ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวกับอาการ "มวน" ในความคิด


ผมก็นึกออกทันทีว่า อะไรคือสาเหตุของอาการ “มวน” ที่เป็นอยู่ ผมเริ่มเห็นการเสนอความคิดแบบ “คิดออกนอกตัวเอง-คิดให้คนอื่นเขาทำ”

เมื่อได้ฟัง ได้อ่านเอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว จ.ชุมพร (2549 2552) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2549 ผมรู้สึกชื่นชมการทำงานของคณะที่ปรึกษานำโดย อาจารย์สอรัฐ มากบุญ จากวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี วิทยาเขตในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ข้อมูลที่นำมาเสนอสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ปี 2548 ที่ผ่านมา ปริมาณและอัตราการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยือน จ.ชุมพรของเรามีค่า ติดลบ นะครับ ซึ่งสวนทางกับ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ระนอง เพื่อนบ้านอาณาเขตติดต่อกันกับเรา ของเขามีอัตราการเติบโตเป็นบวกเห็นได้ชัดเจน

นอกจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางมา จ.ชุมพร น้อยลงแล้ว ระยะเวลาของการเข้าพัก, ค่าใช้จ่าย, รายได้ และจำนวนผู้เข้าพักก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง สวนทางกับจำนวนที่พักและห้องพักที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้ก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดปัญหาสภาพฝืดเคือง การแข่งขันทางด้านราคา ฯลฯ เข้าทำนองที่เคยอ่านจากงานของ ดร.เสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการทางด้านการตลาด ที่ว่า เธอลด..ฉันลด / เธอแลก..ฉันแลก / เธอแจก..ฉันแจก / เธอแถม..ฉันแถม / เธอเจ๊ง...เดี๋ยวฉันจะตามไป (อันที่จริง ดร.เสรี ใช้คำที่เป็นไทยแท้มากกว่าคำว่า เธอ, ฉัน แต่เอาแค่นี้ก็แล้วกัน...เดี๋ยวจะไม่สุภาพ)

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็น โจทย์ ข้อใหญ่ เป็นเหตุปัจจัยให้ทีมงานที่ปรึกษาต้องทำงานกันอย่างหนัก ต้องพิจารณาข้อคิดเห็นจากเวทีสัมมนาครั้งที่ผ่านมา ต้องมองหาแนวทางใหม่ ๆ บนพื้นฐานของการวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง-โอกาส-ภัยอุปสรรค หรือ SWOT ที่ชุมพรมีอยู่ รวมทั้งต้องสร้างจินตนาการอย่างกว้างไกลและลึกซึ้ง เพื่อนำเสนอร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว จ.ชุมพร ออกมาให้ตรงประเด็นแบบ เกาให้ถูกที่คัน

ผมอ่านเอกสาร (ร่าง) ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว จ.ชุมพร ปี 2550 2554 แบบเลอะไปทั้งหน้า เพราะเต็มไปด้วยสีของปากกาไฮไลท์ และตัวอักษรคอมเมนท์เรื่องที่ คิดเหมือน และ คิดต่าง อ่านต่อเนื่องไปจนจบตอนที่ 4 การบริหารเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนา อ่านจบแล้วก็รู้สึก มวน อยู่ในความคิด สารภาพตามตรงครับว่า เห็นด้วยแต่ไม่เชื่อมั่น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ?

ในช่วงเย็นขณะที่กำลังฟังรายงานผลการประชุมกลุ่ม ผมก็นึกออกทันทีว่า อะไรคือสาเหตุของอาการ มวน ที่เป็นอยู่ ผมเริ่มเห็นการเสนอความคิดแบบ คิดออกนอกตัวเอง-คิดให้คนอื่นเขาทำ การมองเห็นเที่ยวนี้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 27 กันยายน 2549) ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จาก ดร.อุทิศ ขาวเธียร รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ ท่านได้เดินทางมาบรรยายที่ จ.ชุมพร ตามโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการทำแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดฯ

แผนฯ 10 มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มาร่วมกันจัดทำแผนฯ 10 เหนียวแน่นอยู่กับกระบวนทัศน์ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, การพัฒนาแบบองค์รวม และการยึดคนเป็นศูนย์กลาง นี่เองเป็นเหตุปัจจัยผลักดันให้ 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนา จึงเป็นเรื่องของการ ระเบิดจากภายใน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาคุณภาพคนและสังคม, สร้างความเข้มแข็งชุมชน, ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ, ความหลากหลายทางชีวภาพ และธรรมาภิบาล ล้วนเป็นเรื่อง คิดย้อนกลับ เข้ามาสร้างศักยภาพในตนเองทั้งสิ้น

ซึ่ง แตกต่าง จาก (ร่าง) ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว จ.ชุมพร ในระดับหนึ่ง

ผมคิดถึงคำพูดของอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่ท่านชอบใช้เวลาอวยพรคู่สมรสในงานแต่งงาน ท่านบอกว่าเวลาที่ครอบครัวเกิดความขัดแย้ง อย่าใช้เหตุผล เป็นตัวตัดสิน เพราะเหตุผลที่อยู่บนความรู้สึกของการเอาชนะกัน ยิ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึก ขอให้ใช้ ความรักและการทำหน้าที่ เป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหานำไปสู่สภาวะที่ปกติและดีงาม

ความรักโดยบริสุทธิ์ใจในแผ่นดินถิ่นฐาน ไม่คิดเพียงแสวงหาผลประโยชน์จากการขับเคลื่อนใด ๆ จะเป็นพื้นฐานของการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง สร้างการพัฒนาที่นำไปสู่สภาวะปกติและดีงาม.

หมายเลขบันทึก: 53392เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท