แลกเปลี่ยนการดำเนินงานวิจัยพัฒนานักเรียนฯที่โรงเรียนศรีบุณยานนท์


ใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นฐาน ผ่านทางครูที่ปรึกษาด้วยการใช้ชั่วโมงโฮมรูมเป็นเวทีขับเคลื่อน พร้อมทั้งบูรณาการทฤษฎีปลูกฝังสร้างเสริมคุณธรรม(VC.และ BM)
     ตามที่ผมกับคุณครูโรงเรียนศรีบุณยานนท์ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านผู้เรียน(ตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา) โดยใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นฐาน ผ่านทางครูที่ปรึกษาด้วยการใช้ชั่วโมงโฮมรูมเป็นเวทีขับเคลื่อน  พร้อมทั้งบูรณาการทฤษฎีปลูกฝังสร้างเสริมคุณธรรม(VC.และ BM) เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเสริมแรงให้นักเรียนกระจ่างในตนเองตามประเด็นที่คิดว่าตนเองยังมีปัญหาและอยากจะปรับปรุงพัฒนา แล้ววางแผนพัฒนาด้วยตนเองเป็นรายบุคคล  ภายใต้การดูแลช่วยเหลือของครูและโรงเรียน แล้วติดตามดูแลเสริมแรงกันตลอดปี  โดยมีเอกสารหมายเลข 1-3 เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน 
     กลุ่มตัวอย่างก็ดูจากความสมัครใจของครูที่ปรึกษาที่อาสาเข้าร่วมโครงการ เป็นนักเรียนทุกระดับ(ม.1-ม.6) ระดับละ 2 ห้อง รวม 12 ห้องเรียน ครู 12 คน ซึ่งเราได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีนี้ แล้วคณะครูทั้ง 12 คน(ห้อง)จะมาพบกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานกัน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง  โดยใช้เอกสารหมายเลข 1-3 ที่เป็นเครื่องมือดำเนินงานมาแลกเปลี่ยนกัน
      วันที่ 2 ต.ค.เป็นอีกวันหนึ่งที่รองฯจิรพรรณ  ทุมพรได้นัดหมายคณะมาแลกเปลี่ยนกัน แต่ครั้งนี้โชคดีที่มีคุณนภิณทร  ศิริชัย(น้องหญิง) และคุณพันธุ์บุณย์  ทองสังข์  วิทยากร KM จาก ส.ค.ส.มาร่วมรับฟังด้วย
      วันนี้พบว่าครูที่ปรึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการถึงเอกสารหมายเลข 3 (การติดตามผลดำเนินการ)แล้ว  แต่ละคนได้เล่าถึงการดำเนินงานของตน ซึ่งมีทั้งห้องนักเรียนเรียนดีและนักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อนคละเคล้ากันไป ปัญหาที่นักเรียนนำมาวางแผนปรับพฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และปัญหาอื่นๆอีกรวมคนละ 5 เรื่อง โดยครูแต่ละคนจะลงไปช่วยเหลือตามสาเหตุของปัญหาเป็นรายคน ซึ่งเริ่มเห็นแนวโน้มว่านักเรียนมีความเอาใจใส่ดีขึ้น แต่ยังมีอีกหลายคนที่ครูยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ติดเกม  ไม่รับผิดชอบ เป็นต้น ครูทุกคนมีกำลังใจดี  มีความมุ่งมั่น  เห็นประโยชน์ที่ทำเรื่องนี้ว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ลงลึกถึงเด็กแต่ละคน  ทำให้ได้ใกล้ชิดเด็กมากขึ้น ปัญหาที่ทำให้การขับเคลื่อนตามเอกสารล่าช้าเพราะเอกสารหมายเลข 1 ภาษายังทำให้นักเรียนเข้าใจยากคงต้องปรับปรุงต่อไป แต่ครอบคลุมในทุกเรื่องแล้ว
       คุณนภิณทร และคุณพันธุ์บุณย์ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรหา best practices เพื่อช่วยเหลือนักเรียนตามปัญหาที่พบให้มากขึ้น  รวมทั้งอาจไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นที่ทำได้ดีในแต่ละเรื่องนำมาปรับใช้ก็ได้ เช่น การแก้ปัญหาเด็กติดเกม  การใช้คาราโอเกะ เป็นต้น
      ตอนท้ายผมได้เสนอแนะให้มีการใช้การเสริมแรงทางบวก  และการสร้างแรงจูงใจภายในให้มากขึ้น
หมายเลขบันทึก: 53193เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน  อาจารย์ธเนศ

  • โครงการนี้น่าสนใจนะคะ  ที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนประถม  ไม่ทราบว่าจะอยู่ในขอบเขตของโครงการหรือเปล่า  แต่มีการประเมินเมื่อไม่นานนี้เรื่องการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
  • การอ่านบันทึกของอาจารย์ทำให้เข้าใจอะไรหลายอย่างดีขึ้นค่ะ  และจะนำไปใช้ในการบริหารจัดการกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  ถ้าอย่างไรครูอ้อยจะสมัครเป็นแพลนเน็ตด้วยนะคะ
  • อนึ่ง  ครูอ้อยเคยเป็นศิษย์เก่าศรีบุณยานนท์  เมื่อ ปี 2516-2517  แผนกศิลป์  ฝรั่งเศส  ไม่ทราบว่าอาจารย์ของครูอ้อยยังรับราชการอยู่ที่นี่หรือเปล่าคะ  เช่น  อาจารย์ประอรพรรณ  อยู่สถาพร  อาจารย์วิทยา  เคยสอนภาษาฝรั่งเศส  หากมีเวลาครูอ้อยจะแวะไปเยี่ยมอาจารย์ค่ะ  คิดถึงวัยเด็กที่นั่น  ที่ไปนั่งริมน้ำค่ะ  ที่นั่งรถเมล์สาย 1  เลียบสวนยามเช้า  และหลบระเบิดโรงเรียนข้างๆกันค่ะ  สมัย 16 ตุลา

ขอบคุณอาจารย์นะคะที่ทำให้คิดถึงเรื่องวันวานค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณ และยินดีต้อนรับครูสิริพรเข้าแพลนเน็ตครับ  ผมเพิ่งทดลองนำร่องที่นี่เป็นแห่งแรกครับ  ว่างๆเชิญแวะเยี่ยมเป็นกำลังใจแก่คุณครูด้วยครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท