KM เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี


KM เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี


          สกว. ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ   ให้ทุนวิจัยเรื่อง “การจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี”    โดยมี รศ. ดร. วราพรรณ  ด่านอุตรา    สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม  จุฬาฯ   เป็นหัวหน้าโครงการ   ระยะเวลาตั้งแต่ ก.ค.45 – พ.ค.48

“”–


          โครงการนี้ระบุวัตถุประสงค์ดังนี้   “ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดการความรู้ (knowledge platform) เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี   โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.      ประสานข้อมูลสารเคมีเพื่อสร้างความรู้และสมรรถนะของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2.      ให้ข้อความรู้เกี่ยวกับสารเคมีและความปลอดภัยแก่สังคมอย่างต่อเนื่อง   เพื่อสร้างความตระหนักและการพึ่งพาตนเอง
3.      บริหารข้อมูลและความรู้เพื่อใช้ในการตอบคำถามเฉพาะหน้าและเพื่อการตัดสินใจ
4.      สังเคราะห์ความรู้เพื่อเสนอแนะทางนโยบาย”


รศ. สุชาตา  ชินะจิตร   ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะของ สกว.   คงจะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
การจัดการความรู้   จึงส่งรายงานผลการวิจัยมาให้ผมช่วยประเมิน   โดยมีโจทย์ของการประเมินว่า “หน่วยจัดการความรู้เรื่อง  ‘ความปลอดภัยด้านสารเคมี’  เป็นกลไกสะสมความรู้และกลุ่มนักวิจัยไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สามารถตอบคำถามของสังคมได้ทันเวลาที่ต้องการได้แล้วหรือไม่   หรือควรมีการปรับปรุงกระบวนการวิจัยในส่วนใดบ้าง”


          ผมเป็นคนประเภท “คนแก่หัวดื้อ”   ไม่ค่อยชอบตอบโจทย์ประเภทที่อยู่ในรูปแบบ   ชอบแต่โจทย์นอกรูปแบบ   จึงชอบใจมากที่คำถามประโยคสุดท้าย  “ควรมีการปรับปรุงกระบวนการในส่วนใดบ้าง”


          ที่จริงพลิก ๆ ดูเอกสารรายงานซึ่งมีความหนากว่าครึ่งฟุตแล้ว   โครงการนี้ได้ทำงานวิจัยและพัฒนาสร้างระบบความปลอดภัยด้านสารเคมีอย่างน่าชื่นชมมาก   เป็นงานเชิงพัฒนาระบบ   พัฒนาความคิดด้านการปฏิบัติในกระบวนทัศน์ใหม่ที่มองเรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมีว่าจะเกิดขึ้นได้   จะต้องมีการดำเนินการร่วมมือกันเป็นเครือข่ายของหน่วยงานหลายหน่วยงาน   ไม่ใช่แยกกันทำเป็นส่วนๆ    ผมไม่ได้ค้นลงดูในรายละเอียดของส่วนนี้ที่จะให้ข้อสังเกตได้   ผมเดาว่าน่าจะทำได้ดีและถ้าจะประเมินส่วนนี้   น่าจะหาคนที่มีความรู้เชิงเทคนิคมาเป็นผู้ประเมิน   ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะประเมินได้   เพราะไม่มีความรู้


          แต่ผมจะให้ข้อสังเกตในภาพใหญ่   โดยเฉพาะประเด็นด้าน “การจัดการความรู้”


          การจัดการความรู้เป็นกิจกรรมของ “คุณกิจ”   ซึ่งในกรณีของการจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยของสารเคมี   “คุณกิจ” คือคนในหน่วยงานที่เป็นผู้ควบคุมการนำเข้า   การขนส่ง   การจัดเก็บ   และการใช้สารเคมีอันตราย   คนในหน่วยงานที่เป็นผู้ใช้สารเคมีอันตราย   และคนที่เป็นผู้อาจได้รับอันตรายจากสารเคมี   คนเหล่านี้คือ “คุณกิจ”   ผู้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี


          การจัดการความรู้เพื่อความปลอดภัยด้านสารเคมี   เป็นเรื่องที่ “คุณกิจ” ร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นใช้   และเมื่อใช้ความรู้นั้นแล้วก็นำความรู้จากประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   และร่วมกันดูดซับความรู้จากภายนอกมาทดลองปรับใช้


          ผู้ดำเนินการวิจัยน่าจะทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้โดย“คุณกิจ”


          ถ้าดำเนินการ KM ตามที่ผมเล่าข้างบน   จะเป็น KM ที่เน้น demand – side


          แต่พิเคราะห์ตามรายงานที่ดำเนินการไปแล้ว    การจัดการความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมีดูจะเน้นที่ supply – side    นักวิจัยเป็นผู้ดำเนินการหลัก


          ใน phase แรก   เป็น  supply – side KM สัก 80 – 90%   ก็คงไม่ผิด   แต่ถ้าจะดำเนินการต่อเป็น phase ที่ 2   ส่วนที่เป็น supply – side KM น่าจะเหลือสัก 20 – 30%   ให้เป็น demand – side KM  สัก 70 – 80%   น่าจะเหมาะสม     นั่นคือใน phase ที่ 2 (ถ้าจะมี) ควรมีการออกแบบ KM ใหม่   เริ่มด้วยตลาดนัดความรู้ด้านความปลอดภัยจากสารเคมี   เล่าเรื่อง (storytelling) ความสำเร็จของ “คุณกิจ” ในหน่วยงานต่าง ๆ   และสกัด “ขุมความรู้” ในการจัดการระบบความปลอดภัยจากสารเคมี   เอามาใช้คิดวางระบบจัดการความรู้แบบใหม่ที่ “คุณกิจ” ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการหลัก   นักวิจัยทำหน้าที่ “คุณอำนวย”

          ถ้าจะดำเนินการเช่นนี้   สคส. ยินดีช่วยเป็นวิทยากรและให้คำแนะนำในการจัดตลาดนัดความรู้   โดยที่ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะของ สกว. ต้องเป็นผู้จัดตลาดนัด   ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการต่าง ๆ อย่างรอบคอบ   ใช้เวลาเตรียมการณ์ประมาณ 2 เดือน   ทาง สคส. จะมีคุณอุรพิณ  ชูเกาะทวด  เป็นวิทยากรหลัก   ผมเป็นกองหนุน
                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                  27 มิ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 532เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2005 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออภัยค่ะ อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเป้าหมายของโครงการนี้ เพราะใช้คำผิด โครงการนี้ยังไม่ได้ใช้ KM แต่ต้องการเห็นรูปแบบของการจัดทำฐานความรู้ (knowledge platform) ว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ของ platform หรือยัง คือการสร้างความรู้พื้นฐานที่จำเป็น สามารถตอบคำถามได้เมือต้องการ สร้างความสามารถกับคนกลุ่มเทคนิคที่ทำเรื่องนี้ พร้อมกับการสื่อสารสู่สาธารณะ การมองภาพรวมนี้จะได้เป็นแนวทางของการทำให้เกิด platform อื่นๆตามมา

เมื่อหลายปีมาแล้ว สสจ.กำแพงเพชรได้ขอให้ผมไปบรรยายเรื่องพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช ให้แก่ผู้ประกอบการจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืช ในจังหวัดกำแพงเพชร จำนวนประมาณ ๖๐ เจ้า    ก่อนบรรยาผมจึงถือโอกาสให้แต่ละท่านช่วยเขียนชื่อสารกำจัดศัตรูพืชที่มีจำหน่ายในร้าน ให้ผม    จากนั้นผมก็เอาไปทำไฟล์ด้วยโปรแกรม Microsoft Access โดยค้น ชื่อสามัญ (generic name) ใส่เข้าไปด้วย   ทำให้ได้ข้อมูลสารกำจัดศัตรูพืชที่มีจำหน่ายจริงในจังหวัดในเวลารวดเร็ว    เอามาใช้ที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อเวลามีการเกิดพิษ เรามักจะได้แต่ชื่อการค้าเท่านั้น   ก็เป็นประโยชน์มากเหมือนกันครับ
เมื่อหลายปีมาแล้ว สสจ.กำแพงเพชรได้ขอให้ผมไปบรรยายเรื่องพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช ให้แก่ผู้ประกอบการจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืช ในจังหวัดกำแพงเพชร จำนวนประมาณ ๖๐ เจ้า    ก่อนบรรยายผมจึงถือโอกาสให้แต่ละท่านช่วยเขียนชื่อสารกำจัดศัตรูพืชที่มีจำหน่ายในร้าน ให้ผม    จากนั้นผมก็เอาไปทำไฟล์ด้วยโปรแกรม Microsoft Access โดยค้น ชื่อสามัญ (generic name) ใส่เข้าไปด้วย   ทำให้ได้ข้อมูลสารกำจัดศัตรูพืชที่มีจำหน่ายจริงในจังหวัดในเวลารวดเร็ว    เอามาใช้ที่ห้องฉุกเฉิน เพราะเวลามีการเกิดพิษ เรามักจะได้แต่ชื่อการค้าเท่านั้น   ก็เป็นประโยชน์มากเหมือนกันครับ

อยากทราบชื่อวิทยาศาสตร์ของวาสลีนค่ะ

ใครรู้ช่วยบอกหน่อยน่ะค่ะ

ต้องการไปทำรายงาน ด่วน ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท