KM ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช


KM ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช

         ที่จริงไม่ใช่แค่เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช   แต่เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย

         โครงการ BRT (พัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย - http://brt.biotec.or.th) ดำเนินการมาครบ 10 ปี   มีผลงานก่อประโยชน์ต่อประเทศไทยด้านต่าง ๆ มากมาย   ด้านหนึ่งคือการเข้าไปร่วมกับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

         ชุดโครงการที่ชาวบ้าน/ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมากคือ   โครงการเชิงพื้นที่ (area - based) ซึ่งชุดโครงการที่ทำไปหลายปีแล้วและเกิดผลดีอย่างมากมายคือ   ชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตกที่นำโดย รศ. ดร. สมโภชน์  ศรีโกสามาตร  และที่กำลังก่อตัวคือ   ชุดโครงการวิจัยป่าเมฆ (Cloud Forest) ที่เขานัน   เทือกเขานครศรีธรรมราช   กับชุดโครงการขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้

         ชุดโครงการเชิงพื้นที่แบบนี้แหละครับที่นักวิจัยจะดำเนินการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในลักษณะที่ลอยตัวหรือแยกตัวออกจากชาวบ้าน/ชุมชนในพื้นที่ไม่ได้   ต้องทำานตามความเป็นจริง   ว่ามีชาวบ้านอยู่กับป่า   อยู่กับธรรมชาติในพื้นที่   ต้องเอาชาวบ้าน/ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยหรือการเรียนรู้ด้วย

         ที่สำคัญ   มีอยู่หลายพื้นที่ที่ชาวบ้านเขารวมตัวกันเอง   พิทักษ์ปกป้องป่าและลำน้ำ   เพื่อประโยชน์ในการดำรงอยู่ของพวกเขา   ดำเนินการมานับสิบยี่สิบปี   และเห็นผลดีชัดเจน   นี่คือการสร้างความรู้ที่ชาวบ้านคิดและปฏิบัติกันเอง   ที่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรเข้าไปเรียนรู้และเสริมพลัง (empower)

         ผมจึงเสนอให้โครงการ BRT,   มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืนฯ,  และ สคส. ร่วมกันหาวิธีใช้พลัง KM เข้าไปเสริมกิจกรรมสร้างและใช้ความรู้เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืน   โดยผมคิดถึง 3 กลไกประกอบกัน
(1) สคส. ช่วยจัด workshop ฝึก "คุณอำนวย" และ "วิทยากร KM" ให้แก่ BRT และมูลนิธิฯ   สำหรับเป็นตัวคูณไปฝึกเทคนิค KM ให้แก่คนในเครือข่ายต่อไป
(2) จัดตลาดนัดความรู้เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน   โดยชุมชนเอาแกนนำของคนในชุมชนมา ลปรร. เรื่องราวของความสำเร็จ    สกัดเคล็ดลับหรือหัวใจของวิธีดำเนินการบันทึกออกมาเป็นเรื่องเล่า   และคลังความรู้ในการดำเนินการโดยชุมชน   ศ. ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้  ผอ. โครงการ BRT เรียกกิจกรรมนี้ว่า LBI - Local Biodiversity Initiative
(3) จัดมหกรรมจัดการความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ   ซึ่งจะมีการนำเรื่องราวของความสำเร็จในหลากหลายมิติ   หลากหลายระดับมา ลปรร. กันในมหกรรม    เน้นการ dialogue กับสังคมวงกว้าง,   กับผู้กำหนดนโยบาย,   กับผู้ดูแลระบบวิจัยและกับชุมชนท้องถิ่น   อันนี้จะค่อนข้างเป็นงานช้าง   ถ้าโครงการ BRT หรือหน่วยงานอื่นยินดีเป็นแกนนำหรือเจ้าภาพตัวยืน   สคส. สามารถเป็นพันธมิตรร่วมจัดได้

วิจารณ์  พานิช
  12 ต.ค.48
  ขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 5344เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2005 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กราบเรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ที่เคารพรักครับ ผมจะมีการประชุมเพื่อพัฒนาชุดโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกันในวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.48 นี้ ผมตั้งใจว่าจะนำเรื่องโครงการ BRT เข้าไปแจ้งและปรึกษาหารือกันด้วย ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กัน แต่ที่ มน. เราเพิ่งเริ่มคิดกันครับ ยังไม่ได้ลงมือทำ ถ้ามีปัญหาอะไรคงต้องรบกวนปรึกษาอาจารย์อีกเช่นเคยครับ

คนที่ควรปรึกษาคือ ศ. ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท