ครูอาสาฯกับครู กศน.ตำบล, ใช้เงินอุดหนุนซื้อโน้ตบุ๊ค, ใบเสร็จฯที่ใช้ได้, นโยบายท่านเลขาฯ, อบรมบุคลากร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  5  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 8 พ.ค.56 “กศน.หล่มสัก” ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  เงินอุดหนุนรายหัวของ กศน.อำเภอ  สามารถที่จะซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คได้ไหม  ถ้าได้มีระเบียบตัวไหนที่รองรับบ้าง

             ผมตอบว่า
             1)  เงินอุดหนุน และเงินงบประมาณทั่วไป ที่ไม่ระบุว่าจัดสรรเป็นค่าครุภัณฑ์ จะใช้จัดซื้อครุภัณฑ์ไม่ได้  ( ถ้าเป็นเงินรายได้สถานศึกษา จึงจะใช้จัดซื้อครุภัณฑ์ได้ )
             2)  การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว ให้เบิกจ่ายได้ในงาน "การศึกษาขั้นพื้นฐาน"  โดยมีระเบียบที่รองรับคือ คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 895/2551 เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  ( ดูคำสั่งนี้ได้ในข้อ 6 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/476995 )  ซึ่งในข้อ 8 ของคำสั่งนี้ระบุให้เบิกจ่ายเป็น "ค่าดำเนินการเกี่ยวกับค่าสื่อ วัสดุการศึกษา และค่าสาธารณูปโภค" ได้
             3)  การจำแนกประเภทรายจ่ายฯ กำหนดว่า "สิ่งของที่ราคาหน่วยหนึ่งหรือชุดหนึ่ง ไม่เกิน 5,000 บาท ให้จัดเป็นวัสดุ" ( ยกเว้น สิ่งของตาม ตัวอย่างสิ่งของที่เป็นครุภัณฑ์ ให้จัดเป็นครุภัณฑ์แม้ราคาจะไม่เกิน 5,000 บาทก็ตาม  ซึ่ง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ไม่มีอยู่ในรายการตัวอย่างสิ่งของที่เป็นครุภัณฑ์ )  ฉะนั้น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ราคาไม่เกิน 5,000 บาท จึงไม่จัดเป็นครุภัณฑ์

             สรุป  สามารถใช้เงินอุดหนุน ซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ราคาต่อหน่วยไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อใช้เป็นสื่อวัสดุการศึกษา ในงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้  ( ถ้ามีเงินอุดหนุนมากพอ และผู้บริหารอนุญาต )


         2. วันที่ 9 พ.ค.56 คุณ “Karmonsit Chidsanoopong” กศน.เชียงใหม่ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เป็น ครู กศน. ในตำแหน่งครูอาสาสมัครพื้นที่ปกติ แต่ก็ไปสอบ ครู กศน. ตำบลเอาไว้ด้วย (รอเรียกตัวอีก ๒ เดือน)  ประเด็นที่จะถาม คือ ๑. ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ของ ๒ ตำแหน่งนี้ ผมควรจะเลือกตำแหน่งไหนดี  ๒. โอกาสในการได้รับการเป็นข้าราชการ ตำแหน่งไหนมีโอกาสกว่า

            ผมตอบว่า   ครูอาสาฯ กับครู กศน.ตำบล มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานและมีโอกาสในการสอบเป็นข้าราชการ เท่ากันครับ   พนักงานราชการสอบเปลี่ยนตำแหน่งจะต้องกลับไปเริ่มต้นเงินเดือนและอายุราชการใหม่นะ


         3. คืนวันเสาร์ที่ 11 พ.ค.56 คุณ “asktoknow” ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  กรณีจัดจ้างทำตรายางจากร้านค้า วงเงินไม่เกินแปดร้อยบาท ร้านค้าเขียนบิลเงินสดให้ แล้วประทับตราร้านค้าและเซ็นต์รับ มีลายเซ็นต์ผู้รับเงิน ระบุวันที่ ระบุชื่อหน่วยงาน กศน.อำเภอ แต่ไม่ระบุชื่อจริงเจ้าของร้าน และในบิลมีคำว่าเล่มที่ เลขที่ แต่ไม่ได้ระบุตัวเลข   ถามว่า
             1)  บิลนี้สามารถเบิกจ่ายได้ตามระเบียบพัสดุหรือไม่ เนื่องจากไม่มีหมายเลขเล่มที่  และเลขที่
             2)  จำเป็นหรือไม่ในส่วนของนามลูกค้านั้นจะต้องระบุทั้งชื่อ กศน.อำเภอ และสถานที่ตั้งอย่างชัดเจน ถ้าระบุเพียงชื่อหน่วยงานอย่างเดียวจะได้หรือไม่
             3)  ในการทำใบสั่งจ้าง เราสามาถจ้างในนามร้านค้า โดยไม่ระบุชื่อเจ้าของร้านได้หรือไม่ คือในเอกสารผู้รับจ้างพิมพ์เป็นชื่อร้านค้า  ตรงลายเซ็นเขียนเป็นชื่อร้านค้า ข้างล่างพิมพ์ชื่อร้านค้าแล้วประทับตราร้านค้า (กรณีนี้ร้านค้าไม่ได้จดทะเบียน)

            ผมตอบว่า
            1)  การจ่ายเงินค่าพัสดุ ต้องมีใบเสร็จรับเงิน ( หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ใบรับ ) เป็นหลักฐาน และถ้าจ่ายให้ผู้รับเงินที่เป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มอีกด้วย แต่ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษานี้อาจรวมอยู่ในใบเดียวกันได้
            2)  ใบเสร็จรับเงินไม่จำเป็นต้องมีเล่มที่เลขที่ แต่ใบกำกับภาษีต้องมีเลขที่หรือหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี ส่วนเล่มที่จะมีหรือไม่ก็ได้

            3)  ทั้งใบเสร็จรับเงิน (ใบรับ) และใบกำกับภาษี ต้องระบุทั้งชื่อ และที่อยู่ของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ  ( คำว่าชื่อ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาหมายถึงชื่อคน ถ้าไม่ใช่บุคคลธรรมดาหมายถึงชื่อองค์กร/หน่วยงาน/นิติบุคคล )
            4)  ทั้งใบเสร็จรับเงิน (ใบรับ)  รวมทั้งตรงลายเซ็นในใบสั่งจ้าง ต้องมีลายเซ็น/ลงลายมือชื่อ ซึ่งเป็นลายเซ็นของคนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลหรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องเป็นลายเซ็น(ลายมือชื่อ)ของคน ( ลายเซ็นของผู้บริหาร/ผู้รับมอบอำนาจ/หรือบุคคลธรรมดาในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา )
           5)  ใบเสร็จรับเงิน (ใบรับ, บิลเงินสด) จะต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 6 รายการ คือ
                5.1  ชื่อ  สถานที่อยู่  หรือที่ทำการของผู้รับเงิน
                5.2  เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้รับเงิน ( ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา เช่นบุคลากร หรือซื้อข้าวโพดจากชาวไร่ ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน )
                5.3  วัน เดือน ปี ที่รับเงิน
                5.4  รายการแสดงการรับเงินระบุว่าเป็นค่าอะไร
                5.5  จำนวนเงินทั้ง  ตัวเลข  และตัวอักษร
                5.6  ลายมือชื่อผู้รับเงิน
          6)  ใบกำกับภาษีจะต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 8 รายการ คือ
                6.1  มีคำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
                6.2  เลขที่หรือเลขลำดับใบกำกับภาษี

                6.3  วันที่ออกใบกำกับภาษี
                6.4  ชื่อ+ที่อยู่ ของผู้ออกใบกำกับภาษี ( ผู้ประกอบการหรือตัวแทน)
                6.5  เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
                6.6  ชื่อที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
                6.7  รายการชื่อสินค้า ราคาต่อหน่วย จำนวนเงิน 
                6.8  จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ( แยกจากราคาสินค้า )
                ( ในกรณีที่แยกออกใบเสร็จรับเงินให้อีกต่างหากด้วย ในใบกำกับภาษานี้ก็จะมีลายเซ็นผู้รับเงินหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้อีกต่างหาก ต้องนำรายการต่าง ๆ ของใบเสร็จรับเงินมารวมไว้ในใบกำกับภาษีนี้ด้วย )
           7)  ถ้าส่วนประกอบของพัสดุทั้งหมดรวมทั้งลิขสิทธิ์ เป็นของผู้ขายให้ถือเป็นการซื้อ ไม่ใช่การจ้าง เช่น ค่าถ่ายเอกสาร ถ้ากระดาษเป็นของผู้ขาย จะเป็นการซื้อไม่ใช่การจ้าง  การตัดชุดยาม ถ้าซื้อหรือมีผ้าอยู่ก่อนแล้วนำผ้านั้นไปจ้างตัด ถือเป็นการจ้าง ถ้าผ้าเป็นของผู้รับจ้างตัดชุดยาม ถือเป็นการซื้อชุดยาม  ค่าหนังสือเรียน ม.6-8 เดือน ถือเป็นการจ้างไม่ใช่การซื้อเพราะลิขสิทธิ์เนื้อหาหนังสือเป็นของเรา  การทำตรายางถือเป็นการซื้อไม่ใช่การจ้าง

           สรุป  คำตอบของคำถาม 3 ข้อ
           1)  ถ้าเป็นใบเสร็จรับเงิน ( ผู้ขายไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ) ไม่ต้องมีเล่มที่เลขที่ ก็สามารถเบิกจ่ายได้ตามระเบียบพัสดุ
           2)  ให้ระบุทั้งชื่อ และที่อยู่ ของผู้ซื้อ
           3)  การทำใบสั่งจ้าง สามารถจ้างในนามร้านค้าโดยระบุชื่อผู้รับจ้างเป็นชื่อร้านค้าได้ แต่ตรงลายเซ็น(ลายมือชื่อ)ด้านล่าง ต้องเป็นลายเซ็น(ลายมือชื่อ)ของคน คือผู้บริหาร/ผู้รับมอบอำนาจ/หรือบุคคลธรรมดาในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา


         4. คืนวันที่ 10 พ.ค.56 ผมนำเรื่องการอบรมบุคลากร กศน. อีก 2 โครงการ จากเว็บไซท์ของสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร ไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค  ดังนี้
             1)  อบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การรายงาน และการสื่อสาร
                  ผู้เข้าอบรม จาก สนง.กศน.จ./กทม. จังหวัดละ 2 คน ( นักวิชาการศึกษา, นักวิชาการคอมพิวเตอร์ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ และการรายงาน )
             2)  อบรมการพัฒนา ศรช.สู่ประชาคมอาเซียน
                  ผู้สนใจส่งแบบตอบรับภายใน 31 พ.ค.56
                  ( รับ 60 คนแรก ที่ส่งแบบตอบรับ )

             ดูรายละเอียดที่
             http://www.siced.ac.th/index.php?name=news1&file=readnews&id=157


         5. วันเสาร์ที่ 11 และเช้าวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค.56  ท่านรองฯจำรัส สุขประเสริฐ รก.ผอ.สนง.กศน.จ.ตราด กับท่านจรัส หนุนอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. ด้านงานจังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้นำนโยบายที่ท่านเลขาธิการ กศน.พูดที่ มากะธานีรีสอร์ท เกาะหมาก จ.ตราด  มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค  เช่น
             - อบรม ผอ.กศน.อำเภอ เรื่องการเงินบัญชีและพัสดุ 11-14 ก.ค.56 ที่สีดารีสอร์ท นครนายก  เบิกจ่ายจากต้นสังกัด
             - มอบให้สำนักงาน กศน จังหวัด รวบรวมข้อมูล ครู ศรช. ครูสอนคนพิการ บรรณารักษ์ ครูสอนเด็กเร่รอน ลูกจ้างทุกประเภท ที่จ้างวุฒิ ป.ตรี  ที่ได้รับค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาท  ส่งให้สำนักงาน กศน ภายใน 20 พ.ค. 56
             - วันที่ 6 ก.ย.56 เปิดกีฬา กศน.เกมส์  วันที่ 7 ก.ย.56 รับมอบใบประกาศฯครู กศน.  ไปต่างประเทศห้ามเบิกจ่ายเงิน งปม.
             - กฐินพระราชทาน ปี 56 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
             - ปีงบประมาณต่อไปให้ กศน.อำเภอ เป็นศูนย์อาเซียนศึกษา  ( เร็ว ๆ นี้จะตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา ASEAN Study Center ที่ส่วนกลางบริเวณอาคารสำนักงานกศน. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย มีแท็บเล็ตให้บริการค้นคว้าข้อมูลฟรี พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารเครื่องดื่มให้บริการแบบครบวงจร  ขณะเดียวกันจะมีการขยายไปยังภูมิภาคด้วย )

             - มอบให้สำนักงาน กศน จังหวัด รวบรวมข้อมูล ครูอาสาสมัคร ครู กศน.ตำบล ครูอาสาสมัครประจำปอเนาะ ครู ศรช. ครูสอนคนพิการ ครูสอนเด็กเร่รอน พนักงานราชการทุกประเภท  ที่ยังไม่ได้เข้าอบรมในปี 54 ปี 55 และไม่มีชื่อเข้าอบรมในปี 56  ส่งให้สำนักงาน กศน ภายใน 20 พ.ค. 56
             - แบบเรียน ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 พ.ค.56
             -
ส.ค.56 สอบครูผู้ช่วย กศน.
             - ฯลฯ  ( ดูรายละเอียดที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/nayobyt3-4_56.pdf )

         6. วันที่ 14-17 พ.ค.56 ผมไปประชุมปฏิบัติการปรับปรุงสื่อการเรียนรู้สำหรับการประเมินเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( จบ ม.6 ใน 8 เดือน ) ณ โรงแรมวาสิฏฐีซิตี้โฮเทล จ.สุพรรณบุรี  ( ปรับปรุงไว้สำหรับรุ่น 2/56 )


หมายเลขบันทึก: 535779เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท