เปิดสถิติอุบัติเหตุคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 6 ของโลก ... (ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย)


ขอคัดลอกมาเพื่อให้ประโยชน์กับผู้ที่ยังใช้ชีวิตกับความประมาทอยู่


เปิดสถิติอุบัติเหตุคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 6 ของโลก





เปิดสถิติอุบัติเหตุคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 6 ของโลก คนตาย 2 พันคนต่อเดือน ชี้กฎหมายเอาผิดเมาแล้วขับอ่อนแอ แค่มีเงิน-เป็นไฮโซ ชนคนตายก็พ้นคุกได้ ด้าน ”ตัวแทนกู้ชีพ” ชี้ แม้ระบบการแพทย์จะดีแต่หากอุบัติเหตุรุนแรง อัตราการเสียชีวิตย่อมสูง แนะรณรงค์ป้องกันแก้ปัญหาจากต้นตอ ศวปถ.แนะกู้ชีพก่อนเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยต้องมั่นใจว่าปลอดภัย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำสอง

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2556 (National EMS FORUM 2013) ภายใต้ประเด็นหลัก คือ “ภาคีการแพทย์ฉุกเฉินไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน” โดยได้มีการเสวนาในหัวข้อ “การป้องกันอุบัติเหตุจราจร”

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น  กล่าวว่า  การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเมืองไทย นับว่ามีความรุนแรงเป็นอย่างมาก จากสถิติขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุของประเทศไทย มาเป็นอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว หรือหากคิดภายใน 1 เดือน มีคนเจ็บประมาณ 2 แสนคน มีคนตาย ประมาณ 2 พันคน ทั้งนี้การเกิดอุบัติเหตุ คนส่วนใหญ่มักมองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีความคุ้นชินกับสิ่งนี้  แต่สิ่งที่เรากังวลกลายเรื่องระบาด เช่น ไข้หวัดนก ทั้งๆที่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีมากกว่าหลายเท่าตัว  ส่วนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นมีอยู่หลายปัจจัย เช่น นโยบายรถคันแรก จากสถิติมีผู้ลงทะเบียนขอรถป้ายแดงเพิ่มขึ้นเป็นล้านคันซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว  แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ คนที่ออกรถป้ายแดง ไม่มีศักยภาพที่จะขับรถได้ดีพอ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และคนที่เป็นเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นคนเดินถนน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการเมาแล้วขับ ที่การกำหนดโทษในประเทศไทยยังไม่รุนแรงเท่าที่ควร มีโทษปรับเพียงไม่กี่พัน ยกตัวอย่างเช่น ไฮโซไปชนคนตาย สุดท้ายก็ไม่ติดคุก หรือพูดง่ายๆ ถ้ามีเงินเป็นไฮโซก็สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้  ขณะที่ต่างประเทศโทษจะหนักกว่าเรามาก อย่างในประเทศญี่ปุ่น มีความผิดถึงขั้น ยึดใบขับขี่ตลอดชีวิต และถึงขั้นให้ออกจากงานกันเลยทีเดียว

นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า  เหลืออีกไม่กี่ปีเราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเมื่อมีการเปิดประเทศคนในอาเซียนก็จะเข้ามามาก ที่สำคัญความรู้การใช้ถนนก็มีความต่างกัน ยกตัวอย่าง เมื่อเราข้ามถนนในประเทศลาว เราก็คุ้นชินกับการมองรถทางด้านขวา ปรากฏว่ารถมาทางซ้ายก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ในทางกลับกัน หากคนลาวมาที่ประเทศไทย ก็จะคุ้นชินกับการมองรถทางด้านซ้าย เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน หรือแม้แต่การขับรถที่เราถนัดซ้ายเมื่อไปประเทศลาวก็ขับทางขวา อาจเกิดเป็นความไม่คุ้นชินจนเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นก่อนที่จะเข้าเออีซี เราต้องเตรียมพร้อมรวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อการลดอุบัติเหตุ  อย่างไรก็ตามการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ขอเรียนว่า ไม่ใช่เฉพาะคนขับรถ คนข้ามถนน แม้แต่หน่วยกู้ชีพ ก็อยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นการเตรียมความพร้อม การรณรงค์ตระหนักรู้เพื่อลดอุบัติเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามในส่วนของ สพฉ. ก็ควรพัฒนามาตรฐานในการจัดการเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับบุคลากร เช่นจะต้องกำหนดว่าคนขับรถพยาบาลจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นอกจากนี้ต้องทำการณรงค์ในเรื่องการให้ทางรถพยาบาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ควรจัดให้มีการประชุมกันทุกเดือน (EMS DAY) เพื่อหาแนวทางและบทเรียนในการพัฒนา

ด้านนายมนตรี เลาหกรรณวนิช ตัวแทนมูลนิธิ กล่าวว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อยากชื่นชม สพฉ.ว่ามีการบูรณาการการทำงานเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินได้ดี แต่เมื่อย้อนกลับมามองถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุ หลายชีวิตไม่รอดเนื่องจากผู้ประสบเหตุมีอาการหนักมาก และแม้แพทย์ที่เข้าให้การช่วยเหลือจะเก่งอย่างไรก็ไม่สามารถช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ยังมีสถิติการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูงมาก และที่เห็นได้ชัดคือสถิติในปี 2555 สถิติการเกิดอุบัติเหตุมีมากขึ้น จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง แต่ผู้เสียชีวิตกลับมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุมีความรุนแรงสูง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องพัฒนาตนเอง อย่าทำแค่เรื่องช่วยคนเจ็บ เก็บคนตาย

“ไม่ควรให้ความสำคัญเพียงแค่ 7 วันอันตรายเท่านั้น เพราะการรายงานตัวเลขที่เกิดขึ้นเราก็รู้กันดีว่าไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ดังนั้นจึงต้องมีการทำงานเชิงรุก โดยเริ่มนำข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาเปรียบเทียบกัน และช่วยกันรณรงค์การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในวงกว้าง  เช่น ให้เคารพกฎจราจร สนับสนุนให้มีการสร้างวงเวียนในพื้นที่การจราจรคับคั่งเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ หรือลดอัตราเสี่ยงการเกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น สวมหมวกกันน็อค”

รศ. ลำดวน ศรีศักดา อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสาเหตุอุบัติเหตุ กล่าวว่า  ปัจจัยสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุคือสภาพถนน และความเร็ว  แต่ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องการช่วยเหลือของอาสาสมัครกู้ชีพ ซึ่งตามปกติรถกู้ชีพจะมีสัญญาณไฟซึ่งน่าจะเพียงพอในการเตือนประชาชนรอบข้างว่ามีเหตุฉุกเฉิน  แต่ก็ยังพบว่ามีอุบัติเหตุซ้ำสองเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นหลักของการช่วยเหลือผู้ป่วย คือ  จะต้องมั่นใจก่อนมีความปลอดภัย  คือ หาที่จอดรถกู้ชีพที่เหมาะสม วางระบบป้องกันคนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการโดยฝ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยก็ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือ ส่วนผู้เก็บข้อมูลก็เริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลซึ่งถือว่ามีประโยชน์มากในการพัฒนาระบบการช่วยเหลือต่อไป เช่น การถ่ายภาพเหตุการณ์จะต้องถ่ายในมุมกว้าง และสามารถอธิบายเรื่องราวของการเกิดอุบัติเหตุ

ด้าน นพ.ประยูร โกวิทย์ ผอ.โรงพยาบาลบ้านไผ่ กล่าวว่า ในพื้นที่บ้านไผ่ แม้จะมีหน่วยกู้ชีพทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันทำงาน แต่ในส่วนของสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนมีผู้เสียชีวิตมาเป็นอันดับ 1 รวมทั้งคนนอกพื้นที่มาเสียชีวิตที่บ้านไผ่ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งกระบวนการจัดการลดอุบัติเหตุในบ้านไผ่ก็มีกระบวนการง่ายๆ ที่เน้นการพูดคุยประชุมร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมีโจทย์ในการนำทางร่วมกันว่าจะลดอุบัติเหตุในพื้นที่ เมื่อได้โจทย์แล้วสิ่งแรกเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูล ผู้เสียชีวิตว่าเสียชีวิตกี่คน หรือพื้นที่ไหนมีคนเสียชีวิตมากที่สุด หรือจุดแยกใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเป็นต้น โดยหาข้อมูลจาก ตำรวจในพื้นที่ หน่วยกู้ชีพ เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็ชักชวนตำรวจ  อบต. อบจ.นายอำเภอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้นำท้องถิ่น มาร่วมพูดคุยปรึกษาหารือกันว่าจะหาแนวทางป้องกันร่วมกันอย่างไร เมื่อได้ข้อเสนอแนะร่วมกันแล้ว จึงนำเนินการในทางปฏิบัติต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ตรงสี่แยกหนองน้ำใส มักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากสี่แยกดังกล่าวไม่มีไฟแดง เมื่อเรานำเรื่องนี้มาพูดคุยกันและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า  ต้องทำช่องยูเทิร์นรถ แต่ต้องนำแผงปูนมาปิดการจราจรบางช่องจราจรตรง สี่แยกนั้น เมื่อทำเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยจึงดำเนินการตามแบบนั้นทันที เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่า สี่แยกนั้นไม่มีอุบัติเหตุอีกเลย ซึ่งการลดอุบัติเหตุได้ดังกล่าว เกิดจากการร่วมมือร่วมใจ ของคนในพื้นที่ชัดเจน

นพ.ประยูร กล่าวต่อว่า ในส่วนของพฤติกรรมการใช้ถนนของชาวบ้านแบบผิดๆ  ยอมรับว่า แม้จะใช้กฎหมายมาบังคับก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ยังมีการขับขี่มอเตอร์ไซด์โดยไม่สวมหมวกกันน็อคกันอยู่ แต่บ้านไผ่จะมีวิธีแตกต่างกันออกไป เช่น ใครที่สวมหมวกกันน็อคมา ก็จะให้ตำรวจมามอบรางวัลให้ พร้อมมีคำชื่นชมจากนายอำเภอ แต่หากใครไม่สวมหมวกกันน๊อคมาก็จะทำการเรียกมาพูดคุยกันก่อน โดยให้เลือกว่า จะเลือกถูกปรับ 400 บาท หรือจะซื้อหมวกกันน็อคใหม่ในราคา  99 บาท สุดท้ายก็เลือกการซื้อหมวกกันน็อคแทน ส่งผลให้มีการตอบรับที่ดีจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก มีบางครอบครัวใส่หมวกกันน็อคทั้งพ่อแม่ลูกเลย เมื่อเห็นเช่นนี้รู้สึกชื่นใจเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจอย่างง่ายเพื่อทำการลดอุบัติเหตุในพื้นที่ชุมชนร่วมกัน โดยปราศจากการบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด

http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=202&auto_id=9&TopicPk=


......................................................................................................................................................................


เราไม่ใช้ชีวิตด้วยความประมาทกันดีไหมครับ ???


การสอนหนังสือของผมมักจะแฝงเรื่องราวของ

"ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย" เสมอ

เนื่องจากทุก ๆ ปีจะมีนักศึกษาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์

ด้วยความเป็นเด็กบ้านนอกบ้านนา เคยชินกับการขี่รถในหมู่บ้าน

มักจะประมาทคิดว่า ไม่เป็นไร แค่นี้ก็ถึงแล้ว โดยไม่สวมหมวกกันน็อค

ผลสุดท้าย ก็มาตายในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่

หรือบางกรณีก็กลับไปตายที่บ้าน ตอนหยุดยาว


ตายทุกปีจนเบื่ื่อกับความประมาทแบบนี้

เป็นครูก็แค่ไปงานศพ บ่นว่าไม่น่าเล้ย

แล้วก็ผ่านไป


เสียดายทรัพยากรมนุษย์ของชาติ

ที่น่าจะทำประโยชน์ได้อีกเยอะ


ตายเพราะความไม่ฉลาดในการใช้ชีวิตของตนเเองแท้ ๆ


ดังนั้น ลูกศิษย์ คนที่ตัวเองรักมาก ๆ จะถูกผมเตือนเสมอว่า

"อย่าประมาทนะ" อย่าไปคิดว่า แค่นี้เอง

มีคนตายมานักต่อนักแล้ว ไม่ึุึคุ้มเลยกับวิธีคิดแบบนั้น


บางคนยังไม่ได้กตัญญูต่อพ่อแม่เลย ตายไปซะแล้ว

หรือบางคนพ่อแม่กลับต้องมาป้อนข้าวป้อนน้ำลูกตลอดชีวิต

หากเราเป็นแบบนี้แล้ว เราจะทนได้ไหม

กับการเป็นลูกอกตัญญูแบบนั้น


ไม่รัก คง ไม่เตือน

และก็คงไม่ได้เตือนเพราะตัวเองด้วย

แต่เตือนเพราะตัวของตัวเองนั่นแหละ


บุญรักษาทุกท่านครับ ;)...




หมายเลขบันทึก: 535902เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นสถิติที่น่าตกใจนะคะอาจารย์

เป็นสถิติที่ชี้ความประมาทของคนไทยได้ชัดเจนครับ คุณ tuknarak ;)...

เราสูญเสียในสิ่งที่ไม่ควรสูญเสีย มันน่าเสียดายครับ ;)...

ความจริง เราก็พอรู้สาเหตุนะครับ ว่ามาจากอะไร การไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร นั่นคือตันตอของการเกิดอุบัติเหตุ ทำอย่างไร จึงจะทำให้คนไทย มีวินัยที่เคร่ง เพิ่มกฏหายให้หนักกว่าเดิม เช่น การยึดใบขับขี่ ถ้าปฏิบัติผิดหลายๆครั้ง และการใด้มาของใบขับขี่ ของไทยนี่ ง่ายมาก ของเมืองนอก อย่างเยอรมัน กว่าจะใด้ เพื่อนผมต้องสอบ 6  ครั้ง มันจะยาก ที่การสอบขับรถจริง เช่นขับถอยหลังเข้าจอด ผิดจากที่กำหนด แค่ 3 นิ้ว เขาไม่ให้ ต้องสอบใหม่ ใด้มาแล้ว อาจจะโดนยึดคืนใด้ง่ายๆ มันหมายถึงชีวิตนะครับ ผมเห็นคนใกล้ตัว ที่โดนรถชน กระดูกสันหลังหัก เป็นภาระของครอบครัว จากชีวิตที่เรียนมาสูงพอควร กำลังทำงานให้ประเทศ กลายเป็นภาระ และมีมากด้วยในประเทศ อาจจะมี เป็นล้านคน ผมเคยไปเยี่ยม ส่งคนไข้ ที่รพ. แทบไม่มีเตียงรับ มันเพิ่มทุกปีด้วย คุยกับหมอแผนกนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่ไหวแน่ ช่วยกันคิด และทำเถอะครับให้ันดีขึัน มันทำใด้ ถ้าปฏิบัติตามกฎ

ลุงเคน ต่อยอดถูกใจครับ
ต้นตอเป็นเรื่องการไม่เคารพชีวิตของตัวเองไม่พอ
ไม่เคารพชีวิตของผู้อื่นอีกต่างหาก

ทุกอย่างต้องเคร่งครัดกว่าใช้เงินซื้อแบบสังคมปัจจุบันนะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

แถวบ้าน โดนตำรวจดักจับเรื่องไม่ใส่หมวกกันน๊อค เป็นประจำ แต่ก็ยังมีมากที่ไม่สวมหมวก  อีกทั้งขับรถเร็ว 

สถิติ เด็กๆ เกิดอุบัติเหตุก็มาก  เด็กตัวเล็กๆ ยังไม่มีใบขับขี่ ออกมาขับรถจักรยานยนต์ก็เยอะ  ขับรถฝ่าไฟแดงก็มาก  

สถาบันครอบครัวและพ่อแม่ที่เป็นต้นแบบของลูก มีผลนะครับ คุณ สายนที"๑๙ ;)...

ความจริงน่ากลัวนะครับ  

ผมชอบปั่นจักรยานบางทีรถมาจะเฉี่ยวเหมือนกัน เป้นสถิติที่น่ากลัว คนไทยบางคนไม่เคารพกฏจราจรครับ

พบพี่หนูรีที่หาดใหญ่ เอาเค็กพี่หนูรีมาอวด น่ากินมากๆ


คนไทยอยู่ "อำเภอใจ" ไงครับ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ;)...

เขาจึงไม่ค่อยสนใจอะไรมากเท่าตัวเอง

ขอบคุณครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท