สมัคร ม.6-8 ด.ไม่ครบ,อบรมครู กศน.56,จบ กศน. มหาวิทยาลัยไม่รับ?,พนักงานราชการชายลาคลอด,ยืมเงินไม่ได้,เลือก Best practice,ต่างด้าวเรียน,เพิ่ม 6% ติดกัน 2 ปี,ห้ามรีเกรด,สำเนาบัตร,หลักสูตร 30,โอนเป็นครู,นวก.ขอชำนาญการพิเศษ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  14  เรื่อง ดังนี้


         
1. คืนวันที่ 16 เม.ย.56 คุณบุญฤทธิ์ พุฒซ้อน ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  รับคนต่างด้าวเรียน เขาต้องมีหลักฐานอะไร

             ผมตอบว่า   ดูรายละเอียดและแบบฟอร์มจาก "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548" ( มีในหนังสือ "คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ทุกเล่ม เช่นเล่มที่เป็น 1 ใน  9 เล่ม ที่แจกให้ครูทุกคนตอนอบรมหลักสูตรใหม่   ถ้าเป็นเล่มปกสีเลือดหมูที่ส่งให้ทุกอำเภอเมื่อต้นเดือน ธ.ค.55 จะอยู่ที่หน้า 99 )
             "หลักฐานอะไร" ให้ดูในระเบียบข้อ 6  ถ้าไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้ใช้  "บันทึกแจ้งประวัติบุคคล" เป็นหลักฐาน   ( บันทึกแจ้งประวัติบุคคลนี้ ใช้แทนทั้งบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน )
             ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่  http://tabianprawet.blogspot.com/2012/04/blog-post.html  


         2. คืนวันเดียวกัน ( 16 เม.ย.) คุณศิรินรัตน์ ครู ศรช. กศน.อ.ชัยภูมิ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  พนักงานราชการ มีสิทธิ์ที่จะได้เงินเพิ่ม 6 เปอร์เซ็นต์ติดต่อกัน 2 ปี ได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า  มีสิทธิ์  ไม่มีระเบียบห้าม  อยู่ที่ผลการปฏิบัติงาน และดุลยพินิจของผู้บริหาร

         3. วันที่ 17 เม.ย.56 อ.เอมอร ครูชำนาญการพิเศษ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมระหว่างเป็นกรรมการกำหนด Spec คอมพิวเตอร์ สนง.กศน.จ.อย.ด้วยกัน ว่า  ข้อมูล นศ. ขั้นพื้นฐาน หลักสูตร 30-31  ในโปรแกรม IT  เป็นระบบ DOS  ต้องใช้กับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า  ซึ่งปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์และปริ้นเตอร์รุ่นเก่า ( DOT matrix ) เสื่อมสภาพไปแล้ว  จะจัดการไฟล์ข้อมูลอย่างไร  ถ้ามีนักศึกษารุ่นเก่าทำใบ รบ.หาย แล้วมาขอใหม่ จะทำอย่างไร

             เรื่องนี้  คุณสุขุม  ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า  ให้ Backup ข้อมูลจากโปรแกรม IT ( หลักสูตร 30-31 )  มา Restore ลงโปรแกรม ITw ( หลักสูตร 44 ) เช่น โปรแกรม ITw 1.7 รุ่น 1 เม.ย.55   โดยในการ Restore ให้เลือกว่า เป็นข้อมูลของโปรแกรม IT  ( มีให้เลือก 3 อย่าง คือ 1. โปรแกรม IT for windows หมายถึง Backup มาจากโปรแกรมเดียวกัน คือโปรแกรมหลักสูตร 44 สำหรับระบบวินโดว์,  2. โปรแกรม IT2 หมายถึง โปรแกรมหลักสูตร 44 สำหรับระบบ DOS,  3. โปรแกรม IT หมายถึง โปรแกรมหลักสูตร 30-31 )
             จากนั้น ถ้าจะใช้งานข้อมูลนักศึกษาหลักสูตร  30-31  ให้เข้าที่เมนู  1 - F-1  ( ขั้นตอนการดำเนินงาน – ข้อมูลนักศึกษาหลักสูตรเก่า(IT) – ใช้งาน/ยกเลิกข้อมูลนักศึกษาหลักสูตรเก่า )
             เมื่อใช้งานข้อมูลนักศึกษาหลักสูตรเก่าเสร็จแล้ว  จะต้องเข้าเมนู  1 - F - 1  อีกครั้ง  เพื่อให้กลับไปใช้งานข้อมูลนักศึกษาหลักสูตร 44 ได้


       
 4. วันเดียวกัน ( 17 เม.ย.) คุณสุภาพร บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ หสม.“เฉลิมราชฯ” อ.ลาดหลุมแก้ว  ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ โอนเป็นครู จะได้เงินวิทยฐานะ 3500 ตามไปด้วยไหม

             เรื่องนี้  อ.สุรเชษฐ์ กจ.กศน. บอกว่า  ไม่ตามไปด้วย   บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ถ้าโอนเป็นครู จะเป็นตำแหน่งครู คศ.3 ( รับเงินเดือนในแท่งอันดับ คศ.3 )  แต่ไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ  ต้องทำวิทยฐานะใหม่ตามลำดับ ตั้งแต่วิทยฐานะครูชำนาญการ  ( ถ้าทำครูชำนาญการผ่านก็ได้เงินวิทยฐานะ 3,500 บาท )
             เรื่องโอนเป็น ขรก.ครูนี้  กศน.จัดอัตราให้โอนเกือบทุกปี ๆ ละประมาณ 10 อัตรา  แต่หลังจากผ่านการพิจารณาของ กศน. ส่งไปขออนุมัติ ก.ค.ศ.  2-3 ปีแล้ว  ก.ค.ศ.ยังไม่อนุมัติเลย    อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการพิจารณาของ กศน.แล้ว  กศน.ก็จะกันอัตราไว้ให้แล้ว  แม้จะผ่านไป 2-3 ปีแล้ว อัตรานี้ก็ยังเก็บรอไว้อยู่

             ผมถาม อ.สุรเชษฐ์ ต่อ ว่า  เมื่อไร กศน.จะเปิดสอบครูผู้ช่วย และ ศน.  อ.สุรเชษฐ์ตอบว่า  เดือน เม.ย.56 นี้ไม่ทันแล้ว  ยังไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะเปิดสอบหรือเปล่า   ( คาดว่าจะเปิดสอบ มิ.ย.56 )


         5. วันที่ 18 เม.ย.56 คุณ Hasnah Musaw ครูอาสาฯ ปัตตานี ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  พนักงานราชการชายมีสิทธิ์ลาคลอดได้หรือ

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นข้าราชการ ระเบียบฉบับใหม่ ปี 55 ให้ข้าราชการชาย "ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร" ( บางคนอาจพูดสั้น ๆ ว่า ลาคลอด ) ได้ไม่เกิน 15 วัน
             แต่ พนักงานราชการยังใช้ประกาศฉบับเดิม ปี 54 ซึ่งไม่มีการลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร  ยังไม่มีประกาศฉบับใหม่ออกมา  ฉะนั้น ณ ขณะนี้ ( เม.ย.56 ) พนักงานราชการชายลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ไม่ได้


         6. วันที่ 19 เม.ย.56 คุณ Patcharee Peecharat ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  หนูทราบมาว่า มี กศน.บางจังหวัดที่มีตำแหน่งนักวิชาการศึกษา เดิมเป็นระดับชำนาญการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นชำนาญการพิเศษแล้ว  อยากทราบว่าเปลี่ยนทั้งหมดหรือบางจังหวัดที่ขอ

             เรื่องนี้  กจ.กศน.บอกว่า  ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังใด ๆ เลย  กรอบยังเหมือนเดิม คือ แต่ละจังหวัดแตกต่างกัน บางจังหวัดกำหนดตำแหน่งในกรอบว่า "ปฏิบัติการถึงชำนาญการ"  แต่บางจังหวัดกำหนดตำแหน่งเป็น "ปฏิบัติการถึงชำนาญการพิเศษ"  ( ต่างกันมาตั้งแต่แรก ไม่ใช่เพิ่งต่างกัน   ดูกรอบอัตรากำลังได้ที่ฝ่ายบุคลากรของ สนง.กศน.จังหวัด/กทม. )
             จังหวัดไหนกรอบระบุตำแหน่งว่า "ปฏิบัติการถึงชำนาญการพิเศษ" ก็ทำชำนาญการพิเศษได้เมื่อผู้ครองตำแหน่งมีคุณสมบัติครบ
             ถ้ากรอบระบุตำแหน่งว่า  "ปฏิบัติการถึงชำนาญการ"  และต้องการทำชำนาญการพิเศษ  ต้องขอย้ายไปยังตำแหน่งที่กรอบระบุว่า "ปฏิบัติการถึงชำนาญการพิเศษ" ก่อน
             ลักษณะเดียวกับบรรณารักษ์ และตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)


         7. วันเดียวกัน ( 19 เม.ย.) คุณณัฐมน กลุ่มพัฒนา กศน. ได้เผยแพร่ข้อมูลในเฟซบุ๊ค เกี่ยวกับ พรบ.การศึกษาตลอดชีวิต ( กศช. )  ว่า
             พรบ.กศช. อยู่ในระหว่างการส่งให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กพร. พิจารณาเสนอความเห็นประกอบ  ( ขณะนี้ผ่านระดับ อนุกรรมการกลั่นกรองของ กพร. มาระยะหนึ่งแล้ว โดยระดับอนุกรรมการเห็นด้วยกับ พรบ.กศช. )
             ถ้าเข้าที่ประชุมและได้ความเห็นจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กพร.เมื่อไร ก็จะส่งความเห็นไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง
             คณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะนำความเห็นของ กพร. ประกอบกับร่าง พรบ.กศช. ส่งให้ ครม.ลงมติ
             ถ้า ครม.มีมติเห็นชอบในครั้งนี้ ก็จะนำเข้าสภา  ( เดิม ครม.รับหลักการแล้ว และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีพิจารณากลั่นกรอง )

             ในขณะเดียวกัน  ระหว่างที่รอความเห็นจาก บอร์ด กพร.นี้ เราก็ยังปรับปรุงร่าง พรบ.กศช.อีก  โดย นางวัทนี จันทร์โอกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอน กศน. เป็นประธานปรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต ให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากงานวิจัย 2 ฉบับ ที่วิจัยโดย ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และ ดร.รุ่ง แก้วแดง
             เพื่อนำร่าง พรบ.กศช.ที่ปรับปรุงนี้ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบกับความเห็น กพร. ขอความเห็นชอบจาก ครม.
             ในช่วงที่เข้า ครม.ครั้งต่อไปนี้ และช่วงที่เข้าสภา ต้องอาศัยท่าน ส.ส.ในพื้นที่ช่วยผลักดัน


       
 8. วันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย.56 ผอ.พิษณุ กศน.อ.เมืองอุบลฯ เขียนในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  จริงอะเป่า จบจาก กศน. ไปต่อ หมอ,วิศวะ ไม่ได้ เพราะ  1.มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่รับถึงจะสอบข้อเขียนผ่าน ก็ต้องไปตกสัมภาษณ์   2.หลักสูตร กศน.51 ไม่เอื้อ    วิชาย่อยก็มีเยอะแยะ กศน.ควรปรับหลักสูตร 51 ได้แล้ว

             ( เขียนในกระทู้เผยแพร่แผนการเรียนสำหรับ นศ.ที่จะไปเรียนต่อทางสาธารณสุข/พยาบาล ฯลฯ ของ ผอ.ภาคิณ กศน.อ.นาเยีย    ใครสนใจแผนการเรียน ดาวน์โหลดได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PlanNfeDocter.xlsx )

             ผอ.ภาคิณ โพสท์ตอบว่า  ลงเรียนตามแผนฯนี้ครับ  ส่วนสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน เป็นเรื่องที่ผู้เรียนต้องปรับบุคลิกภาพของตัวเอง และเรื่องความพร้อมในการเรียน ( ทุนในการศึกษามีมากพอไม๊ )   สถานศึกษาสามารถจัดแผนการเรียนได้ด้วยตัวเองครับ

             ผมเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ว่า  ที่ว่าหลักสูตร กศน.51 ไม่เอื้อ คงหมายถึงการเรียนต่อหมอ/วิศวะ/พยาบาล/สาธารณสุข เขากำหนดจำนวนหน่วยกิตบางวิชาที่เรียนมาด้วย  แต่สถานศึกษา กศน.ทั่วไป ไม่ได้เปิดวิชาเลือกสายวิทย์    ต้องแก้ด้วยการมีแผนการเรียนสำหรับผู้ที่จะเรียนต่อสายวิทย์ตามที่ ผอ.ภาคิณนำมาเผยแพร่นี่    ที่คะแนนรวมสัมภาษณ์ไม่ผ่าน อาจเป็นเพราะคะแนนสอบข้อเขียนต่ำอยู่ก่อน    ( วิชาบังคับมี 14 วิชา  ส่วนวิชาเลือกสถานศึกษาสามารถปรับหลักสูตรสถานศึกษา ให้มีจำนวนวิชาเลือกน้อยลงได้ ด้วยการให้เลือกวิชาที่มีหลายหน่วยกิต หรือรวมวิชาเลือกที่เนื้อหาต่อเนื่องกันให้เป็นวิชาเดียวกัน )


         9. วันเดียวกัน ( 21 เม.ย.) คุณธานินทร์ ครู กศน.ตำบล  กศน.อ.นาแก ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ได้ยินมาว่าการรับสมัครผู้เรียน ม.6 จบภายใน  8 เดือน ถ้าครู กศน.คนไหนทำเป้าไม่ถึง คือ 18 คนต่อครู 1 คนจะต้องออกจากงานสถานเดียว จริงไหม

             ผมตอบว่า   ส่วนกลางไม่ได้กำหนดอย่างนั้น  ยังไม่ได้บอกว่าถ้าจังหวัดไหนได้ไม่ครบจะเป็นอย่างไร (  อยู่ที่การพิจารณาของส่วนกลาง )  และถ้าอำเภอไหนได้ไม่ครบ ก็อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละจังหวัดว่าจะทำอย่างไรกับ ผอ.อำเภอหรือไม่   และถ้าตำบลไหนได้ไม่ครบ ก็อยู่ที่การพิจารณาของ ผอ.อำเภอ ว่าจะทำอย่างไรกับ หน.กศน.ตำบล หรือไม่   เป็นทอด ๆ ไปครับ  ไม่ได้มีการกำหนดใด ๆ  อาจให้เพิ่มค่าตอบแทนเปอร์เซ็นต์ต่ำ หรือไม่ให้เพิ่มเลย หรือไม่เป็นอะไรก็ได้  คงต้องดูสภาพการณ์ต่าง ๆ ด้วย  ถ้าเพื่อนเขาหาได้มากเราหาได้น้อยก็อาจได้รับการพิจารณา  ถ้าได้ไม่ครบเป้าฯแต่ไม่น้อยกว่าเพื่อน ๆ ก็คงไม่เป็นไร
             พยายามให้เต็มที่ไว้ก่อน แล้วจะไม่มีปัญหาครับ   ( เป้าฯคือ 18 คนต่อตำบลนะ  ไม่ใช่ 18 คนต่อครู 1 คน )


       
10. เย็นวันเดียวกัน ( 21 เม.ย.) คุณฤทธิโรจน์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สนง.กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  จะนำเสนอ Best practice ของ กศน.จ.อย. อย่างไร จากข้อมูล 4 อำเภอ คือ
              - อ.พระนครฯ การทำตะกร้าหวาย
              - อ.มหาราช การทำน้ำอบไทย
              - อ.ผักไห่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
              - อ.เสนา โครงการจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต

             ผมตอบว่า  Best Practice คือ “วิธีปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลที่เป็นเลิศ”  ถ้าจะให้ทั้ง 4 อำเภอเป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะเป็น Best practice เรื่อง "การศึกษาต่อเนื่อง" ( คิดว่า กว้างไปนะ )
             การเลือกเรื่องที่เป็น Best Practice ต้องเลือกเรื่องที่
             1)  ประสบความสำเร็จ ( ให้คนมาศึกษาดูงานได้ )
             2)  มีวิธีการทำให้ประสบความสำเร็จที่น่าสนใจ"
             โดยนำเสนอว่า งานนั้นประสบความสำเร็จอย่างไร และมีวิธีการดำเนินงานอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
             ( ถ้า อ.พระนครฯ กับ อ.มหาราช เป็น “การฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ” ทั้งคู่ ก็รวมเป็นเรื่องเดียวกันได้  เป็นมี 3 เรื่องย่อย  1 เรื่องใหญ่  จะนำเสนอเรื่องใหญ่ หรือเรื่องย่อยเรื่องใด ก็ดูว่าเรื่องไหนที่จะนำเสนอได้ว่า ประสบความสำเร็จอย่างไรและมีวิธีทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ   ลองหารือท่านรองฯดู )   ดูข้อมูลเรื่อง Best practice เพิ่มเติมได้ในข้อ 1 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/509493 


        11. เช้าวันที่ 22 เม.ย.56 ผมเผยแพร่ข้อมูลในเฟซบุ๊ค ว่า
              ต่อไป ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายด้านเดียวก็พอ





        12. วันเดียวกัน ( 22 เม.ย.) คุณ “Kanata Sut” นักวิชาการเงินและบัญชี สนง.กศน.กทม. ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค 2 คำถาม คือ

              12.1  ไม่สามารถยืมเงินจัดหลักสูตรระยะสั้นได้ใช่ไหม
                        ผมตอบว่า   ระเบียบกำหนดแต่เพียงว่า “ให้ยืมเฉพาะเท่าที่จำเป็น” ( ระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 ข้อ 54 )  ไม่ได้ระบุว่างาน/กิจกรรมใดยืมได้/ไม่ได้
                        ในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นค่าสอน จะจ่ายก่อนสอนไม่ได้  ฉะนั้นจะยืมเงินไปเก็บไว้รอคอยจ่ายหลังสอนไม่ได้  ถ้าสอนเป็นระยะเวลายาว เช่นเมื่อก่อนศูนย์ฯจังหวัดจะเปิดสอนวิชาชีพหลักสูตร 100-200 ชั่วโมง จะเบิกจ่ายเป็นเดือน ๆ คือเมื่อสอนครบเดือนก็เบิกจ่ายค่าสอนของเดือนนั้น ไม่ได้ยืมเงิน
                        ถ้าเป็นค่าพัสดุ  ราชการใช้ระบบเครดิต  ตรวจรับของก่อนจึงเบิกจ่าย ไม่ต้องยืมเงิน เช่นค่าวัสดุฝึก ตรวจรับของแล้วก็เบิกจ่ายเลย ไม่ต้องคอยเบิกจ่ายพร้อมค่าสอน
                        แต่ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นกรณีใช้เครดิตไม่ได้ ผู้มีอำนาจก็อนุมัติให้ยืมเงินได้โดยอนุมัติให้ยืมหลังหรือพร้อมกับอนุญาตให้ซื้อ
                       ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ให้ยืมได้ และต้องส่งใช้ภายใน 15 วัน นับจากวันเดินทางกลับมาถึง ไม่ใช่นับจากวันเสร็จสิ้นโครงการ
                       การยืมเงิน ไม่จำเป็นต้องให้ยืมเงินเต็มทั้งโครงการ  แต่โครงการจะต้องระบุแยกรายการค่าใช้จ่าย ให้พิจารณาได้ว่าจะให้ยืมเป็นค่าอะไรเท่าไร
                       หลักสูตรระยะสั้น มักจะมีแต่ค่าสอนกับค่าวัสดุฝึก บางจังหวัดจึงไม่ให้ยิมเงินครับ

              12.2  ระเบียบฝึกอบรมตัวใหม่ ค่าที่พักเหมาจ่ายพักคู่ไม่เกิน750 บาท  ถามว่าถ้าเดินทางไปราชการ ต้องยึดอัตรา 800 บาท หรือ 750 บาท
                       ผมตอบว่า   การเดินทางไปราชการ ไม่ได้ใช้ระเบียบการฝึกอบรม ค่าที่พักในการเดินทางไปราชการ ระดับไม่เกินชำนาญการพิเศษ แบบเหมาจ่ายยึดอัตรา  800 บาท ( เหมาจ่ายไม่เกี่ยวกับพักคนเดียวหรือพักคู่ )  แต่ถ้าแบบจ่ายจริง ( มีหลักฐานจากโรงแรม ) พักคู่ ยึดอัตรา 850 บาท


        13. วันเดียวกัน ( 22 เม.ย.) คุณสุทิพย์ แสงใส กศน.สุรินทร์ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  มีนักศึกษาอยากเรียน ม.ปลายใหม่ (เกรดต่ำ)   อยากได้หนังสือราชการที่แจ้ง จะได้อธิบายให้คณะครูและนักศึกษาทราบ

              ผมตอบว่า  กศน.ไม่มีการรีไทร์เหมือนมหาวิทยาลัย จึงไม่มีการให้เรียนรีเกรด     ตามหนังสือกรมการศึกษานอกโรงเรียน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0405/2645 ลงวันที่ 26 มิ.ย.43  กำหนดว่า
             
“ในกรณีที่มีผู้จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว มาขอขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนใหม่ในหลักสูตรเดิม เพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดิม ... ขอเรียนชี้แจงว่า การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ สามารถลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมในหมวดวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ครบตามคุณสมบัติที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ... ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะให้ผู้เรียนกลับมาขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ ... เป็นการได้รับการศึกษาที่ซ้ำซ้อน เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่สิ้นเปลือง ... เป็นการให้โอกาสกับบุคคลที่ได้รับโอกาสไปแล้ว  ควรให้โอกาสกับบุคคลที่ยังไม่มีโอกาส ตามหลักการและปรัชญาของการจัดการศึกษานอกโรงเรียน  จึงไม่สามารถให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรแล้วมาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่และลงทะเบียนเรียนจนจบหลักสูตรอีกครั้ง
             จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งถือปฏิบัติ ... อย่างเคร่งครัด ถ้าสถานศึกษาใดมิได้ปฏิบัติ หากมีความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบ และถือเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติงาน”






        14. คืนวันเดียวกัน ( 22 เม.ย.) ผมนำประกาศรายชื่อผู้เข้าอบรมครู กศน.ปี งปม.56 จากเว็บสถาบันสิรินธร มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ดังนี้
              รายชื่อผู้เข้ารับการอบรมครู กศน. ตามโครงการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพครู กศน. ปี 2556  ณ โรงแรมราชศุภมิตร จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 6 รุ่น  5,566 คน   ( ให้จังหวัดโอนเงินไปให้สถาบันฯสิรินธร หัวละ 2,990 บาท )  

             - รุ่นที่  1  ระหว่างวันที่ 10 - 14 มิถุนายน 2556
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_name1.pdf

             - รุ่นที่  2  ระหว่างวันที่ 17 - 21 มิถุนายน 2556

www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_name2.pdf

             - รุ่นที่  3  ระหว่างวันที่ 1 - 5 กรกฎาคม 2556
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_name3.pdf

             - รุ่นที่  4  ระหว่างวันที่ 15 - 19 กรกฎาคม 2556
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_name4.pdf

             - รุ่นที่  5  ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2556
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_name5.pdf

             - รุ่นที่  6 ( ครูสอนคนพิการ )  ระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2556
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_name6.pdf

             - หนังสือแจ้งและคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานและวิทยากรพี่เลี้ยง รุ่นที่ 1-3
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_1-3.pdf

             - หนังสือแจ้งและคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานและวิทยากรพี่เลี้ยง รุ่นที่ 4-6
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_4-6.pdf

             - ตารางอบรม
www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56.pdf 

             - รายละเอียดการอบรม
http://www.siced.ac.th/koratsite1.08/UserFiles/File/thai%20develop/develop2556/develop56_info.pdf

หมายเลขบันทึก: 533649เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 04:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะก็จะต้องเตรียมตัวเข้าอบรมผู้ที่ยังไม่ได้อบรม

    ขอบคุณที่ นำมาให้อ่าน  นะคะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

หากไม่ได้อบรมครู กศน.ปี งปม.56 จะมีอบรมอีกไหมครับ

เดิมบอกว่าปีนี้หมดแล้ว แต่ถ้ามีผู้ตกหล่นมาก ผมคิดว่าปีหน้ามีอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท