อันดับของมหาลัยสิงคโปร์ในระดับสากล (ตอนที่ 1)


มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์กับอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่จัดโดย Times และ QS

เรากำลังจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็มีการเตรียมตัวไปแล้ว(ในบางส่วน) ถ้าพูดถึงส่วนการศึกษานั้น มหาวิทยาลัยก็มีการวางแผนหรือได้ดำเนินการเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรรวมถึงเวลาเปิดปิดเทอมให้สอดคล้องกับระบบของประชาคมอาเซียน เป็นที่สังเกตว่าหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น และก็มีบางมหาวิทยาลัยลงทุนกับการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อให้มีชื่อเสียงในระดับสากล เพราะเป็นผล(ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม)ที่จะดึงดูดให้มีนักศึกษาและนักวิจัยหรืออาจารย์จากต่างชาติเข้ามาไทยมากขึ้น มีการสนับสนุนในด้านการพัฒนางานวิจัยที่เกิดมูลค่า และส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปด้วย บางสถาบันการศึกษาก็มีเป้าหมายว่าจะต้องนำชื่อสถาบันไปติดอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียและโลกให้ได้ อย่างเช่นล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ก็เป็นมหาวิทยาลัยของไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจัดอันดับโดย Times สำหรับปี 2012-2013 โดยได้อันดับในช่วง 351-400 สำหรับลำดับในเอเชียนั้น มจธ. ได้อันที่ 55 ของเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลได้อันดับที่ 61 ของเอเชีย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 82 ของเอเชีย

ในบันทึกนี้ ผมอยากนำเรื่องอันดับหรือ ranking ของมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมอาเซียนมาเล่าสู่กันฟัง และผมจะขอกล่าวถึงมุมมองของผมที่ได้ไปสัมผัสกับระบบการศึกษาของสิงคโปร์ในตอนที่ผมได้ไปศึกษาต่อที่นั่น อยากมาเล่าสู่กันฟังว่าสิงคโปร์เขาทำอะไรบ้างกับภาคการศึกษาและวิจัย และเป็นผลที่ทำให้มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ได้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของกลุ่มประเทศอาเซียน รวมไปถึงติดอันดับใน TOP100 ของโลก ก็คงเป็นแค่มุมมองและประสบการณ์ส่วนหนึ่งของผม ไม่ได้มีการตีโจทย์วิเคราะห์แบบละเอียดใดๆทั้งสิ้น ซึ่งก็ครอบคลุมข้อเท็จจริงเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งเท่านั้น หากท่านมีมุมมองมากกว่านั้น กรุณาแชร์ให้ทราบก็จะเป็นที่ขอบพระคุณ

ผมจะขอแยกบันทึกนี้เป็น 2 ตอน ในตอนที่ 1 ขอแนะนำ ranking ของมหาลัยในสิงคโปร์ก่อน จากนั้นในตอนที่ 2 จะพูดวิธีการที่ใช้ในการจัดอันดับ รวมถึงประสบการณ์เล็กๆส่วนตัวของผมที่ได้สัมผัสระบบการศึกษา(และวิจัย)ของสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ มีผู้คนมากมายหลายวัฒนธรรมและภาษา สิงคโปร์นับว่าเป็นประเทศที่พัฒนามากในทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่ง และหากพูดในเรื่องการศึกษาของประเทศแล้ว สิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่เจริญไปมากประเทศหนึ่งเช่นกัน  ผู้นำประเทศจัดวางระบบการศึกษาได้เยี่ยมยอดไว้ตั้งแต่การศึกษาระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา ยังเคยกล่าวว่า ระบบการศึกษาระดับ middle school (ประมาณ ป.6 ถึงมอต้น) เหนือกว่าสหรัฐอเมริกากันเลยทีเดียว (อ้างอิง)

หากพิจารณาถึงคุณภาพการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์มีคุณภาพสูงในมาตรฐานระดับสากลโลก  รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนมหาศาลให้กับการศึกษาและวิจัย อีกทั้งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อที่มหาวิทยาลัยจะได้ตอบโจทย์ความต้องการแรงงาน และผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับประเทศ สิงคโปร์มี 2 มหาวิทยาลัย (จากทั้งหมด 6 มหาวิทยาลัย) นั่นคือมหาวิทยาลัย NUS กับ NTU ที่ติด TOP100 มหาวิทยาลัยดีเด่นระดับโลก ดังที่ผมจะแนะนำดังต่อไปนี้

National University of Singapore (NUS)


NUS เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1905 รวมอายุก็ 100 กว่าปีแล้ว  NUS เปิดสอนหลากหลายสาขาวิชา (13 คณะ) มีทั้งแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ บริหารศาสตร์ ฯลฯ NUS เป็นมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษากว่า 37,000 คน มาจาก 100 กว่าประเทศ  

ในปี 2012 QSจัดอันดับให้ NUS ติดอันดับ 25 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย  ส่วน Timesจัดลำดับในปี 2012-2013 ให้ NUS ติดอันดับที่ 29 ของโลก และอันดับที่ 2 ของเอเชีย และเมื่อพิจารณาตามสาขาวิชาแล้ว NUS เองติดอันดับ TOP50 ของโลกเกือบครบทุกสาขาเลย และก็มีถึง 12 สาขาวิชาที่ติดอันดับ TOP10 ของโลกตามอันดับที่จัดโดย QS ปี 2013 ผมขอยกตัวอย่างลำดับของสาขาวิชาที่ NUSได้แก่

  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสื่อมวลชน อันดับ 4 ของโลก
  • สาขาวิชาสถิติและการวิจัยดำเนินการ (Statistical and Operations Research) อันดับ 5 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล อันดับ 6 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี อันดับ 6 ของโลก
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ อันดับ 7 ของโลก
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ อันดับ 8 ของโลก
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์ อันดับ 9 ของโลก
  • สาขาวิชารัฐศาสตร์ อันดับ 10 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 10 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา อันดับ 11 ของโลก
  • สาขาวิชาการบัญชี อันดับ 11 ของโลก
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ อันดับ 14 ของโลก

Nanyang Technogical Univesity (NTU)


NTU ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1991 เมื่อเทียบกับอายุของ NUS ก็ถือว่า NTU ยังอายุน้อยมากๆ แต่เดิมที NTU นั้นกำเนิดมาจากสถาบันชื่อ NTI ที่เน้นไปที่การพัฒนากำลังด้านวิศวกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ปัจจุบัน NTU มีนักศึกษากว่า 33,500 คน หากพิจารณาจากชื่อเต็มของมหาวิทยาลัยก็จะพบว่า เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี เหมือนว่าจะเน้นไปที่เทคโนโลยีเป็นหลัก แต่จริงๆแล้ว NTU ก็เปิดสอนวิชาอื่นๆด้วยเช่นกัน อย่างคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เป็นต้น และล่าสุดก็กำลังจะเปิดสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์ด้วย

ในปี 2012 QS จัดอันดับให้ NTU ติดอันดับ 47 ของโลก และอันดับ 17 ของเอเชีย  ส่วน Times จัดลำดับในปี 2012-2013 ให้ NTU ติดอันดับที่ 86 ของโลก และอันดับที่ 11 ของเอเชีย และเมื่อพิจารณาตามสาขาวิชาแล้ว มีอยู่ 13 สาขาวิชาที่ NTU ติดอันดับใน TOP50 ของโลก ผมขอยกตัวอย่างลำดับของสาขาวิชาที่ NTU ได้แก่

  • สาขาวิศวกรรมโยธา อันดับ 8 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล อันดับ 11 ของโลก
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสื่อมวลชน อันดับ 11 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 14 ของโลก
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ อันดับ 22 ของโลก
  • สาขาวิชาสถิติและการวิจัยดำเนินการ อันดับ 23 ของโลก
  • สาขาวิชาการบัญชี อันดับ 29 ของโลก
  • สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี อันดับ 34 ของโลก

ขอจบที่ตรงนี้ก่อนแล้วกัน แล้วจะมาต่อในตอนที่ 2 นะครับ


บันทึกที่เกี่ยวข้อง: รายชื่อทุนศึกษาต่อปริญญาเอกที่สิงคโปร์


หมายเลขบันทึก: 536661เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณมากครับ แล้วจะคอยติดตามในตอนที่ 2 ครับผม

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ;)...

ขอบคุณครับ แล้วจะกลับมาเขียนตอนที่ 2 ครับผม

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ

จะคอยอ่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท