เกย์ไทยใต้วาทกรรม


ตัดตอนมาจากรายงานประจำวิชา ปี ๒๕๔๘
เกย์คืออะไร ความเข้าใจของคนทั่วไป เกย์มักใช้นิยามเพศชายที่มีจิตใจ และพฤติกรรมเป็นหญิง แต่อันที่จริง เกย์นั้นแบ่งเป็นหลายรูปแบบ คือ Male homosexual, Female homosexual, Bi-sexual, Transsexual โดยการจำแนกทางการแพทย์แล้ว แบ่งเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะทางกายภาพ นิสัย รสนิยม พฤติกรรม  คือ กะเทยแท้ (Hermaphrodite) ,กะเทยผิดเพศหรือแปลงเพศ (Transsexual) ,กะเทยลักเพศ (Transvestitism), รักร่วมเพศ (Homosexuality)(1)
ปัจจุบันเรามีการใช้คำต่างๆอย่างสับสนปนเปไปหมด ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนเองก็มีส่วนทำให้เกิดความสับสนในนิยามให้กับกลุ่มเกย์ไทย มีความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศอันจะนำไปสู่การรังเกียจ อาทิ เข้าใจผิดว่ารักร่วมเพศเป็นวิปริตทางเพศ โดยให้ความหมายเพียงประการเดียวคือ คนที่ได้มาซึ่งความสุขและความพึงพอใจทางเพศด้วยวิธีการที่สังคมไม่ยอมรับ รวมถึงความเข้าใจผิดว่า คนที่รักร่วมเพศต้องมีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ปากจัด สังคมอาจจะมาจากบทบาทการแสดงของตัวละครบางตัวในละครโทรทัศน์ แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพแล้ว เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ในเชิงวิชาการความเข้าใจผิดข้อนี้มักมาจากการศึกษาวิจัยที่มีอคติทั้งสิ้น(2)สังคมไทยนั้นจะเรียกรวมชายรักชายทุกรูปแบบเหมารวมว่าเกย์จากที่แต่เดิมเรียกว่ากระเทย ดังนั้นงานเขียนนี้จะใช้คำว่า เกย์ เพื่ออธิบายรวมๆเช่นกันเพื่อให้เป็นที่เข้าใจ แต่หากการจำแนกลงลึกนั้นก็ได้จำแนกไว้แล้วข้างต้น อนึ่งคำว่า เกย์ นั้นสำหรับสังคมไทยก็ได้แฝงการดูหมิ่น และผูกกับความเลวร้าย น่ารังเกียจ วิปริต กระทั่งผิดกฎหมาย(3)
ขณะเดียวกัน Michel Foucault บอกว่าจริงๆแล้วเกย์นั้นมีความหมายที่ดีแฝงอยู่ ทั้งเรื่องความรัก, ความเข้าใน และเพศสัมพันธ์ที่น่าเสน่หา แต่ในสถานะที่อีกฝ่ายมีความรู้สึกในทางบวกร่วมด้วย(4)ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลในกระบวนการทำให้เป็นปกติ(normalization) ของสภาวะสมัยใหม่ซึ่งงานเขียนนี้จะอธิบายในหัวข้อต่อไป ท้ายที่สุด เข้าใจผิดว่า คนที่รักเพศเดียวกันจะต้องแสดงออกให้เห็นได้ เช่น ห้าว(ในกรณีของหญิง) หรือกระตุ้งกระติ้ง(ในกรณีของชาย) สามารถจะทำให้คนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเกิดการเลียนแบบและเป็นตามและที่สังคม เข้าใจผิดอย่างยิ่งอาทิข้อคิดเห็นว่า การยอมรับคนที่รักร่วมเพศเดียวกันหมายถึงการสนับสนุนให้มีการรักร่วมเพศอยู่ ทั้งที่การยอมรับทำให้ปัญหาไม่ซ่อนเร้น ส่วนการที่จะป้องกันไม่ให้คนเป็นรักร่วมเพศ ต้องเกิดจากการทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้อย่างถ่องแท้ซึ่งตลอดมา เนื่องจากการถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ทำให้ความเข้าใจเรื่องนี้อยู่ในวงจำกัด ทั้งที่สิ่งที่ทราบก็แต่เพียงว่า ปัจจัยที่สำคัญนั้นจะต้องป้องกันที่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยการส่งเสริมบทบาทที่เกื้อกูลกันและสัมพันธภาพที่ดีของคนเป็นพ่อแม่(5)
อีกประเด็นที่สำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องเกย์นั้น คือสิทธิของบุคคลกับสิทธิของชุมชนจะขัดแย้งกันกล่าวคือ หากยอมรับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลนั้นเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน(6)ความรุนแรงต่อเกย์ในสังคมไทยประเด็นที่ทำให้เกย์เป็นเรื่องราวถกเถียงขึ้นมาก็คือ บรรดาละครและภาพยนต์มีการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มเพศที่สาม ซึ่งภาพส่วนใหญ่จะเป็นแบบผลิตซ้ำ ในสถานะเกย์เป็นตัวเอกก็เป็นแค่ตัวตลก ถ้าเป็นตัวร้ายก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในตอนจบ นอกจากภาพ "ตัวตลกผู้มีชัย และนางมารร้ายผู้พ่ายแพ้" แล้ว ก็หนังไม่กี่เรื่องที่พยายาม "ตีแผ่" ชีวิตของเกย์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังไม่รอบด้านพอ มีข้อสังเกตว่าเมื่อกล่าวถึงชายรักร่วมเพศ การเสนอภาพจะถูกบีบตัดเหลือแค่ภาพของตัวตลก หรือผู้ชายกระตุ้งกระติ้งไม่สมชาย มีความไม่พอใจของกลุ่มคนในสังคมจนมีการร้องเรียนกันขึ้น กรมประชาสัมพันธ์จึงออกมาขอร้องให้ฝ่ายที่นำเสนอลดบทบาทที่เกย์แสดงออกผ่านละคร และภาพยนตร์ เนื่องจากเหตุผลที่เกรงว่าบทบาทการแสดงของ "เพศที่สาม" จะทำให้เยาวชนเกิดการเลียนแบบ รายการสนทนาต่างๆร่วมกับนักวิชาการจับประเด็นมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่มีความเห็นกันว่า ผู้ที่เป็นไปแล้ว กับผู้ชายจริงๆซึ่งรักใคร่เพศตรงข้าม นั้นไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่กลุ่มลังเล กำลังสับสนตัวเอง ไม่แน่ใจหรือแน่ใจแล้วแต่ไม่กล้าเปิดเผย ไม่กล้าแสดงออก อาจกล้าเปิดเผยมากขึ้น ท้ายสุดกระทรวงวัฒนธรรมได้มีนโยบายการจัดระเบียบเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ให้มีการเปิดรับผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเข้าทำงาน ซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบและบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงออก ต้องใช้เวลากว่าจะรู้ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว เหตุผลคือ เพื่อให้กระทรวงเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องกับสังคมเพราะถ้ากระทรวงวัฒนธรรมรณรงค์ แต่กลับเป็นเสียเอง สังคมคงจะไม่ฟังเสียง(7)
จะเห็นว่าสังคมมีอคติบางอย่างต่อเกย์ในที่นี้จึงพยายามคลี่คลายภาพที่เห็นออกมาด้วยทฤษฎีบทว่าด้วยความรุนแรงทฤษฏีว่าด้วยความรุนแรงมี 3 แบบ หนึ่งคือความรุนแรงทางตรง สองคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และสามความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์กับอำนาจทางสังคม(8) โดยที่มาแห่งอำนาจ ซึ่งก็มี อำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ซึ่งแปรผันกับทักษะและความรู้ของผู้ตามอาจเป็นรูปแบบขององค์ประกอบนามธรรมหรือ ทรัพยากรทางวัตถุที่มี อำนาจในการให้คุณให้โทษ ทางหนึ่งก็มีการอ้างความดีงามส่วนรวม หรือปัจจัยเหนือมนุษย์ ทำให้ผู้ถูกกระทำมีการยอมเชื่อฟังเพราะความกลัวการลงทัณฑ์ ตามนิสัย,ศรัทธา กระทั่ง ค่านิยมและเชื่อ ความชอบธรรมของคำสั่งที่ ลงรอยกับบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับกันนิยามของความรุนแรงส่วนใหญ่ดูจะเป็นนิยามเชิงพฤติกรรมซึ่งก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญ หากแต่เพราะการศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงนี้มาพ้องกับยุคสมัยที่พฤติกรรมศาสตร์กำลังได้รับความนิยมอยู่ความรุนแรงนั้นเป็นกระบวนการซึ่งมีที่มาของความรุนแรง เป้าของความรุนแรง และเหยื่อของความรุนแรงนั้นๆ และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือการทำให้ศักยภาพของมนุษย์สะดุดหยุดลงโดยยังไม่ถึงกาลอันควร ความรุนแรงนั้นมีผลทั้งในเชิงกายภาพ และจิตวิทยา แต่ทั้งคู่ก็ก่อให้เกิดปัญหาในทางคุณค่าที่สำคัญว่าอย่างไรจึงเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายกว่ากันพิจารณาในเรื่องที่เป็นความรุนแรงต่อเกย์ที่ได้รับจากสังคมไทยนั้น ที่เด่นชัดและมีบ่อยที่เห็นได้ชัดจากสื่อต่างๆ เป็นความรุนแรงต่อจิตใจ และตัวตน ซึ่งสังคมไทยส่วนหนึ่งยังรู้สึกว่าเกย์เป็นบุคคลที่แปลกแยก มีความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม ผลคือเกย์จึงไม่สมควรได้รับโอกาสแห่งชีวิตที่เท่าเทียมกันมีการริดรอนสิทธิ์และทำลายศักยภาพตามความหมายของ Johan Galtung กล่าวคือ การดำรงชีวิต การกินดีอยู่ดี การมีเสรีภาพ และความรู้สึกมีความหมายในชีวิตของเกย์ในสังคมไทยถูกลิดรอนไป โดยผู้ใดก็ตามที่ มี/คิดว่ามี อำนาจทางสังคมรองรับอยู่ข้อสรุปความรุนแรงเชิงโครงสร้าง(Structural violence) ก็คืออะไรก็ตามที่มาทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์(potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง(actuality) ในทางทฤษฎีแล้วสิ่งใดก็ตามนั้นที่มากั้นขวางความเป็นจริงของมนุษย์ให้คับแคบลง หรือเป็นตัวกลางขยายช่องว่างนั้นออกไปก็ถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้เช่นกัน ความรุนแรงชนิดนี้มีลักษณะเด่นประการหนึ่งคือ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดดเด่น เมื่อปรากฏขึ้นแล้วหายไปเช่นความรุนแรงทางตรง(9)หากแต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในช่วงเวลาที่ยาวนานและต่อเนื่อง ธรรมชาติของความรุนแรงเชิงโครงสร้างอยู่ในรูปแบบกระบวนการมากกว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่จำเพาะเจาะจง(10)
เมื่อนำเอาทฤษฎีดังกล่าวมาวิเคราะห์ก็พอมองออกได้ว่า เกย์เป็นเป้าของความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย และเป็นเหยื่อที่ถูกคนบางกลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคมริดรอนสิทธิ์ และพยายามทำให้ศักยภาพที่มีของเกย์สะดุดลงก่อนเวลาอัน ส่วนผลที่เกิดกับจิตใจนั้น การดูถูกเหยียดหยามจากคนรอบข้าง รวมทั้งการไม่ยอมรับเกย์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สิ่งนี้แม้ไม่เกิดขึ้นเด่นชัด แต่เห็นได้จากการที่เกย์มักมีพฤติกรรมการแสดงออกในศักยภาพของตนอย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส แสดงให้เห็นว่าเกย์ต้องการการยอมรับจากพื้นที่ทางสังคมที่ตนเองสังกัด(11) แต่หลายๆครั้งที่การแสดงออกนี้เองยิ่งไปกระตุ้น loop ของ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างใหม่ปัญหาต่อมาคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นอะไรก็ตามที่กระทำต่อเหยื่อมิใช่ตัวมนุษย์แต่เป็นตัวโครงสร้างทั้งทางสังคม กฎหมาย กฎระเบียบ กระทั่งค่านิยม สำหรับเกย์แล้วแม้ผู้ที่กระทำต่อพวกเขานั้นจะเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่กระทำจะเรียกเป็นความรุนแรงทางตรงไม่ได้ทั้งหมด เพราะสิ่งหนึ่งคือในสังคมไทยมีอคติต่อเกย์เป็นระยะๆ และแรงขับดันของผู้กระทำความรุนแรงไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนของเกย์นั้น มาจากการที่สังคมที่เป็นโครงสร้างใหญ่ไม่ให้การยอมรับเกย์ ดูถูก เหยียดหยาม และปลูกฝังเป็นค่านิยมที่มีต่อเกย์ราวกับเกย์เป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม พยายามริดรอนสิทธิมนุษยชนของเกย์ และในข้อนี้เป็นความไม่ยุติธรรมในทางความคิดต่อเกย์ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเกย์กำลังประสบกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างอยู่ ในข้อนี้ Johan Galtung กล่าวว่าบางทีความรุนแรงเชิงโครงสร้างอาจเรียกอีกอย่างว่า ความอยุติธรรมทางสังคม ก็ได้ความรุนแรงที่เกย์ได้รับจากสังคมนั้น หากมองในเชิงโครงสร้างก็จะดูเหมือนเห็นภาพของ สังคมการเมือง อำนาจ และ รัฐ ชัดเจน แต่มโนทัศน์วัฒนธรรมกับ ชาติ ยังไม่เด่นชัด เช่นนี้แล้ว คงต้องพิจารณาเพิ่มไปถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่มีนิยามค่อนข้างกว้างกว่า อนึ่งวัฒนธรรมไทย หรือ ความเป็นไทย นั้นได้รับการนิยามเพื่อจรรโลงโครงสร้างสังคมโดยใช้พระพุทธศาสนาเป็น หัวใจ สิ่งที่เรียกว่า ความเป็นไทย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นมรดกตกทอดจาก การสร้างชาติ ในรัชกาลที่ 6 ที่ทรงเผชิญกับมโนทัศน์ ชาติไทย ที่เป็นชาติของราษฎร ซึ่งเสนอโดยโดยนักหนังสือพิมพ์, ข้าราชการบางกลุ่ม, ขุนนางเก่าบางคน และลูกจีน(12) ซึ่งอาจกลายเป็นฐานทางความคิดสำหรับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองได้โดยง่าย พระองค์จึงทรงเร่งนิยามความหมายของ ชาติไทย และ ความเป็นไทย เพื่อให้มีอำนาจครอบงำเหนือกว่าคำนิยามของคนเหล่านั้น(13)
 วิเคราะห์ในทางสัญญวิทยา(semiology) วัฒนธรรมนั้นเป็นสัญญะบ่งบอกถึงองค์รวมแห่งกลุ่มที่เผชิญหน้ากับผู้อื่นหรือวัฒนธรรมอื่น ในทางหนึ่งวัฒนธรรม(หลัก)กลับเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมย่อยๆภายในกลุ่มนั้น วัฒนธรรมจึงเทียบเป็นได้กับโครงสร้างระดับสูงของสังคม ไม่ใช่ฐานะฐานความคิดของสังคม วัฒนธรรมจึงไม่เป็นวัตถุสภาพแต่เป็นสัญลักษณ์ที่ทำงานกับจิตใจ และร่างกาย(14) ที่อาจกล่าวได้ว่าการสร้างจินตภาพ ชาติไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวใจ จะส่งผลให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ คนไทย ทั้งประเทศ พร้อมกันนั้นมีความพยายามทำให้ ชาติไทย เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ศิวิไลซ์แล้ว แต่มีความจำเป็นต้องรักษา ความเป็นไทย อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่ช่วยจรรโลงโครงสร้างอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเอาเข้าจริง วาทกรรมวัฒนธรรมไทย นั้นมี วาทกรรมชาติไทย แฝงอยู่เสมอ ถ้าใช้นิยามของ Roalnd Barthes ก็คือวัฒนธรรมไทยมีโวหาร(rhetoric)ในความหมายทางตรง(detonation)ซึ่งก็คือความเป็นไทย และความหมายแฝง(connotation)คือชาติไทยนั่นเอง(15)
ดังอธิบายมานี้มโนทัศน์ชาติจึงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับมโนทัศน์วัฒนธรรมกล่าวให้ง่ายความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็คือความรุนแรงที่ผู้กระทำ สร้างหรือหาความชอบธรรม มารองรับได้เสมอ ซึ่งความชอบธรรมนั้นอาจมาจาก การตีความโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ต่อความเชื่อนั้นๆ สังคมไทยมีอคติแบ่ง เขา-เรา ต่อเกย์เสมอมา เกย์เป็นเขาที่แปลกประหลาด ผิดเพศ ผิดอัตลักษณ์ และผิดเอกลักษณ์ เหมารวมกระทั่งผิดจากการเป็นคุณค่าที่ดีต่อสังคมไทย เรื่องเอกลักษณ์นี้ทำให้เกย์ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรง จากคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อเสมอว่าเกย์แตกต่าง เป็นเขาและเราซึ่งเหนือกว่าหรือถูกต้องกว่าย่อมมีข้ออ้างต่อโอกาสของความรุนแรง กล่าวคือวัฒนธรรมนั้นก็เป็นฐานรองรับโครงสร้างทางสังคม และเมื่อสังคมกระทำความรุนแรงทางโครงสร้างต่อเกย์เมื่อใดนั้นความรุนแรงทางวัฒนธรรมก็คือ ข้ออ้างที่ได้รับความเห็นชอบ จากสังคมที่รองรับ อคติการณ์ ของสังคมอยู่ทุกครั้ง และสุดท้ายไปๆมาๆ เกย์ก็กลายเป็นความไม่เป็นไทยไปเสียในที่สุด 
อ้างอิง
1 แบบแรก คือคนสองเพศในร่างเดียวกัน เป็นความผิดปกติของธรรมชาติทางร่างกาย มีผลทำให้จิตใจสับสนว่าเราเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่ แบบที่สอง คือ คนที่ไม่พอใจและไม่ยอมรับเพศที่แท้จริงของตัวเองโดยกำเนิด มีพฤติกรรมแสดงออกแบบเพศตรงข้ามตลอดเวลา รู้สึกว่าตัวเองเกิดผิดเพศและมักอยากแปลงเพศให้เป็นตรงกันข้ามกับต้นฉบับเดิม แบบที่ สามกลุ่มนี้ชอบแต่งกายเป็นเพศตรงข้าม โดยเปิดเผยหรือเฉพาะลับตาคนก็ได้ กลุ่มนี้ไม่ต้องการแปลงเพศเหมือนกลุ่มแรก กลุ่มนี้อาจเป็นได้ทั้งรักใคร่เพศตรงข้าม และเพศเดียวกัน แบบสุดท้ายคือผู้ที่ต้องการมีความสุขกับเพศเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดูเพิ่มเติมใน http://www.clinicrak.com เป็นบทความโดย นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล. กระเทยคืออะไร.(15 กันยายน 2543).
2 เรื่องเดียวกัน [http://www.clinicrak.com]
3 Peter A. Jackson(1999) pp. 233-237 อ้างใน สุธรรม ธำรงวิทย์. อำนาจและการขัดขืน : ชายรักชายในสังคมที่ความสัมพันธ์ต่างเพศเป็นใหญ่. (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 2548 หน้า 41-43.
4 Michel Foucault. “Sexual Choice, Sexual Act : Foucault and Homosexuality” In Politic Philosophy Culture : interview and other writing 1977 – 1984. Alan Sheridan and others (trans.), Lawrence Kritzwen (ed.) pp. 287.
5 ดูเพิ่มเติม ขวัญใจ เอมใจ. “ความเข้าใจผิดบางประการ เรื่องรักร่วมเพศ, สารคดี  14 : 158 (เมษายน 2541). คัดลอกเผยแพร่ใน http://www.xq28.net.
6 ขวัญใจ เอมใจ. เพิ่งอ้าง ตั้งคำถามว่าชุมชนมีความไม่พอใจอยู่ หากให้สิทธิบุคคลที่สังคมไม่ยอมรับแล้วจะทำให้ชุมชนเกิดความไม่พอใจโดยทั่วไปหรือไม่
7 ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์เผยแพร่ที่ http://www.kapook.com/hilight/main/216.html. และรายละเอียดอย่างละเอียดที่บันทึกรายการ ถึงลูกถึงคน พฤติกรรมรักร่วมเพศ” (8 มิถุนายน 2547) เผยแพร่ที่http://pingfavilunda.net/ipw-web/bulletin/phpBB2/viewtopic.php?t=387
8 อำนาจทางสังคม คือ ความสามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมโดย  อาศัยการกระทำของกลุ่มคนซึ่งการกระทำนี้มีผลกระทบต่อคนกลุ่มอื่นๆ ดู ชัยวัฒน์  สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก. 2533.
9 กล่าวโดยสรุปแล้ว ความรุนแรงทางตรง(direct violence) เป็นความรุนแรงทีมีผลในเชิงทำร้ายร่างกาย และมีผู้กระทำเป็นที่มาของความรุนแรง บางครั้งจึงเรียกความรุนแรงนี้ว่าเป็นความรุนแรงส่วนบุคคล ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. เพิ่งอ้าง
10ดู ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเพิ่มเติม ชัยวัฒน์  สถาอานันท์. เพิ่งอ้าง.
11 ข้อสรุปนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งเมื่อศึกษาเพิ่มก็ไปพ้องกับของ Foucault ดู Michel Foucault. “Sexual Choice, Sexual Act : Foucault and Homosexuality” In Politic Philosophy Culture : interview and other writing 1977 – 1984. Alan Sheridan and others (trans.), Lawrence Kritzwen (ed.)
12 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติรัฐศาสตร์สาร 21 : 3 (2542).
13 ทรงนิยามความหมายของ ชาติไทยที่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมไทย และ จงรักภักดีต่อหัวใจของ ความเป็นไทย อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา โดยทรงเน้นว่าวัฒนธรรมไทยนั้นมีความเป็น ไทยแท้คือมีลักษณะเฉพาะที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ แต่ ความเป็นไทยนี้มีแก่นแท้ที่เป็นสากล ไม่แตกต่างจากอารยธรรมที่เจริญแล้วในยุโรป โดยเฉพาะพระพุทธศาสนานั้นทรงแสดงให้เห็นว่าเป็นศาสนาที่เหนือกว่าศาสนาอื่น ๆ ในโลก  ดู สายชล สัตยานุรักษ์. การสร้าง ความเป็นไทย กระแสหลักและ ความจริง ที่ ความเป็นไทย สร้าง เผยแพร่ใน http://www.geocities.com/somsakjeam/saichol1.doc
14 Immanuel Wallenstein. “Culture as the Ideological Battle Ground of  the Modern world-System.” Postcolonialism. Diana Bydon(ed.) (Roughtledge : London New York, 2000) Pp. 1824-45.
15 ดูเพิ่มเติม โรลองด์ บาร์ตส์(เขียน), ประชา สุวรานนท์(แปล), โวหารของภาพ, วารสารธรรมศาสตร์. 27: 2 (พ.ค. ส.ค.2537) หน้า 110 – 129. 
คำสำคัญ (Tags): #วาทกรรม#และ#เกย์
หมายเลขบันทึก: 53521เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2006 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท