อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์


                                                                                                           เขียนโดย นายสมหมาย ฉัตรทอง

ซื้อรถแทรคเตอร์ดี 8 เป็นเครื่องมือพัฒนา

      ด้วยความยากลำบาก แต่ก็มิได้งอมืองอเท้าต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายพัฒนา ถนน หนทาง กันไม่หยุดยั้ง
บางครั้งกลางคืนเดือนหงายนายอำเภออรุณก็ชวนชาวบ้านทำงานพัฒนา ผลงานที่ได้ก็ยังไม่เป็นที่พอใจหรือไม่จุใจ ขณะนั้นประชาชนเชื่อถือท่านมากให้ความร่วมมือเต็มที่ ความคิดซื้อรถแทรกเตอร์เป็นเครื่องมือผ่อนแรงจึงเกิดขึ้น

      ณ. ศาลาวัดหนองกลับในบ่ายวันหนึ่งของปลายปี พ.ศ.2502 มีพ่อค้า คหบดี กำนันผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน ชาวหนองบัวนั่งอยู่เต็ม  ศาลาวัดมองดูแคบถนัดใจบางคน บางกลุ่มลงมายืนใต้ร่มไม้รอบศาลาทุกคนมีความเห็นพ้องกันโดยไม่มีข้อคัดค้านว่าจะซื้อรถแทรกเตอร์ดี 8 ในราคา 700,000 ให้ได้โดยเร็ว ตำบลใดรวบรวมเงินได้มากที่สุดให้ไปเริ่มทำงานพัฒนาที่ตำบลนั้นก่อน มตินี้เป็นที่พอใจ กำนันผล  กำนันธารทหารมาก  ถึงจะไม่เป็นตำบลใหญ่อย่างตำบลหนองบัวหรือตำบลหนองกลับ แต่จะต้องเอาชนะให้ได้ ราษฎรจะมีความเชื่อมั่นในผลงานตนมากขึ้นและตนจะมีเครดิตในหมู่เพื่อนกำนันด้วยกัน


     ขอแทรกเกร็ดบุคคลที่ควรรู้บางอย่างท่านกำนันผล  ตำบลธารทหารไว้ในบรรณภพสักเล็กน้อย มิฉะนั้น ประวัติ  ท่านจะเลือนหายไปตามกาลเวลา กำนันผลมีอิทธิพลมากทั้งทางดีและไม่ดี แต่ทางดีมีมากกว่านายอำเภอทุกคนจึงเลี้ยงไว้จนตายในตำแหน่ง ท่านเรี่ยไรเงินซื้อรถแทรกเตอร์ได้มากกว่าตำบลอื่น ๆ จึงได้รถแทรกเตอร์ใหม่เอี่ยมไปทำงานที่ตำบลธารทหารก่อน ท่านมีหน้ามีตามาก คนตำบลต่าง ๆ ตามมาดูรถแทรกเตอร์คันใหม่ของอำเภอกันอย่างไม่ขาดสาย คนตำบลธารทหารไม่ต้องถือจอบไปทำงานพัฒนาหามรุ่งหามค่ำ ต่างหาบคอนกระบุงใส่ของไปขายให้คนต่างตำบลที่พากันมาดูรถแทรกเตอร์อำเภอ ทำงานได้เงินเข้ากระเป๋าแก้จนได้สบายไปหลายเดือน

                                                                                                    
         นายผล แสงสว่าง(๒๔๔๔ - ๒๕๑๖) อดีตกำนันตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์           

หมายเหตุ : รูปถ่ายกำนันผลรูปนี้หลวงพ่อพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน(อายุ ๙๒ ปี)ตำบลธารทหาร ได้ให้ยืมไปถ่ายก็อปปี้ในวันที่ไปกราบนมัสการสอบถามข้อมูลกำนันผลที่วัด ในคราวไปงานศพหลวงพ่อเจ้าคุณไำกร วัดหนองกลับ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖
        เรื่องปราบปรามต้องยกให้ท่านกำนันผล  พวกคนร้ายทำผิดหนีจากเขตอื่นเข้ามาในตำบลธารทหาร ให้ทางอำเภอหรือทางตำรวจไปบอกท่านไม่ต้องตามคนร้ายเข้าไป ท่านจับส่งให้ได้หมด นอกจากหนีออกไปนอกพื้นที่ก่อน
เขาเล่ากันจะจริงเท็จอยู่ที่คนเล่าว่าท่านชอบให้คนในตำบลเรียกตัวท่านว่านายอำเภอเมื่ออยู่ในตำบล หากมองในแง่ของการปกครองก็ไม่เสียหายอะไร เพราะกำนันก็คือนายอำเภอน้อย ๆ นั่นเอง มีพื้นที่การปกครองเป็นของตนเอง ปลัดอำเภอเสียอีก ไม่มีพื้นที่ปกครองเองโดยตรง เพียงแต่อาศัยตำแหน่งนายอำเภอ ช่วยเหลือนายอำเภอปกครองพื้นที่อำเภอเท่านั้น กำนันผลคุมพ่อค้าอยู่หมัดพ่อค้าในตำบลและตำบลใกล้เคียงตลอดจนในตลาดหนองบัวมีความเกรงใจและทั้งกลัวเกรง  ท่านมีทรัพย์สินที่ดินมาก ตายแล้วเผาไม่ได้ ทายาททะเลาะกันสังขารร่างเก็บไว้เป็น
10 ปี มาเผาสมัยนายอำเภอสมหมาย เป็นนายอำเภอหนองบัว


      สรุปว่า ใช้เวลาไม่นานก็รวบรวมเงินได้ 700,000 บาท ซึ่งขณะนั้นในปลายปี 2502 คิดว่าทองคำมีค่าไม่เกินบาทละ 400 บาท ให้เทียบเคียงค่าของเงินสมัยนั้นเปรียบเทียบค่าของเงินในปัจจุบันดูเอาเอง นายอำเภออรุณเดินทางไปกรุงเทพฯ กับปลัดสัญชัยไปจัดซื้อด้วยตนเอง เข้าบริษัทโน้นออกบริษัทนี้ ขอซื้อด้วยเงินสด ไม่มีเงินผ่อนเหมือนปัจจุบัน ตัดสินใจซื้อรถแทรกเตอร์ดี 8 ได้ 1 คัน ในราคา 500,000 บาท รถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อใช้เป็นรถงานได้อีก 1 คัน ในราคา 200,000 บาท เขาว่าแถมรถจี๊ปให้อีก 1 คัน ให้ท่านเป็นส่วนตัว ท่านไม่เอามอบให้เป็นของอำเภอเพื่อใช้ในส่วนรวมอำเภอ


      นัดประชุมพ่อค้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนอีกครั้ง ณ ศาลาวัดหนองกลับเพื่อแถลงรายละเอียดให้ทราบและมีมติตัดปัญหาการซ่อมบำรุง ค่าน้ำมัน ค่าพนักงานขับรถ 2 คัน ยกให้เป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ แต่มีเงื่อนไขว่าใช้งานในพื้นที่อำเภอหนองบัว แบบว่าให้เขาก็ยังเป็นของเรา


      เริ่มใช้งานครั้งแรกที่ตำบลธารทหารตามมติที่ประชุมกำหนดไว้ หลังจากนั้นก็ได้หมุนเวียนไปรับใช้ตำบลอื่น ๆ โดยทั่วไปอย่างคุ้มค่า รถแทรกเตอร์ดี 8 คันนี้รับใช้ชาวหนองบัวมาเกือบ 20 ปีเต็ม ตรากตรำการทำงานมาไม่เคยพักนอกจากหยุดซ่อม  เริ่มหมดอายุการใช้งานไม่คุ้มค่าการซ่อมแซมอำเภอจึงเสนอขายทอดตลาดไปเมื่อปี พ.ศ.2521 ในราคา 35,000 บาท ผู้ซื้อคิดว่าซื้อแล้วจะรื้อขายเป็นเศษเหล็กหรือไม่ยังไม่แน่ใจจึงจอดทิ้งไว้จนปี 2524  ต้นกระถินลำต้นเท่าข้อมือขึ้นปกคลุมอยู่บริเวณที่ดินที่ใช้สร้างห้องสมุดประชาชนหนองบัวขณะนี้  (ขณะนั้นยังไม่ได้ก่อสร้าง) ซึ่งในปลายปี 2524 นายอำเภอสมหมายได้จัดหาเงินซื้อคืนมาไว้เป็นที่ระลึกเตือนใจถึงความสามัคคี  และกระตุ้นความสามัคคีให้เกิดขึ้นอีกในสมัยของท่าน

 

อนุสรณ์แห่งความสามัคคีของชาวหนองบัว  (อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์)

      ในปี พ.ศ. 2524 เมื่อนายสมหมาย ฉัตรทอง มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้เดินสำรวจพื้นที่ชุมชนในตำบลหนองกลับ ผ่านหน้าโบสถ์ฝรั่งมาฝั่งตรงข้ามหน้าอำเภอ กับปลัดสิงห์ชัย เห็นรถแทรกเตอร์สีแดงเก่าจอดทิ้งอยู่ในป่ากระถินข้างทางบริเวณพื้นที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองบัวในปัจจุบัน บริเวณนั้นเป็นที่สาธารณะ ขณะนั้นห้องสมุดยังไม่ได้ก่อสร้าง นายอำเภอสมหมายเอ่ยถามว่า

   คุณปลัดรถคันนี้เป็นของใครมาจอดทิ้งไว้ทำไม”

    ปลัดสิงห์ชัยตอบว่า

   เป็นรถแทรกเตอร์อำเภอได้ขายทอดตลาดไปแล้วครับ” แล้วกล่าวต่อไปว่า  เขาจอดทิ้งไว้นานแล้ว
ยังคงหาเงินมาซ่อมไม่ได้  หรือไม่ก็คงคิดซื้อไว้ถอดขายเป็นเศษเหล็กในภายหน้าหรือยังไงผมไม่แน่ใจ”

      นายอำเภอสมหมายสืบทราบเพิ่มเติมได้ความว่าในอดีตเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2502 นายอรุณ วิไลรัตน์ นายอำเภอหนอบัวขณะนั้นได้ชักชวน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า คหบดี ประชาชนชาวหนองบัวบริจาคเงินรวมทั้งอำเภอได้เงิน 700,000 บาท ในต้นปี พ.ศ. 2503 ท่านนายอำเภออรุณจึงได้จัดซื้อรถแทรกเตอร์ดี 8 และรถบรรทุก 6 ล้ออีกคัน รวมเป็นเงิน 700,000 บาท และได้มอบรถทั้งสองคันให้เป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการตัดปัญหาเรื่องงบประมาณการซ่อมบำรุง รวมตลอดทั้งค่าน้ำมัน และค่าจ้างเงินเดินพนักงานขับรถอีก 2 คน แต่มีเงื่อนไขให้ใช้งานในอำเภอหนองบัว


     รถแทรกเตอร์ดี 8 คันนั้นรับใช้ชาวหนองบัวมาเกือบ 20 ปี เริ่มหมดอายุการใช้งาน ไม่คุ้มค่าซ่อมบำรุง
ทางราชการจึงเสนอขายทอดตลาดไปเมื่อ พ.ศ. 2521 ในราคา 35,000 บาท เดาใจผู้ซื้อไม่ออก ผู้ซื้อคงคิดซื้อเพื่อขายเป็นเศษเหล็กมากกว่า จึงจอดทิ้งไว้ในสถานที่ดังกล่าว


     นายอำเภอสมหมายทราบดังนั้นเกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะนำมาสร้างเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจเตือนความทรงจำของชาวหนองบัวให้ระลึกถึงความสามัคคีในอดีต และกระตุ้นให้เกิดความสามัคคีขึ้นมาอีก ดังที่ได้เกิดแนวความคิด 4 พฤศจิกาวันพัฒนาประจำปี ในโอกาสต่อไป


     ปัญหาที่คิดคาใจต่อไปสำหรับนายอำเภอสมหมายอยู่ที่ว่า จะหาเงินที่ไหนจัดซื้อคืนมาได้จะใช้เงินหลวงซื้ออีกก็ไม่ได้ จึงปรึกษาหารือเบื้องต้นกับคนใกล้ชิดได้ว่า 

 สิงห์ชัยพี่จะหาเงินที่ไหนมาซื้อรถแทรกเตอร์ดี 8 คืนมาดี”

 ปลัดสิงห์ชัยเสนอความคิดว่า ผมว่าคนหนองบัวชอบมวย มีมวยนัดสำคัญที่ไหนมักจะเหมารถแห่กันไปดูครับ”

     นายอำเภอสมหมายได้ความคิดจากปลัดสิงห์ชัย  จึงนำความคิดนั้นปรึกษาหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดมวยการกุศลขึ้น เรียกว่า ศึกมวยการกุศลรถแทรกเตอร์ โดยใช้หอประชุมโรงเรียนมัธยมหนองบัวเป็นเวทีมวยชั่วคราว สร็จงานแล้วหักค่าใช้จ่ายเหลือกำไร 70,000 บาท


      เมื่อได้เงินสมใจปรารถนาแล้ว พร้อมด้วยเจ้าคณะอำเภอหนองบัวพระนิภากรโสภณได้ออกติดตามไปซื้อคืนจากผู้ประมูล (จำชื่อไม่ได้จริงๆ) ครั้งแรกว่าอยู่บ้านเหมืองแร่ยิปซั่ม ตามไปบ้านดังกล่าว คนบริเวณนั้นบอกว่าเขาไปพักอยู่หลังสถานีรถไฟชุมแสงเตรียมตัวจะเดินทางไปทำงานที่ซาอุดิอารเบีย รีบตามไปหลังสถานีรถไฟชุมแสงพบตัวพอดี เจรจาขอซื้อคืนในราคาประมูลได้ จ่ายเงินสดกันเรียบร้อย

     เจ้าของรถที่ประมูลได้บอกว่า  ท่านมาทันเวลาพอดี ถ้าช้าอีก 3 วัน ผมจะเดินทางไปซาอุฯ ผมจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว” จึงนับว่าโชคดีสมใจนึก เหลือเงินสำรองดำเนินการ  35,000 บาท


       คิดไม่ออกว่าจะทำแท่นอย่างไรดี เป็นโจทย์ข้อต่อไปอีก นึกว่าเคยเห็นรถแทรกเตอร์อยู่บนแท่นหน้ากรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร จึงชวนคณะเดิม ประกอบด้วยปลัดสิงห์ชัย ทำหน้าที่ขับรถพร้อมนายอำเภอสมหมายและพระนิภากรโสภณไปทัวร์กรุงเทพฯ  เป้าหมายรถแทรกเตอร์บนแท่นหน้ากรมทางหลวง ถ่ายรูปมีพระนิภากรโสภณยืนคู่ถ่ายรูปมาเป็นหลักฐาน  ยังนึกไม่ออกว่าจะให้ใครออกแบบให้ เป้าหมาย เร็ว ประหยัด ไม่เสียเงินได้เป็นดี”


      พระนิภากรโสภณแนะว่า  เห็นมีก็อาจารย์ประทวน ข้างวัดหนองกลับ เป็นครูมัธยมหนองบัว  ก็น่าจะเขียนแบบได้” พร้อมกล่าวต่อไปว่า “เห็นแกรับจ้างเขียนแบบบ้านให้ใครหลายราย”


ข้อเท็จจริง  คือ อาจารย์ประทวน บุญจิตรเป็นครูโรงเรียนมัธยมหนองบัว  เป็นอาจารย์เขียนแบบฝีมือดี


     นายอำเภอสมหมายได้ใช้หลักจิตวิทยาเข้าหาอาจารย์ประทวน  วันรุ่งขึ้นชวนปลัดสิงห์ชัยไปเยี่ยมอาจารย์ประทวนที่บ้านห้องแถวข้างวัด  ชวนโอภาปราศรัยจนได้ที่  จึงเข้าเรื่องขอความร่วมมือพร้อมให้รูปรถแทรกเตอร์บนแท่นหน้ากรมทางหลวงให้ดู  พร้อมพาไปดูขนาดรถแทรกเตอร์ที่จอดอยู่ในป่ากระถิน

     อาจารย์ประทวนแนะว่า  ถ้าเอาตามแบบกรมทางหลวงจะเสียงเงินมาก เพราะแท่นสูง  ต้องย่อให้ต่ำลงจะใช้เงินน้อย ท่านมีเงินอยู่เท่าไรครับ”


นายอำเภอตอบว่า พี่มีอยู่ 35,000 บาท เท่านั้นเองน้อง เหลือจากจัดชกมวยและซื้อรถคืนมาแล้ว  เมื่อ 2-3 วันมานี่”

 อาจารย์ประทวนรับปากว่า ผมจะออกแบบให้ประหยัดที่สุด และให้ดูสวยงามที่สุด”

 หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ อาจารย์ประทวนก็นำแบบมาให้ กล่าวว่า แบบที่ให้นี้ราคาวัสดุ  ถ้าซื้อทั้งหมด 400,000 บาท จะประหยัดอย่างไรอยู่ที่ท่านละครับ”

ในที่สุดไม่พ้นสภาหน้ากุฏิพระนิภากรโสภณปรึกษาหารืองบประมาณในการก่อสร้าง  เพราะขณะนั้นมีทุนรองรังอยู่เพียง 35,000 บาท

       เจ้าคณะอำเภอปรารภว่า  อาตมากำลังจะสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อเดิมเป็นครั้งแรก ชุดหนึ่งมี 3 เหรียญ  มีรูปหล่อลอยองค์ เหรียญรูปไข่ และเหรียญรุ่นปักกลด” และกล่าวต่อไปว่า  จะทำเพิ่มให้ท่านนายอำเภอเป็นแผ่นทองแดงปั๊มรูปหลวงพ่อเดิม  ให้นายอำเภอจำหน่ายเอาเงินสร้างอนุสาวรีย์ อาตมาทำเป็นครั้งแรก  หาเงินสร้างวิหารหลวงพ่อเดิม แบบชุดหากท่านนายอำเภอรับไปจำหน่ายด้วยก็จะแบ่งรายได้ให้”

     นายอำเภอเห็นชอบปฏิบัติตามทันที  นายอำเภอสมหมายใช้นโยบายพระสร้างโบสถ์ ศาลา หาเงินไปทำไป เชื่อผลัดหนี้เขาไว้บ้างก็มี  แต่ค่าแรงไม่มีผลัดเพราะถ้าผลัดค่าแรงจะหาผู้ทำไม่ได้ เพราะสร้างกันราคาไม่แพงนักเดี๋ยวช่างจะหนีไปทำงานที่อื่นจะหาช่างได้ไม่ต่อเนื่อง  การก่อสร้างใช้เวลาพอสมควรประมาณ 2 ปี เพราะต้องการประหยัดเงินที่หายาก  ให้ได้งานมากที่สุด วัสดุที่ไหนมีคุณภาพดีราคาถูกจะไปหาซื้อมาอะไรประหยัดได้ไม่ต้องจ่ายเงินได้เป็นดี เช่น กระเบื้องดินเผาด่านเกวียนสีแดง  ประดับรอบแท่นฐานรถแทรกเตอร์ ไปเลือกหาซื้อจากร้านแถวริมถนนรัชดาภิเษก  กรุงเทพมหานคร

      แผ่นหินอ่อนที่จารึกข้อความรอบแท่นฐานอนุสาวรีย์ทุกด้าน  หาซื้อมาในราคามิตรภาพ จ้างตำรวจทางหลวงหนองเบนแกะสลักข้อความในราคา 1 หมื่นบาท  ต่อรองลดราคาให้เหลือ 9,000 บาท จึงจารึกชื่อผู้รับจ้างไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย  ปัญหาสำคัญ  คือ การนำรถแทรกเตอร์ดี 8 ขึ้นแท่น ที่ประชุมหลายฝ่ายเสนอความคิดเป็นหลายทาง

     บางท่านเสนอว่า  ไม่น่าจะยาก คนโบราณทำสำเร็จมาแล้ว ต้องเอาอย่างชาวอียิปต์ หรือชาวบาบิโลน  ทำเป็นดินเอียงลาดแล้วดึงหรือดันขึ้นไป”

        บางท่านเสนอว่า  สมัยนี้พัฒนาแล้ว จะทำอย่างนั้นมันจะหลงยุค คิดใหม่ทำใหม่ทันสมัยหน่อย  แต่ผมยังคิดไม่ออกครับ”

      อีกท่านเสนอดีหน่อยน่าฟังว่า  ผมเห็นในกรุงเทพฯ เขามีรถเครนยกรถได้เป็นคันๆ น่าจะลองติดต่อเช่ามา
จะดีกว่าประหยัดเวลาด้วย แต่ประหยัดเงินหรือไม่ผมไม่แน่ใจนะครับ”

       ได้พิจารณาจากข้อเสนอแนะนำหลายฝ่ายแล้ว  เห็นว่าจะมีปัญหาลำบากยุ่งยากมากถ้าจะต้องใช้วิธีทำเป็นดินเอียงลาด  สมัยนี้มีรถเครนเข้ามาใช้แล้วน่าจะใช้รถเครนยกขึ้นตั้งจะดีกว่า เป็นการประหยัดเวลา  แต่จะประหยัดเงินหรือไม่นั้นไม่ทราบจะลองประสานงานดู เล็งเห็นว่าน่าจะมีที่ใดที่หนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีรถเครน คือ

    1.  ทหารช่างในค่ายจิระประวัติ

    2.  สำนักงาน ร.พ.ช

    3.  บริษัทธุรกิจใหญ่ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์

     นายอำเภอจึงชวนเพื่อนคู่คิดซึ่งมาทำหน้าที่ขับรถประสานงานใหม่แทนปลัดสิงห์ชัย  ภู่งาม ซึ่งขณะนั้นย้ายไปเก็บตัวที่อำเภอตาคลี ได้แก่ นายบุญลือ จีจู  สรรพสามิตอำเภอ

      เป้าหมายที่ 1 ทหารช่างค่ายจิระประวัติ ได้คำตอบมาว่า “เคยมีแต่ไปใช้งานเขาค้อสนับสนุนการปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ตกเขาค้อพังไปแล้ว”

      เป้าหมายที่ 2 ไม่มี 

      เป้าหมายที่ 3 ในยุคนั้นบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ ที่ใช้รถเครนในนครสวรรค์ไม่มี ราคาแพงมากไม่มีใครซื้อทิ้งไว้ไม่คุ้มค่า จะใช้วิธีเช่าจากกรุงเทพมหานครเมื่อจำเป็นจะใช้เป็นบางครั้งบางคราว

     แล้วนายอำเภอก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าน่าจะมีที่หน่วยราชการอีกแห่งที่จังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดชัยนาท โดยเฉพาะที่เขื่อนเจ้าพระยาจำเป็นต้องมีไว้ใช้ยกบานประตูน้ำเหล็กหรืองานหนักอื่นๆ

      จึงชวนคุณบุญลือ จีจูที่ปรึกษาขับรถไปประสานทันที ได้พบนายช่างหัวหน้าโครงการเขื่อนเจ้าพระยา นายอำเภอได้แนะนำตนเองชี้แจงความจำเป็นในงาน  ขอความร่วมมือในการนำรถเครนไปช่วยยกรถแทรกเตอร์ ทางนายช่างฯ แจ้งว่าทางเขื่อนมีความยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนด้วยดี  ได้เวลาวันที่กำหนดนัดหมาย นายช่างฯได้ส่งรถเครนมาช่วยงานตั้งแต่ลากรถออกจากป่ากระถิน  บริเวณพื้นที่ห้องสมุดประชาชนปัจจุบัน เข้าทางประตูหน้าอำเภอ ปัจจุบัน  คือซุ้มป้ายอำเภอกลางรั้วด้านหน้าอำเภอ ผ่านสนามฟุตบอลมาไว้ข้างแท่น  ออกแรงยกครั้งแรกทั้งคนรถน้ำหนักมากยกไม่ขึ้น  จึงถอดผานดันดินออกยกเฉพาะตัวรถขึ้นไปก่อน หมุนวางให้เหมาะสมดีแล้วจึงยกใบผานดันดินตามขึ้นไปติดตั้งภายหลัง  สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีเพียงค่าเลี้ยงดูคนขับและผู้ช่วยที่ติดตามมา  300 บาท มอบวัตถุมงคลหลวงพ่อเดิมแบบตลับปลุกเสกในปี 2526 คนละชุด รวมเป็น 2 ชุด
ได้ตามไปขอบคุณนายช่างฯ และมอบวัตถุมงคลหลวงพ่อเดิมให้ 1 ชุด  สำเร็จไปส่วนหนึ่งยังไม่สมบูรณ์แบบ
คือการฉาบปูนติดแผ่นดินหินอ่อนและประดับกระเบื้องด่านเกวียน แต่ทันเปิดงาน 4  พฤศจิกาพัฒนาประจำปี ครั้งที่ 2 ปี 2526 ครั้งนั้นมีนายยุทธนา บ้วนวงศ์ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ ขณะนั้นมาเป็นประธานพิธีเปิด
และได้ใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจบวงสรวงเปิดงานและระลึกถึงความดีของนายอำเภออรุณ  ในวันที่ 4 พฤศจิกายน และปฏิบัติกันมาตลอดยุคของนายอำเภอสมหมาย

       สำหรับรูปปั้นครึ่งตัว  2 เท่าตัวจริง นายอำเภอสมหมายได้ประสานขอให้คุณนายราศี วิไลรัตน์  ภรรยาหม้ายของนายอำเภออรุณ จัดทำมาในราคา 35,000 บาท โดยคุณนายราศี  เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง  เนื่องจากนายอำเภออรุณท่านเสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภอตาคลี  จึงได้ประสานให้คุณนายราศีนำรูปปั้นที่ปั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วไปตั้งประดิษฐ์ไว้ที่หน้าที่ว่าการอำเภอ ตาคลีเป็นการชั่วคราว จากนั้นนายอำเภอสมหมายได้จัดคณะชาวอำเภอหนองบัวประกอบด้วย  พ่อค้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มสตรี แม่บ้านของหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอหนองบัวไปรับรูปปั้นที่หน้าที่ว่าการอำเภอตาคลี  แห่แหนมาอย่างสมศักดิ์ศรีของบุคคลสำคัญที่คนหนองบัวเคารพนับถือมาประดิษฐานไว้บนแท่นหน้าแท่นอนุสาวรีย์แทรกเตอร์ดี  8 ไว้เป็นอนุสรณ์สืบมา

          เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2535  สมเด็กพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยี่ยมอำเภอหนองบัว  ทรงเยี่ยมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ณ วัดหนองกลับและวิหารหลวงพ่อเดิม  ทรงประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ หอประชุมอำเภอหนองบัวแล้วเสด็จเยี่ยมชมอนุสรณ์แห่งความสามัคคีของชาวหนองบัว  (อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์) นับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณอันสูงยิ่งต่อชาวหนองบัว  และทายาทของนายอรุณ วิไลรัตน์ อดีตนายอำเภอหนองบัว  ที่ทรงให้ความสนพระทัยในอนุสรณ์   สถานที่ที่มีรูปปั้นของนายอำเภออรุณอยู่ด้วย


     วิเคราะห์เชิงอรรถ
     “นายอำเภอคือผู้นำทางความคิด”  เมื่อคิดริเริ่มทำงานใดที่ไม่มีงบประมาณของทางราชการสนับสนุนต้องรีบทำให้สำเร็จในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันต้องระวังจะอยู่ได้อย่างน้อย  2 ปี หากทำไม่สำเร็จถูกย้ายไปเสียก่อน  ผู้ย้ายมาดำรงตำแหน่งมักจะไม่สานต่อเพราะต้องหาเงินจากศรัทธาประชาชนออกแรงมาก  เสี่ยงถูกร้องเรียน จะไปโทษท่านนายอำเภอผู้มาแทนว่าไม่สานต่อก็ไม่ได้ ต่างคนต่างความคิด  นายอำเภอสมหมายนับว่าโชคดีอยู่ในตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว 3 ปี 1 เดือน ทันทำงานที่ตนคิดริเริ่มไว้สำเร็จ


                  

                  

                             

                              

                              

                               

                                

                                

                                

                                

                                

            

                                                

 อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ในมุมมองของข้าพเจ้า

                                                                          โดยนายเอกสิทธิ์ เสาวงษ์

       นายอรุณ วิไลรัตน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว ระหว่าง วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๐๒ ถึง วันที่ ๒๐
ตุลาคม ๒๕๐๘  ผมเอง นายเอกสิทธิ์ เสาวงษ์  อดีตเกษตรอำเภอเมืองนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๓ ที่บ้านเกาะแก้ว หมู่ที่ ๑๐ ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ในช่วงที่ นายอรุณ วิไลรัตน์ เป็นนายอำเภอหนองบัว ท่านได้ออกไปพูดแนะนำชักชวนให้ประชาชนทุกหมู่บ้านในอำเภอหนองบัวบริจาคเงินซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ มาใช้เพื่อช่วยพัฒนาขุดสระน้ำ และทำถนน  ตามความต้องการของแต่ละตำบลในอำเภอหนองบัว แทนแรงงานคนที่ได้ผลงานน้อย ซึ่งคนหนองบัวส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเห็นรถแทรกเตอร์มาก่อน ว่ามีความสามารถทำงานได้มากน้อยเพียงใด แต่ก็เชื่อฟังในคำบอกเล่าชักนำของนายอำเภอนักพัฒนาเงินที่รวบรวมได้เป็นเงินจากชาวบ้าน  ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในอำเภอหนองบัวนั่นเอง  โดยคิดคำนวณจากจำนวนไร่นาที่ครอบ[ครองอยู่  พ่อแม่ผมมีนาที่ครอบครอง ๑๐๐ ไร่เศษได้ช่วยบริจาคซื้อรถแทรกเตอร์ไปเท่าไรผมไม่ได้ถามพ่อผมเพื่อจดจำไว้แต่ก็คงหลายร้อยบาททีเดียว

         เมื่อผมอายุ ๑๒ ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนประถมศึกษาวัดเกาะแก้ว นายอำเภออรุณ ได้ซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ มาใช้งานในอำเภอหนองบัวแล้ว และได้เข้ามาทำถนนในเส้นทางสายอำเภอหนองบัว-ชุมแสง แยกเข้าตำบลห้วยร่วม ผ่านบ้านเกาะแก้วเข้าไปบ้านห้วยร่วมผ่านหมู่บ้านผมพอดี เช้าวันหนึ่งผมจึงปรารภกับพ่อว่า

        “พ่อๆพาผมไปดูรถแทรกเตอร์ของอำเภอทำถนนหน่อย ซีครับ เขาว่ามันทำงานเก่งกว่าคนมากเลย"

        พ่อรับปากผม เช้าวันนั้นเป็นวันโกนผมกินข้าวที่แม่หุงเตรียมไว้ให้แต่เช้า และเตรียมห่อข้าวกับปลาเค็มปลาช่อนด้วยใบตองห่อใหญ่สำหรับไปกินกลางวันกับพ่อ ถนนไปห้วยร่วมห่างทางแยกเข้าบ้านเกาะแก้วประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ เช้าวันนั้นรถแทรกเตอร์ทำงานอย่างแข็งขันเหมือนจะอวดชาวบ้านว่า

        ”ฉันแน่กว่าพวกแกอีก ฉันทำงานเก่งกว่าพวกแก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย วันหนึ่งทำงานได้มากกว่าแรงงานคนเป็นหลายพันคนทีเดียวนา พี่น้องเอ๋ย ”

      ชาวบ้านเกาะแก้วและหมู่บ้านใกล้เคียงแห่มาดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นับเป็นร้อยคนขึ้นไปทุกวัน มีคนขับ ๒ คนผลัดเปลี่ยนกันขับ จะเริ่มทำงานตั้งแต่ ๒ โมงเช้า จนถึงเที่ยงวัน พักกินข้าวกลางวัน ดูแล้วคนขับรถแทรกเตอร์จะอิ่มหมีพีมันดี มีชาวบ้านเอาอาหารของกินมาฝากกันมากมายตามแบบนิสัยคนชนบท มีความเอื้อเฟื้อต่อคนที่มาช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านตนเอง พอตกเย็นห้าโมงเย็นก็หยุดพักผ่อนดูแล้วก็สนุกดีเพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิตตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่  

        พ่อกับผมก็หาร่มเงาต้นไม้กลางนา ดึงเอาห่อข้าวปลาเค็มปลาช่อนที่แม่ห่อมาให้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย
พอบ่ายโมงรถแทรกเตอร์เริ่มทำงานอีก ผมกับพ่อดูต่ออีกเล็กน้อย พ่อบอกว่าเดี๋ยวแม่บ่นว่าไปกันนาน จึงชวนผมเดินทางกลับบ้าน

         จนที่สุดชาวบ้านก็รู้จักคุ้นเคยกับรถแทรกเตอร์ ของนายอำเภออรุณ กันดี เมื่อจบประถมปีที่ ๔ แล้วผมก็ไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้วได้รับทุนไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการเกษตร กลับมาสอบบรรจุเป็นครู โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๒๐ ผมโอนมาอยู่กรมส่งเสริมการเกษตร จนได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเกษตรอำเภอหนองบัว ผมได้เห็นรถแทรกเตอร์ ดี ๘ จอดทิ้งอยู่ในป่ากระถินข้างสำนักงานเกษตรอำเภอหนองบัวของผม ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเป็นห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองบัว ผมเคยถามเสี่ยฮ้ง ผู้รับเหมาอำเภอ ว่าเขาเอามาจอดทิ้งไว้ทำไม เสี่ยฮ้งบอกว่ามันใช้งานไม่ได้เขาขายทอดตลาดไปแล้ว ผมได้แต่ปลงอนิจจังว่า “เฮ้อ เมื่อก่อนนี้มีแต่คนมุงดูแกทำงานเดี๋ยวนี้ไม่มีใครเหลียวแล หรือ อยากมองดูแกแล้ว โถ ! น่าสงสารจัง”

       นายสมหมาย ฉัตรทอง มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ถึง วันที่ ๗
มกราคม ๒๕๒๘ วันหนึ่งท่านเดินผ่านเห็นรถแทรกเตอร์ ดี ๘ จอดทิ้งไว้ในป่ากระถิน ณ ที่เดียวกับที่ผมเห็นแต่ต่างเวลากันได้เอ่ยถาม ปลัดสิงห์ชัย ภู่งาม ปลัดอำเภอคู่ใจ ด้วยคำถามคล้ายกันกับผม และได้คำตอบเหมือนกัน นายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง จินตนาการได้ไกลกว่าผมว่าน่าจะเอาคืนกลับมาเป็นที่รำลึกถึงความดีของชาวหนองบัว จึงได้ปรึกษาผู้นำฝ่ายสงฆ์ พระนิภากรโสภณ (เจ้าคุณไกร)ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน และโดยเฉพาะชมรมร่วมใจชาวหนองบัว หาเงินจัดซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ คันนี้ คืนมาจัดสร้างเป็นอนุสรณ์ความสามัคคีชาวหนองบัว ตบแต่งพ่นสีสวยงามอยู่บนแท่น แล้วนำรูปปั้น นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ที่นายอำเภอสมหมายขอร้องให้ภรรยาท่านนายอำเภออรุณปั้นให้ มาตั้งไว้บนแท่นหน้าฐานรถแทรกเตอร์ จัดให้มีงานรำลึกถึงนายอำเภออรุณ
วิไลรัตน์ และแสดงพลังความสามัคคี ในงานวันที่ ๔ พฤศจิกาพัฒนาประจำปี
มีประชาชนตำบลหนองบัวและตำบลหนองกลับ มารวมพลังกันหน้าอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ในตอนเช้าเพื่อรำลึกถึงความดีของนายอำเภออรุณ โดยเชิญให้ประธานในพิธีคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์หรือตัวแทน คล้องพวงมาลัยดอกไม้ให้รูปปั้นนายอำเภออรุณ แล้วกล่าวสดุดีความดีของท่าน ก่อนเริ่มออกไปพัฒนาโดยใช้รถอีแต๋นขนดินถมที่ลุ่มในบริเวณวัด และถนนสาธารณะตามแผนงานที่กำหนดไว้ เป็นเวลา ๑ วัน มีรถอีแต๋นของชาวบ้านมาร่วมพัฒนากันมากมายทุกปี ผมยังต้องมีภารหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอสมหมายจัดรูปขบวน แบ่งภารหน้าที่ให้หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลหนองกลับ และตำบลหนองบัว ทำงานขนดินพัฒนาวัดหนองกลับ วัดเทพสุธาวาส และที่สาธารณะเป็นประจำทุกปีในห้วงที่ท่านเป็นนายอำเภอ พอพ้นสมัยของนายอำเภอสมหมายแล้วก็เลิกรากันไป ผมปรารภอยู่ในใจว่า “เจ้ารถแทรกเตอร์ ดี ๘ ที่น่ารักเอ๋ย ชีวิตสรรพสัตว์ ก็มีขึ้น มีลงอยู่อย่างนี้ล่ะเจ้าเอย !

       ปัจจุบัน ณ ขณะนี้ เจ้าแทรกเตอร์ ดี ๘ น่าจะเป็นสมบัติมีค่าที่แสดงถึงพลังความสามัคคีของชาวอำเภอหนองบัวในอดีต ซึ่งไม่มีอำเภอใดจำนวน ๑๕ อำเภอ ในจังหวัดนครสวรรค์     ที่จะมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และมีนายอำเภอที่มีผลงานที่สำคัญให้ประชาชนได้กล่าวขวัญติดอยู่บนริมฝีปากและเป็นที่จดจำของประชาชนในด้านดีอย่างไม่ลืมเลือนสักอำเภอเดียวจริงๆ อำเภอหนองบัวนับว่าโชคดีที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีสิ่งนี้ แต่สมบัติอันมีค่านี้กลับตกอยู่ในสภาพรกร้าง ทรุดโทรม ขาดการใส่ใจปรับปรุงพัฒนาให้สมกับเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาวหนองบัวในอดีต
        หรือผมอาจจะคิดมากไปเอง เพราะในอดีตพ่อแม่ ญาติพี่น้องของผม ที่บ้านเกาะแก้ว ตำบลห้วยร่วม และประชาชนทุกตำบล หมู่บ้านในยุคนั้นได้ร่วมกันบริจาคเงินรวมกันทั้งอำเภอ จำนวน ๗๐๐,๐๐ บาท ซื้อเจ้าแทรกเตอร์ ดี ๘ มาเป็นสมบัติของอำเภอหนองบัว ฉะนั้นพวกคนรุ่นหลังรวมทั้งผู้นำตำบล หมู่บ้าน อย่าได้ลืมความหลังในอดีตกันง่าย ๆ เลยครับ บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันทำความดีเอาไว้ เป็นสัญลักษณ์ เตือนตา เตือนใจพวกเรา ให้ระลึกถึงความสามัคคีร่วมใจกันของท่าน ในการพัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำ ให้พ้นจา

หมายเลขบันทึก: 533706เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เจริญพรคุณโยมสมหมาย ฉัตรทอง

นับเป็นโอกาสดี และโชคดีอย่างยิ่งของคนอำเภอหนองบัวเช่นอาตมาที่ได้อ่านบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนอันมีคุณค่าที่ท่านนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทองได้เขียนถ่ายทอดไว้นี้ อ่านแล้วเห็นรายละเอียดและเกล็ดประวัติศาสตร์หนองบัวในหลายแง่มุมมาก บางอย่างอาตมาก็ยังไม่เคยทราบมาก่อนเลยก็มี

ในฐานะคนหนองบัวเคยสอบถามคนเก่า ๆ ว่ามีความประทับใจในบทบาทการพัฒนาของนักปกครอง(นายอำเภอ)ในท่านผู้ใดบ้าง ชาวบ้านตอบคล้ายกันว่าที่จำได้มีไม่มากนัก แต่ที่ชาวบ้านจดจำได้เป็นอย่างดีมีสองสามท่านหนึ่งในนั้นก็คือนายอำเภอสมหมาย(เรียกตามชาวบ้านคือนายอำเภอสืบ(สืบศักดิ์ สุขไทย) นายอำเภออรุณ(วิไลรัตน์)นายอำเภอสมหมาย(ฉัตรทอง) สามท่านนี้ ชาวบ้านถือว่ามีบทบาทมากในการพัฒนาชุมชนหนองบัว

รถแทรกเตอร์คันนี้มาช่วยพัฒนาอำเภอหนองบัวในปี(๒๕๐๒)ให้ได้มีแหล่งเก็บน้ำสำหรับใชอุปโภคบริโภคแก่ชาวหนองบัวซึ่งเป็นถิ่นกันดารขาดแคลนแหล่งน้ำ ซึ่งในปีที่รถแทรกเตอร์มาถึงหนองบัวนั้นอาตมายังไม่เกิดเลย

ถือว่ามีวาสนาที่ได้อ่านเรื่องนี้โดยตรงจากคนต้นเรื่องที่นำมาแบ่งปันในที่แห่งนี้ 

เรื่องอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ : อนุสรณ์แห่งความสามัคคีของคหนองบัว

สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาสาระและภาพประกอบ

ขอเจริญพร

เพิ่งจะมาทราบข้อมูลจากท่านนายอำเภอสมหมายว่า รถแทรกเตอร์คันแรกของอำเภอหนองบัวนั้น ช่างแสนแพงเหลือเกิน จากตัวเลขที่บอกว่าราคาทองคำยุคนั้น(๒๕๐๒)บาทละประมาณ ๔๐๐ บาท เงินจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ที่ชาวบ้านหนองบัวบริจาคเพื่อซื้อรถแทรกเตอร์นี้ ถ้านำไปซื้อทองคำในขณะนั้น จะได้ทองคำหนักถึง ๑,๗๕๐ บาททีเดียวเลยแหละ ลองเทียบราคาทองในปัจจุบัน ซึ่งราคาอยู่ที่บาทละ ๑๙,๕๐๐ บาท ฉะนั้นทองคำหนัก ๑,๗๕๐ บาท จำนวนเงินจะเท่ากับ ๓๔,๑๒๕,๐๐๐ บาท (สามสิบสี่ล้านกว่าบาท)

อย่างนี้เราจะก็สามารถบอกลูกหลานชาวหนองบัวในปัจจุบันได้อย่างภาคภูมิใจว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราท่านมีความสามัคคีร่วมใจกันสละทุนทรัพย์คนละเล็กละน้อยเพื่อส่วนรวมเพื่อความเจริญของชุมชนได้อย่างน่าอนุโมทนายิ่ง คิดในแง่ตัวเลข เงินจำนวนเกือบ ๔๐ ล้านบาทนี้ คิดว่าคงสามรถทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หรือถ้าจะมีใครทำเช่นนี้ได้ต้องมีบารมีสูงมาก ๆ

ถึงรถแทรกเตอร์จะมีมูลค่าสูงมากเพียงใดก็ตาม ก็คงเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าทางจิตใจที่เกิดจากความร่วมือร่วมใจร่วมแรงกันที่แสดงออกถึงความสามัคคีผนึกกำลังกันอย่างแน่นแฟ้นเป็นหนี่งเดียวของชาวหนองบัว จนทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคทุกข์ยากต่าง ๆ นานาไปได้อย่างดีตลอดมา

หมายเหตุ : เห็นท่านนายอำเภอชวนคิดราคารถแทรกเตอร์เทียบเคียงกับปัจจุบัน เลยขออนุญาตลองคิดเทียบเคียงดู คิดดูแล้วช่างน่าทึ่ง น่าอัศจรรย์ใจมากจริง ๆ อย่างนี้จึงเหมาะสมแล้วที่จะเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคีความดีของคนหนองบัวโดยแท้จริงตลอดไป

เรื่องความสามัคคีของคนหนองบัวนั้น ลูกหลานชาวหนองบัวหลายคนได้ช่วยกันเขียนสะสมไว้ในเวทีคนหนองบัวไว้มากพอสมควร กระจัดกระจายอยู่ตามบันทึกต่าง ๆ วิธีเขียนก็คือใครมีเวลามีข้อมูลก็ช่วยกันเพิ่มเติมจากไม่ค่อยมีอะไรเลย ต่อมาก็ช่วยกันสะสมไปเรื่อย ๆ จนทำให้ขณะนี้ชุมชนหนองบัวมีข้อมูลชุมชนอย่างหลากหลายทีเดียว

อย่างความสามัคคีนี้  ก็มีเหตุการณ์ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนเลย ก็มีหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เหตุการณ์เหล่านั้น เป็นเหมือนกับการสร้างเมืองหนองบัวเลยทีเดียว เช่น
(๑)การสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองกลับ(พ.ศ. ๒๔๖๖) นำโดยหลวงพ่อเดิม
(๒) การสร้างวัดเทพสุทธาวาส (๒๔๙๙) สร้างวัดใช้เวลาสร้างเพียงวันเดียวเท่านั้น นำโดยหลวงวพ่อพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเป็นคนหนองบัว)
(๓) การซื้อรถแทรกเตอร์(๒๕๐๒) นำโดย นายำอำเภออรุณ วิไลรัตน์
(๔) สร้างอาคารเรียนโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาบหนองบัว) นำโดยนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ และหลวงพ่ออ๋อย
(๕) ประเพณีบวชนาคหมู่ ริ่เริ่มโดยหลวงพ่อเดิม

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวข้างต้นนั้น ล้วนต้องอาศัยความสามัคคี
ฉะนั้น ความสามัคคี จึงเป็นส่วนหนึ่งของหนองบัว ดังคำขวัญที่ว่า "ลื่อเลื่องความสามัคคี"

ขออนุญาตแนะนำย่อ ๆ  ส่วนเนื้อหารายละเอียดหาอ่านได้ที่เวทีคนหนองบัว

แก้คำผิด (ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาบหนองบัว) แก้เป็น ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลหนองบัว


ท่านกำนันผล  แสวสว่าง กำนันตำบลธารทหารนี้ กิตติศัพท์ของท่านขจรกระจายเป็นที่จดจำของคนหนองบัวในยุคท่าน จนถึงปัจจุบัน เรียกว่าท่านมีทั้งพระเดชและพระคุณ แต่ที่เล่าขานสืบต่อกันมาส่วนมากจะเป็นด้านพระเดชซะมากกว่า วิเคราะห์จากคำบอกเล่าได้ความว่าท่านน่าจะเป็นบุรุษที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง มีความเฉียบขาดในการปกครอง(เทียบได้กับเผด็จการ) เพราะถ้าไม่มีความเด็ดขาด ก็จะปกครองคนไม่ได้หรือเอาไม่อยู่นั่นเอง

คนเก่า ๆ เล่าให้ฟังว่า ในปีที่มีการเรี่ยเงินไปซื้อรถแทรกเตอร์นั้น แต่ละตำบลก็ขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้บริจาคเงิน สองร้อยบาทบ้าง สามร้อยบาทบ้าง หรือตามกำลังที่จะเสียสละกันได้  โดยไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเท่านั้นบาทเท่านี้บาท ผู้ให้ข้อมูลบอกว่ามีตำบลเดียวเท่านั้นที่กำหนดจำนวนเงินแน่นอน คือตำบลธารทหารคนกำหนดก็ไม่ใช่ใคร คือท่านกำนันผลนั่นเอง กำหนดให้ทุกครัวเรือนต้องจ่ายให้ครบตามที่ท่านกำหนด ไม่จ่ายจะอยู่ในตำบลธารทหารไม่ได้เด็ดขาด ถ้าลูกบ้านเบี้ยวไม่่่่่่่จ่าย หนึ่งอยู่ไม่ได้คือต้องย้ายออกจากตำบลธารทหารไปเลย สองจะถูกเก็บ(เฉียบขาดมาก)

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี่เอง ทำให้ตำบลธารทหารของกำนันผล เข้าวินมาอันดับหนึ่งคือเรี่ยไรเงินได้มากที่สุด เลยได้สิทธิ์ในการใช้รถแทรกเตอร์ก่อนใครเพื่อน ชาวบ้านเล่าต่อว่า รถแทรกเตอร์เดินทางจากกรุงเทพฯ มาทางอำเภอท่าตะโก แล้วเข้าตำบลธารทหารพอดี  เมื่อรถมาทางตำบลธารทหาร ถนนจากท่าตะโกยังไม่มี รถจึงได้ทำถนนจากอำเภอท่าตะโก มาถึงอำเภอหนองบัวด้วยประการฉะนี้(เท็จจริงอย่างไรก็อยู่ที่ผู้เล่า : เกล็ดประวัติบอกเล่า)

แก้คำผิด ท่านกำนันผล  แสวสว่าง  แก้เป็น ท่านกำนันผล  แสงสว่าง

ข้อความบนการบันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 60 ปี จารึกไว้บนแผ้นดิน ตามสารบัญด้านล่างนี้ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ไปเก้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือเพียงตรวจความถูกต้องและแทรกรูปมีประมาณ 200 กว่าหน้า A4 พร้อมที่จะส่งโรงพิมพ์ต่อไปได้แล้ว พระคุณเจ้าทักท้วงแนะนำมาก็ดีแล้วครับ

 

60 ปี (2491-2550)  จารึกไว้บนแผ่นดิน อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์

1. อำเภอหนองบัว

      - แผนที่แสดงที่ตั้ง

      - ความเป็นมาในอดีตและปัจจุบัน

     - ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ

2. สถานที่น่าสนใจ

      - วัดหนองกลับ : ประวัติในอดีต  โบสถ์ ศาลา  วิหาร  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

      - เหมืองแร่ยิบซั่ม

      - ที่ดินสาธารณประโยชน์”ทุ่งเขาพระ”

3. ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรม และหลากหลายมุมมองในวิถีชีวิตของชาวหนองบัว จากอดีตถึงปัจจุบัน

     -ขนบธรรมเนียมประเพณีของกิ่งอำเภอหนองบัว พ.ศ. ๒๔๙๑

           *  การดองกันก่อนแต่งงาน

           *  การแต่งกาย

      -ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนหนองบัวในอดีต

      -ตำบลหนองบัวแต่ก่อนขึ้นอยู่กับอำเภอท่าตะโก

      -การเดินทางติดต่อกับอำเภอชุมแสง

      -ชาวชุมแสงมองชาวหนองบัวเป็นเมืองพี่เมืองน้อง

     -หนองบัวแดนสวรรค์ ท้องทุ่งสีทองในอดีต

     -อำเภอท่าตะโก – หนองบัว อำเภอพี่อำเภอน้อง

     -บันทึกความทรงจำ ๕๐ ปีในอดีตของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

     -เหตุเกิดที่อำเภอชุมแสงอำเภอพี่จึงต้องจรลีมาอยู่หนองบัวอำเภอ(ของ)น้อง

      -คริสต์จักรคริสเตียนหนองบัว

      -แรกมีของอำเภอหนองบัว (๑)

     -แรกมีของอำเภอหนองบัว (๒)

     -แรกมีของอำเภอหนองบัว (๓)

4.  ประวัติบุคคลที่ควรรำลึกถึงทั้งในอดีต  และปัจจุบัน

     พระภิกษุสงฆ์

     - พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม)

     - พระเทพสิทธินายก

     -  พระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงพ่ออ๋อย)

     - พระนิภากรโสภณ (หลวงพ่อไกร)

     บุคคลทั่วไป

         ภาคเอกชน

         -  คุณหมออรุณ (URSULA LOEWNTHAL)

         -  นายฮังคิ้ม  แซ่ลิ้ม

         - นายย่งเต๊ยะ  แซ่จึง

         -  นายฮุ้ยเชียง แซ่จู (เฒ่าแก่ย่งซิน)

        ภาคราชการ

        - นายอรุณ   วิไลรัตน์

        -  นายสมหมาย  ฉัตรทอง

        -  นางถนิม  อ่วมวงษ์

        - นายเทียน ท้วมเทศ

        -  นายแหวน บุญบาง


หมายเหตุ เมื่อพระคุณเจ้ามหาแล พูดถึงกำนันผล แสงสว่าง ก็น่าคิดว่าน่าจะเพิ่ม นายผล แสงสว่างไว้  ด้วย
แต่กระผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้วเก็บข้อมูลลำบาก


เจริญพรคุณโยมสมหมาย

เห็นชื่อหนังสือที่ท่านนายอำเภอแนะนำแล้ว มีเรื่องราวหนองบัวทั้งหมดเลย น่าสนใจมาก คงต้องจองล่วงหน้าไว้สักเล่มแล้ว อาตมาตามหาหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับหนองบัวที่คนเขียนไม่ใช่คนหนองบัว ตามหามานานมาก เพิ่งจะมาเจอท่านนายอำเภอสมหมายในปีนี้เอง เลยรู้สึกดีใจอย่างมากที่จะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ 

นายผล แสงสว่าง ที่โยมแนะนำมานั้น ไม่ทราบว่าท่านเป็นผู้นำชุมชนหรือเปล่า อาตมาไม่รู้จักเลย ถ้าให้สันนิษฐานดูจากนามสกุลแล้วน่าจะเป็นคนตำบลธารทหารใช่ไหม ถ้าจะให้อาตมาหาข้อมูลให้ ก็ยินดีจะหาให้ ขอให้ท่านนายอำเภอช่วยแนะนำแหล่งที่จะไปหาให้ด้วยก็แล้วกัน


เห็นรายชื่อบุคคลในหนังสือจารึกไว้บนแผ่นดินแล้ว นึกถึงบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาทันที คือหมอหลุย ปานขลิบ หรือหลวงพ่อหลุย เจ้าอาวาสวัดหนองบัว(วัดป่ามะเขือ) ผู้มีบทบาทหลายด้านต่อชุมชนหนองบัว ทั้งตอนเป็นฆราวาส และตอนเป็นพระภิกษุสงฆ์

                                     

                                     

ผมขอนำภาพและลิงก์บันทึกที่ผมได้เขียนไว้เมื่อปี ๒๕๕๕  http://www.gotoknow.org/posts/483638  มาเสริมบันทึกของท่านรอง ผวจ.สมหมายนะครับ ในฐานะคนหนองบัว และในฐานะได้ร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแลกับคนหนองบัวและเครือข่ายเขียนความรู้ใน Gotoknow ช่วยกันศึกษารวบรวมและเขียนเรื่องราวต่างๆของหนองบัว รวมทั้งพยายามนำเสนอเวทีเรียนรู้ทางสังคมและเวทีเรียนรู้เรื่องราวของหนองบัว ให้เป็นอีกมิติหนึ่งในงานสาธารณะต่างๆของหนองบัวด้วยรูปแบบนิทรรศการ หนังสือ สื่อ เวทีเสวนาชาวบ้านท้องถิ่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายชุมชนและสถานศึกษากับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ การสานเสวนากับผู้นำและนักวิชาการของท้องถิ่น เหล่านี้แล้ว ก็ดีใจมากครับที่ได้เห็นบันทึกและงานเขียนนี้จากท่าน อดีตรองผวจ.สมหมาย ฉัตรทอง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงท่านหนึ่งต่อพัฒนาการของอำเภอหนองบัวและเป็นพื้นฐานในความเป็นหนองบัวในทุกวันนี้หลายเรื่อง จึงเป็น ๑ คนที่มีความหมายมากอย่างยิ่งครับ

บันทึกของผมนั้น ผมได้ไปเดินสำรวจสภาพแวดล้อมและอนุสรณ์รถแทรกเตอร์หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัว เพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกภาพในสภาพปัจจุบันของเมื่อปี ๒๕๕๕ ในช่วงที่ผมไปจัดนิทรรศการเรื่องชุมชนหนองบัว ในงานงิ้วของคนหนองบัว ผมได้คุยกับพัฒนาการอำเภอและคนหนองบัวหลายคน ที่มักกล่าวถึงท่านกับนายอำเภออรุณ และรถแทรกเตอร์ที่ใช้ขุดแหล่งน้ำในหนองบัว ที่คนหนองบัวได้ไปเสาะหาและนำกลับมาเป็นอนุสรณ์นี้อยู่เป็นระยะๆ กระทั่งต่อมาก็ได้ไปคารวะและสนทนากับท่านที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้น ก็ได้มาเขียนบันทึกนี้ไว้น่ะครับ 

ความจริงผมมีข้อมูล รายละเอียด และประเด็นความน่าสนใจ ที่สามารถเชื่อมโยงออกไปสู่เรื่องราวต่างๆได้อีกหลายเรื่องของหนองบัว แต่หลายส่วนก็ได้ข้อมูลจากท่าน ผมเลยรอให้ได้สื่อสิ่งพิมพ์หรืองานเขียนจากท่าน ได้เผยแพร่ก่อน แล้วจึงค่อยเขียนมิติอื่นๆตามมาจะเหมาะสมกว่า ซึ่งเบื้องแรกนั้น ก็พยายามสื่อสารกับผู้อ่านและคนหนองบัวอยู่เสมอๆครับว่าท่านอดีตรองผวจ.สมหมาย ฉัตรทองกำลังรวบรวมข้อมูลและประสงค์จะทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่งให้กับชาวหนองบัว พอมีบันทึกนี้ขึ้นมาอีก เลยยิ่งเป็นเรื่องดี น่าสนุกและคงคึกคักขึ้นอีกเยอะครับ ผมของลิงก์เวทีคนหนองบัวมาไว้กับบันทึกของท่านนะครับ... เวทีคนหนองบัว  http://www.gotoknow.org/blog/nongbua-community

ด้วยความเคารพนับถือครับ
วิรัตน์ คำศรีจันทร์

เมื่อพ.ศ.๒๕๕๒ แวะมาเยี่ยมท่านเจ้าคุณนิภากรโสภณ แล้วแวะมาเยี่ยมอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์และรูปปั้นเห็นรั้วเหล็กรอบอนุสาวรีย์สร้างไว้เกือบ ๓๐ ปีตากแดดตากฝนมานานผุ โย้ จะล้มปรึกษาคูุณนายราษี วิไลรัตน์ ว่าจะช่วยกันเปลี่ยนเป็นรั้วสเตลเลสราคาประมาณน่าจะถึงแสนบาทคิดกันไว้อยู่ ตอนหลังทราบว่าคุณนายป่วยจึงเลิกรากัน แต่มาคิดดูว่าไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของเรา เป็นสมบัติของประชาชนชาวหนองบัว อำเภอหนองบัวมีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ยังอดคิดไม่ได้แบบหลงตัวเอง จึงทำใจได้

ขออนุญาตท่านรองผวจ.สมหมาย ใส่รูปกำนันผล แสงสว่าง กำนันตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ประกอบบทความนี้ อาจกล่าวได้ว่าภาพนี้เป็นภาพสุดท้ายของกำนันที่หาได้ในตอนนี้

ความเห็นข้างบนนั้น อาตมา(พระมหาแล)ไม่ได้บอกว่าผู้โพสต์คือใคร ผู้อ่านอาจงงว่าใครเขียน ผู้เขียนคืออาตมา ที่เข้าไปเขียนในบันทึกนี้ได้ เพราะใช้รหัสที่ท่านรองผวจ.สมหมาย ให้มาเมื่อได้พบกันที่วัดหนองกลับในงานศพหลวงพ่อไกร (๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖)

เจริญพรโยมสมหมาย

ได้ทราบว่าโยมได้นำบทความเรื่องอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ในมุมมองของข้าพเจ้า ของโยมเอกสิทธิ์ เสาวงษ์ มาลงรวมไว้ในบันทึกนี้ บทความดังกล่าวมีเนื้อหาสะท้อนความรู้สึกของผู้เขียนที่มีต่อเรื่องราวรถแทรกเตอร์ออกมาได้กินใจผู้อ่านดีมาก ในบันทึกนี้เดิมก็มีเนื้อหายาวพอสมควรอยู่แล้ว อีกทั้งมีรูประกอบบทความจำนวนมากด้วย เมื่อนำข้อเขียนของโยมเอกสิทธิ์ มาเพิ่มขึ้นอีก เลยทำให้บันทึกนี้ยาวมากจนถูกระบบตัดเนื้อความที่ยาวเกินนั้น ออกไป

อาตมาลองแ้ก้ไขให้ ด้วยการปรับขนาดรูปภาพให้ล็กลงกว่าเดิม ปรับขนาดรูปเล็กลงแล้ว ก็ยังโพสต์เนื้อหาได้ไม่ครบถ้วนเหมือนเดิม เลยต้องปรับให้เล็กลงอีก แล้วนำภาพมาเรียงเป็นคู่แทนการซ้อน ก็โพสต์ได้ไม่หมดอีก ไม่รู้จะทำอย่างไรดีที่จะลงเนื้อหาได้ทั้งหมด สุดท้ายเลยนำภาพออกไปจำนวนสามภาพ จึงเหลือพื้นที่ให้โพสต์เนื้อความได้ทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้
พระมหาแล อาสโย ขำสุข (หนึ่งนาฬิกา ๖ กรกฏาคม  ๒๕๕๖)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท