติ กับการพัฒนาทักษะการเขียนใน GotoKnow” (เพื่อประกอบการจัดการเรียนรู้สำหรับนักศึกษา) เรื่องของของการสะกดคำผิด เพราะการเทียบผิด เช่น คำว่า "ผูกพัน" มักจะสะกดผิดเป็น "ผูกพันธ์"เพราะนำไปเทียบกับคำว่า “สัมพันธ์” นั้น อ.เสือ ใช้ภาษาน่ารักๆ และเห็นภาพพจน์ ว่า สะกดคำว่า….ผิดเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นญาติกับคำว่า…

ชื่อ "องคุลีมาล" (ที่อ.เสือเองเขียนเป็นภาษาอังกฤษ) นั้น ครั้งแรกไอดินฯ สะกดผิดเป็น "องคุลีมาร" เพราะคิดว่าเป็นญาติกับคำว่า "ยักษ์มาร" พอตรวจสอบถึงรู้ว่าสะกดผิดและได้แก้ไขให้ถูกต้องไปแล้ว แต่กลับมาเขียนใหม่ครั้งนี้จำคำที่ถูกต้องไม่ได้เพราะไม่ได้เขียนอีกเลย เลยเขียนผิดอีกรอบ ครั้งนี้ สะกดว่า "องคุลีมาน" เพราะคิดว่าเป็นญาติกับคำว่า "ดวงมาน

                     

ขออภัยกัลยาณมิตรนะคะ ที่ต้องขออนุญาตลัดคิวตอบ “คุณเพชรน้ำหนึ่ง  " ทั้งนี้เพื่อให้มองเห็นภาพที่คุณเพชรนำมาฝากค่ะ

คุณเพชรบอกว่า “ผมได้รับคำแนะนำให้รู้จัก G2K จากคุณ "สิงห์ป่าสัก"…เห็นไหมล่ะคะ ในท่านที่ อ.แม่ไอดินฯมีข้อมูล จะเป็นการสมัครเพราะได้รับคำแนะนำ/ชักชวนทั้งนั้น มี อ.แม่นี่แหละที่จับพลัดจับผลูเข้ามาเอง แต่ก็คงไม่ใช่ความบังเอิญนะคะ คงเป็นเพราะ "GotoKnow เป็นสะพานบุญให้เราโคจรมาพบกันเพื่อแบ่งปัน และเรียนรู้สิ่งดีๆ
ร่วมกัน
ดังที่ “คุณ Sila Phu-Chaya” ว่าไว้

คุณเพชรบอกว่า “เหตุที่ชอบก็คงเป็นเพราะว่าที่แห่งนี้ทำให้มีความคิดต่อยอดได้ในหลายๆ เรื่องครับ (นี่คือการตอบสนองความต้องการขั้นที่ 7 ด้านการพัฒนาตนเองค่ะ) ...เหนือสิ่งอื่นใดที่ได้รับก็คือ "มิตรภาพดี ดีจากที่นี่…"(นี่คือการตอบสนองความต้องการขั้นที่  3 ด้านความเป็นเจ้าของ/เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและด้านความรักค่ะ)

คุณเพชรเล่าเรื่องการไปเก็บ "ผักส้มอูด" มา อาจารย์แม่ไอดินเข้าไปดูมาก่อนแล้วค่ะ ยังบอกเลยว่า สมัยเด็กๆ อาจารย์แม่ไอดินไปเก็บเห็ดในป่า เจอผักที่ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง"เรียกว่า ผักส้มอูด แต่แม่และชาวบ้านพาเรียกว่า "ว่านตูบหมูบ" …แม่ยังเล่าให้ฟังว่า เวลาลิงออกลูก มันจะขุดว่านชนิดนี้มากิน คนจึงกินตาม…ปีที่ผ่านมา อาจารย์แม่ไอดินพบว่านตูบหมูบโผล่จากดินแถวขอบสระ…นึกถึงแม่ขึ้นมาทันที ก็เลยขุดไปปลูกใกล้ๆ บ้าน…ส่วนยานางแดง เคยซื้อไปปลูกที่ฟาร์ม 2-3 ปีก่อน แต่เข้าฟาร์มอาทิตย์ละครั้งช่วงไม่ได้อยู่ที่ฟาร์มพ่อใหญ่สอไม่ช่วยรดน้ำเลยตายหมด คุณเพชรพูดถึงนึกขึ้นได้จะต้องหาไปปลูกใหม่

ช่วงนี้ อ.แม่ไอดินกลับมาสุขภาพดีเหมือนเช่นเคยแล้วค่ะ ขอบคุณนะคะที่เป็นห่วง ก็ขอให้คุณเพชรและหนูมดตะนอยมีสุขภาพดี มีทายาทมาเติมเต็มให้ครอบครัวมีความสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นนะคะ 



 

ขอบคุณ "ดร.โอ-อโณ " มากๆ เลยค่ะ ไม่ใช่เฉพาะการเข้ามาให้ดอกไม้กำลังใจและทักทายพูดคุยกับพี่ในบันทึกนี้ แต่เป็นสิ่งดีๆ ที่น้องได้ให้แก่ชุมชน GotoKnow และได้ให้แก่ประเทศชาติ ดังที่พี่ได้เข้าไป Share ในบันทึกของน้องที่หน้าแรก GotoKnow เพื่อบอกถึงแรงจูงใจการเขียนใน GotoKnow ก่อนที่พี่จะเข้ามาใน Blog ของตน ความว่า...

เป็นแรงจูงใจจาก "ความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ ตามทฤษฎีของ Maslow คือ ความต้องการพัฒนาให้ผู้อื่นถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ" นะคะ "ดร.โอ-อโณ"

พี่ขอสนับสนุนว่า นี่เป็นแรงจูงใจของน้อง ดังที่พี่เขียนไว้ในประโยคเด่นของบันทึกเรื่อง "การจัดการเรียนรู้ผ่าน Weblog GotoKnow" ว่า "...สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุด ก็คือ น้ำใจจากกัลยาณมิตร GotoKnow ที่ได้เข้ามาเป็นกำลังใจให้กับทั้งนักศึกษาและอาจารย์ และหลายท่านได้กรุณาแสดงความเห็น/ให้คำแนะนำที่มีคุณค่่าทั้งด้านจิตใจและด้านการเรียนรู้ แก่นักศึกษาและอาจารย์ประจำวิชา" ซึ่งกัลยาณมิตรที่ได้ทำเช่นนั้นมากที่สุด ก็คือ ดร.โอ๋-อโณ นั่นเอง การที่น้องได้แนะนำแหล่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษดีๆ ให้ผู้อ่านทราบก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความต้องการในขั้นนี้ ซึ่งพี่ก็ได้นำไปบอกนักศึกษาต่อ รวมทั้ง Web. ทำปฏิทินที่พี่ได้นำไปสั่งงานทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนด้วยความกระตือรือร้นในภาคเรียนที่ 2/2554

เป็นแรงจูงใจซึ่งเรามีตรงกันค่ะ เพราะความที่พี่คิดว่า ตนเองพอมีความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดทางจิตวิทยาและทางการจัดการศึกษา จึงอยากจะแสดงไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนสืบค้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการตอบแทนประเทศชาติที่ได้ดูแลเราให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวจนเกษียณอายุราชการ เป็นแรงผลักดันให้พี่เข้าไปสืบค้นโดยพิมพ์คำว่า "ฺBlog" ใน "Google" จนสุดท้าย ได้พบแหล่งที่คิดว่าจะตอบสนองความต้องการดังกล่าวของตน คือ GotoKnow.org ค่ะ...แต่พบว่า GTK ได้ตอบสนองพี่จนครบ 8 ขั้น ไม่เฉพาะขั้นที่ 8

แล้วเช่นนี้ จะไม่ให้รัก และจงรักภักดีต่อ GotoKnow ได้อย่างไร

ทุกอย่างที่น้อง  ดร.โอ๋ อโณ ได้แสดงออกใน GotoKnow เป็นตัวอย่างของ "Leran Care Share Shine" ที่ชัดเจนมากค่ะ

 




 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจและการทักทายพูดคุยของ "คุณ SR : Mr Sunthorn SR Rathmanus  " จาก Australia

ขอบคุณที่ช่วยให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้เรียนรู้ ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนสื่อสารในชีวิตประจำวัน

ขอบคุณที่เป็นอีกท่านหนึ่งที่ทำให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" มีถ้อยคำนี้ "...สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุด ก็คือ น้ำใจจากกัลยาณมิตร GotoKnow ที่ได้เข้ามาเป็นกำลังใจให้กับทั้งนักศึกษาและอาจารย์ และหลายท่านได้กรุณาแสดงความเห็น/ให้คำแนะนำที่มีคุณค่่าทั้งด้านจิตใจและด้านการเรียนรู้ แก่นักศึกษาและอาจารย์ประจำวิชา" 

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้สื่อสารกับท่านเมื่อไม่นานมานี้

Dear sr,

Here are pictures of some amphabians with names in Thai I have searched through internet for you.

                
You said, you had tried to grow Durians for years. They just wilted and went in Winter when the temperature dropped below 5C." So does the Farm Idin-Klinmai’s manager. He grows a durian tree every year, for each went every summer. The one I have grown is the seventh with my hope of growing durian successfully.



  

รู้จัก "คุณ พ.แจ่มจำรัส " ครั้งแรกจากถ้อยคำที่ทำให้เข้าไปอ่านด้วยความตกใจ แล้วซักถามด้วยความรู้สึกห่วงใยอย่างแท้จริง

บันทึกต่อๆ มาที่ได้อ่าน ทำให้รับรู้ถึงจิตใจที่เข้มแข็ง การมีสติ และการมองโลกในแง่ดีของคุณพ.

บันทึกหนึ่งที่สร้างความประทับใจ คือ การสนทนากับน้องปอ ลูกสาวเรื่องงาน ซึ่งแสดงถึงความใกล้ชิด การให้เวลา ให้คำปรึกษากับลูก และการมีโลกทัศน์ที่น่านับถือในเรื่องของการทำงาน และการให้ความยุติธรรมกับนายจ้าง ยังบอกไปว่า ท่านแสดงออกราวกับผู้เชี่ยวชาญในจิตวิทยาอุตสาหกรรม 

สิ่งที่ประทับใจอีกอย่าง นอกจากเนื้อหาสาระที่ได้อ่าน ที่แสดงถึงการเข้าใจโลกอย่างที่เป็น คือ การแสดงถึงความช่างสังเกต ช่างคิด ความละเอียดอ่อน และการมีจิตใจที่อ่อนโยน รวมถึง ศิลปะในการใช้ภาษาสื่อสาร ทำให้ผู้อ่านได้ทั้งข้อคิดดีๆ และสุนทรีในอารมณ์ 

จึงขอขอบคุณ "คุณ พ.แจ่มจำรัส" ในทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กล่าวมา นอกเหนือจากการเขียนบันทึกให้ได้นำมาอ้างอิง และการเข้ามาให้กำลังใจทักทายพูดคุยกันในบันทึกนี้ 


 

ขอบคุณ "ทพญ.ธิรัมภา" สำหรับดอกไม้กำลังใจ และปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ ความว่า... "บันทึกทรงคุณค่า ค้นคว้าเขียนสังเคราะห์กลั่นกรอง ร้อยมิตรสนิทใจ"

"ไอดิน-กลิ่นไม้" เคยประทับใจในบันทึก เรื่อง "ข้าวในนา ปลาในสระ" ที่มีประโยคเด่น ความว่า "ข้าวในนา ปลาในสระ.... อุดมสมบูรณ์ สุข สดชื่น ปลอดโปร่ง โล่ง สงบ สบายตา สบายใจ......ชีวิตเขียว" เห็น "คุณทพญ.ธิรัมภา" นำมาเป็นหนึ่งใน 5 ของบันทึกสำหรับถอดบทเรียน "ไอดินฯ"  ขออนุญาตนำไปถอดบทเรียนการจัดการความสุข ในประเด็น Happy Money ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ


 

ได้รู้จัก "kunrapee" ครั้งแรก จากบันทึกน่ารักๆ เกี่ยวกับการหาทางสื่อสารกับคุณแม่ชาวพม่าที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลสูงเนิน และได้นำไปเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาเห็นว่า ถ้าทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารใช้ภาษาต่างกัน และไม่สามารถใช้ภาษาสากลได้ มันจะเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจกันแค่ไหน

ขอบคุณที่ได้ช่วย "ไอดิน-กลิ่นไม้" จัดการเรียนรู้ในครั้งนั้น ขอบคุณที่เขียนบันทึกดีๆ ให้ได้นำมาอ้างอิงในบันทึกนี้ และขอบคุณอีกทีสำหรับปิวาจาเสริมสร้างพลังใจ "โอ้โห.. อาจารย์รวบรวมบันทึกได้เยี่ยมมากค่ะ ละเอียดลึกซึ้ง ครอบคลุม รอบด้าน

ขอบคุณ "หนูกระติก" คุณแม่คนสวย น่ารัก มากเลยค่ะ ที่เข้ามาให้กำลังใจอาจารย์แม่ พร้อมด้วยปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ "นี่แหละคือ อาจารย์แม่ตัวจริง เสียงจริง นำแต่ละบันทึกมาสังเคราะห์ รวบรวมเรียบเรียงเป็น 1 บันทึก ที่ทรงคุณค่า ทึ่งกับเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นบันทึก ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมภาพ เตรียมเนื้อหา"

ดีใจที่เห็นหนูกลับมาเขียนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหายไปพักหนึ่ง
ดูจากบันทึกที่เขียนเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมแล้วชื่นชมมากค่ะ ลบล้างคำพูดที่ว่า คนไทยมีปัญหาในการทำงานเป็นทีมไปได้เลยค่ะ

บันทึกพาลูกกลับไปสืบสานวัฒนธรรมที่บ้านเกิดก็อบอุ่น ให้ความรู้สึกดีงามมากนะคะ




 

มาเยี่ยม คุณโยมอาจารย์ ขอให้มีความสุข

ยอดนักวิเคราะห์เลยครับ ยินดีมากที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง

      

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาวินัย ภูริปัญโญด้วยความเคารพ

       เป็นมงคลชีวิตของโยม "ไอดิน-กลิ่นไม้" นัก ที่เช้านี้ ได้รับความเมตตาจากพระคุณเจ้าเข้ามาอำนวยพร
ขออนุโมทนาสาธุรับพรอันประเสริฐของพระคุณเจ้า...โยมมีจิตสังหรณ์ระลึกถึงพระคุณเจ้ามา 5-6 วัน หลังจากที่ได้ลงบันทึกนี้ และเมื่อพระคุณเจ้าเมตตาเข้ามาเยี่ยมเยียน ก็ได้ย้อนกลับไปอ่านบันทึกของพระคุณเจ้าแต่แรกมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้พบบันทึกทรงคุณค่าในสมุด (Blog) "พุทธพจน์กับการดำเนินชีวิต" ที่เคยเข้าไปอ่าน และนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้มาแล้ว เสียด่ายว่า บันทึกทรงคุณค่า ทั้งในอดีตและปัจจุบันของพระคุณเจ้า ได้แก่ เรื่อง "ดวงมาน,ดวงมาลย์ องคุลีมาล" (http://www.gotoknow.org/posts/420832) เรื่อง
"เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับโคลงสี่สุภาพ" (http://www.gotoknow.org/posts/493031) และ เรื่อง
"จงรู้จักรักอ่านอย่าคร้านหนา" (http://www.gotoknow.org/posts/532473)
น่าจะมีผู้เข้ามาเรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์มากว่านี้ โยม "ไอดิน-กลิ่นไม้" จึงกราบขออนุญาตท่าน นำไปแนะนำให้ "ชุมชน GotoKnow" ได้รู้จักมากขึ้น นะเจ้าคะ กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

                                                                                            นมัสการมาด้วยความเคารพ




 

สวัสดีค่ะอาจารย์

ชื่นชมอาจารย์มาตลอดค่ะ ยิ่งได้อ่านบันทึกนี้ ยิ่งรู้สึกชื่นชมมากขึ้น เป็นบันทึกที่มากคุณค่าค่ะ 

            สังคมนี้มีแต่ให้  

            ให้ใจ ให้คุณค่า

            ให้รัก ให้การเยียวยา

            ให้โอกาส พัฒนา น่าชื่นชม

รักโกทูโนว์ค่ะ

ขอบคุณ "คุณสมาน เขียวเขว้า" มากนะคะ ที่กรุณามาอนุญาตย้อนหลังให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" นำบันทึกดีๆ ของท่านมาอ้างอิงในบันทึกนี้ พร้อมด้วยถ้อยวาจาเสริมสร้างพลังใจว่า "ยอดนักวิเคราะห์เลยครับ ยินดีมากที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง"

"ไอดิน-กลิ่นไม้" พอมีประสบการณ์ด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์อยู่บ้าง จากอดีตที่เคยเป็นทำหน้าที่ควบคุมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มรภ.อุบลฯ ที่ทำวิจัยปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ และการพัฒนาแบบวัดการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และเป็นประธานกรรมการจัดทำหลักสูตรและเป็นผู้เขียนคู่มือการเรียนรู้ "รายวิชาการพัฒนาทักษะการคิด" สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีค่ะ

ยินดีมากนะคะ ที่ได้รู้จักท่านศึกษานิเทศก์จากชัยภูมิ หวังว่าท่านจะเขียนบันทึกดีๆ ให้ชุมชน GotoKnow
ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปตลอดนะคะ




ขอบคุณ "คุณถาวร " มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้และเสริมสร้างพลังใจ ให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้"...ขอบคุณความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน เราพลัดพรากกันไปช่วงเวลาหนึ่งนะคะ แล้วสะพานบุญ GotoKnow (ภาษา คุณศิลาค่ะ) ก็ชักนำให้เรามาพบกันอีก

ได้ย้อนกลับไปอ่านบันทึกแสดงความรู้สึกของคุณถาวรต่อ Gotoknow เสียดายที่ไม่ได้อ่านก่อนเขียนบันทึก
"เพราะเหตุใดใครๆ จึงรัก GotoKnow" เพราะอ่านบันทึกของชาว GotoKnow ที่ปรากฏในหน้าแรกในช่วงวันที่ 22 บ่าย ถึง 25 พ.ค. เพื่อนำไปวิเคราะห์ ...ดูจากจำนวนวันที่ "คุณถาวร" ลงบันทึก คงลงประมาณวันที่ 20 พ.ค. นะคะ

จาก "บทกวี สำเนียง ไพเราะ เนื้อหา เหมาะเจาะ จับใจ" ที่คุณถาวรบอกกับ GotoKnow...

                        เพียงก้าว เข้ามา พาสงบ

                   ได้พบ สังคมนี้ ที่น่าอยู่

                   ความเป็นไป รอบตัวเรา ได้เฝ้าดู

                   อ่านเขียน เรียนรู้ ไปด้วยกัน

                       มิตรภาพ ก่อได้ ใจเปิดรับ

                  นานับ ความต่าง ที่สร้างสรรค์

                  พัฒนา จิตใจ ได้ทุกวัน

                  ทุกก้าวนั้น สุขนัก รัก “โกทูโนว์”

...เป็นความในใจ ที่แสดงถึงเหตุผลที่รัก GotoKnow เพราะ GotoKnow ตอบสนองความต้องการขั้นที่ 3 ต้องการความรักและการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ขั้นที่ 5 ต้องการความรู้ความเข้าใจ และขั้นที่ 7 ต้องการพัฒนาตนเองให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ นะคะ




ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณชลัญธร :  The Idol ของครูและนักศึกษา"


ขอบคุณ "คุณอิงจันทร์ ณ เรือนปั้นหยา" เจ้าของรางวัลสุดคะนึงประจำเดือนเมษายน 2556 ที่เขียนบันทึกดีๆ ให้ได้นำมาอ้างอิง และกรุณาเข้ามามอบดอกไม้กำลังใจ

     


 

ขอบคุณ "คุณ Vittaya Low" มากนะคะ ที่ติดตามมอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "ผศ.ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์" 

   

สวัสดีครับ อาจารย์ ไอดิน ครับ

บันทึกนี้ของอาจารย์ เหมาะสมกับตัวอาจารย์มากเลยนะครับ มีหลักการ เหตุผล แนวคิด ความคิด ที่ผมขอชื่นชมครับ


ด้วยความละเอียดอ่อน ความใส่ใจในรายละเอียดของผู้อื่น ....ทำให้บันทึกนี้ทรงคุณค่า มาก

เพราะเหตุใด ใครๆ จึงรัก GotoKnow

บันทึกนี้ บรรจุสาระที่ชี้ชวนให้อ่านจนจบ และอยากอ่านอีกหลาย ๆ รอบ



กราบขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับกับภาพนี้ 
ผมขอเก็บไว้เป็นของขวัญที่อาจารย์มอบให้นะครับ
และขออนุญาติอาจารย์นำขึ้นเป็นหัวบล๊อก บันทึกของผมด้วยนะครับ 
ผมรับรู้ว่า...อาจารย์ตั้งใจทำให้ผม

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ
ปล.หากอาจารย์มีต้นฉบับที่ทำไว้และมีความละเอียดของภาพมากกว่าภาพนี้  ถ้าไม่เป็นการรบกวนผมขอรบกวนให้อาจารย์ส่งแปะไว้ในบันทึกนี้อีกครั้งได้มั้ยครับ
ขอบพระคุณอาจารย์ไอดิน มากนะครับที่กรุณาทำภาพนี้มอบให้ผม





ขอบคุณ "คุณแสงแห่งความดี" มากนะคะ ที่ได้"ให้คุณค่า" แก่บันทึกนี้ และสิ่งที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้แสดงออกต่อคุณแสงแห่งความดีและครอบครัว

แม้จะทำไปด้วยความรู้สึกที่อยากจะทำ มีความสุขเมื่อได้ทำ โดยไม่คาดหวังในสิ่งที่จะสะท้อนกลับไป แต่ไอดินฯ ก็ซาบซึ้งใจมากค่ะ ต่อความรู้สึกดีๆ ที่คุณแสงมอบกลับไป

สำหรับภาพที่ไอดินฯ ทำให้คุณแสงฯ ได้ทำให้ใหม่ค่ะ ภาพครอบครัวที่ไม่ค่อยชัดนั้น ได้ลองตัดส่วนสูงออกให้ความสูงลดลงแล้วค่อยขยายก็รู้สึกจะชัดขึ้นนะคะ สำหรับข้อความได้ปรับใหม่เพื่อความเหมาะสมกับการที่จะนำไปทำเป็นภาพหัวบล็อคค่ะ ถ้าคุณแสงต้องการเพิ่มข้อความ และต้องการความยาวความสูงเพิ่ม ก็ใช้โปรแกรมแต่งภาพเพิ่ม/ปรับได้ตามต้องการนะคะ

ขอโทษด้วยนะคะ ที่ทำภาพให้ช้า เพราะ 'net ที่ฟาร์มทั้งช้าทั้งสมรรถนะต่ำมากๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ Upload ภาพทำไม่ได้อยู่หลายครั้ง สุดท้ายต้องลดขนาดภาพลง ไอดินทำตั้งแต่ตีสี่เศษๆ เพิ่งสำเร็จนี้แหละค่ะ หลายครั้งทำไปถึงขั้นสุดท้าย คลื่นไม่มี 'net หลุดต้องเริ่มใหม่ แต่ก็ยินดีนะคะ ทำด้วยความรู้สึกที่อยากจะทำ และมีความสุขที่ได้ทำค่ะ

     

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-ตามมาเยี่ยมอีกรอบ..

-ขอบคุณสำหรับการ"ลัดคิว"นะครับ ผมคิดว่าหากเป็นการเรียงคิวเพื่อผลประโยชน์อะไรซักอย่างคงจะมีคน"แอบเคือง"เล็กน้อย 5555

-ที่แห่งนี้ให้อะไรมากมายสำหรับผมจริงๆ ครับ..

-ขอบคุณสำหรับคำอวยพรจากอาจารย์แม่ไอดินนะครับที่"ขอให้ผมกับคนใกล้ตัวมีทายาทเร็วๆ"

-น้องเขามาอยู่กับผมเมื่อปีก่อน 2 คน ครับ แต่ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูกัน เหตุมาจากเรื่องสุขภาพและปัญหาบางอย่างที่เราทั้งสองไม่ทราบ...

-เราวางแผนไว้ว่าปีหน้าจะรอการกลับมาของน้องทั้งสองครับ...

-หากมีโอกาสคงจะได้มี"ละอ่อนน้อย"มากวนอาจารย์แม่ไอดินแน่ ๆ 555

-ขอบคุณครับ

ด้วยความยินดีค่ะ (My pleasure.) "คุณแสงแห่งความดี"

อาจารย์ครับผมพึ่งเห็นบันทึกนี้ เสียดายเห็นช้าไปจริงๆ พร้อมทั้งชื่นชมในการถอดออกมาของอาจารย์จริงๆ "เพราะอาจารย์ถอดออกมานั้นมากกว่าการถอดออกมางานวิจัย " อาจารย์ถอดความรักของพวกเราที่เขียน blog ออกมาครับอาจารย์ ผมเห็นการวิเคราะห์อาจารย์แล้วผมทึ่งเอามากๆครับอาจารย์ ขอบคุณอาจารย์จริงครับ ผมขอมอบเพลงนี้ให้อาจารย์ครับ 



ตามน้องลูกหมูมาค่ะ นานๆได้เข้ามาค่ะ จึงได้พบกับการถอดบทเรียนที่มีคุณค่าของชาว G2K ขอบคุณอาจารย์แม่ที่ให้สาระและเกิดศูนย์รวมในการแสดงพลังมิตรภาพที่รู้จากบันทึึกก็รู้ใจกันค่ะ... ฟังเพลงลูกหมูเพราะมากค่ะ

ตามลูกหมูมา ชื่นชมอาจารย์มากค่ะ ที่สังเคราะห์ประเด็นพวกเราชาวโกทูโนออกมาแจ่มแจ้ง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนมาสัมภาษณ์ ว่าเราเดินมาถึงวันนี้เราภาคภูมิกับสิ่งที่ทำเพียงใด

แก้ว ตอบว่า ที่มีเราวันนี้และคนรู้จักมากมาย เหมือนมีพี่น้องทั้งประเทศเพราะมี...โกทูโน

ถ้าไม่มีพื้นที่ โกทูโน เราคงไม่มีวันนี้

ขอบคุณ "คุณลูกหมูเต้นระบำ" มากๆ เลยนะคะ ที่ทำให้บันทึกนี้ คึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ทำนายผิดว่า ยอดการเข้ามาอ่านคงจะหยุดอยูที่ 361 ครั้ง หรือถ้ามีเพิ่มก็คงไม่เกิน 365 ครั้ง

นอกจากสร้างความคึกคักให้กับบันทึกนี้แล้ว คุณลูกหมูยังสร้างความปลื้มปิติให้กับ "ไอดินฯ" มากมายด้วยถ้อยวาจาเสริมสร้างพลังใจ "...อาจารย์ถอดความรักของพวกเราที่เขียน blog ออกมาครับอาจารย์ผมเห็นการวิเคราะห์ของอาจารย์แล้วผมทึ่งเอามากๆ ครับ ..."

แต่ "ไอดินฯ" ขอสารภาพว่า เพลงที่ "คุณลูกหมูฯ" มอบให้นั้น ด้วยสมรรถนะต่ำของการใช้ 'net ที่หมู่บ้านชายแดนของอำเภอวารินชำราบ ทำให้ "ไอดินฯ" เข้าไปฟังเพลงไม่ได้ แม้จะพยายามหลายครั้ง สุดท้ายต้องให้ "ลูกเอ๋ ที่กทม. (ภาพจากบันทึกเรื่อง "ลูกพาเที่ยว ตอนจบ" ที่ถ่ายในวันที่ 2 พ.ค. 56)" ช่วยเข้าไปฟังแทน และเล่าให้แม่ฟังทางโทรศัพท์ ซึ่งเธอบอกว่า ชื่อเพลง "One More Night" และแปลให้แม่ฟังทุกประโยคเลย เธอบอกว่า "เอ๋ว่า แม่ต้องไม่รู้จักเพลงนี้แน่ เพราะเป็นเพลงวัยรุ่น..." ตอนเข้าเมืองจะเข้าไปฟังด้วยตนเองแน่นอนค่ะ ขอบคุณมากนะคะ...(ไอดินฯ ไม่แน่ใจนักนะคะ ว่า เจตนาที่แท้จริงในการมอบเพลงนี้ให้คืออะไร แต่บอกลูกไปว่า คุณลูกหมู คงต้องการสื่อว่า ได้อ่านบันทึกนี้ ทำให้รัก ชุมชน GotoKnow ขึ้นมาอีก ตัดใจไปจาก GotoKnow ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ถ้าแปลเจตนาผิดก็บอกด้วยนะคะ)

  

 

 

ขอบคุณ "krutoom" นะคะ ที่เข้าไปเยี่ยมเยียน และให้คุณค่าบันทึกที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" เขียนในแง่ที่ทำให้ "เกิดศูนย์รวมในการแสดงพลังมิตรภาพ" ของ "ชาว GotoKnow"

ไหนว่าไม่ถนัดในการเขียนไงคะ แต่เห็นใช้ถ้อยคำได้ดีออก และที่ไอดินฯ ได้อ่านบันทึกของหนูเกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ก็เห็นว่า เขียนได้ดีมาก นับเป็นประโยชน์ที่คุณครูท่านอื่นๆ จะได้เข้าไปศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ค่ะ

ไอดินฯ ก็ไม่ค่อยได้เข้าไปอ่านบันทึกของหนู เลยถือโอกาสย้อนกลับไปอ่านทีเดียวหลายเรื่อง

หลานทั้งสามหน้าตาท่าทางดูมีความสุขมาก คงได้รับความรักความอบอุ่นเป็นอย่างดีนะคะ ไม่ทราบว่าเรียนชั้นไหนกันแล้วคะ 

 


 

ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ ที่ได้รู้จัก "คุณแก้ว..อุบล" (ขอบคุณ "คุณลูกหมูเต้นระบำ" ด้วยนะคะที่ชักนำคุณพยาบาลชั้นแนวหน้าของไทย มาให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้รู้จัก)

ไอดินฯ ชื่นชมคนที่เป็นพยาบาลมากค่ะ เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำให้ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์
คนที่ทำหน้าที่ดูแลคนป่วยด้วยจิตใจที่เป็นสุข ถือว่า ต้องเป็นผู้ที่มีจิตเมตตากรุณา เสียสละ และมีความอดทนสูงมากนะคะ
ในตอนที่ลูกสาวของไอดินฯ ออกไปเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่ รพ.ศรีนครินทร์ ขณะเรียนหลักสูตรแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 ที่ ม.ขอนแก่น เธอคิดว่าเธอคงไม่สามารถออกไปมีสภาพแวดล้อมในการทำงานเช่นนั้นได้ จึงได้ไปนั่งสมาธิ ดูใจของตนที่วัดครั้งหนึ่งแล้วกลับไปเรียน เรียนได้พักหนึ่งแล้วก็กลับไปวัดเพื่อดูใจรอบสอง และสุดท้ายก็ขอลาออก (ทั้งที่เธอเลือกคณะด้วยตนเองไม่มีใครบังคับ ผลการเรียนสามปีแรก 3.8 ปี 4 ปียังดีอยู่) ไอดินฯ ต้องทำใจว่า ชีวิตคนมีค่ามาก ถ้าคนที่จะไปทำงานกับชีวิตของคนไม่มีใจรักแล้ว รังแต่จะเป็นการทำบาป และคนแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกวีถีชีวิตของตนเอง จึงอนุญาตให้ลูกลาออก ค่ะ

คุณแก้วบอกว่า "สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนมาสัมภาษณ์ ว่าเราเดินมาถึงวันนี้ เราภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำเพียงใด แก้ว
ตอบว่าที่เรามีวันนี้และคนรู้จักมากมาย เหมือนมีพี่น้องทั้งประเทศเพราะมี...โกทูโน ถ้าไม่มีพื้นที่ โกทูโน เราคงไม่มีวันนี้
" เป็นความรู้สึกเดียวกันเลยค่ะ และเป็นดังที่ “คุณ Sila Phu-Chaya” ได้ให้นิยามไว้นะคะ ว่า "GotoKnow คือ
สะพานบุญ...หากไม่มี Gotoknow เป็นร่มไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทุกทิศทั่วไทย และแผ่ไปไกลในต่างแดน เราซึ่งต่างมีสังคมของตนเอง ต่างมีอาชีพทำมาหากินของตนเอง ต่างมีวิถีการดำเนินชีวิตเป็นของตนเอง คงไม่อาจโคจรมาพบกัน แบ่งปัน และเรียนรู้สิ่งดี ๆ ร่วมกัน..."

คุณแก้วมีประสบการณ์ในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปเสนอผลงานวิจัยทั่วโลกเลยนะคะ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกา และเอเชีย งานวิจัยเชิงทดลองเรื่อง (ที่น่าจะแปลออกมาได้ว่า) "ผลของการใช้ดนตรีบำบัด ต่อการลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง" ที่คุณแก้วไปนำเสนอที่ Melbourne,
Australia
น่าสนใจมากค่ะ ถ้าคุณแก้วเขียนบันทึกเล่าถึงสาระสำคัญของงานวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยและการให้บริการทางสาธารณสุขมากเลยนะคะ

ไอดินฯ เคยไปขลุกอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยใน Perth, Western Australia ทุกช่วง Summer ของปี 2000-2003 ด้วยความกระหายใคร่ศึกษางานวิจัยทางจิตวิทยา และทางการศึกษาของเขา ซึ่งมีความน่าสนใจทั้งระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) และผลการวิจัย (Research Results) ตลอดจนการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารงานวิจัย ค่ะ





                                    (ขอบคุณภาพจากบันทึกของกัลยาณมิตร GotoKnow)

ขอบคุณ "คุณ pa_daeng" มากนะคะ ที่เข้าไปมอบดอกไม้และมีปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ความว่า "เยี่ยมมากค่ะ อาจารย์"

...มานึกทบทวนดู ก็รู้สึกว่า เราจะห่างหายการพบปะกันผ่าน GotoKnow นานโขทีเดียวนะคะ แต่ไอดินฯ ก็ได้ร่องรอยของ "คุณ padaeng" จากภาพในบันทึกของ กัลยาณมิตร GotoKnow (ขออภัยค่ะ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นภาพจากบันทึกของท่านใด จึงไม่ได้ลงอ้างอิงไว้) 

ได้ตามไปอ่านบันทึกหลังๆ ของ "คุณ pa_daeng" และได้เจอความเห็นน่ารักๆ ในบันทึกเรื่อง "Love at the First Read" ความว่า "หากถามว่า "ทำไม ชอบ gotoknow" เพราะตอนนั้น 1) ใช้งานง่ายมาก (ผู้เขียนเคยใช้งานมาหลายเวบไซด์) 2) มีบล็อกเกอร์ที่เปิดเผยตนเอง ให้ความจริงใจและเป็นกันเอง (จับต้องได้จริง) 3) ผู้เขียนรู้สึกว่า "เป็นคนดัง" (อันนี้ภาคภูมิใจ เป็นพิเศษ) 4) ผู้ดูแลเว็บไซต์ทุกท่าน อาจารย์จันทวรรณ อาจารย์ธวัชชัย รวมถึง น้องมะปราง ก็แสดงตัว และเป็นกันเองมาก (มาถูกที่แล้วเรา)

ต่อแต่นี้ คงหมั่นเยี่ยมยามถามข่าวกันและกันนะคะ...Keep in touch...kha



 

 

ยินดีมากค่ะ ที่ได้ต้อนรับ "คุณ Yanyong-P" สมาชิกใหม่หมาดๆ 3 วัน "ไอดิน-กลิ่นไม้" ขอเป็นตัวแทน "ชุมชน GotoKnow" ให้การต้อนรับ ด้วยดอกไม้ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ดอกรักแรกพบสีแดง" ที่เพิ่งปลูก (มีสีส้ม สีชมพู และสีเหลืองอยู่แล้วค่ะ) 


"ไอดิน-กลิ่นไม้" ขออนุญาตแนะนำให้ชุมชน GotoKnow รู้จัก "คุณ Yanyong-P" นะคะ ท่านให้ข้อมูลในประวัติว่า  "เกิด พศ 2506 และเติบโตที่ สมุทรสาคร การศึกษา ประถมต้น รร สวัสดิ์วิทยา ประถมปลาย รร เอกชัย มัธยม รร สวนกุหลาบวิทยาลัย อุดมศึกษา วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (โยธา) จุฬาฯ หลังสำเร็จการศึกษาในปี 2527 ดำเนินธุรกิจครอบครัวด้านการประมงต่อเนื่องจนหยุดประมาณปี 2550 สถานภาพ ครองชีวิตคู่ร่วมกับคุณพึงใจ มีบุตรชาย 2
หญิง 1 (บุณยฤทธิ์ ทำงานที่ กฟผ, วรงกฎ ปี 4 วิศวฯจุฬาฯ , จุฑาทิป ปี 1 ทันตฯจุฬาฯ ) ขอออกตัวนิดหนึ่งว่า เพิ่งหัดใช้คอมฯได้ไม่นาน และ เข้าสังคมออนไลน์เดือน มิ ย นี้เอง ถ้ามีอะไรผิดพลาด หรือ บาดหมางใจ โปรดแจ้งให้ทราบด้วย"
(ลูกๆ ของคุณยรรยง เก่งจังนะคะ ลูกสาวของไอดิน-กลิ่นไม้ เคยเป็นนักเรียนในโครงการช้างเผือกที่มีสิทธิ์สอบเพื่อรับการคัดเลือก เข้าเรียนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์โยธาที่ มทจ.เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งประเทศรับ 10 คน เธอเป็นนักเรียนหญิงคนเดียวที่สอบได้ 9 คนเป็นนักเรียนชาย แต่เธอเรียนแค่ 3 เดือนก็ขอลาออกไปเรียนแพทย์ แต่ก็เรียนแค่ 4 ปีค่ะ ลาออกปีที่ 5 เลยได้แค่ปริญญาวิทยาศาสตรการแพทย์ค่ะ)

"ไอดิน-กลิ่นไม้" ขอเรียนให้ "คุณ Yanyong-P" ทราบด้วยความสบายใจว่า ชุมชน GotoKnow ของเรา มีแต่ความเป็นมิตร ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อกันค่ะ พวกเราหวังว่า จะได้อ่านงานเขียนของ "คุณ Yanyong-P" ในเร็วๆ นี้นะคะ

ขอบคุณมากนะคะที่เข้ามามอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" 


 

สวัสดีครับอาจารย์ และฝากผ่านความเคารพมาถึงสมาชิกทุกท่านด้วยครับ

ผมเป็นสมาชิกใหม่คิดว่าตัวเองโชคดีมากได้มาเจอ G2K เหมือนเป็นสังคมในอุดมคติเลยครับ แหล่งรวมปัญญาชนผู้สละเวลา มอบวิทยาทานแก่คนทั่วไป แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นแก่กัน แม้เห็นต่างก็โต้แย้งกันแบบผู้เจริญ

บันทึกของอาจารยํ ครอบคลุมเนื้อความที่ผมรู้สึกได้เกินร้อย เพราะมีด้านที่ผมมองไม่เห็นมาพรรณาเป็นวิชาการที่อ่านง่าย หวังลึกๆว่าวันหน้าจะมีความสามารถเขียนบันทึกมาแบ่งปันกับท่านบัวเหนือน้ำทั้งหลายได้บ้าง 

เชื่อมั่นว่า ณ ที่นี้ Gotoknow บัณฑิตจะพาไปหาผล


สวัสดีค่ะ "คุณ yanyong-p"

ดีใจจังค่ะ ที่ "คุณ yanyong-p" เข้ามาตอบการต้อนรับอย่างรวดเร็ว ตอนนี้คุณก็เป็น "ชาว GotoKnow" แบบเต็มตัวแล้วนะคะ

"ไอดิน-กลิ่นไม้" เขียนอนุทินน้อยมาก จะเขียนก็ต่อเมื่อมีแรงบันดาลใจจริงๆ ครั้งนี้ มีแรงบันดาลใจจากถ้อยคำของคุณยรรยงที่กล่าวรับการต้อนรับ จึงคิดจะไปเขียนอนุทินให้ชาว GotoKnow รับทราบอย่างกว้างขวางขึ้น ว่าเราได้สมาชิกใหม่ที่มองภาพ "ชุมชน GotoKnow" ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ครอบคลุม และงดงาม ตลอดจนมีศักยภาพสูงทั้งด้านความคิดและความสามารถทางภาษา ที่จะเข้ามาสร้างความแข็งแกร่งให้กับ "ชุมชน GotoKnow" อีกท่านแล้ว

สวัสดีค่ะอาจารย์แม่ ไอดิน-กลิ่นไม้

อ่านบันทึกนี้ ตั้งแต่บันทึกใหม่ๆ โดยไม่ได้เข้าระบบค่ะ

ตั้งใจจะเข้ามาอ่่านอีกช้าๆ จนเวลาล่วงเลยมาหลายวัน 

อนุทินแนะนำสมาชิกใหม่ของอาจารย์ ช่วยนำทางมาเก็บรายละเอียดอีกรอบค่ะ

เลยได้พบการตอบความคิดเห็นแบบ... แน่นไปทุกรายละเอียดจริงๆ

ต้นแบบ ของความเข้มข้น ในการผนึก...ประสาน..."ศาตร์และศิลป์" ...ไม่ต่างจากเนื้อหาบันทึกเลยค่ะ

บันทึกนี้บันทึกเดียวของอาจารย์แม่ ปลุกสติ และกระตุกสำนึกให้เห็นคุณค่าของความเพียรอย่างยิ่ง

ขอบพระคุณต้นแบบแห่งความเพียรในหลายๆด้านสำหรับการเรียนรู้ค่ะ


เป็นบันทึกที่ต้องใช้พลังงานในการคิดและเขียนเยอะเลยนะครับ

อ่านแล้วรู้สึกเคลิ้มเลยละครับ  555


ขอบคุณ "หนู tawandin" มากๆ เลยนะคะ ที่เขียนบันทึกดีๆ ให้อาจารย์แม่ได้นำมาอ้างอิงในบันทึกนี้ รวมทั้งการเข้ามาให้กำลังใจ และแสดงให้เห็นถึงธรรมเนียมปฏิบัติของชาว GotoKnow "Learn, Care, Share, and Shine" อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "Shine" จากความเห็น " ...บันทึกนี้บันทึกเดียวของอาจารย์แม่ ปลุกสติ และกระตุกสำนึกให้เห็นคุณค่าของความเพียรอย่างยิ่ง ขอบพระคุณต้นแบบแห่งความเพียรในหลายๆ ด้านสำหรับการเรียนรู้ค่ะ"

เช้านี้ อาจารย์แม่ได้เข้าไปเรียนรู้ในบันทึกของหนู เรื่อง "ความสุข จาการสังเกตด้วย Zero mind (http://www.gotoknow.org/posts/537190) ร่วมถอดบทเรียน "การจัดการความสุข" Happy Ba e-Book ...ความสุข จากการสังเกต ด้วย Zero mind...นับว่า เป็นตัวอย่างการถอดบทเรียนที่เยี่ยมจริงๆ ค่ะ แสดงถึงการเรียนรู้ในขั้นที่สามารถนำไปใช้ได้จริง การที่ได้เรียนรู้การถอดบทเรียนของหนู เหมือนได้เรียนรู้งานจากผู้เชี่ยวชาญเลย อาจารย์แม่เองก็ต้องทำการบ้านในงานเดียวกันนี้เหมือนกันค่ะ การเรียนรู้จากงานของหนูทำให้ได้ตัวอย่างดีๆ ที่เป็นรูปธรรมของการถอดบทเรียน Happy Ba ขอบคุณจริงๆ ค่ะ



 


ถ้าให้ Vote เลือก ฺBlogger ที่ชื่นชอบ "คุณอักขณิช" น่าจะอยู่ใน Top Three นะคะ เล่นสร้างความสัมพันธ์ไว้จากเหนือจดใต้เลย

"คุณอักขณิช" บอกว่า บันทึกนี้ของป้าวิ  "เป็นบันทึกที่ต้องใช้พลังงานในการคิดและเขียนเยอะเลยนะครับ อ่านแล้วรู้สึกเคลิ้มเลยละครับ  555"

หวังว่าที่ "เคลิ้ม" น่ะ จะเป็น "เคลิบเคลิ้ม" ไม่ใช่ "เคลิ้มหลับ" นะคะ

เพิ่งไปลอกการบ้าน "เอ๊ย! ไม่ช่าย ไปศึกษาการบ้านคุณอักขณิชเกี่ยวกับการถอดบทเรียน Happy ฺBa มาค่ะ ขอบคุณนะคะ ที่มีป้าวิเป็น 1 ใน 15 Bloggers ที่เลือกเรื่องไปถอดบทเรียน

  

 

"ไอดิน-กลิ่นไม้" กราบขอบพระคุณ "พระคุณเจ้า พระมหาแล" ที่เมตตามอบดอกไม้เป็นกำลังใจใ้ห้...กราบนมัสการมาด้วยความเคารพค่ะ

ขอบใจ "หนูจิรารัตน์" มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้ให้กำลังใจอาจารย์

ตอนนี้ขึ้นปี 4 แล้วนะคะ ออกฝึกงานหรือเปล่า เขียนอนุทินเล่าให้ฟังบ้างสิคะ

อาจารย์อยากให้พวกหนูเขียนบันทึกเล่ากิจกรรมโปรดที่ทำให้มีความสุข (ดูรายละเอียดที่ประชาสัมพันธ์ในหน้าแรก) มีการสุ่มจับรางวัลด้วย บอกเพื่อนๆ ด้วยนะคะ เป็นเรื่องที่เขียนได้ง่ายๆ ไม่ต้องสืบค้นอะไร เผื่อโชคดีก็จะได้รางวัล
ที่สำคัญคือได้ฝึกการเขียนค่ะ




ตามการเขียนอย่างสม่ำเสมอ แต่อ่านไม่ทันเลยครับ

แค่ตามมาเยี่ยม อาจารย์แม่ก็อบอุ่นใจแล้วล่ะคะ "ลูกขจิต"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท