R2R...ที่เกิดจากอุดมการณ์.."ทำเพื่อผู้ป่วย"(1)


ไม่ว่าจะทำงานใดก็ตาม ถ้าเรามีอุดมการณ์ร่วมกัน ทุกอย่างดูราบรื่นไปหมด....
วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมานี้เอง  ช่วงเช้าระหว่างที่พี่เม่ยกำลังปฏิบัติงานประจำที่รับผิดชอบอยู่  ก็ได้เกิดสุนทรียสนทนากับพี่อุราอีกจนได้ เรามีสุนทรียสนทนากันบ่อยๆค่ะ ดังที่พี่เม่ยได้เคยเล่าไว้ในบันทึกที่ผ่านมา ที่นี่  และ ที่นี่
พี่ราเปิดประเด็นเล่าให้ฟังว่า..... "หมอส่งคนไข้มาเจาะเลือดตรวจย้อมเอ็นไซม์ leucocyte alkaline phosphatase (LAP score*)  ตอนเย็น ทำให้ต้องส่งเลือดไปที่ห้องแล็บนอกเวลา  ซึ่งทำการทดสอบนี้ไม่ได้...."
"เราเอาน้ำยาขึ้นไปไว้ที่ห้องแล็บนอกเวลาสักชุดได้ไหม ให้คนอยู่เวร fix เก็บไว้ให้"...
ก็น่าจะทำได้  แต่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง! เพราะคนที่อยู่เวรในแต่ละวันนั้นก็เป็นที่ทราบกันอยู่ค่ะ ว่าภาระงาน "เกิน" กำลังที่จะรับได้อยู่แล้ว ถ้าต้องให้เพิ่มภาระงานส่วนนี้กันอีก เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพงานโดยรวมได้....
ความจริงเราก็แจ้งของความร่วมมือกับแพทย์ไปแล้วว่าให้ส่งคนไข้มาก่อนเวลา 15.30 น. ถ้าต้องการตรวจ test นี้แต่ก็นั่นแหละค่ะ  ในทางปฏิบัติก็ได้รับความร่วมมือไม่มาก  แพทย์ก็ยังคงส่งคนไข้มาตลอดเวลา ภาระมาตกหนักที่จุดรับผู้ป่วยเลยล่ะ  เพราะรู้อยู่แล้วว่าทำการทดสอบไม่ได้  เก็บเลือดไว้ก่อนก็ไม่ได้ ต้องบอกให้คนไข้กลับบ้านไปก่อน ค่อยมาใหม่พรุ่งนี้นะ  น่าอึดอัดใจค่ะเพราะพวกเรา..."สงสารคนไข้....."
พี่ราบอกว่า "น่าสงสารคนไข้นะ  บ้านอยู่นครฯโน่น  แล้วต้องกลับไปก่อน วันพรุ่งนี้ก็ต้องมาจากนครฯเพื่อเจาะเลือดตรวจ LAP เพียงอย่างเดียว..."
พี่เม่ยจึงบอกพี่ราว่า "ความจริงแล้ว วิธีปฏิบัติที่เรากำหนดไว้ว่าต้องทำเสมียร์เลือดและ fix ทันทีนั้น ก็ได้มาจากความรู้ในตำราที่ร่ำเรียนมา  เป็นวิธีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา เหมือนเป็นธรรมเนียมประเพณี เค้าบอกมาว่ายังไงเราก็ทำตามไปยังงั้น  เราก็ยังไม่เคยทดลองดูด้วยตัวเองนะว่าถ้าเก็บสเมียร์เลือดไว้ค้างคืน แล้วค่อยมาทำต่อในวันรุ่งขึ้นเนี่ย  จะใช้ได้ไหม....."
"พี่ราอยากลองมั๊ย?".... พี่ราพยักหน้า...
พี่เม่ย.."เราก็ลองทำวิธีที่กำหนดไว้แบบเดิมเปรียบเทียบกับ การทำในสเมียร์เลือดที่เก็บไว้ค้างคืนดูสิ  แล้วดูค่า score ว่าแตกต่างกันไหม?"
(ความจริงก็เหมือนจะมีคำตอบในใจของพวกเราอยู่แล้วค่ะว่า น่าจะได้ เพราะเราก็เคยลองเอาสเมียร์เลือดที่เหลือมาทำๆดู แล้วเห็นว่าไม่แตกต่างกัน  เพียงแต่ "เราไม่มีข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะมายืนยันว่าทำได้")
 "พี่ราทำเป็นโครงการเล็กๆสิ  เปรียบเทียบการนับ LAPscore ในสเมียร์เลือดรายเดียวกัน ที่เก็บตามวิธีที่กำหนด กับเก็บข้ามคืนก่อนนำมาทดสอบ ทำซัก 20 ราย  หรือ 30 ราย  หรือ 100 รายก็ได้   ถ้าไม่ต่างกันก็....แสดงว่าเราเก็บสเมียร์ไว้ทำวันรุ่งขึ้นได้  อย่างนี้เราก็ไม่ต้องไล่ผู้ป่วยกลับบ้านไปก่อนแล้วให้มาวันรุ่งขึ้นอีกแล้ว"
พี่ราเห็นด้วย  "เริ่มยังไงดีล่ะ  น้าเม่ยช่วยพี่ด้วยนะ"
พี่เม่ย "ได้เลย  ก่อนอื่นพี่ราก็ไปหาลูกทีมก่อนสิ จะได้ช่วยกันทำ ช่วยกันนับ  เม่ยก็สมัครเป็นลูกทีมด้วยคนนึง เพราะอยู่ในทีม สี่ดรุณี ด้วยนี่นา แต่พี่ราก็ต้องไปคุยกับน้องๆนะ ว่าจะโอเคไหม...?" 
เราจบการพูดคุยกันไว้แค่นี้ค่ะ ต่างคนก็ต่างทำงานของตัวเองต่อไป....ส่วนพี่เม่ยก็สกัดประเด็นที่ได้จากการสนทนาครั้งนี้ต่อในใจค่ะ
  • เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานแล้วค่ะ  และเราอยากให้มีการแก้ไข เพราะเราคิดว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์นี้ก็คือ "ผู้ป่วย"  และดูเหมือนว่าเราจะมองเห็นแนวทางแก้ไขเป็นรูปธรรมได้แล้วด้วย
  • ขั้นตอนต่อไปก็คือหาทีมงาน เพื่อมาช่วยกันคิด เพื่อวางแผนให้เป็นระบบ
เข้าทาง R2R ซะแล้ว!
โปรดรอฟังข่าวความคืบหน้า ที่พี่ราจะมากระซิบบอกกับพี่เม่ย....ต่อไป
หมายเหตุ:   LAP score* เป็นการย้อมเอ็นไซม์ในเม็ดเลือดขาว เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังค่ะ  ในคู่มือปฏิบัติกำหนดไว้เลยว่าต้องทำการทดสอบจากสเมียร์เลือดที่เจาะใหม่ๆ และผ่านกระบวนการ Fix ทันที การรายงานผลเราจะตรวจนับด้วยกล้องจุลทรรศน์ ให้คะแนนการติดสีจากเม็ดเลือดขาว 100 ตัว   ค่าคะแนนก็จะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ค่ะ
หมายเลขบันทึก: 53531เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2006 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
อีกขั้นตอนหนึ่งของการทำวิจัยที่ไม่อยากให้ลืม หรือ ข้ามไป คือการค้นหาว่า มีใครเขาทำสิ่งที่เรากำลังคิดจะทำหรือยัง ถ้าไม่มี  แสดงว่า idea เราก็ซิงๆ เลย แต่ถ้ามีแล้ว ต้องพิจารณาว่า วิธีที่เขาทำมีจุดอ่อนตรงไหน จะไดเเป็นข้อมูลในการวางแผนของเราได้
คุณศิริคะ...
ขอบคุณเสียงเชียร์จากคุณศิริค่ะ เดี๋ยวพี่เม่ยจะไปบอกพี่ราและลูกทีมให้นะคะ....
ท่านเอื้อคะ...
  • ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยย้ำเตือนในประเด็นสำคัญ พี่เม่ยจะบอกให้พี่ราไปค้นคว้าให้ละเอียดถี่ถ้วนเลยค่ะ (เท่าที่ผ่านตามา...ไม่มีใครศึกษาค่ะ ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามวิธีแนะนำเลย เป็น tradition ที่สืบทอดกันมายาวนานค่ะ)
  • แต่มีประเด็นที่น่าจับตามอง ดังที่พี่เม่ยเขียนไว้ในช่วงหมายเหตุของ บันทึกนี้ ค่ะ เพราะนั่นเป็นโอกาสในการปรับปรุงเพื่อสร้างวิธีการใหม่ได้เลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท