อีกขั้นหนึ่งของ Diabetes Risk Score


การคัดกรองที่ cost-effective คือการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง

สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ให้การสนับสนุนโครงการศึกษา "การวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานเพื่อพัฒนาดัชนี Diabetes Risk Score" เพื่อใช้ค้นหาคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ ๒ ผู้ทำการศึกษาครั้งนี้คือ รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ([email protected]) ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อาจารย์วิชัยเคยนำเสนอดัชนีชุดนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ (ลิงค์) ตอนนั้นอาจารย์วิชัยบอกว่าต้องมีการปรับปรุงตัวเลขต่างๆ อีก และผลงานยังไม่ได้รับการทบทวนจากผู้ทรงคุณวุฒิ จึงยังไม่อยากเผยแพร่ เมื่อวานนี้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อดัชนีชุดนี้ ที่ห้องประชุม ๑ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มีผู้เข้าประชุมประมาณ ๑๐ คน ดิฉันได้เข้าประชุมด้วย

อาจารย์วิชัยได้นำเสนอที่มาที่ไปและวิธีการพัฒนาดัชนี เหตุที่มีความสนใจทำเรื่องนี้ เนื่องจากการวิจัย InterASIA พบว่าไทยมีความชุกของเบาหวานสูง และมีผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งที่ไม่รู้มาก่อนว่าตนเป็นเบาหวาน กว่าจะวินิจฉัยเบาหวานได้ ก็มักมีการทำลายอวัยวะระบบต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ถ้ามีวิธีการที่จะ identify ความเสี่ยงได้ก่อน ก็จะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดเบาหวาน โดยการ modify ปัจจัยเสี่ยง

อาจารย์วิชัยกล่าวว่า การคัดกรองที่ cost-effective คือการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ในต่างประเทศมีการพัฒนา Diabetes Risk Score (DRS) หลายแบบ ไทยเรามี resources จำกัด ถ้าจะไปตรวจเลือดทุกราย อาจไม่ cost-effective จึงคิดทำ DRS แบบง่ายๆ

การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลของการศึกษาระยะยาวคือ EGAT Study โดยใช้ข้อมูล EGAT 1 ระยะเวลา ๑๒ ปี เป็น exploratory set และข้อมูล EGAT 2 ระยะเวลา ๕ ปี เป็น validation set วิเคราะห์ทางสถิติด้วย Logistic regression และใช้สัมประสิทธิ์ของปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญมาพัฒนาคะแนนความเสี่ยง

อาจารย์วิชัยวิเคราะห์มา ๕ models

   Model 1  คือ อายุ เพศ BMI ความยาวรอบเอว (WC) ภาวะความดันเลือดสูง 
   (Simple Model)   และประวัติการป่วยเป็นเบาหวานของพ่อ แม่ หรือพี่น้อง  
   Model 2  คือ model 1+IFG 
   Model 3  คือ model 1+IGT 
   Model 4  คือ model 3+high TG 
   Model 5  คือ model 4+low HDL-C 

การเปรียบเทียบ models ต่างๆ พบว่าเมื่อเพิ่มตัวแปรจากการตรวจเลือดเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น IFG, IGT, high TG, low HDL-C ตัวแปรเหล่านี้ล้วนมีนัยสำคัญทางสถิติในการทำนายความเสี่ยงต่อเบาหวานในอนาคตได้ เมื่อพิจารณาความสามารถในการทำนาย พบว่าการเพิ่ม IGF หรือ IGT ทำให้อำนาจการทำนายได้ถูกต้องสูงขึ้น คือค่า area under curve เพิ่มจาก ๐.๗๔ ใน simple model เป็น ๐.๗๕ ใน model ที่มี IFG และเป็น ๐.๗๘ ใน model ที่มี IGT ส่วนการเพิ่มตัวแปร TG และ HDL-C เข้าไป เพิ่มความสามารถในการทำนายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สรุปแบบง่ายๆ กล่าวได้ว่า simple model ดีกว่าการตรวจเลือดตัวใดตัวหนึ่ง สามารถใช้ได้ง่ายในระดับบริการปฐมภูมิ และประชากรทั่วไปก็สามารถใช้ในการประเมินตนเองได้ คะแนนที่ได้ยิ่งมากความเสี่ยงก็ยิ่งสูง แต่ DRS นี้คงไม่แทนที่การตรวจเลือด มีจุดประสงค์ใช้เพื่อให้ความรู้ให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (modify risk factors)

ที่ประชุมแสดงความชื่นชมอาจารย์วิชัยที่ทำการศึกษาครั้งนี้ และได้ DRS ของไทย ที่ประชุมเห็นด้วยที่ไม่ต้องตรวจเลือด ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ เสนอให้ตัดตัวแปรเพศออกจาก model เพราะที่พบเห็นจริงเพศหญิงเพศชายไม่ค่อยแตกต่างกัน ท่านอื่นก็เห็นด้วยเพราะดูจากค่า confidence interval ก็พบว่าเพศอาจเป็นตัวแปรที่ไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ (เมื่อโทรศัพท์ปรึกษา ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ หลังจบการประชุม อาจารย์เทพก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้) นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้คง model ที่มีการตรวจเลือดไว้สำหรับผู้ที่เข้ามารับการตรวจในโรงพยาบาล

อาจารย์วิชัยกล่าวว่าเครื่องมือชุดนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ตรงจำนวน participants ที่ใช้อาจค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับของคนอื่น ลักษณะของ participants เป็นคนเมือง การศึกษาและรายได้ค่อนข้างสูง ไม่แน่ใจว่าถ้าเอาไปใช้ในชาวชนบทผลจะแตกต่างออกไปหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาจารย์วิชัยต้องกลับไปทำงานต่ออีกหน่อย สำหรับพวกเราที่เป็นคนนำไปใช้ ก็ต้องอดใจรออีกนิดนะคะ ดิฉันพยายามเรียบเรียงบันทึกครั้งนี้ตามความเข้าใจ ถ้าส่วนใดยังไม่ถูกต้อง รบกวนอาจารย์วิชัยช่วยแก้ไขให้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 5351เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2005 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท