การรักษาโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน


อาการโรครากเน่าที่ัรักษาด้วยยูแลคซิลอาการโรครากเน่าทางใบอาการทางใบของโรครากเน่าการรักษาโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน :ประสบการณ์จากขนำหนองทอง

หลังฤดูฝน ปีที่ 2555 ฝนตกน้ำท่วมบ่อยครั้ง ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ต้นทุเรียนที่ลุงวัฒน์ปลูกไว้ บริเวณบ้าน ประสบปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ช่วงแรกอาการเหมือนจะไม่รุนแรง ลุงวัฒน์ทำการรักษาโดยใช้สารป้องกันและกำจัดโรคพืช ยูแลคซิล ทาเดือนละ 2 ครั้งอยู่ประมาณ 3 เดือน วิธีการก็คือถากเนื้อไม้บริเวณที่เน่าออกจนถึงเนื้อไม้ แล้วทาด้วยยูแลคซิลด้วยส่วนผสม 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรทาบริเวณแผล  อาการทรง ๆ อยู่สักพัก แล้วเริ่มปรากฏอาการรุนแรงขึ้นช่วงมีนาคม 2556 เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนตกมากอีกปีหนึ่ง รอยโรคลุกลามมากขึ้นดังภาพ ดูแล้ว ยูแลคซิลเอาไม่อยู่ แน่นอน (ประสบการณ์เคยเจอมาแล้วตายไป 2 ต้น เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้) สังเกต จากมีน้ำไหลเยิ้มจากลำต้นมากขึ้น รากเริ่มตาย ดีที่ยังมีบางรากที่ยังทำงานอยู่ ขูดแผลใต้รอยเยิ้ม พบเนื้อไม้เริ่มเน่าเป็นสีดำ ลักษณะของใบ ไม่สมบูรณ์ ใบเล็กซีดสีเขียวอ่อนไปเหลืองผิวใบไม่เป็นมัน  แตกใบอ่อน ก็เป็นใบเล็ก ๆ หยิกงอ กิ่งแห้งตาย เริ่มมาจากส่วนยอดก่อน ตามภาพ เลยครับ

ลุงเริ่มศึกษาค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมใหม่ไปพบเอกสารความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนอันเนื่องมาจากเชื้อ Phytophthora palmivora ในพื้นที่ จังหวัดตราด และจันทบุรี และเรื่องการควบคุมโรคโคนเน่า รากเน่าของทุเรียน ด้วยเทคนิคโรคพืช มก. และสาร m-dKP ที่เผยแพร่โดยกรมวิชาการเกษตร ตัดสินใจดำเนินการตามคำแนะนำทันที โดยมีการประยุกต์นิดหน่อยตามอุปกรณ์ที่อำนวยดังต่อไปนี้

 1.ซื้อหาสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช โฟลิ-อาร์-ฟอส 400
ตามคำแนะนำครับ มีขายตามร้านขายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วไป
ลุงวัฒน์ซื้อจากร้าน ยงนาน ถนนราชดำเนิน จังหวัดตรัง (ร้านนี้เขาแนะนำดี) ขวดละ 350 บาท (อันนี้ไม่ได้โฆษณานะครับ แต่ลุงจะทดลองใช้ดู)

2.สว่านสำหรับเจาะต้นทุเรียน ขนาด 7/32

3.กระบอกฉีดยาขนาด 50 cc ลุงวัฒน์ใช้ขนาด 20 cc ครับพอดีมีขนาดนี้อยู่ไม่อยากซื้อใหม่
4. เข็มฉีดยาเบอร์ 16 หรือ 18

5. สามทาง (3-way) ที่เขาใช้สำหรับฉีดยาและให้น้ำเกลือลุงวัฒน์ใช้ปิดไม่ให้สารเคมีไหลย้อนกลับตอนฉีดครับ แต่บางต้นลุงวัฒน์ใช้สายยากรัดล็อกก้านกระบอกฉีดไม่ให้น้ำยาไหลย้อนกลับ ใช้ได้ดีกว่าด้วยครับ

 

อุปกรณ์การฉีดทั้งหมดปกติจะมีขายเป็นชุดด้วยแต่ร้านที่ลุงวัฒน์ซื้อเขาไม่มีขายครับ มีเฉพาะยาครับเลยต้องหาซื้อเอาตามร้านขายยาทั่วไป  

 

 เมื่อเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วต่อไปก็มาถึงขั้นตอนการฉีดสาร โฟลิ-อาร์ – ฟอส 400 เข้าสู่ต้นทุเรียนกันครับ

ลุงวัฒน์เริ่มทำวันที 19 พฤษภาคม 2556 เลือกเวลา ประมาณ 9.00 น. เป็นช่วงเช้าแดดกำลังพอดี ใบทุเรียนกำลังสังเคราะห์แสง (ที่สำคัญลุงก็ตื่นนอนเวลานี้พอดี)

 วิธีการ

1. ผสมสารโฟลิ-อาร์-ฟอส กับน้ำสะอาด (ลุงวัฒน์ใช้น้ำดื่มผสมครับ) อัตราส่วน 1:1 ผสมให้ได้ปริมาณพอดีกับจำนวนต้นทุเรียนครับ โดยคำนวนจากขนาดของเส้นรอบวงต้นทุเรียนในอัตราปราะมาณ 1 ซม.ต่อ 1 ซีซี ต้นทุเรียนลุงวัฒน์ขนาดประมาณ 60 ซม. เลยใช้น้ำยาที่ผสมแล้ว 60 cc. ต่อต้น แยกใส่หลอดฉีดยาขนาด 20 cc. จำนวน 3 หลอด

2. เจาะรูต้นทุเรียนด้วยสว่าน ให้ได้รูขนาดพอดีกับโคนเข็มฉีดยา (ขนาด 7/32 ครับ) เวลาอัดเข็มลงไปจะได้ปิดปากรูที่เจาะได้แน่นพอดีป้องกันยาไหลย้อนกลับตอนอัดยาลงไป ให้ลึกประมาณ 3-4 ซม. (ต้นทุเรียนลุงวัฒน์ต้นใหญ่เลยเจาะเสียลึก 4 cm. ครับ)

3.  นำเข็มฉีดยาเบอร์ 16 หรือ 18 ที่เตรียมไว้ตัดให้เหลือความยาวเข็มประมาณ 1-2 ซม. ต้องให้สั้นกว่าความลึกของรูที่เจาะไว้ ครับ (เวลาตัดก็คีมตัดทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ ตัดแล้วก็สำรวจดูหน่อยนะครับว่ารูเข็มไม่ได้ถูกปิดไปด้วย) ไปเสียบคาไว้ในรูที่เจาะให้ครบทุกรูและตอกอัดเบาๆ จนแน่นครับ ตรงนี้จะต่อด้วย 3 Way ไว้เลยก็ได้ ตอนฉีดก็ฉีดผ่าน 3 Way หรือจะฉีดเข้าตรงๆ แล้วใช้สายยางรัดก้านเข็มไว้ ก็ไม่มีปัญหาครับ ดีด้วย

4. นำกระบอกฉีดยาที่ดูดน้ำยาที่ผสมแล้วหลอดละ 20 cc. ต่อเข้ากับเข็มฉีดยาที่เสียบไว้กับรูที่เจาะ กดก้านกระบอกฉีดให้น้ำยาค่อยๆ ไหลเข้าไปจนแน่น พยายามอุดไม่ให้น้ำยาไหลย้อน แล้วปิดล็อคไว้ที่ตัว 3 -Way  หรือจะใช้สายยางรัดล็อคก็ได้ ครับลุงวัฒน์ใช้ยางในรถจักรยานรัดครับ น้ำยาก็จะค่อยๆ ถูกดันเข้าไปซึ่งจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมงครับ กว่าตัวยาจะถูกดูดซึมหมด 1 หลอด (20 cc.) 

5. ถ้าต้นใหญ่ก็ฉีดกระจายไว้รอบต้นครับ 20 cc ต่อ 1 หลอดฉีดยา



6. พอฉีดอัดยาเสร็จแล้วก็ใช้ปูแดงที่ใช้กินกับหมากอุดปิดรูไว้ครับ  ป้องกันพวงแมลงมาเจาะ
หรือความชื้นที่อาจทำให้เกิดโรคอื่นตามมาได้

ทีนี้ก็รอยแผลใหญ่โตที่เคยถากออกจนถึงเนื้อไม้ เพื่อเอาส่วนที่เน่าเสียออก และเคยทาด้วย ยูแลคซิล วันนี้ลุงวัฒน์ถากออกอีกรอบครับตรงที่เน่าถึงเนื้อไม้ลุงวัฒน์ใช้ปูนแดงทาปิดไว้ครับ ส่วนรอบๆที่ยังเน่าไมถึงเนื้อไม้แต่มีน้ำเยิ้มลุงวัฒน์ถากออกบางๆ แล้วทาด้วย ยูแลคซิล ซ้ำครับ

ผลเป็นอย่างไรต้องรอประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย ครับ และอีกอย่างต้องฉีดอัดยา 2 เดือนครั้งครับ สำหรับทุเรียนที่เป็นโรคค่อนข้างรุนแรง




 

หมายเลขบันทึก: 536515เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากจะสอบถามค่ะ ว่าตัวปลอกรองเข็มฉีดยา หาซื้อได้ที่ไหนอ่ะค่ะ

เข็มกระบอกฝังทุเรียนซื้อที่ไหนคับแนะนำที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท