ชีวิตที่พอเพียง : 126. กาลามสูตรกับคำเย้ายวนชวนฝัน (ถึงลาภก้อนโต)


        นสพ. เดอะ เนชั่น วันที่ ๙ กย. ๔๙ ลงข่าวหน้า ๒ เรื่องเจ้าของรถแทกซี่กว่า ๑๐๐ คันเข้าร้องเรียนต่อ สคบ. (สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค) ว่าโดน SME Bank กับบริษัทแห่งหนึ่งร่วมกันโฆษณาและชักชวนให้เจ้าของรถแทกซี่ซื้ออุปกรณ์ ๓ ชิ้นติดรถ    เป็นเงินผ่อนรวมดอกเบี้ย ๖๐,๓๐๐ บาทใน ๕ ปี     โดยบอกว่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง มีตัวเลขให้เสร็จ     ซื้อเมื่อปี ๒๕๔๖    บัดนี้ พบว่าเจ้าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ให้ผลประโยชน์ใดๆ เลย     เจ้าของรถจึงมาร้องเรียนเชิงเปิดโปง

        ถ้าข่าวนี้เป็นจริง    ผมมองว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย     ในโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อย    ที่อ้างว่าทำเพื่อชาวบ้านหรือประชาชน     แล้วในที่สุดก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นการหลอกลวงหาทางเอาเงินเข้ากระเป๋าตนเองหรือพวกพ้อง     น่าจะมีคนทำวิจัยย้อนหลังเอามาให้ความรู้แก่สังคม     นี่คือโจทย์วิจัยที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งสำหรับ Investigative Journalism     เท่าที่ผมนึกออกก็วัวพลาสติกอย่างหนึ่งละ     กล้ายางพาราก็อีกโครงการหนึ่ง

        ใครมีโจทย์วิจัยแบบนี้อีกกรุณาช่วยกันเอามาลงไว้ด้วยนะครับ

        เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย     ทั้งที่เป็นการหลอกลวงใหญ่และหลอกลวงเล็ก     ส่วนใหญ่ผู้ทำจะร่วมมือกันคิดทางหนีทีไล่ไว้เป็นอย่างดีแล้ว     ที่จะไม่ให้มาตรการทางกฎหมายเอาผิดได้    จึงต้องช่วยกันใช้มาตรการทางสังคม    และมาตรการทางวิชาการ    ทางสื่อเข้าร่วมด้วย     ต้องร่วมด้วยช่วยกันครับ

        ที่จริงสังคมไทยน่าจะมีองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม     ที่จะช่วยป้องกันการถูกต้มแบบนี้     ยึดหลัก "กันไว้ดีกว่าแก้"     ให้ผู้ที่สงสัยว่าคำชักชวนชาวบ้านทั่วไปในการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอะไรบ้าง     ที่จริงทำเป็นโครงการทดลองก็น่าจะได้     เป็น pilot development project      ผลที่ได้จะเป็นทั้งผลการให้คำแนะนำช่วยเหลือ     ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคม     และได้ข้อสรุปว่าสังคมควรมีหน่วยงานทำหน้าที่นี้อย่างไร    สคบ. จะทำหน้าที่นี้ได้ไหม     หรือควรมีหน่วยงานแบบ NGO มาทำหน้าที่     หรือสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่อาจมีส่วนงานช่วยเหลือสังคมในแนวนี้     เพราะมันก็คล้ายๆ จะเป็น investigative journalism แบบหนึ่งด้วย

        มองในแง่ตัวเราเอง     เมื่อไรก็ตามมีคนหรือหน่วยงาน หรือนักการเมืองมาชวนลงทุน     หว่านล้อมด้วยผลประโยชน์ที่เย้ายวนชวนฝันก็น่าจะต้องระวังให้จงหนัก     ต้องท่องกาลามสูตร สัก ๑๐๐ จบ    และสืบหาข้อมูลหรือปรึกษาผู้รู้ที่เชื่อถือได้เสียก่อน     อย่าเชื่อข้อมูลของผู้ที่จะเอาประโยชน์จากเราเป็นอันขาด

        ผมมีชีวิตที่พอเพียงมาได้จนปูนนี้ก็เพราะยึดถือกาลามสูตรนี่แหละครับ

         ถ้าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง ผมก็ขอโทษ SME Bank ไว้ด้วยนะครับ    ที่ยกเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์เรียนรู้เตือนใจ  

วิจารณ์ พานิช
๙ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 53349เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ต่างประเทศเขามักสร้างองค์กร politician watch ไว้ และเผยแพร่ทาง web site ว่าใครพูดอะไร ใครทำอะไร ใส่ตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้โดนฟ้อง
  • ผ่านไปหลาย ๆ ปีคนเขาก็จะเห็นเองว่าบันทึกประวัติศาสตร์นั้นเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นพวงหรีดให้กับนักการเมืองคนนั้น
  • กองทุนสุขภาพถ้าเจียดเศษเงินมาสร้างสถาบันภาคประชาชนตรงนี้ คงจะมีผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพจิตประชาชน...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท