ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก : (น้องแดน) การเรียนรู้เรื่องสำนึกรักบ้านเกิด (ผ่านการเป็น "ผู้ช่วยพี่เณร")


การที่น้องแดนได้สัมผัสกับเรื่องราวในวิถีเช่นนี้คือกระบวนการอันสำคัญของการปลูกฝังให้เขามีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ผ่านฐานการเรียนรู้ของ “บ้านเกิด” ฐานการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพร พี่ๆ น้องๆ ประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรม การกินการนอน การร้องการเต้น ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้คือ “ทุนทางสังคม” ที่จะหนุนเสริมให้เกิดการตกผลึกเป็น “ทุนชีวิต” ที่ดีสำหรับเขา

การปลูกฝังให้ลูกๆ มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม  เป็นกระบวนการบนฐานคิด “หว่านพืชหวังผลในระยะยาว”  เพราะคงไม่สามารถเห็นมรรคผลในห้วงระยะเวลาอันสั้นได้  เนื่องเพราะต้องพึ่งพิงกับบริบทหรือปัจจัยนานาประการ ทั้งปัจจัยภายในครอบครัวและปัจจัยภายนอกครอบครัว




ผมเองก็เติบโตมาจากครอบครัวที่ข้นแค้น  เคยอดข้าวเป็นวันสองวัน  ไปโรงเรียนก็ไม่ค่อยมีเงินค่าอาหารเที่ยง  ครั้นพอถึงเวลาของการพักเที่ยง  ก็จำต้องพาตัวเองไปหลบเร้นอยู่แต่ในห้องสมุด  ขลุกอยู่แต่ในนั้น  เรียกได้ว่าเสพหนังสือแทนข้าวก็ว่าได้

แต่ทั้งปวงนั้น ก็มิได้ทำให้ผมหดหู่สิ้นหวัง  ตีโพยตีพาย โทษท้อต่อโชคชะตา  ตรงกันข้ามกลับพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างมีสติ  โลดแล่นอยู่กับมันอย่างมีพลัง  มองไปยังอนาคตที่ต้องดีกว่าวันนี้  โดยไม่ละเลยที่จะเคารพต่อ “อดีต”  อันเป็น “รากเหง้า” หรือ “มาตุภูมิ” ที่ประกอบและยึดโยงจากความเป็น “เด็กบ้านนอก”




ครับ, ผมเรียนรู้จากการ “ฝังตัว”  กับเรื่องเหล่านั้นอย่างที่สุด  เจ็บปวดกับมันให้ถึงแก่น  สุขซึ้งกับมันให้ถึงราก  ศรัทธาต่อประสบการณ์ของการสัมผัสจริง แต่ก็ไม่หมิ่นแคลนต่อการพร่ำสอนจากผู้คน ทั้งที่ “ยินดี” และ “ยินร้าย” กับตัวเอง-

ด้วยความที่เชื่อว่าประสบการณ์ที่เกิดจากการสัมผัสจริงเป็นหัวใจหลักแห่งการเติบใหญ่ กอปรกับการเชื่อมั่นว่าการปลูกฝังให้ลูกๆ มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมนั้นเป็นเรื่องระยะยาวที่ไม่อาจเห็นผลในชั่วพริบตา  กระบวนการส่งลูกๆ กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดในช่วงปิดเรียน  จึงเป็นที่มาที่ไปของวาทกรรม “ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก” (เรียนนอกฤดู)

ผมเชื่อว่าการส่งลูกๆ กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านนอกนั้น  เป็นกระบวนการอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปลูกฝังให้พวกเขามีจิตสำนึกที่ดีต่อการเป็นพลเมืองของสังคม   หากแต่ในมุมกลับกันคำว่าสังคมอาจดูเป็นนามธรรมสำหรับลูกๆ อยู่มากโข  ผมเลยต้องย่นย่อความเป็นสังคมในเล็กลีบลงมาอยู่ในรูปของ “หมู่บ้าน” อันเป็น “บ้านเกิด” ในชนบทของผมเอ

เด็กชายแดนไท  ปรีวาสนา  ในวัยย่าง 11 ขวบเองก็เช่นกัน  เขาเองก็กำลังวิ่งเล่นอยู่ในระบบการเรียนรู้เพื่อการเติบโตเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมผ่านมุมคิดและชุดบทเรียนที่ผมออกแบบไว้ให้แนบเนียนและกลมกลืนอยู่ในวิถีประจำวันของเขา –

น้องแดน  อาจถูกเรียกขานต่างกันไปทั้งในชื่อเจ้าจุก, หมูอ้วน, นักเลงลูกทุ่ง ฯลฯ  แต่ที่แน่ๆ แกเป็นคนอารมณ์ดี กินง่าย อยู่ง่าย เอาการเอางาน (แต่ไม่ยอมให้สั่งการ)   ซึ่งตอนนี้แกสูงในราวๆ  1.30 เมตร  หนัก 40 กิโลกรัม  เกรดเฉลี่ยเทอมล่าสุดคือ 3.40 (เทอมที่แล้ว 4.00)




ในบรรดาข้อมูลข้างต้น  เรื่องน้ำหนักและส่วนสูงพอพยากรณ์ล่วงหน้าได้อย่างไม่กังขาว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ  ส่วนผลการเรียนนั้น  ผมเองไม่กล้าการันตีใดๆ ...(55)

แน่นอนครับ  ถึงแม้น้องแดนจะไม่ใช่คนเก็บรายละเอียดใดๆ ได้ดีเท่าน้องดินผู้พี่  แต่ต้องยอมรับว่า เป็นคนเก็บรายละเอียดต่างๆ ได้ดีในแบบฉบับของเขาเอง  เป็นต้นว่าการเก็บรายละเอียดเรื่องการกินได้อย่างไม่บกพร่อง  เพราะเมื่อใดก็ตามที่พี่อิ่มแล้ว,พ่ออิ่มแล้ว,แม่อิ่มแล้ว –น้องแดนจะเก็บรายละเอียดเหล่านั้นอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เรียกได้ว่า  มีเท่าไหร่รับมาจัดการซะเกลี้ยงชามเลยก็ว่าได้ (เอิ๊กๆ...)




ครับ,ในปีนี้น้องแดนยังคงปักหลักชีวิตช่วงปิดเทอมที่บ้านนอกเหมือนทุกๆ ปี  ชีวิตในแต่ละวันโลดแล่นอยู่กับท้องทุ่ง,หมู่บ้าน,วัด...

วันๆ ถ้าไม่มีเพื่อนเล่นก็ถีบจักรยานไปเล่นที่ร้านค้าของญาติๆ ในหมู่บ้าน  หรือไม่ก็ถีบจักรยานไปวัดเพื่อเล่นกับ “พี่เณร” ของตนเอง  ครั้งพอหิวก็จะถีบจักรยานกลับมาหา “แม่ยา” ที่ทุ่งนา กินเสร็จก็ไปเล่นกับเพื่อนๆ ตกเย็นก็จะกลับมารับผิดชอบการงานของเขาเอง  เช่น  ให้อาหารไก่  ช่วยปู่ต้อนวัวเข้าคอก หรือแม้แต่ช่วยเรื่องครัวเล็กๆ น้อยๆ ตามกำลังของเขาเอง  ยิ่งวันไหน “แม่ย่า” ดูเหนื่อยๆ และมีภารกิจากมาย  น้องแดนก็จะทำหน้าที่ในการ “นึ่งข้าว” ซะเอง  เพราะแกเชื่อว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง”

เฉกเช่นกับเมื่อน้องแดนไปหาพี่เณรนั้น  ผมก็มักจะหยิกๆ หยอกๆ น้องแดนเสมอว่าให้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบนั่นก็คือการเป็น “ผู้ช่วยพี่เณร” –

คำว่าผู้ช่วยพี่เณรในความหมายของผมก็คือ ติดสอยห้อยตามพี่เณร (สามเณรแผ่นดิน)  ช่วยสะพายย่าม ประเคนข้าวปลาอาหาร  รับบาตร  ฯลฯ  ซึ่งถึงแม้ตัวจะดูเขินๆ บ้าง  แต่ก็เห็นได้ชัดว่าแกมีความสุขกับภารกิจเหล่านั้นเสมอ  ยิ่งวันไหนเห็นพี่เณรได้ขนมเยอะๆ  แกยิ่งสนุกและกระตือรือร้นที่จะไปอยู่กับพี่เณร  รวมถึงมีการกลับมาเล่าให้ “แม่ย่า” ฟังเสมอว่า “วันนี้พี่เณรได้ตังค์กี่บาทแล้ว”  หรือแม้แต่ “พี่เณร บ่ แบ่งเงินให้แดนจั๊กบาทเลยแม่ย่า...”




โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการที่น้องแดนได้สัมผัสกับเรื่องราวในวิถีเช่นนี้คือกระบวนการอันสำคัญของการปลูกฝังให้เขามีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม  ผ่านฐานการเรียนรู้ของ “บ้านเกิด”  ฐานการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพร พี่ๆ น้องๆ ประเพณีวัฒนธรรม  พิธีกรรม  การกินการนอน  การร้องการเต้น  ฯลฯ  เพราะสิ่งเหล่านี้คือ “ทุนทางสังคม”  ที่จะหนุนเสริมให้เกิดการตกผลึกเป็น “ทุนชีวิต” ที่ดีสำหรับเขา

โดยเฉพาะประเด็นของการเป็น “ผู้ช่วยพี่เณร” นั้น  ผมเชื่อว่าน้องแดนจะค่อยๆ ซึมซับถึงเรื่องราวเชิงประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรมที่เกี่ยวกับสังคม ท้องถิ่น ชุมชน หรือแม้แต่กิจแห่งสงฆ์ไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี   เพราะผมคงไม่สามารถพร่ำบอกในรายละเอียดเชิงลึกเหล่านั้นได้   หากแต่การได้สัมผัสด้วยการลงมือทำ หรืออยู่ในชะตากรรมและนาฏการณ์นั้นด้วยตนเอง  ย่อมทำให้น้องแดนมองเห็นและเข้าใจในคุณค่าและมูลค่าของสิ่งเหล่านั้นไปโดยปริยาย  ขึ้นอยู่กับว่าจะช้า หรือเร็วเท่านั้นเอง –

แต่ที่แน่ๆ  การเป็นผู้ช่วยพี่เณรเช่นนั้น  ย่อมทำให้พี่น้องสองคนรักกันมากขึ้น  น้องแดนคงรักและเข้าใจบริบทของบ้านเกิดได้ดีขึ้น  กระบวนการเหล่านี้  ผมถือว่าเป็นการเรียนพิเศษในอีกวาระหนึ่งของลูกๆ และเป็นการเรียนพิเศษที่บ้านนอกที่มุ่งสู่การปลูกฝังให้ลูกๆ เกิดความรักและผูกพันต่อสังคมผ่านชุมชนอันเป็นบ้านเกิดของเขาเอง

ครับ,มันคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองของสังคม –เรียนรู้การเป็นเยาวชนจิตอาสาในอีกมิติหนึ่งด้วยเช่นกัน  (กระมังครับ)





...16 เมษายน 2556
ปตท.โพนทอง (ร้อยเอ็ด)


หมายเลขบันทึก: 533087เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2013 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีวันหยุดค่ะอาจารย์

  • สบายดีนะคะเจ้าตัวเล็ก

ภาพทุกภาพชัดเจนในความหมายค่ะ น้องชายคนดี

หลานชายโชคดีนะคะ เต็บโตทั้งทางกาย (จ้ำม่ำเชียว) และจิตวิญญาน แถมยังเรียนเก่งด้วยค่ะ

ขอให้มีความสุขกับการเรียนรู้ต่อไปค่ะ 


555 จะบอกว่าเจ้าตัวเล็กจ้ำม่ำและภาพก็ได้บรรยากาศมากๆครับ การส่งเด็กกลับไปเรียนรู้วิธีคิดแบบนี้ดีจังเลยครับ เพราะผมเห็นส่วนใหญ่เรียนพิเศษ แล้วก็ไปเที่ยว ดังวิถีเด็ก กทม. บางส่วน...


          สวัสดี  ช่วงวันหยุด สงกรานต์  ค่ะ

เห็นภาพแล้วมีความสุขครับ

น้องเณรโตไวมากแต่ เจ้าตัวเล็กโตไวกว่า 555

พี่ติดตามเฝ้าชื่นชม หลานชายเจ้าตัวเล็กทั้ง ดิน และแดน  ชื่นชมมากๆ คะในการเลี้ยงดู ทั้งจากการบอกเล่า จากการเขียนบันทึก ปีนี้โตขึ้นมาก 

ทุกครั้งที่ได้อ่านบันทึกของคุณแผ่นดิน

ตัวผมนั้นเบาขึ้นจริง ๆ เลยนะครับ

..

ขอบคุณมากนะครับ



เห็นด้วยกับความคิดและมุมมองของอาจารย์ทุกประการจ้ะ  

ได้รับการปลูกฝังเช่นนี้..เชื่อว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นค่ะ...

  • งดงามและชื่นชมค่ะ อ.พนัสน้อย (น้องแดน)


เอาภาพก่อเจดีย์ทรายที่วัดสุริยาราม บ้านเชียงพิณ มาฝากค่ะ..

สุขสันต์วันดี ๆ ในทุกวันนะคะ...^_^

ปีหน้าเจ้าจุกบอกกราย ๆ ว่าจะโกนจุกและจะบวชด้วยค่ะ

ครอบครัว "ปรีวาสนา" สบายดีกันนะครับ ;)...

พี่เณรน้อยแผ่นดินดูผอมไปนะคะ น้องแดนน่าจะตัวโตกว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแน่ๆเลย ดูคนละบุคลิกกันเลยนะคะ สองหนุ่มของคุณพนัสนี่ แต่ที่แน่ๆต้องช่างคิดเหมือนคุณพ่อแน่นอนเลยค่ะ

ภาษาที่งดงามถ่ายทอดประสบการณ์ที่มหัศจรรย์อิ่มเอมใจจริงๆค่ะอาจารย์

มาเห็นเถียงนาน้อย  ธรรมชาติสะอาดอารมณ์ดีนะครับ

ลูกศิษย์วัดตัวโตจัง..เณรโตไม่ทันแล้ว

ชื่นชมการเลี้ยงลูกของอาจารย์มากครับ

๕๕๕ เจอแนวร่วมแล้วว :)

วิธีการเก็บรายละเอียด ของน้องแดนนั้น เหมือนป้าเลยย เฮ่อๆ :))

ผู้ช่วยพี่เณร ทางภาคเหนือเรียกว่า ขโยม ค่ะท่านอาจารย์

ชื่นชมมากค่ะ

เป็นแนวคิดที่ดีมากๆ ค่ะอาจารย์

  • บันทึกนี้สอนเด็ก ๆ ในช่วงปิดเทอมได้เป็นอย่างดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่มาอ่านเข้า น่าเอาไปเป็นตัวอย่างนะคะ 
  • เห็นหลาน ๆ สนุกสนานกับการเรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียนแล้วทำให้เกิดจินตนาการการเติบโตที่งดงามในอนาคตค่ะ 
  • แล้วก็อย่าลืมคัดบันทึกให้คนอ่านนอกวงการ G2K ได้ร่วมชื่นชมเมื่อทำเป็น e book ด้วยนะคะ

http://www.gotoknow.org/posts/532394?2807505

ผู้ช่วยพี่เณร...สำเนาถูกต้องเลยนะคะ

ปีหน้าจะกลายเป็น....น้องเณร  แล้วสิคะ

ตามมาเก็บเกี่ยวบันทึกไปถอดบทเรียนค่ะ โปรดอย่าลืมร่วมกิจกรรมสุดท้ายก่อนอำลาถาวรค่ะ 

http://www.gotoknow.org/posts/535918  ถอดบทเรียนเขา (ชื่นชม) และถอดบทเรียนเรา เชิงบูรณาการเพื่อการจัดการความสุข Happy Ba ร่วมกันค่ะ  หารือกับพี่นุชแล้วว่าเราสองคนร่วมชื่นชมบันทึกกัลยาณมิตรเพียงลำพังไม่ได้ประโยชน์มากเท่ากับให้ผู้อ่านมาร่วมชื่นชมและถอดบทเรียนร่วมกันค่ะ อย่าพลาดนะคะ ชอบอ่านฝีมีอปรมาจารย์ค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท