สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน


“ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง” โดยเชื่อว่า ชุมชนจะเรียนรู้ได้ ถ้าหากมีผู้นำทางปัญญาที่เข้าใจคุณค่าของการศึกษาว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังคำที่เบนจามิน แฟรงคลิน บอกไว้ว่า “การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า”

โครงการระดมทุนอุดมศึกษา

“สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เหตุผล

  ชุมชนท้องถิ่นมีปัญหาในการพัฒนา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดผู้นำทางปัญญา ในการนำชุมชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการเรียนรู้และกระบวนการเศรษฐกิจสังคมที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการค้นหาปัญหาที่แท้จริง ตลอดจนการสืบค้นหาทุนต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือ ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ไม่ใช่รอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก

  ระบบสังคมวันนี้ได้ดึงเอาคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ออกจากชุมชน ส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อแล้วทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่างๆ ส่วนหนึ่งออกไปขายแรงงานในเมืองและในต่างจังหวัด มีผู้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในชุมชนจำนวนหนึ่งที่ปรารถนาจะเรียนต่อเพื่อพัฒนาตนเอง แต่ขาดโอกาส โดยเฉพาะขาดเงินทุนเพื่อชำระค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (สรพ.) ได้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยปรัชญาที่ว่า “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง” โดยเชื่อว่า ชุมชนจะเรียนรู้ได้ ถ้าหากมีผู้นำทางปัญญาที่เข้าใจคุณค่าของการศึกษาว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังคำที่เบนจามิน แฟรงคลิน บอกไว้ว่า “การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า”

  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้พัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน และสาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน เพื่อให้โอกาสผู้ใหญ่ในชุมชนได้เรียนรู้ โดยวิธีการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรม คือ การเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เรียนโดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน ใช้ปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นสาระการเรียนรู้ และให้ชุมชนร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้กับชีวิตจริง การศึกษากับการพัฒนาชุมชน

  ประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านมายืนยันว่า การศึกษาเช่นนี้ได้ผลจริง ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลง ชีวิตดีขึ้นตั้งแต่ขณะที่เรียน ชุมชนเข้มแข็งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่นักศึกษาได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

  นอกจากนี้ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ยังมีเป้าหมายที่จะขยายโอกาสทางการศึกษานี้ไปสู่เยาวชนที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย ให้เป็นทางเลือกที่พวกเขาสามารถเรียนแล้ว “อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน” ได้ เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า การศึกษานี้ เสนอทางเลือกที่ดีให้ผู้ที่ไม่สามารถออกไปหรือไม่อยากออกไปเรียนต่อที่อื่น

  ผู้ใหญ่และเยาวชนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านทุนการศึกษา และไม่สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้ ไม่ว่าจะเป็น กยศ.หรือ กรอ. เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกองทุน ส่วนใหญ่จึงหาทางกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งก็มีข้อจำกัดและดอกเบี้ยสูง

  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้พยายามให้เกิด “กองทุนมหาวิทยาลัยชีวิต” ในแต่ละท้องถิ่นที่มีศูนย์การเรียนรู้ของสถาบัน โดยนักศึกษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้พยายามช่วยกันระดมทุนหลากหลายวิธี ทั้งการออมเงิน การทำโครงการพิเศษต่างๆ เช่น การทำนาร่วมกัน การทำเกษตรผสมผสาน การทำวิสาหกิจชุมชน การทอดผ้าป่า และอื่นๆ เพื่อหาทุนมาบรรเทาการขาดแคลนทุนทรัพย์ของนักศึกษาส่วนใหญ่

  ทางสถาบันเห็นว่า การมีกองทุนหมุนเวียนจะช่วยเหลือนักศึกษาได้มาก เพื่อเป็นเงินยืมให้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ใช้เป็นค่าเล่าเรียนในปีแรก ให้สามารถปรับตัวและเตรียมการหาเงินใช้เป็นค่าเล่าเรียนเองได้ในปีต่อๆ ไป รวมทั้งใช้คืนเงินที่ยืมไปจากกองทุนนี้ เพื่อให้คนอื่นมีโอกาสได้ยืมต่อไปด้วย

  การที่นักศึกษาทำเช่นนี้ได้เพราะระหว่างเรียน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาวางเป้าหมายและแผนชีวิต และทำโครงงานพัฒนาอาชีพการงานไปพร้อมกัน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕๓ มีนักศึกษาอยู่ประมาณ ๗,๐๐๐ คน กระจายอยู่ตามศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน (ศรป.) ใน ๓๐ จังหวัดทั่วประเทศ การมีกองทุนหมุนเวียนนี้ จะช่วยให้นักศึกษาปัจจุบันและนักศึกษาที่จะเข้ามาศึกษาต่อ ณ สถาบันแห่งนี้ในอนาคต ได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง เพื่อจะได้เป็นผู้นำท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างรากฐานที่มั่นคงให้สังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วัตถุประสงค์

๑.  เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้นักศึกษาได้ยืมเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนในปีแรก สำหรับจัดระเบียบชีวิตของตน ให้มีความสามารถในการหารายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาจ่ายค่าเล่าเรียนเองในปีต่อไปได้

๒.  เพื่อเป็นศูนย์ร้อยรวมใจ ให้ประชาสังคมร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้นำท้องถิ่นและชุมชนที่เข้มแข็ง

ลักษณะการบริจาค

๑.  ผู้บริจาคสามารถให้ทุน ๑ ทุน ทุนละ ๓๐,๐๐๐ บาท หรือมากกว่า

๒.  ผู้บริจาคสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ในการให้ทุนได้

การให้ยืมเงินจากกองทุน

๑.  นักศึกษาได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการในแต่ละศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน ตามเกณฑ์ที่วางไว้ โดยเน้นที่ผู้มีข้อจำกัดด้านการเงินและมีความตั้งใจเรียนจริง

๒.  นักศึกษาได้รับการพิจารณาให้ยืมเงินได้ในปีแรกเท่านั้น จำนวนไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท และให้มีเพื่อนนักศึกษาหรืออาจารย์ร่วมกันค้ำประกันอย่างน้อย ๓ คน และทำแผนการชำระเงินคืนภายใน ๕ ปี นับจากวันที่ได้รับทุน โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ประโยชน์ที่ผู้บริจาคทุนจะได้รับ

๑.  ได้บุญกุศลที่ช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีผู้นำทางปัญญา ทำให้คนมีทางเลือกที่จะอยู่ในท้องถิ่นได้ โดยเงินทุน ๓๐,๐๐๐ บาท จะช่วยเหลือนักศึกษาได้ปีละ ๑ คน และช่วยเหลือได้อีกมากมายหลายคน เพราะเป็นเงินยืมที่นักศึกษาจะต้องใช้คืนให้กองทุน

๒.  สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักภาษีได้

๓.  สามารถนำโครงการนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการทำCSRของบริษัทหรือองค์กรได้

หมายเหตุ: ผู้บริจาคทุนการศึกษาจะได้รับรายงานการดำเนินงานกองทุน ทุกภาคการศึกษาและสามารถตรวจสอบและติดตามผลของการบริหารจัดการกองทุน และการจัดการศึกษาได้

เป้าหมาย

ทุกฝ่ายระดมทุนๆ ละ ๓๐,๐๐๐ บาท ให้ได้ ๓,๓๐๐ ทุน เป็นเงิน ๙๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๑.  ศรป. แต่ละแห่งทำเป้าให้ได้ ๑๐ ทุน รวม ๓๐๐ ทุน เป็นเงิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๒.  สรพ. ระดมจากบุคคลให้ได้ ๑ คนๆ ละ ๑ ทุน รวม ๑,๐๐๐ ทุน เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๓.  สรพ. ระดมจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ๒,๐๐๐ ทุน เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑.  ได้กองทุนหมุนเวียนให้นักศึกษาที่ขาดแคลนเงินทุนได้ยืมเรียนในปีแรก โดยในระหว่างเรียนนักศึกษาต้องทำแผนชีวิต แผนสุขภาพ แผนอาชีพ และแผนการเงิน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตและชำระค่าเล่าเรียนด้วยตนเองในปีต่อๆ ไปได้

๒.  ได้กองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยนักศึกษาที่มีปัญหาขาดแคลนทุนการศึกษาได้ไม่น้อยกว่า ๓,๓๐๐ คนต่อปี

๓.  สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้รับเงินค่าเล่าเรียนจากนักศึกษา สามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และพึ่งพาตนเองได้

๔.  บริษัทและองค์กรได้ทำ CSR ได้ประชาสัมพันธ์ตนเอง และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาชุมชน

๕.  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา อาจารย์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนกับสาธารณะ โดยเฉพาะผู้บริจาคเข้ากองทุนที่เป็นบุคคล องค์กร สถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือ เกิดเครือข่ายประชาสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข

การบริหารกองทุน

  ให้มีการบริหารกองทุนในรูปคณะกรรมการกองทุน

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

๑๓/๒ หมู่ที่ ๑ ต.บางคนดี อ.บางคนดี จ.สมุทรสงคราม ๗๕๑๒๐

โทรศัพท์ ๐๓๔-๗๕๗๔๕๒-๗ โทรสาร ๐๓๔-๗๕๗๔๕๘

www.life.ac.th



ความเห็น (1)

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

ขอเชิญร่วมทำบุญด้านการศึกษา

ด้วยการบริจาคเงินสบทบทุนเข้า

กองทุนหมุนเวียนมหาวิทยาลัยชีวิต

เพื่อให้นักศึกษาได้ยืมเรียนเป็นเวลา ๑ ปี

และใช้คืนกองทุนในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่เสียดอกเบี้ย

เพื่อส่งต่อให้นักศึกษารุ่นน้อง

ได้ยืมเรียนต่อๆ กันไป

เปรียบเสมือนธารน้ำใจที่มอบไว้ตลอดไปอย่างไม่ขาดสาย

โปรดร่วมมือ ร่วมใจ รวมพลังสร้างสรรค์

  “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง”

ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บริหารกองทุนโดย

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

(Learning InstituteFor Everyone : LIFE)

มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

  สถาบันการศึกษาที่ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง ผู้เรียนมีชีวิตที่ดีขึ้นขณะเรียน

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

ความเป็นมา

ในปี ๒๕๔๘ สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) ได้ระดมความคิดเห็นจากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน นักพัฒนาองค์กรเอกชน และนักวิชาการที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อทำการสรุปบทเรียนในการพัฒนาชีวิตและชุมชนท้องถิ่นไทย จากการประมวลความรู้และประสบการณ์ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พบว่าชีวิตคนในชุมชนจะดีขึ้นและส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งได้ ด้วยการทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และทำแผนชีวิตของตนเองได้ ๔ แผน ได้แก่ แผนชีวิต แผนสุขภาพ แผนการเงิน และแผนอาชีพ

สสวช. ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากชุมชนเข้มแข็งต่างๆ เหล่านั้น มาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน และดำเนินการในรูปของโครงการ “มหาวิทยาลัยชีวิต” โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยราชภัฎหลายแห่ง มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทไปแล้ว ประมาณ ๙,๔๐๐ คน

สสวช. จดทะเบียนเป็นมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และได้ดำเนินการก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (สรพ.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เปิดทำการเรียนการสอน หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ระดับปริญญาตรี ๓ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน และสาขาการจัดการการเกษตรยั่งยืน หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ระดับปริญญาโท ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสาขาการจัดการระบบสุขภาพชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับประกาศนียบัตรที่เรียกว่าปริญญาชีวิต

ปัจจุบัน สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (สรพ.) มีเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน (ศรป.) กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่ ๓๕ จังหวัด และมีศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต (ศรช.) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนในแต่ละจังหวัดกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ รวม ๒๐๐ ชุมชน มีนักศึกษาประมาณ ๗,๐๐๐ คน และมีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นได้ ปริญญาชีวิต ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

๑๓/๒ หมู่ที่ ๑ ต.บางคนดี อ.บางคนดี จ.สมุทรสงคราม ๗๕๑๒๐

โทรศัพท์ ๐๓๔๗๕๗๔๕๒-๗ โทรสาร ๐๓๔-๗๕๗๔๕๘

www.life.ac.th


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท