งานที่ไม่ "อัตโนมัติ" ในการใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ


มาเล่าอย่างละเอียด เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง

ความจริงวันนี้เหนื่อยกายจนหัวไม่แล่น อยากจะนอนพักมากกว่า เพราะงานในการคุมเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ Hitachi 917 นั้นต้องใช้ทั้งสมาธิและกำลังในการทำงานไม่น้อยเลย วันนี้หน่วยเคมีฯได้รับงาน 700 กว่าราย เมื่อรวมกับงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเครื่องทั้งก่อนและหลังการทำงานด้วยแล้ว เรียกได้ว่าเราทำงานเกินคุ้มจริงๆ สุขใจจนล้นเหลือ แต่เหนื่อยกายจนหมดท่าจริงๆ แทบจะไม่อยากเขียนอะไร ไปนอนดีกว่าเสียแล้ว แต่เพราะได้เห็นบันทึกต่างๆของน้องๆ และ ได้รับทราบข่าวดีจากท่านหัวหน้าภาคฯว่าเรื่องของเราได้รับความเข้าใจที่แท้จริงจากท่านคณบดีแล้ว จึงต้องทำใจให้มีแรงพอที่จะเขียนเล่าความเป็นจริงที่ถ้าไม่ใช่คนปฏิบัติจริงเล่า ก็คงจะไม่มีใครมาเข้าใจพวกเรา 

ในแต่ละวัน เราต้องเปิดเครื่องในตอนเช้าโดยผู้ที่อยู่เวรเช้า ต้องเปิดฝาน้ำยาในเครื่อง ซึ่งมี 2 ถาดรวมๆแล้วก็ 50 กว่าขวด ปกติเราจะต้องเช็คระดับน้ำยาต่างๆที่ต้องใช้ แล้วเตรียมจัดการให้เพียงพอสำหรับวันรุ่งขึ้น ขอย้ำนะคะว่า "คน"เป็นผู้เตรียม เป็นผู้ตรวจว่าระดับเพียงพอไหม เป็นผู้เติม เป็นผู้เปิด ปิด น้ำยาทั้ง 50 กว่าตัวนี้ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำยาพร้อมใช้งาน แต่ปริมาณในการตรวจตรา เติมก็ไม่น้อยเลย

ต่อจากตรวจเช็คน้ำยา เตรียมพร้อมเครื่อง ซึ่งมี function ต่างๆที่เราต้องเป็นคนสั่งทำ เครื่องไม่ได้ดูแลตัวเอง เราต้องใส่น้ำยาสำหรับล้างช่องตรวจต่างๆ เตรียมสาร standard และ control เพื่อการควบคุมคุณภาพ เมื่อผลออกมาก็ต้องตรวจเช็คว่าค่าที่ได้ถูกต้อง อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในการตรวจ sample ปกติ แล้วจึงจะเริ่มทำการลำเลียงสิ่งตรวจเข้าทำการตรวจ

จะเห็นได้ว่า งานที่ทำด้วยเครื่องอัตโนมัตินั้น มีเฉพาะขั้นตอนการวิเคราะห์เท่านั้นที่เป็นอัตโนมัติ คือเครื่องดูด sample ไปผสมกับน้ำยาในเครื่อง แล้วทำการวัดเทียบกับสารมาตรฐาน แล้วจึงรายงานค่าที่ได้ออกมา ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เมื่อทำด้วยเครื่องจะทำให้ใช้เลือดปริมาณน้อยและทำได้หลายการทดสอบในเวลารวดเร็วเมื่อเทียบกับวิธีสมัยก่อนที่เราต้องทำเอง ในขณะที่งานสำคัญอื่นๆตามที่เล่ามานั้น ทำโดยคน

เพราะฉะนั้น การมีเครื่องมากขึ้น จะเพียงทำให้การตรวจวิเคราะห์เสร็จได้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ลดงานของคนที่จะต้องดูแล และจัดการกับงานที่ไม่อัตโนมัติทั้งหลายเลย กลับจะต้องใช้คนเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลจัดการงานเหล่านี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เพราะระบบของเรายังไม่ on-line ทั้งหมด ทำให้เราต้องทั้งดูแลควบคุมสิ่งเหล่านี้ และเป็นผู้ลำเลียงสิ่งส่งตรวจเข้าและออกจากเครื่อง ต้องกดแป้นเลือก test ต่างๆ เท่ากับจำนวนสิ่งตรวจที่มี ลองคิดถึงการทำงานเหล่านี้จำนวน 600 - 800 ครั้ง (จำนวนสิ่งตรวจ) และการกดแป้นซ้ำๆกัน ทั้ง lab no และ test ดูก็แล้วกันค่ะว่า คนหนึ่งคนรับผิดชอบไป พอสิ้นวันก็มีอาการอย่างที่กำลังรู้สึกอยู่ตอนนี้แหละค่ะ ไม่อยากคิด อ่าน เขียน อะไรเลย ขอไปนอนดีกว่า เก็บพลังไว้ลุยต่อในวันพรุ่งนี้ค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 53317เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เป็นกำลงใจให้ค่ะ
  • สู้ๆนะ ^^
เคยมีคำถามจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง สิบกว่าปีผ่านมาแล้วค่ะ ว่า คุณมีเครื่องอัตโนมัติแล้ว เอาคนไปทำอะไร?
    พี่เม่ยตอบสั้นๆว่า "คนก็มีหน้าที่ไปควบคุม การทำงานของเครื่องไงคะ?? เพราะเครื่องพวกนี้ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะกดปุ่มเปิดแล้วก็ปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆได้ ต้องมีคนคอยควบคุม ดูแล ออกคำสั่ง ให้ทำงานตามที่เราต้องการ"...เงียบค่ะ...สงสัยไม่ปลื้ม..จบ!
    มาคิดดูแล้ว เราไม่น่าจะเรียกเครื่องมือพวกนี้ว่าเครื่องอัตโนมัติ เพราะทำให้สื่อความหมายผิดพลาด น่าจะเรียกว่า หุ่นยนต์ (Robot) ที่มาช่วยทำงานแทนคน แต่ทำได้เร็วกว่า มากกว่า แต่ขั้นตอนเท่าเดิม ที่สำคัญคือต้องทำตามคำสั่งของเจ้าของ คิดเองไม่เป็น...มากกว่าเนาะ!
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท