บันทึกการไปทัศนศึกษาประเทศพม่า : พระธาตุมุเตา


 


คณะครูโรงเรียนเมืองชุมพรบ้านเขาถล่ม  พร้อมคณะ  เดินทางไปทัฒนศึกษา ณ ประเทศพม่า ระหว่างวันที่  ๑ – ๔  พฤษภาคม  ๒๕๕๖

วันที่ ๓๐  เมษายน  ๒๕๕๖  ทุกคนพร้อมหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดชุมพร เวลา ๒๐.๐๐ น. รถตู้โดยสารจำนวน  ๒  คัน นำคณะครูเดินทางสู่สนามบินดอนเมือง  กรุงเทพมหานคร

๐๔.๐๐ น. วันที่ ๑  พฤษภาคม  ๒๕๕๖ พร้อมกันที่สนามบินดอนเมือง อาคารผู้โดยสารขาออก  ชั้น ๒  ประตู ๑   เคาน์เตอร์สายการบินแอร์เอเซีย โดยมีเจ้าหน้าที่บริษัทฯ คุณแขก  คอยอำนวยความสะดวกตรวจเช็คสัมภาระและหนังสือเดินทาง  โหลดกระเป๋าเดินทาง และผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร เรียบร้อยแล้ว เข้าไปนั่งรอ  ระหว่างรอทานอาหารรองท้อง กาแฟ  ขนมปัง  แพงกว่าข้างนอกมากที่นี่จะดำเนินการได้เร็วกว่าสนามบินสุวรรณภูมิเพราะคนมาใช้บริการน้อยกว่าจึงใช้เวลารอนาน

               
๐๗.๑๕  น.  ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ เมืองย่างกุ้ง โดยเที่ยวบินที่ FD๒๗๕๑  สายการบินแอร์เอเซีย  เข้าสู่น่านฟ้าพม่าแล้ว ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ๐๘.๐๐ น.  ถึง สนามบินกาลาดอน เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า (เวลาพม่าช้ากว่าประเทศไทย ๓๐ นาที) ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร (จัดกระเป๋าเล็กเตรียมสัมภาระสำหรับ ๑ คืน เพื่อขึ้นพระธาตุอินทร์แขวน) ปรับนาฬิกาข้อมือให้ตรงกับเวลาท้องถิ่นของพม่า  เพื่อจะได้ไม่สับสนเรื่องเวลาเมื่ออยู่ที่นี่

                                            

ประเทศพม่า  เมืองหลวง : กรุงเนปีดอ   เมืองใหญ่สุด : ย่างกุ้ง (เมืองหลวงเก่า)

ภาษาราชการ : ภาษาพม่า นอกจากภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาราชการแล้ว พม่ามีภาษาหลักที่ใช้งานในประเทศถึงอีก ๑๘ ภาษา   สกุลเงิน : จัต  (๑,๐๐๐ จัต ประมาณ ๔๐ บาท )

 สหภาพเมียนมาร์ (Union of Myanmar) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งชาวตะวันตกเรียกประเทศนี้ว่า Burma จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓  พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Myanmar ชื่อใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ แต่บางชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อนี้ เนื่องจากไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ ปัจจุบันหลายคนใช้คำว่า Myanmar ซึ่งมาจากชื่อประเทศในภาษาพม่าว่า Myanma Naingngandaw และชาวพม่าเรียกชื่อประเทศตนเองว่า บะหม่า

  "น้องเรย์ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น

พร้อมแล้วคณะครูเดินทางไปยังเมืองหงสาวดี ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมงประมาณ ๐๙.๐๐ น.ทุกคนพร้อมบนรถโค้ชปรับอากาศ  สภาพรถเก่า แอร์ไม่ค่อยจะเย็น ไม่ค่อยจะสะอาดนัก  แต่ดีที่ยังมีแอร์ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเราไปเที่ยวตลอดสี่วันนี้ชื่อ น้องเรย์ แต่งชุดพม่าน่ารักดี  พูดไทยและเข้าใจภาษาไทยได้ดี

       

เมื่อรถออกเดินทางไปสักพัก  รถแวะข้างทางที่มีคนขายดอกไม้  เหมือนบ้านเราขายพวงมาลัย มีหญิงสาวนำใบไม้ ๑ กำ  มามัดติดที่หน้ารถ จึงถามน้องเรย์ว่าใบอะไร ก็ได้ความรู้ว่าเป็นใบสำเร็จหรือใบชัยชนะ ก็คือกิ่งหว้า  ซึ่งเป็นไม้มงคลของพม่า กิ่งหว้า : สัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความสำเร็จของชาวพม่า  ในพม่านั้น ต้นหว้าถือเป็นไม้มงคลในเรื่องความสำเร็จและชัยชนะ ด้วยชื่อว่าชมพูทวีป หรือดินแดนแห่งไม้หว้านั้น เป็นแผ่นดินอันเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดานั่นเอง   “น้องเรย์” ให้ความรู้เรื่องหงสาวดีเมืองหลวงเก่าแก่ของมอญ และอดีตราชธานีของพระเจ้าบุเรงนอง และชาวพม่าได้ชื่อว่า เป็นชนชาติที่ยังยึดมั่นคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่ที่สุดชาติหนึ่งในโลก มีการสร้างเจดีย์ พระธาตุ ศาสนสถาน ทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นจึงมีปูชนียสถานอันเป็นที่สักการบูชาของชาวพม่า และชาวมอญอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่นับถือเป็นมหาบูชาสถานสำคัญสูงสุดมีเพียง ๕ แห่ง ที่เป็นความใฝ่ฝันของชาวพุทธพม่าว่าครั้งหนึ่งในชีวิตควรได้เดินทางไป สักการบูชาให้ครบทั้ง 5 ๕ แห่ง  จึงจะนอนตายตาหลับหรือได้ขึ้นสวรรค์ มหาบูชาสถานทั้ง ๕ แห่งนี้ได้แก่

๑.มหาเจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้ง   ๒. มหาเจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม   ๓. เจดีย์ชเวมอดอร์ เมืองหงสาวดี 

๔. พระมหามัยมุนี แห่งมัณฑะเลย์   ๕. พระธาตุอินทร์แขวน “ไจก์ทิโย”

 

 

                

เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. แวะเข้าไป นมัสการ พระเจดีย์ ชะเวมอร์ดอร์ หรือพระธาตุมุเตา พระเจดีย์ในสมัยเดียวกันกับพระเจดีย์ชเวดากอง เป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองหงสาวดี เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในหงสาวดี เป็นสัญลักษณ์แสดงความรุ่งเรืองของกรุงหงสาวดี ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นสถานที่ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ก่อนออกศึกของบูรพกษัตริย์ ในสมัยโบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์มอญหรือพม่า รวมทั้งพระเจ้าบุเรงนองด้วย และเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระนางสุพรรณกัลยา ทรงประทับอยู่หงสาวดี ก็เคยเสด็จมานมัสการพระเจดีย์องค์นี้ นมัสการ ณ จุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์  ที่นี่ต้องถอดรองเท้าเข้าไปไหว้พระ  เดินชมรอบ ๆ เจดีย์  อากาศร้อนมาก  เดินเท้าเปล่าแสบร้อนแสบไหม้  เจ็บมาก 

               

 

และชม พระราชวังบุเรงนอง ชมโถงท้องพระโรง และบริเวณที่เคยเป็นตำหนักพระนางสุพรรณกัลยา ซึ่งเพิ่งเริ่มขุดค้นและบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี ๒๕๓๓ จากซากปรักหักพังที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นพระราชวังของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ปัจจุบันยังขุดไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ก็สามารถเห็นได้ว่า พระราชวังแห่งนี้กว้างใหญ่เพียงใด

              

เที่ยง  รับประทานอาหารเที่ยง ณ ภัตตาคาร พร้อมอาหารพิเศษ กุ้งแม่น้ำเมืองหงสาวดี  เป็นอาหารมื้อแรก ณ ประเทศพม่าแห่งนี้  เมนูพิเศษ กุ้งแม่น้ำ  น้ำพริกกุ้งแห้ง กินกับผัดผักบุ้ง  อร่อยมาก  อาหารมื้อแรกคณะครูประทับใจและอิ่มกันถ้วนหน้า

             

บ่าย  ถึงแก่เวลาออกเดินทางสู่ คินปุนแคมป์ (เชิงเขาไจ้เที่ยว) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชม. 

                                                        มีต่อ .....คลิกไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 534853เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2014 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท