Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ฝ่าด่าน "นิวรณ์ 5"


แพรขอแนะนำให้รู้จักเพื่อนสนิทของเราอีกกลุ่มหนึ่ง คือ นิวรณ์ 5 ค่ะ เค้าเป็นพวกกิเลสมารนะคะ เค้าน่ะสนิทและรู้จักเราดี แต่เราน่ะสิ ทำเป็นไม่รู้จักเค้า คิดว่าเค้าไม่สำคัญ จริงๆแล้วเค้าสำคัญมากกกกกกกกก

นิวรณ์ 5 จะเป็นเพื่อนซี้ปึ้กของเรา ระหว่างที่เราสนุกกับกรรมฐาน เค้าจะมาเล่นกับเรา มาอยู่กับเรา ตลอดเวลา บางครั้งก็มาตัวเดียว บางครั้งก็มากันเป็นทีม ผลัดกันมาเล่นสนุกกับเราตลอด จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน เราจะมึง จะงง จะเหนื่อย จะเบื่อกับชีวิตมาก เค้าทำให้เราเผลอสติ หลุดจากสมาธิบ่อยๆ ค่ะ เห็นไหมค่ะ เค้านี่แหละตัวสำคัญเลย

รู้จักเค้า เข้าใจเค้า และผ่านเค้าไปได้ เพื่อนๆจะได้ของดีจากการทำสมาธิ เจริญสติค่ะ

เรื่องนี้แพรตั้งใจเขียนมาเล่าเลยนะคะ ถ้าเพื่อนๆรู้จักเค้าดี จำเค้าได้ เวลาอยู่วัด ปฏิบัติธรรม เพื่อนๆจะปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วค่ะ แล้วจะสนุ๊ก สนุกกับกรรมฐานค่ะ

จริงๆแล้วผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนไม่มีใครนะคะที่ไม่รู้จัก  ไม่เคยเจอ นิวรณ์ 5 เพราะพอเริ่มต้นปฏิบัติก็เจอกันทุกคนค่ะ  นิวรณ์ 5 จึงได้สมญานามว่า "ข้าศึกแห่งสมาธิ" เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้นแล้ว  เราจัดการกับมันไม่ได้ สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยค่ะ

นิวรณ์ 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนากรรมฐานค่ะ แต่เป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาค่ะ เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง รู้ทุกอย่าง ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง  รู้โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็ให้รู้ลูกเดียวเลย


นิวรณ์ คืออะไร

นิวรณ์ คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี, อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง  นิวรณ์ 5 เป็นเครื่องกั้นจิต ไม่ให้ตั้งมั่น ไม่ให้บรรลุถึงความดีงาม  และความดีงามที่ว่า ความตั้งมั่นที่ว่า ก็คือ .."สมาธิ"..!

และสมาธิ จัดเป็นความดีงามประการหนึ่ง ในหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา..
ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ที่ประกอบด้วย ..ศีล..สมาธิ...ปัญญา ค่ะ..!

นิวรณ์ 5 เพื่อนสนิทของเรา (ที่เราก็ไม่อยากจะสนิทกับเค้า) จะมาเล่นกับเราในลักษณะนี้ค่ะ

1.กามฉันทะ คือ  ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์(คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น) ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น แบบว่า ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ ก็รู้สึกชอบ ยินดี  พอใจกับอะไรบางอย่าง ทำให้มีความสุข สบายใจ ก็หลงๆตามไป ก็ลืมภาวนา  แล้วหลุดจากสมาธิไปเลยค่ะ  เฮ้อ...

เช่น มาหลอกเราว่า ชอบภาวนา ที่ตรงนี้ ชอบมาอยู่วัดนี้ ไปที่อื่นไม่ได้ ชอบนั่งภาวนาที่เย็นๆ ชอบนั่งใกล้พัดลม ชอบนั่งใกล้พระพุทธรูป ถ้าไม่ได้แบบนี้ก็ไม่ชอบ จะหงุดหงิด เป็นต้น

2.พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ แบบว่า ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ ก็รู้สึกโกรธ เกลียดอันโน้น อันนี้  คนโน้นคนนี้  หรือใครที่ทำให้เราไม่พอใจเจ็บใจ  เจ็บแค้น อยู่ๆก็ไปนึกถึงเค้า  ภาวนาไปโกรธไปก็ไม่ได้อะไรค่ะ  โดนกิเลสเอาไปกินซะแล้ว  เฮ้อ...

เช่น มาหลอกเราว่า โกรธคนที่มาแย่งพัดลมของเรา โกรธคนที่่มาแย่งที่นั่งของเรา โกรธคำพูดของคนนั้น โกรธการกระทำของคนนี้ มันหาเรื่องให้เราโกรธ เกลียด เคืองได้สารพัดค่ะ ดูดีๆนะคะ โทสะนี้ดูง่าย สมาธิดีๆ สติไวๆ จะเห็นความโกรธหรือโทสะนี่ มันผุดออกมากลางอกเลยค่ะ ลองดูดีๆนะคะ

3.ถีนมิทธะ แบ่งเป็น “ถีนะ” และ “มิทธะ”  ซึ่งจะมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือ ทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ

ถีนะ  คือ ความหดหู่ ท้อถอย เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป แบบว่า เบื่อๆ  เหงาๆ ขี้เกียจๆ  อยากกลับบ้าน  ไม่อยากเจริญภาวนาต่อ

เช่น มาหลอกเราว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” “เราทำไปทำไมเนี่ย”  โอ๊ย..เซ็ง..เบื่อ อยากกลับบ้าน นั่งสมาธิ เดินจงกรมแล้วไม่ดห็นได้อะไร หรือเราเป็นพวกภาวนาไม่ขึ้น เลิก ๆ กลับบ้านดีกว่า ไม่อยากอยู่วัดแล้ว ..เบื่อ

มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน  เกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส(พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้งค่ะ) แบบว่า หนังตาหนัก  หนังท้องตึง  ง่วงอยากนอน  คิดถึงที่นอน  คิดถึงการนอนหลับสบาย  ภาวนาไปก็ผงกหัวไป  มันรู้สึกวืดไป วืดมา  แพรเจอตัวนี้ตั้งแต่แรกเลยค่ะ เจอกันบ่อย แค่คิดจะภาวนาก็จะโผล่มาทักทายกันแล้ว  บางทีสู้ไม่ไหวก็ปล่อยให้มันหลับไปเลยค่ะ  แฮะๆๆ หลับสบายไปเลย บัลลังค์นี้

อย่าค่ะ อย่าไปเชื่อมัน มันมักจะมาหลอกเราเสมอว่า เรานอนดึก เราไม่สบาย เราเพลีย เราเหนื่อย เราต้องพักผ่อน เราต้องนอนเยอะๆ จะได้แข็งแรง อย่าได้เสียรู้เด็ดขาดค่ะ อยู่บ้านเราจะนอนไม่ค่อยหลับ แต่อยู่วัด ภาวนานี้หลับง่าย หลับเร็วดีจริงๆค่ะ มันไม่ดีนะคะ เพราะทำให้เราไม่ได้ภาวนา เราก็ไม่ก้าวหน้า และจะไม่ได้อะไรกลับไปบ้าน ดังนั้น อย่ายอมให้มันหลอกเด็ดขาดค่ะ
อย่าฝืนนั่งหลับต่อไปนะคะ

ถ้ามันง่วงนัก ก็ลุกขึ้นเดินจงกรมค่ะ ขยันเดินจงกรมมาก ไม่ง่วง ไม่หลับ จะได้สมาธิดีนะคะ

4.อุทธัจจกุกกุจจะ แบ่งเป็น “อุทธัจจะ” และ “กุกกุจจะ”

อุทธัจจะ  คือ  ความฟุ้งซ่านของจิต การที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน คิดเลื่อนลอย  คิดเรื่อยเปื่อย ไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที  แบบว่า  มันคิดโน้น  คิดนี้  คิดได้สารพัด  แล้วก็ดึงเราไปไกลจากสมาธิ  ที่ครูบาอาจารย์คอยว่าไว้ว่า  อย่าส่งจิตออกนอก” อันนี้แหละค่ะ  ตัวร้ายเลย  มาเป็นเรื่องเป็นราว  เราก็เพลินตามมันไป  หลุดจากสมาธิทันที

ตัวนี้นี่ดีนัก มาบ่อยมาเป็นเรื่องราว ละครหลังข่าว จบเรื่องนั้น ต่อเรื่องนี้ มาเป็นสาย มาเล่นกับเราจนเราเหนื่อย เครียด ปวดหัว นี่ไงค่ะที่เค้าว่ายิ่งภาวนา ยิ่งปวดหัว ก็เราเผลอสติ ไม่รู้สึกตัว ไปเล่นกับเค้า เค้าก็เล่นเราซะงอมเลย ไม่ได้ภาวนาเลย ลืมองค์ภาวนาไปซะงั้นล่ะ

ขอแนะนำว่า อย่าไปสนใจเค้ามาก รู้ว่าเค้ามาก็แค"รู้" แล้วจับองค์ภาวนาต่อไปค่ะ จับให้แน่นๆนะคะ

กุกกุจจะ คือ  ความรำคาญใจ  เกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศล เรื่องไม่ดี  เรื่องที่เราทำผิดพลาดไป  ที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าไปทำอย่างนั้นเลย ถ้าย้อนกลับไปได้จะไม่ทำอย่างนั้นอีก  แล้วจะทำอะไรต่อไปแบบนั้น  แบบนี้ หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้  แบบว่า ภาวนาอยู่ดีๆ  ดันไปคิดเรื่องเศร้าๆ ให้มันเหงาๆหัวใจเล่น  พาความทุกข์เข้ามาจูงให้เราเดินออกนอกเส้นทางที่ตั้งใจไว้ 

ยิ่งใครเคยอกหักมาก่อนนะ  ตัวนี้แหละพามาเลยค่ะ  หักอกใครมาหรือถูกหักอกซะเอง ก็พามาเลยทั้งเหตุการณ์  สถานที่และบุคคล (ดีนะไม่ใส่วัน เวลาให้ด้วย  55)

เค้าจะลอยมาเป็นหน้าตา ท่าทางให้เห็นเลยค่ะ มาบิวส์อารมณ์เราซะกระเจิดกระเจิง ไปไกล ลืมภาวนาเลยค่ะ

มัวแต่คิดถึงคนอื่นๆ มัวแต่ดูคนอื่น ลืมดูตัวเอง 555

รู้สึกตัวไว้ค่ะ อย่าส่งจิตออกนอก”


5.วิจิกิจฉา คือ  ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ อยากรู้ อยากเห็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูก  สิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น  แบบว่า  สงสัยๆ เห็นอะไรก็สงสัย  จินตนาการไปเรื่อย ลืมองค์ภาวนาไปอีกแล้วค่ะ

เราจะรู้สึกสงสัยมาก ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ คาดเดาสาเหตุ คาดเดาคำตอบ อยากรู้ความจริง ไม่ถามหลวงพ่อไม่ได้แล้ว (เริ่มฟุ้งซ่านต่อ)  อยากถามหลวงพ่อ  อยากรู้คำตอบเพื่อความมั่นใจ ว่าที่เราสงสัยน่ะ  เป็นความจริง  เห็นไหมค่ะ..ไปไกลกู่ไม่กลับอีกแล้ว  ลืมตัวแล้วค่ะว่ากำลังภาวนาอยู่ เฮ้อ.!

นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้นะคะ มีเฉพาะอุทธัจจะ”  เท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ค่ะ

ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นะคะ เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอค่ะ  ไม่ฉายเดี่ยว 

บางทีก็มากันเป็นทีม  มาเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน  พาเราเผลอสติ ออกไปไกลเลยค่ะ 

เพื่อนๆพวกนี้แหละที่พาเราเดินหลงทาง  ไปไม่ถึงบ้านสักที

กายและใจ คือ บ้านของเรา ถ้าเราไม่รู้กายและใจ เราก็หลงทาง กลับบ้านไม่ถูกค่ะ

เค้าบอกว่า  ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับตรับฟังพระธรรม ..จะไม่รู้จักนิวรณ์ 5 

จะไม่รู้วิธีทำจิตให้สงบจากนิวรณ์ 5 ทำจิตให้สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย..

อริยสาวก ผู้สดับพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปฏิบัติตามคำสอน คำแนะนำ..

จะสามารถสงบนิวรณ์ 5 ได้

..และสุดท้ายจะ สยบได้อย่างเด็ดขาด..! (อืม..)

ครูบาอาจารย์ท่านบอกไว้นะคะว่า

ตั้งใจที่จะระงับนิวรณ์ 5     จิตเริ่มมีสมาธิ

ระงับนิวรณ์  5  ได้            จิตเริ่มเป็นฌาน

ตัดนิวรณ์5 ได้แบบถอนรากถอนโคน  เป็นพระอริยะบุคคลขั้นสูงสุด

วิธีแก้ไขนิวรณ์5 น่ะหรือค่ะ แก้ไขได้ง่ายมากๆค่ะ 

นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงไตรลักษณ์ คือ

อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  หรือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความว่างเปล่า  ไม่มีตัวตน

เมื่อนิวรณ์ยังไม่สงบลง ความตั้งมั่นของจิตที่จะเป็นสมาธิ ย่อมเป็นไปไม่ได้

คือ ไม่เกิดสมาธิ นั่นเองค่ะ

ดังนั้น เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นเราต้องทำแบบนี้ค่ะ

ไตรลักษณ์ค่ะ ไตรลักษณ์ จำไว้ให้ดีนะคะ

อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  หรือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความว่างเปล่า 

เจอพวกเค้าหรือนิวรณ์ 5 แล้วให้ “รู้”ลูกเดียวเลยค่ะ

รู้อะไร ก็รู้ว่าเค้ามาไงค่ะ มาเล่นกับเรา รู้แต่ไม่เล่นด้วย

รู้สึกชอบ รู้สึกไม่ชอบ

รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ว่าคิดมาก

รู้ว่าง่วง รู้ว่าหลับ

รู้ว่าเบื่อ รู้ว่าเหนื่อย

รู้ว่าสงสัย รู้ว่าไม่แน่ใจ รู้ว่าลังเล

ไม่ว่าพวกเค้าจะมาชวนยังไงก็ไม่เล่นด้วยค่ะ

ให้เพื่อนๆ รู้สึกตัว ว่า “รู้”และภาวนาต่อไปค่ะ

รู้แล้ว “วาง” เฉย “รู้” แล้ว “ภาวนา” ต่อไป

“พองหนอ” “ยุบหนอ” ต่อไป

จับ “พองหนอ” จับ “ยุบหนอ” ไว้ ให้แนบแน่น

สมาธิเกิด สติรู้ตัว ทัน

ตอนนั้นเพื่อนๆ จะได้สภาวธรรม จะได้ฌานค่ะ

ฝ่าไฟแดงผิดกฎหมาย แต่ฝ่าด่าน นิวรณ์ 5 ไปได้ จะได้ฌานค่ะ 55

อยากรู้ว่าฌานคืออะไร ได้แล้วจะเป็นยัง ต้องติดตามตอนต่อไปค่ะ

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองนะคะเพื่อนๆ

คำสำคัญ (Tags): #นิวรณ์ 5#ฌาน
หมายเลขบันทึก: 536172เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์เขียนเรื่องที่น่าจะหนัก ได้น่ารัก สนุกสนานจังเลยค่ะ ขนาดยาวๆก็ยังชวนอ่านได้จนจบ ขอชื่นชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท