ปกิณกะคดีควาย :นายฮ้อยยุคสุดท้าย - การเดินทางของนายฮ้อยอำคา


วิถีชีวิตคนอีสาน
นายอำคา คัสกร (นายฮ้อยอำคา) อยู่บ้านเลขที่ ๕๒ บ้านโพนแบง หมู่ที่ ๓ ต.น้ำอ้อม อ ค้อวัง จ.ยโสธร อายุ ๔๔ ปี บันทึกถ้อยคำเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ นายฮ้อยอำคา เรียกว่าเป็นนายฮ้อยเดินทุ่งยุคหลังสุดก็ว่าได้ เพราะเขาเริ่มติดตามพวกนายฮ้อยเก่าๆไปขายควายเมื่อปี ๒๕๑๑ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งจะเรียนจบชั้นประถมสี่ใหม่ๆ ผู้ที่ชักชวนให้เข้าร่วมงการนายฮ้อยควาย ก็คือ นายฮ้อยสิงห์ แห่งบ้านจานทุ่ง (ต.น้ำอ้อม) เริ่มมีประสบการณ์ครั้งแรกด้วยกองคาราวานใหญ่โตมโหฬารทีเดียว คือมีเกวียน ๑๐ เล่ม เกวียนแต่ละเล่มคุมควาย ๔๐ ตัว ทั้งขบวนก็จะมีควายไล่ต้อนไปประมาณ ๔๐๐ ตัว

นายฮ้อยอำคา เล่าว่า พวกนายฮ้อยจะเริ่มเร่หาซื้อควายตั้งแต่เกี่ยวข้าวเสร็จใหม่ๆ ในราวปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม ใช้เวลาหาซื้อกว่าจะได้ครบก็ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม แล้วจะเกณฑ์ให้มาตั้งทัพรวมกันที่ทุ่งนาบ้านสำโรง ต.คูเมือง อ.มหาชนะชัย ช่วงที่พักอยู่ที่นาบ้านสำโรงจะมีสัตว์แพทย์อำเภอมหาชนะชัย มาฉีดวัคซีนให้ หลังจากนั้นประมาณ ๑๐วัน ก็ออกเดินทางได้ ในช่วงที่รอฤกษ์ออกเดินทางเจ้าของที่นาได้ดูแลคณะนายฮ้อยเป็นอย่างดี ปกติจะให้เป็ด ไก่มาลาบกิน แต่ชุดที่นายฮ้อยอำคาเริ่มต้นการเป็นนายฮ้อยนี้ปรากฏว่าให้หมูเป็นตัวเลย (คงคิดว่าคุ้มเพราะควาย ๔๐๐ ตัวอยู่ ๑๐ วันคงได้ปุ๋ยคอกหลายตัน)

เส้นทางที่เป็นประสบการณ์อันสำคัญของนายฮ้อยอำคา คือเส้นทางสายดงพญาไฟ คือ จาก ยโสธร เข้าเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด เข้าทุ่งป๋าหลาน จ.มหาสารคาม เข้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เข้า อ.ปะทาย ตลาดแค จอหอ ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน จ.นครราชสีมา แล้วเข้าเขต จ.สระบุรี จะแตกต่างจากการเดินทางของนายฮ้อยยุคเก่าก็คือ จะเดินทางด้วยเท้าและขนสัมภาระด้วยเกวียนไปถึงตลาด อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จากนั้นจะบรรทุกควายโดยขบวนรถสินค้า (รถไฟ) จะเช่าเหมาเป็นตู้ เฉลี่ยแล้วจะเสียค่าระวางบรรทุกจากสถานีสูงเนิน ถึงสถานีสระบุรี ตัวละประมาณ ๑๘ บาท ส่วนสัมภาระอื่นๆ จะนำไปด้วยเท่าที่จำเป็น ที่เหลือจะทานให้แก่คนยากคนจนแถวๆสถานีรถไฟสูงเนิน ส่วนเกวียนนั้นก็นับว่าสภาพย่ำแย่เต็มทีแล้ว กำเกวียน และเพลาคอดกิ่วเต็มทีแล้ว บางทีก็ทิ้งไปเลย แต่บางทีก็มีคนเอาไก่มาแลกไม่กี่ตัวก็ให้ เพราะนำไปด้วยก็ไม่ได้ จะเอาไปขายที่ไหนก็ไม่มีใครซื้อ พวกที่เอาไก่มาแลกก็หวังที่จะเอาไปซ่อมแซมพอได้ใช้งานเบาๆต่อไปเท่านั้น ก็มีอยู่บ้างที่ขายได้ แต่ก็ได้ราคาไม่ดีนัก

นายฮ้อยอำคาเล่าว่าขบวนคาราวานควายของนายฮ้อยทุกคณะจะมีพิธีกรรมและแนวทางปฏิบัติคล้ายๆกัน เช่น ก่อนออกเดินทางจะมีการกินน้ำร่วมสาบาน มีการบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อมือ เสี่ยงทายไข่ต้ม ที่ใส่ในพาขวัญ (พานบายศรี) ว่าเวลาปอกไข่ต้ม ไข่จะกลมเกลี้ยงเกลาดีหรือไม่ ผ่าซีกไข่ออกมาแล้วไข่แดงสวยงามดีหรือไม่ ถ้าดีก็จะหมายถึงว่า ทุกอย่างจะราบรื่น ถ้าไม่ดีก็จะแต่งแก้ แต่งบูชาด้วยการทำกระทงกาบกล้วย ใส่หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้ ทำกาบกล้วยเป็นรูปคน ปักไว้ แล้วให้หมอพราหมณ์ร่ายคาถาแก้ให้ ถือว่าให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี จะช่วยให้พวกนายฮ้อยสบายใจมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น การเดินทางก็จะไม่ได้กังวลเรื่องใดๆอีก เมื่อสู่ขวัญแล้วห้ามกลับเข้านอนในหมู่บ้านอีกเป็นอันขาด มีการเตรียมเครื่องรางของขลัง เตรียมเครื่องใช้ไม้สอย เตรียมอาวุธ เครื่องมือหาปลา ล่าสัตว์ อุปกรณ์ทำครัว ข้าวสารเหนียว ปลาร้า เกลือ พริก พวกนี้ขาดไม่ได้

ตามคำบอกเล่าของนายฮ้อยอำคา ดูเหมือนว่าจะมีบางอย่างที่คณะของนายฮ้อยที่เขาติดตามไปจะปฏิบัติแตกต่างจากคณะอื่นก็คือ จะมีการให้คำมั่นสัญญากันว่าจะไม่กินหอย ไม่กินเป็ดระหว่างเดินทางเพราะจะทำให้แตกแยก (หรืออาจจะเห็นว่ากินอาหารพวกนี้มีกรรมวิธีในการเตรียมอาหารยุ่งยากก็เป็นได้ กว่าจะได้กินคนทำทะเลาะกับคนกินแล้ว) จะไม่กินมดแดงเพราะจะทำให้ทะเลาะกัน หรือกัดกันเหมือนมด ไข่เป็ดไข่ไก่ก็เป็นสิ่งต้องห้ามเหมือนกัน เนื่องจากไข่แตกง่ายจะทำให้แตกแยกกันได้ นอกจากนี้จะห้ามพวกหนุ่มๆไปเล่นสาวในต่างถิ่น ตามเส้นทางที่เคลื่อนขบวนไป (คำว่า “เล่นสาว” คือ เกี้ยวสาวหรือจีบสาวนั้นเอง) เพราะเรื่องนี้เรื่องเดียวจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย

ระหว่างการเดินทางจะมีกำหนดจัดพักเป็นระยะๆ ซึ่งหัวหน้ากองคาราวานจะกำหนดไม่ค่อยพลาดเพราะมีประสบการณ์มาหลายปี ส่วนใหญ่จะพักไม่ห่างจากหมู่บ้านมากนักเพราะจะปลอดภัยกว่า อีกอย่างขาดเหลืออะไรจะสามารถเข้าไปขอในหมู่บ้านได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงสถานที่พักควาย แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารด้วย เมื่อไปถึงที่พักแล้ว จะมีการขึงเชือกล้อมเป็นวงกลุ่มของใครของมัน ถ้าควายไม่มากเกินไปก็จะกั้นเป็นวงใหญ่วงเดียวเลยก็มี ให้ควายอยู่ข้างใน เกวียนจะล้อมวงอยู่ข้างนอก จัดคนผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวรยาม ซึ่งมีทั้งเวรยามวงในใกล้ฝูงควาย และวงนอกโดยใช้ไม้ค้ำชานเกวียนไว้แล้วปูผ้าขาวม้านอนใต้ชานเกวียนนั้นเลย

เมื่อถึงด่านกักสัตว์ หมอจะตรวจโรคถ้าพบว่าเป็นปากเปื่อยเท้าเปื่อย (โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ Foot and Mouth Disease) ก็จะถูกกักอยู่ที่ด่านไม่น้อยกว่า ๓ อาทิตย์ ในช่วงนี้นายฮ้อยจะต้องออกไปหาเปลือกไม้แดง มีต้นเคี่ยวจนได้น้ำสีแดงข้น แล้วเอามาทาแผลที่ปากและกีบ นับว่าเป็นยาพื้นบ้านที่รักษาโรคนี้ได้เป็นอย่างดี

การเดินทางจากอำเภอมหาชนะชัย ถึงอำเภอสูงเนินใช้เวลา ๒๕ วัน ขึ้นรถไฟไปสระบุรีอีก ๑ วัน แล้วลงรถไฟต้อนควายเดินต่อไปอีกวันหรือสองวันก็ถึงที่ขายควาย ในช่วงเดินทางที่สระบุรี บางทีก็ต้องจ้างลูกหาบสองสามคนเพื่อหาบสัมภาระให้ กว่าจะขายหมดก็ย่างเข้าเดือนหกหรือเดือนเจ็ดเงินจะยัดใส่ปิ๊บ หิ้วขึ้นรถไฟไปลงที่สถานีอุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ หรือสถานีอื่น หรือบางทีอาจจะเดินทางกลับโดยทางรถยนต์ (ตอนหลังเริ่มมีรถโดยสารและรถบรรทุกวิ่งระหว่างจังหวัดแล้ว)

การเดินทางของขบวนนายฮ้อยควายก็ถือว่ามีการวางแผนการเดินทางอย่างรัดกุมทีเดียว เพราะจะต้องให้สัมพันธ์กันระหว่างการเคลื่อนที่ของเกวียน ฝูงควาย และการเดินเท้าของคน ควายกับคนก็เลือกทางเดินได้ง่ายพอสมควร แต่สำหรับเกวียนแล้ว จะต้องไปตามทางเกวียนโดยเฉพาะ เว้นแต่บริเวณที่เป็นที่โล่งๆ ก็จะเดินทางไปได้อย่างสบายๆ เมื่อขบวนเกวียนของนายฮ้อยไปเจอขบวนเกวียนของเจ้าถิ่น ส่วนใหญ่ก็จะหลีกทางให้เจ้าถิ่นไปก่อน เว้นเสียแต่ว่าเกวียนของนายฮ้อยต่างถิ่นจะถลำเข้าไปเลยทางที่พอจะหลบได้มากแล้วเท่านั้น

ราคาควายในช่วงปี ๒๕๑๑ - ๒๕๑๕ ช่วงที่นายฮ้อยอำคาเดินทุ่งขายควายนี้ จะซื้อหาได้ราคาตัวละ ๗๐๐– ๑,๕๐๐ บาท ส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะควายตัวผู้ใหญ่ๆ เมื่อขายก็จะได้ราคาเพิ่มอีกเกือบเท่าตัว นับว่าคุ้มค่าเหนื่อยทีเดียว

นายฮ้อยอำคา บอกว่าการไล่ต้อนควายไปขายนับตั้งแต่ออกเดินทางไปจนกระทั่งได้กลับถึงบ้านจะใช้เวลาพอสมควร บางทีออกเดินทางตั้งแต่เดือนสามหรือเดือนสี่ กว่าจะได้กลับก็ย่างเข้าเดือนหก หรือเดือนเจ็ด เมื่อกลับมาถึงภูมิลำเนาก็เตรียมทำนากันต่อไป

ในการไล่ต้อนควายไปขายทางจังหวัดภาคกลาง หรือเดินทางไปทำธุระในจังหวัดทางภาคกลางหรือที่กรุงเทพมหานคร คนอีสานจะเรียกว่า “ลงไปไทย” การลงไปไทยของนายฮ้อยส่วนใหญ่จะมีข่าวดีหรือโชคดีกลับบ้าน กล่าวคือ ได้เงินมาเป็นจำนวนมาก บางคนก็ซื้อทองมาฝากคนทางบ้าน แต่ก็มีอยู่เป็นบางครั้งที่เป็นข่าวร้ายเช่น โดนจี้โดนปล้นจนหมดตัว ถูกฆ่าตาย หรือ ป่วยหนักก็มี

เส้นทางที่นับได้ว่า โหดร้าย ทุรกันดารและเสี่ยงภัยมากที่สุดของบรรดานายฮ้อยควายทั้งหลาย เห็นจะเป็นเส้นทางช่วงผ่าน ดงพญาไฟ หรือดงพญาเย็น ในปัจจุบัน พื้นที่ส่วนนี้เป็นเทือกเขาใหญ่ ซึ่งมีภูเขาน้อยใหญ่ สลับซับซ้อน มีป่าอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุมและมีไข้มาลาเรียด้วย

แนวป่าเขาดังกล่าวนี้เป็นบริเวณกว้างขวางตั้งแต่เขตจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก ไปจนถึงเขตจังหวัดสระบุรีด้านตะวันออกแต่เดิมเรียกว่า ดงพญาภัย คงจะมีสารพัดภัยสมชื่อ (เพราะคนสมัยก่อนมักจะตั้งชื่อสถานที่ตามคุณลักษณะเด่นๆที่ปรากฏเห็นชัด) ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น ดงพญาไฟ ครั้นต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง “พระปิยะมหาราช” พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินทางเปิดทางรถไฟดงพญาไฟ ทรงเห็นว่า ชื่อไม่เป็นมงคล ประกอบกับได้ทรงทราบว่าในคราวสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ – นครราชสีมา ในช่วงก่อสร้างผ่านดงพญาไฟมีกรรมกรเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ตลอดจนนายช่างผู้ควบคุมงานชาวยุโรปก็ได้เสียชีวิตไป ๒-๓ คนด้วย จึงทรงประกาศให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ดงพญาเย็น” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมาก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พื้นที่เขตที่เรียกว่า ดงพญาเย็น เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติผืนใหญ่ของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศที่สำคัญ พื้นดินมีความอุดสมบูรณ์เป็นแหล่งพัฒนาการผลิตการเกษตรที่สำคัญ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งของประเทศไทย หรือของทวีปเอเชียก็ว่าได้ ต่อมา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นมรดกโลกด้วย

จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย

หมายเลขบันทึก: 53382เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมแทรกเตอร์คนมหาชนะชัย0850168206 0838373535

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท