โอเน็ต กับการบริหารจัดการในโรงเรียนขนาดเล็ก


      ผมเขียนเป็นกรณีศึกษา หาใช่เป็นเอกสารอ้างอิงที่เป็นมาตรฐานแต่อย่างใด อันเนื่องมาจากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เห็นผลบ้างไม่เห็นผลบ้าง ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน ทั้งครูและนักเรียน เงื่อนไขเวลาและสาระวิชาที่มากมายเหลือเกิน

      เป้าหมายปลายทางของการปฏิรูปการศึกษา ที่พุ่งเป้าไปที่กระบวนการเรียนรู้ ที่อยากเห็นครู ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน และผู้เรียน เก่ง ดี มีความสุข ในความเป็นจริง ผู้บริหารและครูโรงเรียนขนาดเล็ก อยากเป็นอยากมีอยากเห็นเช่นนั้น แต่ไม่เคยทำได้ทั้งหมด ทั้งที่น่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะหัวใจในการทำงานและแหล่งเรียนรู้มีความพร้อม แต่พอนึกถึงโอเน็ต เอ็นที ที่สทศ. สพฐ. จะต้องทดสอบ และสร้างเงื่อนไขชี้วัดมากมายก่ายกอง แสดงถึงความต้องการอันเลิศหรู จนลืมข้อจำกัดของบางโรงเรียนไป พอผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ สทศ.มองมุมที่จะต้องปรับปรุง แต่ สพฐ.มองที่คุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในทันที

      ปัจจุบัน ผมจึงต้องขยับ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และบอกครูอยู่เสมอว่า เราต้องบริหารจัดการท่ามกลางความขาดแคลนให้ได้ และบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอด ..มันอย่างไรกัน...ก็คือ จัดการเรียนรู้ตามบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก เน้นพัฒนาเด็กตามศักยภาพ จะพัฒนาคุณภาพทางวิชาการสู่ความเป็นเลิศทางเดียว เป็นไปไม่ได้  แต่อย่ามองข้ามกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้าน "ทักษะชีวิต" และเรียนรู้ที่จะอยู่ในชุมชนสังคมท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่สามารถพัฒนาตนเองและครอบครัวได้ อันนี้ผมถือเป็น "อัตลักษณ์"ของโรงเรียนเลยทีเดียว

      ในส่วนของการบริหารเพื่อความอยู่รอด ก็คือ เขาอยากได้อะไร..สนองให้เขา..อย่าปฏิเสธ ถ้ารักที่จะอยู่กับระบบการศึกษา (ที่นับวันจะห่วย) อย่าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง  เขาอยากได้คะแนนผลสัมฤทธิ์ ทำให้เขา อย่างน้อยมันก็เป็นส่วนหนึ่งของงานการเรียนการสอน แต่มันเหนื่อยผิดธรรมชาติ ต้องยอมจำนน ทำไปยืดหยุ่นไป ทั้งสอนพิเศษตอนเย็น และวันเสาร์ บางครั้งอ่อนล้า จนสงสารตัวเอง ก็ต้องทน  

      บางวัน เห็นครูป.๖ ติวเด็ก แล้วอารมณ์เสีย ผมต้องเรียกมาเตือน เพื่อปรับจิตปรับใจครูให้นิ่ง บางครั้งต้องชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า เราสอนแบบแพ๊คเกจแบบนี้มันไม่ถูกต้อง เกิดอะไรขึ้นกับเด็กอย่าหงุดหงิด คือ ถ้าเราพร้อมแล้วสอนเป็นระบบ โดยให้เด็กเรียนรู้ร่วมกัน ศึกษาค้นคว้าหลากหลาย และครูใช้เครื่องมือประเมินผลที่ถูกต้อง มันจะใช่ แต่ทุกวันนี้ เรากังวล..และสอนรีบเร่ง จากนั้นนำข้อสอบมาสอนมาติว บางเนื้อหาบางช่วงบางตอน เด็กยังไม่มีทักษะ ไม่คุ้นชินกับความรู้ความเข้าใจ ก็ตอบไม่ได้ เนื่องจากความเข้าใจยังไม่ฝังตัว....ครูก็ระเบิดอารมณ์ นี่คือแพ๊คเกจที่ทำมาแล้วหลายปี

     ส่วนใหญ่จะได้ผลดีเสียด้วย อย่างเช่นปีที่แล้ว ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เด็กมีพื้นฐานความรู้เดิมที่ดี มีเป้าหมายชีวิตและครอบครัวอบอุ่น ป้อนอะไรก็รับ ผิดกับปีล่าสุดที่จบไป เด็กป.๖ มีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ประถมต้น เช่น เรียนรู้ช้า พื้นฐานการอ่านมีปัญหา ครอบครัวให้ความสนใจการเรียนน้อย..เด็กขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธฺ์ ครูต้องคอยกระตุ้น..ซึ่งเสียเวลาส่วนนี้ไปมาก ผลออกมาก็ต้องทำใจ ตกต่ำกว่าเป้าหมายของเขตและประเทศไป แต่ไม่มากนัก ซึ่งแสดงถึงว่าครูได้ขับเคี่ยวจนถึงที่สุดแล้ว

     ภาพของการบริหารจัดการ เพื่อโอเน็ต..ในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สัมผัสอยู่ทุกปี จนรู้สึกชาชิน และบอกตัวเองว่าอ่อนล้านักไม่ได้ ไม่ทำไม่ได้ ถ้าตัวเลข ไม่ดีพอ..เราจะไปอยู่ตรงไหน มีแต่ถูกซ้ำเติมในสังคมทั่วไป ตราบใดที่เขามองคะแนน เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพ เพียงอย่างเดียว

    อย่างไรก็ตาม ก็นับว่าตัวเลขจะดีไม่ดี ก็เกิดจากการสอน การทำงาน ไม่ได้เกิดจากการทุจริตแต่อย่างใด ทำให้มีกำลังใจบ้าง ปีที่แล้วบอกครูว่า..ภาษาอังกฤษเราอ่อนมาก  วิทยาศาสตร์ เราไม่เคยถึงเป้าหมาย เราไม่มีห้องปฏิบัติการ เราใช้แล็บแห้งตลอด ครูช่วยเร่งเสริมให้เด็กด้วย

      เท่านั้นแหละ แพ๊คเกจ ใหม่ๆก็เกิดขึ้น ครูเน้นภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง จนผมห่วงภาษาไทยและคณิตศาสตร์...แล้วก็เป็นจริงดังคาด    

      ทุกสาระต่ำหมด ยกเว้นอังกฤษ เฉลี่ยได้  ๔๘.๗๕     วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย ๕๖.๑๗  สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเขต และสูงกว่าระดับประเทศอย่างท่วมท้น...นี่คือเรื่องจริง..ในโรงเรียนขนาดเล็กครับ

หมายเลขบันทึก: 531820เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2013 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาชื่นชมค่ะท่าน เรียกว่าจิ๋วแต่แจ๋วค่ะ

...ตั้งใจจริง...ทำจริง...ไม่สร้างภาพ...เป็นแบบอย่างที่ดี...ขอให้กำลังใจโรงเรียนคุณภาพค่ะ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่

ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีค่ะท่าน ผอ.

  • บันทึกนี้โดนใจมาก ๆ ค่ะ ขอระบายความสักหน่อยเถอะนะคะ
  • ครูอิงเองก็โรงเรียนขนาดเล็กค่ะ แรก ๆ ที่ย้ายมา  ท่านผู้นำ ให้สอนภาษาไทย ป.3- ป.5 
  • และก็สอนวิชาอื่น ๆ ในชั้นเรียนที่สอนประจำชั้น คือ ป.4  ค่ะ
  • โอเน็ต ภาษาไทย ปี 2553  ได้ ร้อยละ 30  ต่ำมาก
  • ปี 2554  ครูชั้น ป.6  เกษียณก่อนอายุ  เพราะทนแรงกดดันไม่ไหวในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งคะแนนโอเน็ตด้วย
  • ครูอิงจึงต้องขึ้นไปสอนแทน(เพราะผู้บริหารไม่มีตัวเลือก) โดยเริ่มในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งมีเวลาไม่มากนักกับการติวเด็ก
  • ครูอิงรู้สึกกดดันมาก ๆ  เพราะผู้บริหารย้ำทุกครั้งในที่ประชุม แต่ผลโอเน็ตออกมา  ภาษาไทย ได้ร้อยละ 49.25
  • เพิ่มจากเดิมถึง  19.25  ค่ะ  อย่างไรก็ตามเราก็ยังไม่ผ่านมาตรฐาน 5 ในการประเมินของ สมศ. เนื่องจากเมื่อเข้าสูตร ขีดจำกัดล่างแล้ว เราได้แค่ 6  กว่า ๆ  เพราะภาษาอังกฤษเป็น 0  
  • ปี 2555 จึงกดดันสุด ๆ เนื่องจากเราต้องใช้ผลของปีนี้ เพื่อให้ สมศ. รับรอง
  • สุดท้าย เราก็ทำได้ค่ะ  ทุกวิชา สูงกว่า ค่าเฉลี่ยระดับเขต และ ระดับประเทศ  เรียงลำดับแล้ว ติดอันดับที่ 6 ของเขตค่ะ 

ชื่นชมการทำงาน ไม่อยากให้สอนแบบติว

อยากให้สอนแบบที่นักเรียนได้เรียนรู้เต็มตามศักยภาพแบบที่ผอ.ทำครับ

เห็ดในภาพออกดีนะครับ

เด็กๆๆจะเริ่มเปิดเทอมเมื่อไรครับ...



ในความคิดส่วนตัวของคุณมะเดื่อนะ........เราสอนเด็กพุ่งเป้าไปที่การสอน  ไปที่ตัวเลขชี้วัด ไปที่สถิติค่าเฉลี่ยที่เบื้องบนกำหนด  .....  จนลืม ... ความเป็นจริงของชีวิตนั่นคือ....ทักษะชีวิต  ที่เด็ก ๆ จะต้องนำไปใช้จริง  ในชีวิตจริง.....แล้ว....เมื่อถึงวันนั้น  ค่าตัวเลขทะลุเป้าของการสอบที่ครูดีใจสุดๆ นั้น...จะช่วยเด็ก ๆ ให้อยู่ในสังคมได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่....???


สุดทึ่ง กับ ผลงาน ครูมะเดื่อ ผู้แสนดี

ชอบงานเขียนนี้ค่ะ  ทำให้ได้รู้ได้คิด อีกเยอะ ที่จะนำไปเขียนบางเรื่อง แต่ไม่รู้จะเขียนได้รึป่าวหรอกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท