(๙.) "การจดทะเบียนเกิดนั้นสำคัญไฉน" ตอนที่ ๑


ปัญหาในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดของเด็กจะไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาหากปราศจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในภาครัฐที่จะต้องเล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญของการรับแจ้งการเกิด และการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยปราศจากข้อยกเว้น

บทนำ

                ปัจจุบันสังคมโลก ได้ให้ความสำคัญต่อเด็กเยาวชนเพราะถือว่า เด็กเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการที่จะพัฒนาชาติ หลายประเทศได้มีการให้ความสนใจ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กเยาวชน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในการก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อเด็กเยาวชนไทย ในการพัฒนาศักยภาพของเด็กเยาวชน โดยปฏิบัติตามหลักของ   กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  (Internationa Covernant on Civil and Political Rights )   อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่เน้นความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ที่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการรับรองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิชุมชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน  และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เน้นการปฏิบัติต่อเด็กทุกกลุ่ม  โดยให้คำนึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

               แต่อย่างไรก็ดีมักจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ต่อบุคลหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่ไร้รัฐ  ไร้สัญชาติ และกลุ่มคนไร้รากเหง้า ซึ่งมักจะต้องเผชิญกับปัญหาการได้รับการปฏิบัติจากภาครัฐอย่างไม่เป็นธรรม  และถูกล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีพึงได้ของตน อันจะส่งผลกระทบทั้งต่อสภาวะทางด้านร่างกาย และจิตใจในท้ายที่สุด  

ทำไมพวกเราจึงไม่ควรนิ่งดูดายต่อการจดทะเบียนการเกิดให้เด็ก ?

           ก็เพราะว่าการจดทะเบียนการเกิดนั้นนับเป็นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยสี่ อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ที่บุคคลทุกคนควรจะได้รับการดูแล ปกป้องสิทธิในการได้รับการจดทะเบียนการเกิดอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีความต่างกันในทางฐานะ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา 

      เนื่องจากการได้รับการจดทะเบียนการเกิดนั้นถือเป็นประตูสำคัญที่จะนำเด็กคนนั้นไปสู่การบริโภคสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ที่ปุถุชนทุกคนจะพึงมีในประการอื่นๆ ทั้งยังเป็นการรับรองความมีชีวิตจิตใจ ความมีเลือดเนื้อ และความมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ของเด็กเกิดที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งในโลกเราด้วย และยังนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อรัฐซึ่งเด็กได้ถือกำเนิดในการรับรู้ถึงความมีตัวตนของเด็กในดินแดนของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเด็กเองในการที่จะได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งโดยหลักสืบสายโลหิตตามสัญชาติของพ่อแม่ของตน

       นอกจากนี้การจดทะเบียนการเกิดจะทำให้รัฐทราบถึงรากเหง้าเทือกเถาเหล่ากอของเด็ก รวมถึงการที่เด็กจะได้รับความช่วยเหลือเยียวยา ปกป้องคุ้มครอง ได้รับโอกาสในการพัฒนา ได้รับการส่งเสริมสมรรถภาพในด้านต่างๆทั้งทางด้านร่ายกาย และจิตใจ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการจดทะเบียนการเกิด จะเอื้อต่อการติดตามและส่งตัวเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว ในกรณีที่เด็กนั้นพลัดหลง หรือตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์  

          อีกทั้งช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบถึงจำนวนเด็กที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการวางแผนให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กกลุ่มนี้ในขณะที่ยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป

            และท้ายที่สุดยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กในการติดตามพ่อแม่กลับประเทศต้นทางของตนเองหรือเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ในกรณีที่เป็นลูกของผู้ลี้ภัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยปัจจุบันในการขึ้นทะเบียนผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย 

ในฐานะที่ประเทศไทยถือเป็นเป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้ดูแลในเรื่องนี้อย่างไร ? 

          จากการที่ประเทศไทยเป็นเป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(Convention on the Rights of the Child 1989 )ของสหประชาชาติเมื่อปี 2535 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการหามาตรการต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสม ภายใต้กรอบแนวคิดของอนุสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อเด็กในทุกกรณี

              เพื่อให้เด็ก หรือบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีได้รับความคุ้มครองในสิทธิพื้นฐาน 4 ประการ  ได้แก่  (1)สิทธิที่จะมีชีวิต  (2)สิทธิที่จะได้รับการปกป้อง (3)สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ (4)สิทธิที่จะมีส่วนร่วม   ซึ่งสิทธิทั้ง 4 ประการนี้ได้ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เช่นกัน 

             อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประเทศไทยยังคงตั้งข้อสงวนในเรื่อง สัญชาติ[i] และเด็กผู้ลี้ภัย[ii]  ด้วยเหตุผลบางประการเนื่องจากเกรงว่าอาจจะก่อให้เกิดการอพยพเข้ามาในประเทศของบรรดาผู้ที่หนีภัยความตายจากประเทศข้างเคียงเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระในการจัดที่พักพิงชั่วคราว การให้ความดูแลในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค และเกรงว่าเราอาจจะต้องประสบกับปัญหาการไหลทะลักของแรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาขายแรงงานอีกด้วย

         โดยลืมคิดไปว่าหากเราช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นเขามาอยู่อย่างถูกกฎหมาย ช่วยเหลือครอบครัวเขาบ้าง ทำให้เขาสามารถบริโภคสิทธิได้ตามสมควร ทำให้เขามีงานที่ถูกกฎหมายทำ เราก็สามารถควบคุมเขาให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีจากการประกอบอาชีพ การติดตามจับกุม และควบคุมตัวได้โดยสะดวกรวดเร็วในกรณีที่บุคคลนั้นตกเป็นผู้ต้องหา เป็นต้น

             อย่างไรก็ดีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดกระบวนการที่จะทำให้เกิดการดำเนินงานตามพันธกรณี ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของรัฐภาคีที่ร่วมลงนาม ที่จะต้องนำหลักการคุ้มครองเด็กภายใต้กรอบอนุสัญญาฉบับนี้ไปแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแพร่หลายมากที่สุด  โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีความพยายามในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรต่างๆทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ในการคุ้มครองสิทธิแก่เด็ก

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด ซึ่งถือเป็นสิทธิสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้เด็กมีสถานะ มีตัวตน ได้รับการรับรอง คุ้มครองและพัฒนาศักยภาพของตนรวมถึงการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกของสังคม

       นอกจากนี้เพื่อเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะให้ความคุ้มครองสิทธิของเด็ก ภายใต้หลักการเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กในทุกกรณี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐไทยจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยในการพิสูจน์ต้นกำเนิดของเด็ก รวมทั้งรับรองสถานภาพบุคคลในทางกฎหมายของพวกเขาเหล่านั้น อันจะเป็นการป้องกันเด็กจากการถูกละเมิดสิทธิต่างๆในอนาคต   

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

บรรณานุกรม

 1.         รายงานการสัมนาคุ้มครองสิทธิเด็กเรื่องปัญหาการจดทะเบียนการเกิด,วันที่12 กันยายน 2545 ณ โรงแรมโซลทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร,2547, 143 หน้า.

2.          พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร , สถานภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมาย สู่สิทธิการมีสัญชาติของเด็กที่มีปัญหาการพิสูจน์ตน ,วารสารวิชาการสิทธิมนุษยชน ,ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (เมษายนมิถุนายน ),2546,หน้า 11-36.

3.          มาลี พฤกษ์พงศาวลี. สถานการณ์โดยทั่วไปทางสิทธิมนุษยชนของเยาวชนในประเทศไทย .กรุงเทพฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย.83 หน้า.

4.         อัจฉรา ฉายากุล. หลักการคุ้มครองเยาวชนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ .กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2547. 48 หน้า. 


 

[i] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 1989  ข้อ 7           1. เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน           2. รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ < จาก  http://www.childthai.org/cic/c169.htm  > 
[ii] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 1989  ข้อ 22
          1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย

หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีบิดามารดาของเด็กหรือบุคคลอื่นติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมในการได้รับสิทธิที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ และในตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ อันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรม ซึ่งรัฐดังกล่าวเป็นภาคี

          2. เพื่อวัตถุประสงค์นี้ รัฐภาคีจะให้ความร่วมมือตามที่พิจารณาว่าเหมาะสมแก่ความพยายามใดๆ ของทั้งองค์การสหประชาชาติและองค์การระดับรัฐบาลหรือองค์การที่มิใช่ระดับรัฐบาลอื่นที่มีอำนาจ ซึ่งร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กเช่นว่าและในการติดตามหาบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นของครอบครัวของเด็กผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการกลับไปอยู่ร่วมกันใหม่เป็นครอบครัวของเด็ก ในกรณีที่ไม่สามารถค้นพบบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นๆ ของครอบครัวของเด็ก ทั้งที่เป็นการถาวรหรือชั่วคราวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดังเช่นที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญานี้
< จาก  http://www.childthai.org/cic/c169.htm  >


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท