ก่อนน้ำท่วม


การป้องกันที่ดี เริ่มต้นที่การ"เลือกเชื่อ"

ปีนี้น้ำท่วมเกิดบ่อย และรุนแรง หลายเดือนมานี้ ดูเหมือนไม่มีวันไหนที่ประเทศไทยปลอดจากน้ำท่วม หลายแห่งท่วมซ้ำซาก

ผมตั้งข้อสงสัยว่า ความเสียหายจะลดความรุนแรงหรือไม่ อาจอยู่ที่ระบบความเชื่อของเรานี่แหละ

ความเชื่อว่า "เราจะไม่โดนท่วม" หรือ "ท่วมก็ไม่หนักหรอก"

ระบบความเชื่อ มักอิงจากข้อมูลอดีตในช่วงเวลาที่อ้างอิงจากความทรงจำของตนเอง ย้อนไปเพียงไม่กี่สิบปี

"มันไม่เคยท่วมหนัก"

"มันไม่เคยท่วมมาตั้งเจ็ดสิบปีแล้ว"

"มันไม่เคยท่วมเดือนนี้"

"คราวก่อนท่วมแต่เจ็ดสิบเซ็นติเมตร"

ผลคือ.."เจ็บจุกอก" เมื่อน้ำท่วมมาถึงตัว

แนวคิดแบบนี้ เป็นการคิดเข้าข้างตัวเองลม ๆ แล้ง เพราะถ้าทายถูก ก็ได้แค่เสมอตัว ถ้าทายผิดก็ขาดทุนหนัก ซึ่งแย่กว่าการคิดเข้าข้างตัวเองในการซื้อสลากกินแบ่ง เสียอีก ที่ยังมีโอกาสชนะเจืออยู่บ้าง

ลองนึกดูว่า นักวิทยาศาสตร์ออกมาฟันธงว่าตอนนี้ภาวะโลกร้อนกำลังจะรุนแรงกลับมาเท่าสถิติสูงสุดระดับหลายแสนปี การนำข้อมูลสถิติในสเกลที่ "สั้นยิ่งยวด" มาใช้ทำนาย จึงค่อนข้าง"ไม่ติดดิน"

ความเสียหายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนอกกาย แม้อาจเลี่ยงไม่พ้นเพราะชีวิตไม่มีทางเลือก แต่อาจหามาตรการผ่อนหนักเป็นเบาได้ (ย้ายของมีค่าหรือสำคัญไปอยู่ที่สูง) ข้อสำคัญ สิ่งที่เกิดกับตัวคน อาจเกิดทั้งที่ไม่น่าจะเกิด หรืออาจรุนแรงทั้งที่ไม่น่าจะรุนแรง

ปัญหาที่เกิดกับคนที่พบเห็นบ่อยคือ ท่วมแล้วอด ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ไม่มียา ไม่มีเงินใช้ (ทั้งที่ปรกติอยู่รวย)

ตู้เย็นไม่มีไฟฟ้าหล่อเลี้ยง ของสดก็กลายเป็นของบูดไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าท่วมเกินสองวัน ตู้เย็นก็เอาไม่อยู่

อดเพราะไม่มีอาหารแห้งสำรองในบ้าน

อดเพราะไม่มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มสำรองในบ้าน

ไม่มีเงินใช้เพราะไม่คิดว่าต้องใช้เงิน เวลาน้ำท่วม ไฟฟ้าต้องดับเพราะตัดไฟทั้งเมือง กด ATM ไม่ได้ น้ำท่วมแค่ตาตุ่ม เดินลุยไปร้านค้าได้ บางแห่งยังพอมีของขาย แต่ไม่มีปัญญาซื้อ กลายเป็น"คนชายขอบ"แบบไม่เจตนา เพราะเงินหมด

ไม่มีไฟฟ้า บัตรเครดิต ไม่ว่าจะบัตรเงิน บัตรทอง บัตรทองแดง บัตรพลาตินัม บัตรดีบุก บัตร ฯลฯ ล้วนเกิดอาการ "มนตร์เสื่อม" กลายเป็นบัตรพลาสติกธรรมดาไปหมด

หลายปีก่อนที่น้ำท่วมหนัก เคยได้ยินว่าเสี่ยรถเบนซ์วิ่งลุยน้ำตามรถบรรทุก ขอแบ่งซื้อบะหมี่แห้ง ฟังแล้วอนาถ..

กลายเป็นว่า รายการสิ่งของเพื่อแก้ปัญหา จะเป็น "อาหาร น้ำ ผ้าอนามัย นมสำหรับเด็ก สำหรับบ้านแต่ละหลัง" แทนที่จะเป็น "เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ สำหรับเมืองทั้งเมือง"

 

มีวิธีการผ่อนหนักเป็นเบาวิธีหนึ่ง ที่ดูเหมือนง่ายเหลือเชื่อ คือการ "เลือกเชื่อ"

 

เลือกจะเชื่อว่า เราอาจโดนก็ได้

เลือกจะเชื่อว่า โชคดีอาจไม่เข้าข้างเราเสมอไปก็ได้

เลือกที่จะเชื่อว่า ปีนี้อาจท่วมหนักทำลายสถิติก็ได้

เป็นการแช่งตัวเองไหม ?

ถ้าผมจะขับรถทางไกล ผมตรวจสอบความพร้อมของรถเท่าที่ทำได้ เข้าอู่ตรวจสภาพจนมั่นใจ คงไม่ใช่การแช่งตัวเองให้รถเสียเป็นแน่

บางที..การเตรียมพร้อมเรื่องน้ำท่วมก่อนคนอื่น ตั้งแต่ฝนยังไม่ตั้งเค้า อาจเป็นสิ่งที่แม้ดูง่ายที่สุด แต่จะทำยากที่สุด (แม้ว่าก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดที่สุดในรอบปีก็ได้)

ปัญหาสุขภาพระดับประเทศ ที่แก้ไม่ตก มักเกิดจากเรื่องที่ดู ง๊าย..ง่าย ซะเป็นหลักทั้งนั้นแหละ อย่างเช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่เหมาะสม ไม่เสพเหล้าหรือบุหรี่ ไม่เสเพล ไม่เมาแล้วขับ

ถามเด็ก เด็กยังรู้เลย ง๊าย..ง่าย

ที่ทำยากเพราะมันดูเหมือนง่ายนี่แหละ ยิ่งดูง่าย ยิ่งแก้ยากสุด ๆ

แต่อย่างน้อย ใครมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่ำ หรือกำลังรักษาโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำชั่วคราว น่าจะลองคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังดู ส่วนตัวเองทำ-ไม่ทำก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ (อดข้าวสองสามวันไม่ถึงตายหรอก)

อย่างมากเราก็หน้าแตก ถ้าน้ำไม่ท่วม

เป็นการลงทุนที่ไม่สูง ถ้าคาดผิด ก็เสียหายน้อย (ซื้อของมาแล้วไม่ได้ใช้ทั้งหมด) ถ้าคาดถูก ก็ทำให้ลดความเสียหายจากความรุนแรงที่จะมากระทบได้มหาศาล

เพราะถ้าท่วมจริง อาจหมายถึงการถนอมชีวิตให้ผ่านช่วงวิกฤติได้อย่างราบรื่น ช่วงน้ำท่วม ถ้าคนเป็นเบาหวานต้องลุยน้ำจนได้แผล อาจต้องตัดขาทิ้งหรือช็อคตายหากติดเชื้อ การเตรียมพร้อมเหล่านี้ ทำให้ลดความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนลงน้ำเพื่อหาอาหารหรือน้ำดื่มไปได้

การเตรียมพร้อมที่ดี ดูเหมือนไม่ใช่ตอนที่แน่ใจว่า "เอ๊ะ มันท่วมแน่"

เพราะถึงตอนนั้น จะเป็นเวลาที่ไม่มีของกินเหลือให้ซื้อแล้ว...ต่อให้มีเงินก็เถอะ

ต้องรอให้น้ำลดอีกหลายวันโน่นแน่ะ ของงวดใหม่ถึงจะลุยน้ำเข้ามาได้

ถึงตอนนั้นก็"หายอยาก"พอดี

ในคืนที่ทุกคนคาดว่าท่วมแน่ จะเป็นคืนที่อาหารแทบทุกรายการจะไม่มีเหลือขายแม้แต่ในห้างใหญ่ จะมีแต่คิวคนยืนเข้าแถวรอ แน่นขนัดยิ่งกว่ามหกรรมแจกของฟรี

นี่ไม่ใช่คำพยากรณ์ แต่เป็นคำบอกเล่า เพราะผมเคยเจอมากับตัว กล้ายืนยันตรงนี้ คิวยาวแบบต้องรอสองชั่วโมง ไม่เจอเองไม่ซาบซึ้งหรอกครับ

ถามว่าถ้าคนส่วนใหญ่เตรียมพร้อมแล้วจะเป็นอย่างไร ?

สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือทรัพยากรส่วนใหญ่ แทนที่จะต้องทุ่มเรื่องแก้ปัญหาส่งเสบียง ก็สามารถทุ่มเรื่องการจัดการระบบการจัดการมหภาค เช่น ระบบพนังกั้นน้ำ ระบบสาธาณูปโภคสำรอง ระบบพลังงานสำรอง ระบบระบายน้ำ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้สามารถย่นระยะเวลาความเสียหายลงมาได้อีก เพราะไม่ต้องวอกแวกเรื่องแก้ปัญหาวิกฤติปากท้องมากนัก 

ในยามวิกฤติ ทรัพยากรทุกอย่างมีค่าหมด โดยเฉพาะกำลังคน เมื่อใช้เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องที่ป้องกันได้ ก็จะทำให้ไม่เหลือไปใช้แก้ไขปัญหาที่แก้ไขได้อีก

ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบนี้ เมื่อน้ำท่วมมาจริง การช่วยเหลือก็วนเวียนตั้งต้นว่า จะจัดการแก้ปัญหาปากท้องอย่างไร (ทำอย่างไรให้คนทั้งเมืองได้กินอาหารมื้อต่อไป) แทนที่จะเป็น จะจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไร (ทำอย่างไรจะระบายน้ำได้เร็ว ทำอย่างไรจะเข้าถึงคนเจ็บ คนที่เสียหายหนักรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ ฯลฯ)

 

หมายเลขบันทึก: 52769เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2006 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้ว คิดตามเรื่อยๆ ก็เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆค่ะ

ปีที่แล้วน้ำท่วมเชียงใหม่ซ้ำซากสี่ครั้ง...ครั้งแรกมีวิธีคิดแบบอาจารย์ว่าคือ ไม่มั้งไม่ท่วมหรอก ผลคือเสียหายมากค่ะ พอครั้งที่สอง..ก็..คงเหมือนครั้งแรก...เสียหายอีก...แต่เรียนรุ้ทิศทางน้ำ จังหวะน้ำจะขึ้นฯลฯ พอครั้งที่สาม..ไม่ไหวล่ะ จัดการก่อนเลย...เฝ้าสังเกตภาวะธรรมชาติของน้ำท่วมเสียงหมาเห่า(เวลาน้ำท่วมมาหมาจะเห่าส่งกันเป็นทอดๆค่ะ) มดขนไข่ ความสูงของหอยทากที่ไต่ขึ้นต้นไม้..ฯลฯ ก็เตรียมการณ์ทัน ตอนแรกคนที่บ้านยังไม่เชื่อถือคิดว่าคงกั้นไม่อยู่หรอกแต่พอเห็นผลสำเร็จ ก็เห็นด้วย..ครั้งที่ สี่เลยสบายมาก...

ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่า ไม่ต้องเชื่อคำเขาลือให้มาก เช่นลือว่าไม่ท่วมหรอก แต่ให้ฟังระดับน้ำจากกรมอุตุ และฟังธรรมชาติ..แบบเหลียวมองรอบกาย..ถึงจะช่วยได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท