จัดการความรู้ครัวเรือนต้นแบบ


ประสบการณ์การบันทึกที่ดีของกลุ่มนี้ที่เขาบอกน่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากลุ่มนี้น่าจะทำวิจัยได้ดีก็เป็นได้นะครับ
  • เมื่อวานนี้น้องพัชนี จาก พอช. สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ เชิญผมมาให้ไปเป็นวิทยากรทำความเข้าใจกรอบและแนวทางในการวิจัยสำหรับชุมชนเบื้องต้้น ในโครงการครัวเรือนต้นแบบตามแนวเศษฐกิจพอเพียงที่ พอช.ดูแลอยู่ ให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการของตำบลหูล่อง อ.ปากพนัง ซึ่ง นัดหมายพบปะกันที่โรงเรียนวัดปากตรง เสียดายที่น้องพัชนีติดภารกิจประชุมที่ พอช.ส่วนกลาง ไม่ได้พบเจอกันอีกแล้ว.............
  • ผมเริ่มต้นถามที่ประชุมเสวนาว่าเป้าหมายของการประชุมวันนี้คืออะไรก็ได้ทราบว่าคือการพัฒนาโจทย์วิจัยและการอกแบบกิจกรรมวิจัย เกี่ียวกับครัวเรือนต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อขอรับทุนวิจัยท้องถิ่นจาก สกว. ผ่านทาง node สกว.ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมี ดร.เลิศชาย ได้ไปขายความคิดไว้
  • แต่ก่อนจะคุยถึงการพัฒนาโจทย์วิจัย ผมก็ไม่พลาดที่จะให้กลุ่มได้เล่าให้ฟังก่อนว่ากิจกรรมของกองทุนพัฒนาครัวเรือนต้นแบบฯนี้เป็นอย่างไร ซึ่งตัวแทนของกลุ่มก็ได้เล่าว่า กิจกรรมครัวเรือนต้นแบบนี้ ที่เด่นๆหรือหลักๆคือการให้ครัวเรือนบันทึกบัญชีรับจ่าย การออม การจัดทำแผนลดรายจ่าย และการจัดทำแผนเพ่ิมรายได้ ซึ่งสมาชิกที่เข้าประชุมวันนี้เป็นหัวหน้ากลุ่มย่อย ราว 10 คน ซึ่งกลุ่มย่อย 1 กลุ่ม จะมีหัวหน้ากลุ่มย่อย 1 คน(ครัวเรือน) หัวหน้ากลุ่มย่อยนี้มีหน้าที่ในการดูแลครัวเรือนสมาชิกอื่นอีก 4 ครัวเรือน ในการทำกิจกรรมหลักๆดังที่กล่าวแล้ว
  • สมาชิกได้เล่าให้ฟังอีกว่าจากการที่ได้ฝึกบันทึกบัญชีรับจ่าย ก็ทำให้สมาชิกเห็นตัวเลขและรายการรับจ่ายแล้ว หลายคนปรับเปลีี่ยนนิสัยในการจับจ่ายใช้สอย ปรับนิสัยการอุปโภคบริโภคได้ รู้ว่าอะไรจำเป็นต้องจ่าย ควรจ่ายหรือไม่ควรจ่าย จะทดแทนสิ่งที่ต้องซื้อจากคนอื่นจะต้องทำอย่างไร บางคนทดแทนด้วยการปลูกผัก เลี้ยงปลาในกระชัง ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือเดี๋ยวนี้มีผักกิน มีปลาดุกไว้กิน ไว้ขาย (ส่วนเหลือกิน)
  • สิ่งที่ผมประทับใจมากคือเมื่อผมถามว่ารู้สึกเป็นภาระหรือไม่ที่จะต้องบันทึกบัญชี บันทึกรายการทุกวัน สมาชิกตอบว่าไม่เป็นภาระใดๆ ใหม่ๆอาจจะรู้สึกบ้าง แต่เมื่อนานไปก็ไม่รู้สึกเป็นภาระอะไร ซึ่งน่ายกย่องชมเชยมาก ผมได้ดูบันทึกบัญชีของเขาด้วย แต่ละคนก็บันทึกด้วยลีลาและแบบแผนของตนเอง จะไม่เหมือนกัน แต่ก็จะเข้าใจสิ่งที่ตนบันทึก และสามารถอธิบายคนอื่นได้ ไม่มีการบังคับว่าจะต้องทำเหมือนกันหมด ดูสีหน้าสีตาแล้วเขาก็มีความสุขกับสิ่งที่เขาได้ทำได้บันทึก
  • เมื่อเขาได้เล่างานที่เขาทำเสร็จแล้ว จากนั้นผมก็ให้น้องติ่ง หรือน้องสมวิศว์ จู้พันธ์ ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านมะขามเรียง ม.1ต.บางจาก ที่ทำโครงงานอาชีพปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศประสบผลสำเร็จ ซึ่งผมได้ชวนไปด้วย  เล่าประสบการณ์การพัฒนาปุ๋ยหมักจากระบบธรรมดาไปเป็นระบบใหม่ระบบกองเติมอากาศ ทำอย่างไร ซึ่งน้องติ่งชี้ให้ทุกคนเห็นว่าเราอยากรู้อะไรเกี่ยวกับปุ๋ยหมักระบบใหม่เราก็ศึกษาค้นคว้า ทดลอง จนว่าเราได้คำตอบในสิ่งที่เราสงสัยหรืออยากรู้ในที่สุด รู้แล้วเท่านี้ถ้าอยากรู้ต่อก็ศึกษาค้นคว้าทดลองต่อไปอีก ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสงสัย หรือหมดกำลังใจจะทำแล้ว
  • เมื่อได้ฟังประสบการณ์ตรงจากน้องติ่งแล้ว ก็ให้ทุกคนได้ซักถามแลกเปลียนกัน พร้อมกับให้กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มคิดถึงกลุ่มย่อยของตนเอง ที่ได้แบ่งกลุ่มย่อย 1 :5 ครัวเรืือนว่า กลุ่มของตนสงสัยอยากรู้อยากเรียนเรื่องอะไร ให้ไปกำหนดประเด็นสงสัย หรือกำหนดโจทย์มา กลุ่มครัวเรือนที่เลี้ยงปลากระชังในนากุ้งไปคิดมา กลุ่มปลูกผักไปคิดมา กลุ่มเลี้ยงปลาดุกไปคิดมา ฯลฯ วันที่ 4 เดือนหน้าซึ่งเป็นเวทีเสวนาครั้งต่อไปจะได้รวมโจทย์จากทุกกลุ่มใหญ่ แล้วจัดกลุ่ม เป็นโจทย์วิจัยของกลุ่มใหญ่ จากนั้นจึงจะกำหนดกิจกรรมต่อไปคือให้ไปคิดต่อเกี่ยวกับการออกแบบการเรียนรู้ การทำงาน วิธีการศึกษาค้นคว้าเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ให้ได้คำตอบในสิ่งที่สงสัย
  • ประสบการณ์การบันทึกที่ดีของกลุ่มนี้ตามที่เขาบอก  น่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากลุ่มนี้น่าจะทำวิจัยได้ดีก็เป็นได้นะครับ
หมายเลขบันทึก: 53439เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยังขยันเหมือนเดิมนะคะ...แหม่มก็ยังเกาะติดบันทึกที่น่าสนใจของครูนงเหมือนเดิมคะ...

ขอบคุณน้องแหม่มากนะครับที่เข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจกันเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท