กรมอนามัยกับการ(ต้อง)เปลี่ยนแปลง


กรมอนามัยกับความเป็นมา

กรมอนามัย(Department of health)จัดได้ว่าเป็นกรมเก่าแก่ที่สุดกรมหนึ่งที่จัดตั้งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เดิมเรียกว่ากรมสาธารณสุข ในปีพ.ศ. 2495พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495 ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 16 วันที่ 11 มีนาคม 2495 กระทรวงการสาธารณสุขจึงเปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุข และกรมสาธารณสุขเป็นกรมอนามัย ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย จึงถือเอาวันที่ 12 มีนาคม 2495 เป็นวันสถาปนากรมอนามัย

ภารกิจของกรมอนามัยในปัจจุบัน

 หลักการสำคัญดั้งเดิมคือ ความเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มอายุรวมถึงการดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน

           ในปีพ.ศ. 2545กรมอนามัยได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพดี เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีในระดับสากล ภายในปี 2550 ในปัจจุบันงานของกรมอนามัยได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากการเปลี่ยนแปลงงานของกรมนามัยได้เปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณและคุณภาพ การด้านปริมาณนั้น ในปัจจุบันบางงานมีความสำคัญน้อยลง บางงานที่ในอดีตเป็นภาระกิจสำคัญก็ลดความสำคัญลง บางงานไม่มีความจำเป็นที่กรมอนามัยต้องทำเนื่องจากกลับกลายเป็นภาระกิจของหน่วยงานอื่น บางงานหน่วยงานอื่นทำได้ดีกว่า บางงานก็มีงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นซึ่งมีแนวโน้มว่างบประมาณที่กรมอนามัยจะได้รับในงานนั้นก็จะน้อยลงหรืออาจไม่ได้รับเลย ทำให้เลิกภารกิจนั้นๆไปโดยปริยาย การเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวมานั้นสืบเนื่องจาก

        1. ปัญหาบางอย่างมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของปัญหา อันเป็นผลของการดำเนินการแก้ไขได้ลุล่วงไปพอสมควร ทำให้ความสำคัญลดลงไปเช่นปัญหาการวางแผนครอบครัวที่แต่เดิมสังคมไทยมีจำนวนบุตรมากเกินไปเนื่องจากขาดการวางแผนครอบครัว แต่ในปัจจุบันคนไทยนิยมมีลูกแต่น้อย จึงทำให้ความสำคัญที่จะต้องรณรงค์ให้ประชาชนวางแผนครอบครัวก็ลดน้อยลง

        2. การศึกษาทำให้คนไทยตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ และการรณรงค์อย่างต่อเนื่องทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ดีเช่นการออกกำลังกายเป็นต้น

        3. การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตแต่การมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่หลากหลาย ใช้ง่ายก็มีส่วนทำให้ความจำเป็นของการดำเนินงานของกรมอนามัยลดลง เช่นการมีสื่อที่หลากหลาย สามารถให้ความรู้ด้านโภชนาการหรือด้านอื่นๆกระจายไปอย่างทั่วถึง หรือความหลากหลายและความสะดวกในการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิด ทำให้ประชาชนสามารถมีทางเลือกในการคุมกำเนิดอย่างกว้างขวาง

         4. มีการจัดตั้งหน่วยงานและองค์กรใหม่ๆซึ่งมีภาระกิจใกล้เคียงและซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงานเช่น

              4.1 กระทรวงพัฒนาความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งมีงานพัฒนาและยกระดับในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นการเพิ่มคุณภาพของชีวิตหลายงานซ้ำซ้อนกับงานที่กรมอนามัยรับผิดชอบ

              4.2 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีงานสำคัญที่ซ้ำซ้อนด้านอาหารซึ่งเริ่มตั้งแต่การผลิต การโฆษณา และการตรวจสอบด้านคุณภาพ

              4.3 สำนักงานสสส. ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะเป็นยุทธศาสตร์ในการลด ละ เลิกสิ่งเสพติดอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ แต่ในระยะหลังก็ขยายวงมาในเรื่องการออกกำลังกาย และอื่นๆ

                นอกจากนี้ ก็ยังมีหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีภาระกิจใกล้เคียงและซ้ำซ้อนกับกรมอนามัย เช่น กรมควบคุมโรคเป็นต้น

                  ส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพในการจัดการภาระกิจของกรมอนามัยในปัจจุบันย่อมแตกต่างจากกรมอนามัยในอดีตเป็นอันมาก เช่น ภาวะเรื่องทุโภชนาการในอดีตกลับกลายเป็นต้องมาแก้เรื่องเด็กน้ำหนักเกินในปัจจุบัน และปัญหาเรื่องส้วมในอดีตก็ต้องมาต่อยอดเป็นการพัฒนาคุณภาพของส้วมในปัจจุบันเป็นต้น

กรมอนามัยในปัจจุบัน

                การที่เราจะวางแผนการปรับเปลี่ยนกรมอนามัยนั้น เราต้องเรียนรู้ภาระงานของกรมอนามัยในปัจจุบันทั้งเรื่องการบริหาร การบริการ ปัจจุบันกรมอนามัยมีโครงสร้างการบริหารงานตามที่กำหนดไว้ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 119 ตอนที่ 99ก วันที่ 2 ตุลาคม 2545 แบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจ และ 30 หน่วยงาน ดังนี้

                        โครงสร้างการบริหารงานกรมอนามัย

                                        อธิบดีกรมอนาม้ย

                 กลุ่มตรวจสอบภายใน --+-- สำนักที่ปรึกษา

                                       +-----------+--------------+

               รองอธิบดี                  รองอธิบดี                  รองอธิบดี

        กลุ่มภาระกิจพัฒนา     กลุ่มภาระกิจบริหาร        กลุ่มภาระกิจ

         องค์ความรู้และ                  กลยุทธ์                    อำนวยการ

            เทคโนโลยี่

 -กองทันตสาธารณสุข       -สำนักส่งเสริม            -สำนักงานเ                                                สุขภาพ                  เลขานุการกรม

-กองโภชนาการ                  -สำนักอนามัย             -กองคลัง

                                             สิ่งแวดล้อม             

  -กองอนามัยการ               -ศูนย์อนามัยที่             -กองการเจ้า

    เจริญพันธุ์                          1-12                            หน้าที่

-กองออกกำลังกาย            -ศูนย์บริหารกฏ            -กองแผนงาน

    เพื่อสุขภาพ                      หมายสาธารณสุข

-กองสุขาภิบาล                                                      -กลุ่มพัฒนาระ   อาหารและน้ำ                                                           บบบริหาร

-กองสุขาภิบาลชุมชน

  และประเมินผลกระทบ

   ต่อ สุขภาพ

           วิสัยทัศน์ ปี 2545-2547 : เป็นผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพดี เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีในระดับสากล ภายในปี 2550

            ปี 2548-2550 เปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น องค์กรหลักในการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ

           พันธกิจ (พันธกิจเดิมปี 2547) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยการผลิต พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้การส่งเสริมสุขภาพเป็นไปตามมาตรฐานและบทบัญญัติของกฎหมาย

           1) เสริมสร้างพลังแห่งการเรียนรู้และธำรงความเป็นองค์กรแห่งคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาล

            2) ศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกำหนดและรับรองมาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และการสุขาภิบาลในรูปความร่วมมือระหว่างภาคีในประเทศและต่างประเทศ และการผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับสากล

            3) สร้างความเข้มแข็งร่วมกับภาคีทุกระดับในการสร้างเสริมสุขภาพ และดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการส่งเสริมพัฒนาและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อ สุขภาวะของปัจเจกชน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และประชาคมในภูมิภาค

         ปี 2548-2551เปลี่ยนพันธกิจเป็น

             1. การพัฒนา ผลักดัน และสนับสนุนให้เกิดนโยบาย และ กฎหมายที่จำเป็น (Policy and Regulation Advocacy) ในด้านการส่งเสริมสุขภาพของประเทศ

             2. การผลิต พัฒนาองค์ความรู้ และ นวัตกรรม (Innovation and Technical Development) เพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย

             3. การถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมสุขภาพให้กับเครือข่าย (Facilitator) รวมไปถึงการผลักดันและสนับสนุนให้เครือข่ายส่งเสริมสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพ

             4. การพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพให้เข้มแข็ง (System Capacity Building) รวมไปถึงระบบที่เกี่ยวข้อง โดยการกำกับ ติดตาม และประเมินผลเพื่อนำมาสู่การพัฒนานโยบายกฎหมาย และ ระบบอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ

       กลยุทธิ์หลักของกรมอนามัย พ.ศ. 2548-2551

       คือการส่งเสริมสุขภาพและการอนามัยสิ่งแวดล้อม

            1. พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม

            2. กำหนดนโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฏหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ

             3. สร้างกระแสและผลักดันสังคมให้ตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ

             4. สร้างการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างขีดความสามารถภาคีเครือข่าย

             5. พัฒนาสถานที่ สถานบริการและสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และควบคุมปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

             6. แก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิของประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

             7. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมต่อสังคม

           และการพัฒนาองค์กร คือพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

          เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจดังกล่าวในปีงบประมาณ 2548-2551 กรมอนามัยจัดภาระกิจหลัก 10 โครงการให้สอดคล้องกับกลยุทธ์คือ

          1. โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กสมวัย

          2. โครงการครอบครัวแข็งแรงสู่เมืองไทยแข็งแรง

          3. โครงการเด็กไทยทำได้ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ

          4. โครงการลดปัญหาสุขภาพจากระบบสืบพันธุ์

          5. โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

          6. โครงการส่งเสริมการออกกำลังกาย

          7. โครงการความปลอดภัยด้านอาหารและโภชนาการ

          8. โครงการพัฒนาส้วมสาธารณะ

          9. โครงการเมืองน่าอยู่ สู่เมืองไทยแข็งแรง

        10. โครงการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

        การประเมินผลการปฏิบัติราชการปี 2550 ประกอบด้วยมิติสี่ด้านคือ

           1. ด้านการพัฒนาองค์กร

           2. ด้านประสิทธิภาพ

           3. ด้านประสิทธิผล

           4. ด้านคุณภาพการให้บริการ

            งบประมาณกรมอนามัยปี2550

           เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ทำให้ พระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินปี 2550 ยังไม่สามารถกำหนดได้ จึงต้องอาศัยการเบิกจ่ายงบสำรอง โดยเทียบเคียงปีงบประมาณปี 2549 ไปพลางก่อน อย่างไรก็ตามหล้กการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 อยู่ในกรอบค่าใช้จ่ายในหลักการ ประกอบด้วย

             1. ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน (งบบุคลากรและงบดำเนินการเดิม)

                 1.1 ค่าใช้จ่ายประจำ

                 1.2 ค่าใช้จ่ายตามภาระกิจหน่วยงาน

             2. งบประมาณตามยุทธศาสตร์ (งบลงทุนเดิม)      

             3. งบประมาณเพื่อพัฒนาวิชาการ

            4. เงินนอกงบประมาณ

           ศูนย์อนามัย

                ศูนย์อนามัย เป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์ของกรมอนามัยที่แท้จริง ความสำคัญของศูนย์อนามัยเขตต่างๆเป็นจุดชี้ถึงผลลัพธ์ความสำเร็จของวิสัยทัศน์ของกรมอนามัย ศูนย์อนามัยปัจจุบันไม่ควรใช่หน่วยงานที่รับคำสั่งให้ทำงานตามเป้าหมายที่กรมอนามัยกำหนดมาให้เท่านั้น หากแต่เป็นหน่วยงานที่สรรค์สร้างงานให้ได้อย่างไร้ขอบเขตและมีชีวิตชีวาเปี่ยมด้วยความรู้ ความกระตือรือร้น ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำงานของหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคคือศูนย์อนามัยต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ผลสำเร็จของงานก็จะออกมาได้อย่างสวยหรู

                ศูนย์อนามัยควรมีสภาพอย่างไร ได้กล่าวแล้วว่าศูนย์อนามัยเป็นตัวแทนของกรมอนามัยของชาติ ดังนั้นศูนย์อนามัยต้องมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

                1. ในแง่สถานภาพ ศูนย์อนามัยเปรียบได้ก็คือตัวแทนของกรมอนามัยเพื่อปฏิบัติภาระกิจของชาติแทนกรมอนามัยในส่วนภูมิภาค จะเห็นว่าศูนย์อนามัยมีโครงสร้างหลายส่วนเหมือนกรมอนามัย

                2. ในแง่ภารกิจ ศูนย์อนามัยต้องรับภารกิจที่เป็นนโยบายของรัฐบาลผ่านกรมอนามัยซึ่งเป็นต้นสังกัด นอกจากนี้ศูนย์อนามัยยังต้องมีภารกิจและวิสัยทัศน์ต่อชุมชนในเขตงานที่รับผิดชอบ และต้องขับเคลื่อนภาระความคาดหวังของสังคมในด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังมีงานรักษาพยาบาลโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในแต่ละศูนย์ซึ่งปฏิบัติงานอย่างหนักไม่ด้อยไปกว่าโรงพยาบาลของสำนักงานสาธารณสุข

              ดังนั้นศูนย์อนามัยจึงควรมีสภาพดังนี้

                1. สภาพของศูนย์อนามัยต้องไม่ปล่อยให้ทรุดโทรม ทั้งตัวอาคาร เป็นที่งามสง่า เป็นทีศรัทธากับประชาชนและผู้มาติดต่อ

                2. สภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ภายในศูนย์ต้องร่มรื่น ต้องปรับปรุงตกแต่งให้สวยงาม และปลอดภัย ให้เป็นที่ประชาชนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมภายในศูนย์อย่างสบายกายและสบายใจ และศูนย์สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเช่นการออกกำลังกาย การชุมนุมกลุ่มต่างๆได้สะดวก

               3. สภาพการบางอย่างศูนย์ต้องจัดการให้เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและประชาชนที่สนใจมาดูงาน เช่น

                   3.1 ส้วม กรมอนามัยและศูนย์อนามัยไม่ควรคิดว่าแค่สร้างส้วมให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่มาติดต่องานหรือใช้บริการในศูนย์อนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพได้ใช้เหมือนส่วนราชการหรือสถานบริการทั่วไปเท่านั้น แต่ในฐานะที่กรมอนามัยและศูนย์อนามัยมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องส้วมของประเทศ จึงต้องมีวิสัยทัศน์ให้มากกว่าการใช้งาน นั่นคือ ส้วมของศูนย์อนามัยต้องเป็นตัวอย่างและมีมาตรฐานในเรื่องความสะอาด รูปแบบที่จะใช้ ผ่านเกณฑ์สุขาน่าใช้ สามารถให้ผู้สนใจเข้ามาดูและนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี อาจจัดให้มีหลายรูปแบบ หรืออาจจัดเป็นห้องที่สาธิตการพัฒนาส้วมจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคตก็ได้

                   3.2 ร้านอาหาร ร้านอาหารภายในศูนย์อนามัยไม่ว่าจะเป็นของศูนย์อนามัยเอง หรือร้านค้าเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาขายอาหารในศูนย์อนามัยก็ตาม ต้องมีมาตรฐานสูงพอสมควรในทุกด้าน เนื่องจากกรมอนามัยและศูนย์อนามัยต้องจัดการเรื่องมาตรฐานเรื่องอาหารของชาติ จึงต้องเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ด้วย ซึ่งไม่ควรคิดแค่พอให้ผ่านเกณฑ์เท่านั้น แต่ต้องมีมาตรฐานสูงกว่าเกณฑ์ ศูนย์อนามัยจึงจะดำเนินกิจกรรมแนะนำด้านอาหารให้กับประชาชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ด้านอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพก็ต้องได้มาตรฐานทั้งประมาณและคุณภาพเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละโรค

               4. บุคคลากรของศูนย์อนามัย ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดี เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้เป็นผู้ที่ต้องออกไปแนะนำประชาชนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ หากบุคลากรเองไม่สามารถรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ย่อมไม่เป็นที่เชื่อถือของประชาชนโดยทั่วไป การมีสุขภาพดีย่อมหมายถึง

                    4.1 สุขภาพกายดี บุคคลากรภายในศูนย์อนามัยต้องรู้จักรักษาสุขภาพตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมปฏิบัติงานอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งหลายไม่ว่าการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การพนันและอื่นๆ

                    4.2 สุขภาพจิตที่ดี การจะมีสุขภาพจิตที่ดีนั้นบุคลากรต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีดังได้กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ต้องมีกิจกรรมการผ่อนคลาย ต้องลดการขัดแย้งในหน่วยงานให้น้อยที่สุด การสร้างเสริมไม่ให้เกิดความเครียดในหน่วยงานอาจใช้วิธีหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ไม่ให้เกิดความจำเจในงานประจำอันเป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย ลดความกระตือรือร้น

                5. บุคลากรต้องร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร โดยต้องมีความรู้ในงานของศูนย์ในภาพรวม และเรียนรู้งานในส่วนอื่นๆที่ตนไม่ได้รับผิดชอบ ทั้งนี้อาจใช้วิธีหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์เป็นประจำ  

                6. บุคลากรของศูนย์อนามัยเป็นบุคลากรหลักของกรมอนามัย ดังนั้จึงต้องมีศักดิ์ศรีในสถานภาพเช่นเดียวกับบุคลากรในกรมอนามัย การประเมินบุคคลในการเลื่อนระดับหรือตำแหน่งต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน และควรเปิดโอกาสให้บุคลากรของศูนย์อนามัยมีโอกาสเข้าร่วมเป็นกรรมการในการประเมินบุคคลในกรมอนามัยด้วย

                7. ศูนย์อนามัยต้องเน้นกิจกรรมเชิงรุกมากขึ้น ทั้งนี้ศุนย์อนามัยควรต้องมีภาวะผู้นำด้านส่งเสริมสุขภาพให้มาก และต้องสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่นและองค์กรด้านสุขภาพอื่นๆ

               โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

                 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อนามัยที่มีมาพร้อมกับศูนย์อนามัยด้วยซ้ำ โดยพัฒนามาจากโรงพยาบาลแม่และเด็กซึ่งเป็นส่วนรองรับการฝึกงานของนักเรียนโรงเรียนผดุงครรภ์ของกรมอนามัยในอดีต ในปัจจุบันก็ประชาชนยังคาดหวังการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมิได้ลดลงดังจะเห็นว่ายอดผู้ป่วยที่มารับบริการเกินร้อยต่อวัน

               ปัญหาของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

                 1. ยังหาจุดที่ลงตัวไม่ได้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนบทบาทของกรมอนามัยจากเดิมค่อนข้างมากทำให้บทบาทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(โรงพยาบาลแม่และเด็ก)ต่อกรมอนามัยลดลงตามไปด้วยค่อนข้างมากหรือไม่อยู่ในวิสัยทัศน์(out of vision) ดังนั้นแนวคิดของผู้บริหารกรมอนามัยจึงเอนไปในทางปล่อยวางคือมีไว้ก็ได้ หรือยุบไปก็ไม่เสียดายเนื่องจากผลงานของโรงพยาบาลในแง่การรักษาไม่ได้ก่อให้เกิดเป็นผลงานที่ทำให้ผู้บริหารเจริญก้าวหน้าได้หรือไม่ แต่การจะเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเป็นสถาบันส่งเสริมสุขภาพรูปแบบอื่น ก็จะกระทบต่อระบบการบริการที่เคยเป็นมา ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชน และนักการเมืองได้เช่นเดียวกัน

                 2. เนื่องจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพยังหาโครงสร้างที่ชัดเจนไม่ได้ การบริหารก็ยังผูกติดอยู่กับศูนย์อนามัย บางแห่งก็รวมกับศูนย์อนามัย บางแห่งมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลแยกต่างหาก แต่ระบบบริหารยังยึดติดกันอยู่ในแง่งบประมาณ บุคลากร ทำให้ยากแก่การพัฒนาองค์กรเป็นอย่างยิ่ง

                 3. เนื่องจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมีความสำคัญต่อนโยบายของกรมอนามัยน้อยทำให้ผู้บริหารมองไม่เห็นความสำคัญของบุคลากรในส่วนนี้ ยกตัวอย่างเช่นแพทย์ที่ต้องรับภาระในโรงพยาบาลอย่างหนัก บางแห่งต้องตรวจคนไข้ร้อยกว่าคนทุกวัน ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งหรือเวชปฏิบัติหนักอย่างไร ผู้บริหารก็ไม่คิดว่ามีผลงานมากกว่าเจ้าหน้าวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ในกรมอนามัยแต่อย่างใด การขอปรับระดับยังถูกมองในทัศนะคติลบ(ไม่ทราบว่าศักดิ์ศรีน้อยกว่าเจ้าหน้าในกรมหรืออย่างไร)

                  4. การพัฒนาโรงพยาบาลให้มีศักยภาพสูงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดหาแพทย์ในสาขาต่างๆมาลง เนื่องนโยบายของกรมอนามัยที่ไม่เน้นการพัฒนาด้านนี้ ตัวแแพทย์เองการตัดสินใจนอกจากจะสามารถทำงานได้อย่างสบายใจแล้ว ความก้าวหน้าทางราชการก็เป็นปัจจัยที่สำคัญสวัสดิการต่างๆเพียงพอหรือไม่เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์

                  5. เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพไม่ว่าจะเป็นพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆมีความเข้าใจในวิสัยทัศน์ของกรมอนามัยค่อนข้างน้อย แต่ขณะเดียวกันยังต้องทำงานวิชาการของศูนย์อนามัยพร้อมๆไปกับงานประจำของโรงพยาบาลทำให้อิหลักอเหลื่อไม่รู้จะเอาดีทางไหนกันแน่

         โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพยังมีความจำเป็นต้องมีหรือไม่

                 โดยยุทธศาสตร์ของกรมอนามัยที่กำหนดวิสัยทัศน์ด้านส่งเสริมสุขภาพ หากจะใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเพื่อเป็นหน่วยกลยุทธหลักที่สำคัญ ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดของกรมอนามัยในอนาคต ซึ่งอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนภาระบทบาทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ โดยลดภาระหน้าที่และบทบาทบางอย่างและเพิ่มความสำคัญในทางวิชาการบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่นอาจจะต้องเน้นไปในทางโรคที่เป็นปัญหาของชาติเช่นโรค ทาลัสซีเมีย หรือโรคที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมเช่นการวิจัยและรักษาโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะเป็นต้น พร้อมๆกับทำเป็นโรงพยาบาลหรือศูนย์ฝึกอบรมด้านส่งเสริมสุขภาพของนักศึกษาพยาบาล นักศึกษาแพทย์ โดยมีกิจกรรมหลายๆอย่าง เช่น การวิจัยการออกกำลังกาย การสาธิตการจัดรูปแบบของสปา เป็นต้น

                 อีกทางเลือกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหากไม่ทำรูปแบบข้างต้น ก็ต้องพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ โดยอาจพัฒนาร่วมกับคณะแพทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในท้องที่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศเป็นอย่างสูง

                ผู้เขียนหวังว่ากรมอนามัยจะสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับมิติแห่งเวลาซึ่งหมุนไปข้างหน้าและก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคของโลกาภิวัฒน์

คำสำคัญ (Tags): #ข้อคิด#ความเห็น
หมายเลขบันทึก: 53251เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

เป็นความบังเอิญได้เข้ามาเจอ ณ ที่แห่งนี้  ตามหาตัวมานานมาก เพื่อน ๆ ให้อภัยแล้ว ส่งข่าวเพื่อน ๆ น้อง ๆ บ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท