ขอเชิญร่วมแลกเปลี่ยนเทคนิคการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


หนึ่งในโครงการประเด็นของ สรอ. ขอความรู้สำหรับเมษาหน้าร้อนนี้ ขอเชิญร่วมเผยเคล็ดลับประสบการณ์การกระตุ้นให้เกิดการร่วมพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นในห้องเรียน หรือในที่ทำงาน หรือในชุมชน หรือแม้แต่ในชุมชนออนไลน์ GotoKnow ของเราก็ได้ค่ะ

- หากท่านเป็นครูอาจารย์ก็ลองตั้งโจทย์กับตัวเองดูนะคะว่า เรากระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เนื้อหาการเรียนได้อย่างไรบ้าง

- หากท่านเป็นหัวหน้าทีมทำงานก็ลองตั้งโจทย์ดูว่า เราทำอย่างไรให้ทีมงานร่วมเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม

- หรือหากท่านเป็นคนทำงานร่วมกับชุมชนก็ลองถอดบทเรียนตัวเองค่ะว่า เราทำอย่างไรให้ชาวบ้านในชุมชนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ค่ะ

ร่วมบันทึกลงในสมุดของท่านและใส่คำสำคัญว่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หมดเขตร่วมกิจกรรม 30 เมษานี้นะคะ และเช่นเคยค่ะลุ้นรับรางวัลจากการสุ่มจับหมายเลขบันทึก 2 รางวัล รางวัลละ 2,500 บาทค่ะ



ผู้สนับสนุน

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สรอ. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีระบบการบริหารงานจัดการที่เป็นอิสระจากระบบราชการ ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของประเทศไทย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สรอ. ได้ที่ www.ega.or.th


<p></p>


หมายเลขบันทึก: 531965เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2013 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2015 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

       เคล็ดลับและประสบการณ์ของการกระตุ้นให้เกิดการร่วมพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

       ๑.  ประเด็นเกี่ยวกับตนเอง

              ๑.๑  ใช้เทคนิคการเปิดตัว เปิดใจ สร้างลักษณะนิสัยแบบเปิดเผย  อ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ ๆ กับผู้ที่ได้สัมผัสและสังคมทั่วไป 

              ๑.๒  ควรสร้างฐานศรัทธาให้ตนเอง โดย แสดงให้ผู้คน ชุมชน สังคม เห็นว่าข้าพเจ้ามีองค์ความรู้  ความรอบรู้ มีประสบการณ์ พอประมาณเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าสามมารถพูดคุยทางด้านความรู้ทางวิชาการได้ ให้การปรึกษาหารือด้านต่าง ๆ ได้พอสมควร  แต่ไม่เคยแสดงการโอ้อวดว่ารู้

              ๑.๓  ตนเอง(ผู้นำ / ผู้ร่วมฯ)แสดงออกให้ผู้ร่วมพูดคุยสนทนาแลกเปลียนเรียนรู้เห็นว่าเรายอมเสียมากกว่าได้เสมอ ๆ  

              ๑.๔  แสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นคนใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น ๆ แม้เป็นเรื่องที่เรารู้แล้ว หรือมีคำตอบแล้วก็ตาม หรือเป็นความเห็นที่ขัดแย้งตนเอง 

        ๒. ประเด็นบุคคลอื่น ๆ หรือที่สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

              ๒.๑  สร้างบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สร้างความเป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียดกับประเด็นที่พูดคุยกัน

              ๒.๒  สร้างสถานการณ์และความพร้อมด้านข่าวสารข้อมูล  เพื่อเกิดความมั่นใจในการพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

             ๒.๓  สร้างบรรยากาศการพูดคุยครั้งนี้แม้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องนั้น ๆ ก็สามารถเข้าร่วมพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ เพราะอาจมีองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ร่วมเสนอแนะพูดคุยสนทนา ทำให้บรรยากาศเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือนวัตกรรมได้

            ๒.๔  สร้างบรรยากาศการพูดคุยสนทนาแลกเปลียนเรียนรู้นี้สามารถหาข้อสรุป  เป็นองค์ความรู้  หรืออาจไม่เกิดอะไรก็ได้เพียงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

                        ..ก็ยังมีข้อเสนออีกแต่ก็ขอเสนอ ขอร่วมเสวนาเพียงเท่านี้..ขอบคุณครับ

ขอบคุณ "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์" ที่ให้ความช่วยเหลือหลายขั้นตอน จน "ไอดิน-กลิ่นไม้" สามารถเข้าใช้งาน "GotoKnow.org" ได้เหมือนเดิม ในโอกาสที่เป็นสมาชิกครบ 2 ปีเต็ม (เป็นสมาชิก 2 เมษายน 2554) ทำให้มีโอกาสร่วมเขียนบันทึกในประเด็นที่น่าสนใจนี้

ศรีสุข มงกุฎวิสุทธิ์

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ประสบการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้"

ในฐานะที่มีทีมงาน และอยากให้ทีมงานได้กล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้เทคนิคง่ายๆ

1. ยอมรับว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน สามารถพูดแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความเห็นของตน โดยความเ็ห็นจะไม่ถูกนำมาตัดสินว่าผิดหรือถูก  (แต่เน้นว่าในสถานการณ์ไหนอาจมีความเห็นไหนที่เหมาะกับการใช้ในสถานการณ์นั้น ด้วยเหตุผลใด)

2. "ฟัง"  ฟังก่อนเสมอ ยิ่งหากเป็นลูกทีมที่ยังขาดความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนแสองความเห็น ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรเราต้องฟังก่อน และสร้างกำลังใจ แม้ข้อแลกเปลี่ยนนั้นเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็อาจต้องชมเชยเรื่องการกล้าที่จะนำเสนอความเห็นของตนเอง ก็ถือเป็น ความสำเร็จหนึ่งของการแลกเปลี่ยน....

3.สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดขึ้นภายในกลุ่ม องค์กร เปิดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนหลากหลายรูปแบบ แบบง่ายๆกลุ่มคุยแลกเปลี่ยนช่วงกินข้าว  กลุ่มคุยแลกเปลี่ยนเฉพาะประเด็นปัญหา หรือกลุ่มคุยแลกเปลี่ยนเฉพาะประเด็นสนใจ นอกจากหลากกลุ่มแล้ว  ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจจะผ่านสื่อสารในช่องทางที่ทันสมัย เช่น อีเมล์ เฟสบุ๊ค หรือ GotoKnow ก็เป็นอีกช่องทาง

แลกเปลี่ยนเรียนรู้บนโลกออนไลน์ด้วยเครือข่ายเฟสบุค

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นกลุ่มใด  เช่นกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูภาษาอังกฤษ  กลุ่มรักภาษาอีสาน  ฯลฯ   จากนั้นก็หาสมาชิกในเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยอาจจะเป็นสมาชิกเข้ามาก่อนแล้วมีการบอกต่อว่ากลุ่มนี้มีประโยชน์มากๆ  ในการแสวงหาหรือแลกเปลี่ยนความรู้  แล้วแต่ละคนก็จะนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน  โดยอยู่ด้วยกันอย่างมีมิตรภาพ  เพราะได้พึ่งพาอาศัยกัน   บางคนเป็นวิทยากรให้การอบรมเรื่องต่างๆ  อาจมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าไปใช้งานในระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนโลกออนไลน์  ที่ตนเป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ   แล้วก็ใช้คำพูดเชิญชวนให้น่าตื่นเต้น  น่าติดตาม  อยากรู้อยากเห็น   จากนั้นก็จะมีผู้สนใจที่อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้ามาร่วมภายในกลุ่มเอง

ลัดดา ด่านวิริยะกุล

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ดิฉันเป็นครูจึงใคร่ขอร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เนื้อหาการเรียนในวิชาที่สอนอยู่ คือ ดิฉันจะสอนนักเรียนให้เขารู้จักคิด ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอะไร จะสอนให้เขาได้รู้จักคิด ใช้เหตุผลในการคิด วิเคราะห์ที่มาที่ไปเสมอ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเรีัยนรู้เรื่องใด ๆ ก็จะสามารถดัดแปลงหรือนำไปใช้ในชีวิตจริง ๆ ของเขาได้และสิ่งสำคัญคือจะทำให้เขาได้เห็นว่าการเรียนอย่างมีความหมายจะมีประโยชน์กับตัวเขาเสมอ ซึ่งอาจมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและตามกาลเวลาหรือตามวาระที่กำหนด แต่ทุก ๆ เรื่องที่ได้เรียนรู้หากได้คิดหรือวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลย่อมจะส่งผลถึงตัวของนักเรียนเสมอ ดังนั้นเมื่อสอนให้เขาได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจึงทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียน อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องให้นักเรียนได้ร่วมคิดคือ เรียนไปทำไม หรือใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง หรือใช้ได้ตอนไหน ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน การเรียนนั้นก็ย่อมมีความหมายมากกว่าการเรียนไปเพราะหลักสูตรให้เรียนอย่างแน่นอน

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

การที่จะทำให้เกิดการพูดคุยสนทนาหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ให้เขารู้และสิ่งสำคัญคือเขาจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นจึงจะกล้าแลกเปลี่ยน พูดในสิ่งที่เขารู้ ด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย

ณัฐวรรธน์ ภูเชตวัน

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

คนไทยเราหากจะให้ออกมาพูดกันตรงเลยเหมือนจะอยากซักหน่อยด้วยว่าการฝึกทักษะการแสดงความคิดเห็น

ของเราตั้งแต่เล็กหรือเด็กๆน้อยมากหรือความเป็นคนขี้อายมักจะฝังในใจเรามา......เลยทำให้ความกล้าแสดงออกกลายเป็นการบังคับกัน...สังเกตุได้...จากการนั้งในที่ประชุม แถวหน้ามักจะเป็นทางเลือกสุดท้ายเสมอหรือไม่ก็ต้องเชิญกันละครับ น้อยมากที่จะเห็นเต็มก่อนแถวหลัง..หากว่าไม่มีการกระตุ้นโดยการมีของแจกหรือมีผลประโยชน์

ฉนั้นผมอยากให้มีโครงการฝึกพูดจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่เขาได้แสดงออกมาโดยจิตสำนึกไม่ใช่ต้องออกมาโดยการแจกขของตั้งแต่เด็กๆ เรื่องนี้ต้องทำกันบ่อยๆแล้วแนะนำวิธีที่พูดในเรื่องที่ดีและมีเหตุผลลงไปเมื่อทุกครั้งที่มีใครแสดงความคิดเห็นอย่างไรลงไปหรือออกมาต้องขอบคุณกันเป็นมารยาททำกันจนชินแล้วความคิดที่ดีก็จะออกมาสู่ประเทศมาฝึกแสดงความคิดเห็นกันครับ ผมยอมรับความคิดเห็นของทุกๆท่านเสมอ.......

ยินดีถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันคะ ...สิ่งที่ทำเสมอคือการใช้สถานการณ์ ทดลอง ประสบการณ์ที่ยังไม่บอกเรื่องราวทั้งหมด ติดค้างด้วยความคับข้องใจเพียงนิดๆท้าทายหน่อยกระตุ้นด้วยคำถามให้คิดลองทำดู...ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร...จะพบว่าคนฟังอยากมีส่วนร่วมคิดอยากถาม อยากตอบอยากรู้พูดคุยกัน เล่าสู่กันฟังด้วนความรู้สึกที่ดีเป็นกันเอง การแลกเปลี่ยนนั้นจึงจะสำเร็จ....ดิฉันมักใช้กับศิษย์ที่ได้เรียนรู้กับดิฉันนะคะเป็นส่วนใหญ่เน้นใจให้ใจจึงได้ใจตอบแทนคะ


 

ความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไปตาม ฐานะ การเลี้ยงดู การศึกษา สังคม วัฒนธรรมและหน้าที่การงาน  การที่เราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใดจากคนๆหนึ่ง เราต้องละทิ้งความรู้ ความเข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีต่อสิ่งนั้น รับฟัง จากคนๆนั้น คิดและพิจารณา  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท