ฝึกใช้ KM ในงาน R2R ที่ศิริราช


         วันที่ 26 ก.ย.49  ผมไปเป็น "คุณอำนวย" (facilitator) ในเวที ลปรร. ประสบการณ์ในการทำหน้าที่ CF (Cluster Facilitator) ของงาน R2R ที่ศิริราช

         มี CF เข้าร่วมประชุม ลปรร. 8 คน  และเจ้าหน้าที่ของโครงการ R2R อีก 3 คน   อ. หมออัครินทร์ ผู้จัดการโครงการ R2R บอกว่านี่เป็นครั้งที่เมื่อนัดประชุมแล้วมี CF มาร่วมประชุมมากที่สุด   เขาบอกว่าเพราะเขาเอาชื่อผมไปขาย   ดึงดูดคนมาได้จริง ๆ

         การประชุมก็ทำง่าย ๆ  เป็นวง ลปรร. โดยให้ทำ storytelling,  deep listening,  dialogue, และ AI     โดยมี "คุณลิขิต" ทำหน้าที่จดประเด็น

         CF ที่มาร่วมต้องการมาเรียนหรือฝึกเทคนิคเหล่านี้   และนำไปใช้ในการทำหน้าที่ CF ของงาน R2R   และบอกคนต้องการเอาไปใช้ในการเป็นผู้จัดการโครงการวิจัย clinical trial ที่ต้องทดลองในผู้ป่วยจำนวนมากและมีเจ้าหน้าที่ของ รพ. เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

         CF ทั้ง 8 คนเป็นหมอเก่ง ๆ ทั้งนั้น  จึงมี "ความรู้แจ้งชัด" เพียบ   และหย่อนด้านวัฒนธรรมให้คุณค่า "ความรู้ฝังลึก" และขัดเขินที่จะเล่าเรื่องราวของความสำเร็จเล็ก ๆ ในเบื้องต้น   แต่ในที่สุดก็เข้าใจและเห็นคุณค่า

         ตอนทำ AAR   ก็มีการเผยออกมาว่า CF กลุ่มนี้ประชุมกันสม่ำเสมอ   แต่ใช้วิธีประชุมปรึกษาหารือแบบที่เริ่มด้วยการรายงานความคืบหน้าและปัญหา   ไม่เคยประชุมแบบเอาความสำเร็จเล็ก ๆ มาทำ storytelling   เมื่อมาลองทำในครั้งนี้   ทำให้ได้รับทราบเรื่องราวของเพื่อน CF คนอื่น ๆ ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน

         กล่าวง่าย ๆ ว่า   การ ลปรร. โดยเอาความสำเร็จเล็ก ๆ มา ลปรร. โดยเทคนิค storytelling ทำให้ทุกคนได้ความรู้ปฏิบัติในมิติที่ลึกและละเอียดอ่อนที่วิธีประชุมแบบทั่วไป (ที่เริ่มจากปัญหาหรือทุกข์) ไม่สามารถลงไปถึงความรู้ที่ลึกขนาดนี้ได้

         ผู้มาร่วมประชุมพอจะมองออกว่า   ยังมีวิธีพัฒนางานแนวอื่นนอกเหนือจากแนวที่คุ้นเคย
      - แนวที่คุ้นเคย : เริ่มจากปัญหา (ทุกข์) เอาปัญหามาอภิปรายกัน   หาทางแก้ปัญหา
      - แนวใหม่ :  เริ่มจากความสำเร็จ (เล็ก ๆ) หรือผลงาน/กระบวนการที่ภูมิใจ   เอามาเล่าเรื่องและทำความเข้าใจว่ามันบอกอะไรเรา   เพื่อหาทางขยายความสำเร็จนั้น

         ความรู้เชิงเคล็ดลับในการทำหน้าที่ CF ของกิจกรรม R2R ที่ศิริราช (ย้ำคำว่าที่ศิริราช)  คือเวลาไปคุยกับ "ลูกค้า" ที่เป็น "คุณกิจ" ของงาน R2R   ต้องอย่าไปคุยเรื่องการวิจัย   อย่าคุยเรื่อง R2R  ต้องไปคุยเรื่องงานบริการหรืองานประจำของเขาเอง   คุยว่าเขาคิดจะปรับปรุงตรงไหน   แล้วค่อย ๆ ชักจูงการสนทนามาสู่การออกแบบเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้ผลการทดลองปรับปรุงงานที่มี evidence ว่าผลการปรับปรุงงานนั้นมีความน่าเชื่อถือ   ซึ่งก็เป็นการทำ R2R

         ผมได้บทเรียนว่า  คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ R2R ต้องอย่าไปชวนคนหน้างานทำ R2R   ต้องไปคุยเพื่อช่วยให้การปรับปรุงงานของเขากลายเป็นผลงานวิชาการที่ให้คุณค่าด้านการเลื่อนระดับ  เลื่อนตำแหน่ง   หรือมีผลต่อความภูมิใจในงานของเขา

         CF ต้องไม่มีภาพลักษณ์ของการไป "ไล่จับ" ผู้ปฏิบัติงานบริการให้มาทำงาน R2R เพื่อผลงานของ CF

         ตรงกันข้าม CF ต้องมีภาพลักษณ์เป็น "ผู้ช่วยเหลือ" ทำให้ผู้ปฏิบัติงานประจำมีผลงานวิชาการโดยไม่ยาก   และช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานประจำบางคนกลายเป็นผู้มีความสุขหรือสนุกอยู่กับการสร้างผลงานวิชาการจากงานประจำ

                     

                                          CF 5 ท่าน

                      

CF อีก 2 ท่าน    ท่านที่ 8 คือ อ. นพ. อัครินทร์ นั่งติดกับผม จึงไม่ได้ถ่ายรูปไว้

                      

สองสาวเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน R2R ศิริราช  รูปนี้ถ่ายตอนสามที่ 3 เดินออกไป

วิจารณ์  พานิช
 27 ก.ย.49

หมายเลขบันทึก: 53064เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากเรียนถามท่านอาจารย์หมอค่ะว่า

การจะเป็นคุณอำนวยที่ดีนั้น ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างคะ หรือควรมีบุคลิคภาพเช่นไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท