ประกาศผล N-NET 2/55 แล้ว, เข้าใจผิด-ประกาศรับครูที่ปรึกษา-ปัญหาเรียนต่อ (ม.6 8 เดือน), สอบปลายภาคผ่านแต่รวมไม่ผ่าน ซ่อมแบบไหน, โปรแกรม IT เปลี่ยนบ่อย กำหนดสิทธิแต่ละ User บ่อย, ครู ศรช.เบิก OT, เกณฑ์การย้าย ขรก.ครู


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  11  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 25 มี.ค.56 คุณนภาภรณ์ ครูอาสาฯ กศน.อ.โป่งน้ำร้อน โทร.มาถามผมเรื่องการสอบซ่อม กศ.ขั้นพื้นฐาน ( และมีคนอื่น ๆ อีกหลายคนถามคล้ายกัน )  ว่า 
             - ถ้าคะแนนปลายภาคเกิน 12 คะแนน แต่รวมกับคะแนนระหว่างภาค ไม่ถึง 50 คะแนน ( สมมุติว่า คะแนนระหว่างภาคได้ 30 ส่วนคะแนนปลายภาคได้ 18 รวม 48 คะแนน )  จะซ่อมอย่างไร
             - จะกำหนดให้ครู ให้คะแนนระหว่างภาคไม่ต่ำกว่า 38 คะแนน ได้หรือไม่

             เรื่องนี้  มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง คือ
             1.1  หนังสือ “คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)” ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ กศน.อำเภอทุกแห่ง เมื่อ ธ.ค.55
                   - หน้า 37 ข้อ 1.4 กำหนดว่า “การประเมินซ่อม  สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนที่
ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การทดสอบ หรือการมอบหมายให้ทำรายงานเพิ่มเติม หรือการจัดทำแฟ้มสะสมงาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรม หรืออื่น ๆ ตามที่สถานศึกษากำหนด โดยให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน 1”
                   - หน้า 44 ข้อ 6) กำหนดว่า “การประเมินซ่อม  ผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินซ่อมคือ ผู้เรียนที่เข้าสอบปลายภาคเรียนแต่ผลการประเมิน
ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชา  โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินซ่อมตามวัน เวลา สถานที่ และวิธี ที่สถานศึกษาหรือต้นสังกัดกำหนด”
              1.2  หนังสือราชการ สำนักงาน กศน. แจ้งเมื่อ ม.ค.52 กำหนดในข้อ 3 ว่า “การสอบซ่อม  ให้สถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แต่จะต้องมีกระบวนการและการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด โดยให้ดำเนินการซ่อมให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์”

              สรุปคือ 

              1)  สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนที่ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม  การไม่ผ่านการประเมินรายวิชา ปัจจุบันมี 2 กรณี ได้แก่
                   - คะแนนรวมระหว่างภาคกับปลายภาคไม่ถึง 50 คะแนน
                   - คะแนนปลายภาคไม่ถึง 12 คะแนน  ( เฉพาะวิชาบังคับ  ส่วนวิชาเลือกสถานศึกษาจะกำหนดอย่างไรหรือไม่ก็ได้ )

                   ให้ประเมินซ่อมเหมือนกันทั้ง 2 กรณีนี้  ( นศ.ที่ไม่เข้าสอบปลายภาค ต้องได้เกรด 0 ไม่มีสิทธิประเมินซ่อม )
              2)  การประเมินซ่อม ( ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก ) ทำได้หลายวิธี เช่น การสอบซ่อม หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ก็ได้  แต่ให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด คือ ถ้าเป็นรายวิชาเดียวกัน ให้ประเมินซ่อมด้วยวิธีเดียวกันทั้งจังหวัด  ถ้าจะใช้วิธีสอบซ่อม ก็ใช้ข้อสอบฉบับเดียวกัน จะเป็นข้อสอบปรนัย หรืออัตนัย หรือผสม ก็ได้
              3)  การประเมินซ่อม เป็นการเปลี่ยนคะแนนปลายภาค ( คะแนนปลายภาคเดิม ไม่ว่าจะได้เท่าไรก็ตัดทิ้งไปเลย ใช้คะแนนการประเมินซ่อมแทน )  ส่วนคะแนนระหว่างภาคจะเป็นไปตามเดิม  การประเมินซ่อมจะมีคะแนนเต็ม 40 คะแนน ไม่จำเป็นต้องได้ 12 คะแนนอีกแล้ว  แต่ต้องรวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิมแล้วได้ 50 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้เกรด 1   ถ้ารวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิมแล้วได้ไม่ถึง 50 คะแนน ก็ได้เกรด 0
                   ( เมื่อไม่จำเป็นต้องได้ถึง 12 คะแนน อาจทำให้ นศ.ที่มีคะแนนระหว่างภาคถึง 50 คะแนนอยู่แล้ว ไม่ตั้งใจทำข้อสอบประเมินซ่อม เพราะได้ 0 คะแนนก็ผ่าน  บางสถานศึกษาจึงกำหนดว่า การประเมินซ่อมต้องได้อย่างน้อย 5 คะแนน ซึ่งก็สามารถกำหนดได้ )  แต่กรณีที่ถามนี้ ได้คะแนนระหว่างภาค 30 คะแนน ฉะนั้นการประเมินซ่อมต้องได้อย่างน้อย 20 คะแนนจากคะแนนเต็ม 40 จึงจะได้เกรด 1  ถ้าได้ต่ำกว่า 20 คะแนนก็ได้เกรด 0
              4)  คุณ “เดินเคียงคู่ หมื่นลี้”เสนอกรณีนี้ในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  “ให้ทำโครงงานเพิ่มคะแนนระหว่างภาค โดยแก้คะแนนเก็บที่โปรแกรม IT ด้วย เมื่อรวมแล้วให้ได้ 50 ก็เป็นการช่วย นศ.ได้อีกทางหนึ่ง”  ที่จริง ไม่มีระเบียบให้ซ่อมคะแนนระหว่างภาคนะ  แต่การเพิ่มคะแนนระหว่างภาคก็เป็นเรื่องภายในสถานศึกษา ซึ่งที่ถูกที่ควรการให้ทำโครงงานหรือทำอะไรเพื่อจะได้เพิ่มคะแนนระหว่างภาค ต้องดำเนินการก่อนที่จะบันทึกคะแนนระหว่างภาค
              5)  ที่ถามว่า จะกำหนดให้ครู ให้คะแนนระหว่างภาคไม่ต่ำกว่า 38 คะแนน ได้หรือไม่ นั้น  คะแนน ไม่ได้เป็นไปตามที่ครูให้ แต่คะแนนต้องเป็นไปตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  ถ้าเรากำหนดเพื่อช่วยมากไป นศ.จะเห็นว่า ยังไง ๆ ก็จบทุกคนพร้อมกันหมด  ส่งผลให้ มีนักศึกษามาพบกลุ่ม/ตั้งใจเรียนรู้ จำนวนลดลงทุกปี


         2. วันเดียวกัน ( 25 มี.ค.) คุณฉลาด ดวงดี ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  itw ที่ใช้อยู่มีผู้ใช้หลายคน แต่ละคนกำนดสิทธิ์ไม่เท่ากัน ทุกครั้งที่มีรุ่นใหม่มา ต้องถอนตัวเดิมและติดตั้งรุ่นใหม่แทน และต้องเพิ่มผู้ใช้และกำหนดสิทธิ์ใหม่ทุกครั้ง (เกือบ 20 USER)  มีวิธีการใด้บ้างที่จะเก็บ user และ password เดิมไว้

             เรื่องนี้  คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า  เวลาที่เรา BACKUP ข้อมูล ให้เราติ๊กให้มีเครื่องหมายถูกหน้า "ข้อมูลผู้ใช้และสิทธิการใช้งาน" (ในหัวข้อ "ประเภทข้อมูล") ด้วย เท่านั้นแหละครับ  ( เมื่อเรา RESTORE ก็จะได้ user และ password เดิมทั้งหมดมาด้วย )


          3. วันเดียวกัน ( 25 มี.ค.) คุณอนันตยา โสภา ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ครู ศรช. ทำ โอที ได้มั้ย

              ผมตอบว่า  หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.02/2944 ลงวันที่ 13 มิ.ย.51  ระบุว่า  “ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้สถานศึกษาพิจารณาเบิกค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการให้กับครูศูนย์การเรียนชุมชน จากเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้  1. ให้สำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. ตรวจสอบสัญญาจ้างครูศูนย์การเรียนชุมชนว่า ระบุให้สามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการไว้หรือไม่  หากยังไม่ได้ระบุไว้ให้พิจารณาปรับสัญญาจ้างให้ครอบคลุม เพื่อให้สถานศึกษาสามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้ ... ... " 


         4. คืนวันเดียวกัน ( 25 มี.ค.) คุณ “Montaya Seangsit” ขรก.ครู ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  หนูย้ายสับเปลี่ยนกับน้องซึ่งเขาเดือนร้อนเพราะคุณแม่ป่วยหนักแต่พอยื่นคำร้องขอย้ายสับเปลี่ยนส่งไปแค่วันเดียวที่บ้านเกิดหนูตำแหน่งว่างพอดี ( ตอนนี้เรื่องที่ส่งไป เข้าใจว่ากำลังเข้าที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.และจะออกมาเร็วๆนี้  ที่ใหม่ผู้บริหารบอกให้อยู่ก่อนสักพัก )  หนูเสียใจมาก อยากช่วยเพื่อนแต่โอกาสได้กลับบ้านก็เสียดาย  ถามว่าแบบนี้ เขียนย้ายต่อได้ใหม  มีข้อห้ามหรือไม่ว่าจะต้องอยู่ที่ใหม่อย่างน้อยหกเดือน

             ผมตอบว่า  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.3/ว15 ลงวันที่ 30 ก.ย.48 ) กำหนดคุณสมบัติของผู้ย้าย การย้ายกรณีปกติ ว่า 4.1.1 ไม่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม4.1.2 ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานการศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ 31 ต.ค.ของปีที่ขอย้าย ... ... "


         5. วันที่ 27 มี.ค.56 ผมไปร่วมประชุมครู กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ ห้องประชุม สนง.กศน.จ.อย.  เพื่อขับเคลื่อนโครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ใน 8 เดือน  โดยผมเป็นวิทยากรในหัวข้อ “ขั้นตอนการประเมิน และเกณฑ์การจบการศึกษา”



         6. วันที่ 28 มี.ค.56 ผอ.วิทยา กศน.อ.ทับปุด ได้นำประกาศรับสมัครครูที่ปรึกษา ( จบ ม.6 ใน 8 เดือน ) มาลงในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ  ใครสนใจดูได้ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/TeachersAdvisors.doc  

          7. วันที่ 29 มี.ค.56 ประชุมร่วม บุคลากร กศน.อำเภอผักไห่ กับอำเภอบางซ้าย ที่ห้องประชุม กศน.อ.ผักไห่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ใน 8 เดือน ( ชี้แจงแบบฟอร์ม-หลักฐานการรับสมัคร การรับเงิน การประชาสัมพันธ์ การแต่งตั้งคณะกรรมการ กำหนดวันปฐมนิเทศเพื่อพบครูที่ปรึกษาวางแผนการเรียนรู้ )


         8. คืนวันเดียวกัน ( 29 มี.ค.) คุณ “แอน” ถามในเฟซบุ๊คท่าน ผอ.ดิศกุล ว่า
             1)  เรียนหลักสูตรจบ ม.6 ใน 8 เดือน จะมีปัญหาในการไปเรียนต่อมหาลัยมั้ย
             2)  ค่าใช้จ่ายสามารถผ่อนชำระระหว่างเรียนได้มั้ย
             3)  ต้องสอบ N-net อีกมั้ย

           ผมตอบว่า
             1)  เนื่องจากการเรียนแบบนี้ถึงแม้จะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเรียนในระบบฯ แต่ไม่มีเกรดจึงเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่คัดเลือกโดยดูเกรดเฉลี่ย เช่นแอดมิชชั่น หรือสอบตรง ไม่ได้  ต้องเรียนต่อแบบที่เขาไม่ดูเกรด เช่น มสธ. รามคำแหง  ราชภัฏบางสาขา (สาขาพัฒนาชุมชน)  นายสิบตำรวจ-ทหาร  อาชีวศึกษา (ปวส.)  เทคนิคต่าง ๆ  มหาวิทยาลัยเอกชน
             2)  ค่าใช้จ่ายเพียง 1,500 บาท ผ่อนชำระไม่ได้
             3)  แต่ละวิชามีการสอบภาคทฤษฎี 70 % ซึ่งสอบโดย กศน. 50 % สอบโดย สทศ. 20 %  การสอบโดย สทศ.นี้ก็ลักษณะเดียวกับ N-NET


         9. สัปดาห์ที่ผ่านมา  จากคำถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ( เช่นคำถามของคุณพิชญานิน สรรเสริญ ) และคำถามในการประชุมที่ผมร่วมเป็นวิทยากร ( ที่ สนง.กศน.จ.อย. )  พบว่ายังมีผู้เข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจ เกี่ยวกับโครงการยกระดับการศึกษา จบ ม.6 ใน 8 เดือน  เช่น เข้าใจผิดว่า ถ้าผู้สมัครยังไม่จบ ครูที่ปรึกษาจะยังไม่ได้เงิน 1,500 บาท ,  เข้าใจผิดว่าจ่ายค่าสมัคร 1,500 บาท ครั้งเดียวแล้วอยู่ไปจนกว่าจะจบใน 5 ปี  เป็นต้น

             ผมจึงขอสรุปประเด็นเหล่านี้ ดังนี้
             1)  ค่าสมัคร 1,500 บาท ใช้สำหรับรอบการประเมิน 1 รอบ ( 8 เดือน ) เท่านั้น  ถ้าจะลงทะเบียนใหม่ในรุ่นต่อไปเพราะไม่จบภายใน 8 เดือน ก็ต้องจ่ายใหม่อีก 1,500 บาทเต็ม ไม่ว่าจะเหลืออีกกี่วิชาก็ตาม
             2)  ถ้าไม่จบใน 8 เดือน แล้วรุ่นต่อไป หรือรุ่นใด ยังไม่ลงทะเบียนต่อ ( ดร็อปไว้ )  ไม่ต้องเสียค่ารักษาสภาพ
             3)  เมื่อครบ 5 ปี ถ้ายังไม่จบ วิชาที่ผ่านแล้วจะหมดสภาพพร้อมกันทั้งหมด ( ถ้ายังไม่ท้อก็เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ )  ไม่ใช่แต่ละวิชาหมดสภาพตามลำดับที่สอบผ่าน  โดยเริ่มนับเวลาตั้งแต่อนุมัติผลครั้งแรก ถึงจะมีบางคนครั้งแรกไม่ผ่านเลยแม้แต่วิชาเดียว หรือบางคนดร็อปในบางรุ่น ก็
หมดเวลาพร้อมกันทุกวิชาทุกคนทั้งรุ่น  ( จากคู่มือดำเนินงานฯ หน้า 18 ข้อ 8.3 )
             4)  ครูที่ปรึกษา จะได้รับเงิน 1,500 บาท ของผู้สมัครทุกคนใน 8 เดือน ไม่ว่าผู้สมัครจะจบใน 8 เดือนกี่คนก็ตาม  สมมุติว่าครูที่ปรึกษารับดูแลผู้สมัคร 15 คน แต่มีผู้จบก่อน 8 เดือน ( เช่นการประเมินครั้งแรกผ่านหมดทั้งภาคทฤษฎีทั้งภาคประสบการณ์ทั้ง 9 วิชา ) อยู่ 2 คน  ครูที่ปรึกษาก็รับเงินไปก่อน 3,000 บาท  ที่เหลืออีก 13 คน คอยไปรับเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 8 ไม่ว่าจะจบอีกกี่คนก็ตาม   ครูที่ปรึกษาไม่ต้องดูแลผู้สมัครไปจนครบ 5 ปี  ( จากคู่มือดำเนินงานฯ หน้า 66 ข้อ 2 )
             5)  คณะกรรมการ ( ไม่เกิน 5 คน ) ของการเทียบระดับแบบเดิม กับ แบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน  ต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคนละคำสั่ง  แต่กรรมการจะไม่ซ้ำกันเลยหรือซ้ำกันเป็นบางคนหรือซ้ำกันทุกคน ก็ได้
             6)  การประเมินภาคประสบการณ์ในบางวิชา ผู้สมัครต้องจัดทำแฟ้มสะสมงาน  แฟ้มฯนี้
ไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยลายมือ  ( ผู้จัดทำ กรอบ/ประเด็น การทำแฟ้มฯ คือ กศน.อำเภอ/เขตที่เป็นศูนย์เทียบระดับ  โดยดูแนวทางจากคู่มือกรรมการ )

             ( อ้างอิงจาก ข้อมูลการถาม-ตอบ ของกลุ่มพัฒนา กศน. ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/Question.ppt )


        10. เช้าวันอาทิตย์ที่ 31 มี.ค.56 คุณ "Supaporn Hanger" กศน.เชียงใหม่ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า ผล n-net จะออกวันนี้ไหม

             ผมตอบว่า   ประกาศผลสอบ N-NET ภาค 2/2555 แล้ว ที่ http://www.niets.or.th/NNET/AnnouncementWeb/Login.aspx


        11. วันที่ 1-3 เม.ย.56 ผมไปเข้ารับการพัฒนา ระยะที่ 1/5 ตามโครงการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยโครงการเพื่อพัฒนากิจกรรม กศน.สู่อาเซียน  ณ สถาบัน กศน.ภาคกลาง


หมายเลขบันทึก: 531744เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2013 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2013 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

   ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันให้อ่านค่ะ

ครูที่ปรึกษาจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน ทำไมหมดรุ่นแรกไปแล้ว ยังไม่มีการโอนเงินค่าตอบแทนให้ กศน.อ้างว่ายังไม่มีระเบียบรองรับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน ให้รอไปก่อนแบบไม่มีกำหนด และหากเรารับผิดชอบนักศึกษาเกิน 25 คน เงินของนักศึกษาที่เกินไปนั้นเอาไปไหน...ครับ อยากทราบรายละเอียดที่ถูกต้องครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท