ชีวิตที่พอเพียง : 127. วิธีทำงานให้ได้ผลงานดี


        เดิมผมจะตั้งชื่อตอนนี้ว่า "วิธีทำงานให้ได้ผลงานมาก"     แต่มาฉุกคิดว่า  อาจก่อความเข้าใจผิด    เห็นปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ    จึงเปลี่ยนเป็น "วิธีทำงานให้ได้ผลงานดี" แทน    โดยมีความตั้งใจที่จะเล่าว่าตอนเป็นเด็กๆ ผมมีวิธีทำงานทน ทำงานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ได้อย่างไร          และในตอนช่วงที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ผมมีวิธีทำให้เกิดผลงานมากโดยผมไม่เป็นผู้ลงมือทำเอง อย่างไร

       ตอนเป็นเด็กรุ่นหนุ่ม ไปจนถึงเริ่มทำงานใหม่ๆ     ผมพยายามศึกษา ว่าในหนึ่งวัน ซึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ผมจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร    เคยทดลองนอนให้น้อยที่สุด    ตั้งใจว่ากว่าจะนอนก็ต้องให้ง่วงจัดจนทนไม่ไหว    และเมื่อนอนไปแล้วรู้สึกตัวเมื่อไรเป็นต้องตื่นทันที    เพราะแสดงว่านอนพอแล้ว     ในที่สุดก็ค้นพบเองว่าตึงเกินไป เป็นสุดโต่งเกินไป     การนอนให้เพียงพอ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ดีที่สุด

        ผมทดลองเปลี่ยนสถานที่อ่านหนังสือ หรือทำงาน     พอทำงานที่โต๊ะเขียนหนังสือประจำจนเหนื่อย ก็ย้ายที่ ไปทำงานที่ระเบียง ที่สนาม (ถ้ามี) ก็จะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ     ทำให้สมองสดชื่นขึ้นใหม่    ทำงานได้ทนขึ้น    ความง่วงเหงา หรือเหนื่อยล้าจะลดลง

       พอรู้สึกสมองชักล้า ไม่สดชื่น บางทีผมไปอาบน้ำ     ก็จะได้ความสดชื่นกลับมา     ตอนหลังๆ บางทีก็ดื่มกาแฟ     มีอยู่สมัยหนึ่งสูบไปป์    หรือออกไปวิ่งออกกำลังกาย   เป็นต้น

       อีกวิธีหนึ่งคือเปลี่ยนงาน หรือสลับงาน     เปลี่ยนจากงานที่มีลักษณะอย่างหนึ่ง     ไปทำงานที่มีลักษณะต่างกัน เช่นตอนอยู่ที่หาดใหญ่ ผมสลับจากงานวิจัยไปเซ็นแฟ้มด้านการบริหาร

        พอเริ่มอินทรีย์แก่กล้า    ผมก็เริ่มฝึกให้คนทำงานแทน    บอกเขาว่าผมจะฝึกอะไรให้เขา    ทักษะและความรู้นี้จะติดตัวเขาและเป็นคุณต่อตัวเขาไปตลอดชีวิตอย่างไร     ผมเริ่มเรียนรู้วิธีทำให้งานสำเร็จโดยตัวเองไม่ต้องทำ     แต่การฝึกคนนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จทุกคน     บางคนก็ใจไม่สู้  หรือสู้แต่ความสามารถไม่ถึง     คะเนว่าผมประสบความสำเร็จในการฝึกคนให้ทำงานแทนประมาณ ๕๐%     โดยที่ส่วนใหญ่เป็นการ "ฝึกแบบไม่สอน"     คือฝึกแบบทำงานด้วยกัน    หรือเรียนรู้ไปด้วยกัน     และที่สำคัญที่สุด ยกผลงานทั้งหมดให้เขา

        ผมเริ่มเรียนรู้ว่าการยกผลงานให้คนอื่นนี้ดีแท้ๆ     เพราะคนเขาก็จะยังยกย่องว่าเป็นผลงานของเราด้วย      คือลงท้ายทุกคนจะได้หมด    ทั้งผู้ร่วมงาน  ตัวผม  และหน่วยงาน     เพราะวัตรปฏิบัติเช่นนี้มันสร้างกำลังใจ สร้างความสามัคคี ในหน่วยงาน

        พอผมเริ่มมีชื่อเสียงในการยกผลงานให้เพื่อนร่วมงาน    เวลาไปชวนใครมาร่วมงาน ก็ทำได้ง่าย     ก็สามารถทำงานขยายออกไป    ในลักษณะที่เกินความสามารถของตัวผม     หลายๆ เรื่องผมทำไม่เป็น     แต่ก็มีผู้มาร่วมกันทำ แล้วได้ผลงานไป  โดยมีชื่อผมพ่วงอยู่บ้าง ไม่พ่วงบ้าง    แต่ในทางสังคมหรือคำเล่าลือ ผลงานเหล่านั้นก็เป็นของผมด้วย

        ตอนมาทำงานที่ สกว. เป็นคราวก้าวกระโดด    ผมบอกตัวเองว่า สกว. ไม่ใช่ผู้ผลิตผลงานวิจัย    ผู้ผลิตผลงานวิจัยคือนักวิจัยและหน่วยงานต้นสังกัดของเขา     สกว. ต้องให้เกียรติและยอมรับสภาพนั้น     ดังนั้นเวลามีผลงานวิจัย สกว. ต้องบอกว่านักวิจัยและต้นสังกัดเป็นเจ้าของ     สกว. ต้องไม่ทำตัวเป็นเจ้าของแทนหน่วยงานของเขา     แต่ก็ต้องระบุด้วยว่า ได้รับทุนจาก สกว.    เท่ากับ สกว. ร่วมเป็นเจ้าของผลงานด้วย     แต่เป็นเจ้าของในคนละมิติ กับหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย     โดยการแสดงท่าทีเช่นนี้ สกว. จึงได้มิตรภาพจากต้นสังกัดของนักวิจัยและตัวนักวิจัย      และตัวผมเองก็ได้เครดิตมากทีเดียว   

       จะเห็นว่า เมื่อคนเราเติบโตมาถึงจุดหนึ่ง     การให้ผลงานแก่ผู้อื่น คือวิธีการสร้างผลงานของตน

วิจารณ์ พานิช
๙ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 53509เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2006 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท