beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

คนไทย กับการอ่าน


ผมเห็นว่าคนไทยโดยเฉลี่ยนั้น ยังอ่านหนังสือกันน้อย

    วันก่อนเขียนเรื่องคนไทยกับการเขียนบันทึกไปแล้ว วันนี้มาว่าเรื่องคนไทยกับการอ่านกันบ้าง ผมเห็นว่าคนไทยโดยเฉลี่ยนั้น ยังอ่านหนังสือกันน้อย

      นายกทักษิณนั้นเป็น Presenter ของนักอ่านที่ดีคนหนึ่ง และในเครือข่ายของ สคส. ผมสังเกตเห็นอาจารย์หมอวิจารณ์และดร.วิบูลย์ของผม ก็ชอบเอาหนังสือมาแนะนำ คนแนะนำหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือ (และคนอ่านหนังสือมากควรเขียนหนังสือเก่งด้วย..จริงหรือไม่ ผมว่าน่าจะจริง และเขียนหนังสือได้เป็นธรรมชาติด้วย...แต่ไม่ทุกคน)

     บางคนอาจจะอยากเถียงผมว่า ในมหาวิทยาลัยหรือในห้องสมุดมีคนอ่านหนังสือกันเพียบเลย..  ข้อนั้นผมคงไม่เถียง ผมสังเกตเห็นว่าคนที่อยู่ในเมืองอาจจะอ่านหนังสือเฉลี่ยกันมากหน่อย  แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในชนบทแล้วอ่านหนังสือกันน้อยมาก

     ถ้าเราอ่านหนังสือน้อย ความคิดเราไม่กว้างไกล ก็ตามคนอื่นเขายากครับ.....

     ผมเคยเดินทางไม่บ่อยนัก แต่เดินทางมาเกือบทุกแบบ รถยนต์ รถโดยสาร (ชั้น 1-3) รถไฟ (ชั้น 1-3), เครื่องบิน ถ้าพบฝรั่งนั่งรอโดยสารอยู่ จะพบว่าเขามีหนังสือมาอ่าน ถ้าพบ 10 คน จะอ่านหนังสือเกิน 5 คน (ที่ไม่ได้อ่านเพราะเขาคุยกับคนอื่นอยู่ แต่ถ้าอยู่คนเดียวเขาก็จะอ่าน)

     ถ้าอยู่บนยานพาหนะ ที่ต้องใช้เวลาเดินทางนาน ๆ เขาก็จะอ่านหนังสือ

     แต่ถ้าเป็นคนไทยแล้ว โอกาสที่เห็นอ่านหนังสือบนยานพาหนะหรือระหว่างรออะไรก็ตาม ผมคำนวณดูว่า ไม่เกิน 10 % หรอกครับ........       

ทำอย่างไร? จึงจะทำให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน

เพราะการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต.....ครับ

หมายเลขบันทึก: 5264เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2005 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
จากในอดีต ถึงปัจจุบัน ดิฉันเห็นว่ามีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะคะ อาจารย์ แม้ว่าจะน้อยแต่มันเหมือนการจุดเทียนต่อๆ กันไป เริ่มจากที่บ้านของทุกคน อ่านให้ลูกหลานเห็นว่าเราอ่านแล้วสนุก เดี๋ยวเขาก็อ่านตามเองแหล่ะค่ะ นั่นเป็นวิธีการรณรงค์ที่ยั่งยืนที่สุด ในความเห็นของดิฉันค่ะ 

คนไทยในชนบทอ่านหนังสือกันน้อย  ก็เพราะวิถีชีวิตของเขาพึ่งพาหนังสือในการดำรงชีวิตน้อยกว่าคนไทยในเมือง เขาสามารถเรียนรู้และฝึกฝน จากคำสอนคำบอกเล่า  จากธรรมชาติ และจากสังคมได้โดยตรง      ดังนั้น การจะอ่านหนังสือหรือไม่  จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ต่อเมื่อเขาเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง  ความจำเป็นที่เขาจะต้องอ่านหนังสือมีมากขึ้น   ไม่เพียงเพื่อปรับปรุงอาชีพของเขาเอง แต่เพื่อให้เอาตัวรอดได้ในสังคม

หากชนบทเปลี่ยนไปในทางพึ่งพาหนังสือมากขึ้น  คนไทยในชนบทก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องอ่านหนังสือมากขึ้น 

การสร้างวัฒนธรรมของการอ่านไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ตามความต้องการและนโยบายของใคร   หรือให้ใครมาเป็นพรีเซ็นเตอร์  แต่มันจะเกิดขึ้นเมื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้นั่นด้วยตัวของมันเอง 

 

ขอคุณผู้แสดงข้อคิดเห็นทุกท่านครับ เป็นเวที ลปรร.และมีมุมมองที่ต่างมุมน่าสนใจทั้งนี้นครับ

     ผมแย้งอาจารย์อีกนิด (รู้สึกว่าจะบ่อยช่วงนี้) ในชนบทก็มีคนอ่านหนังสือเยอะนะครับ แถวบ้านอาชีพกรีดยางจะว่างในช่วงบ่าย-ค่ำ แต่เขาจะนอนเร็วเพื่อตื่นตอนดึก (เขาตื่นผมพอเริ่มคิดจะนอน) เขาจะได้อ่านหนังสือกัน โดยหนังสือที่บ้านผมจะถูกยืมไปบ่อยมาก (คนยืมเขียนลงสมุดไว้ว่าเอาเล่มไหนไป) มีหลาย ๆ รส โดยเฉพาะหนังสือแจกจากส่วนราชการผมเก็บมาหมด เดี่ยวผมจะพูดเชิงเศรษฐศาสตร์ ด้วยผมเชื่อว่าการอ่านหนังสือเป็นได้ทั้ง Supplier induce Demand และกลับกันได้ทั้ง 2 ทางครับ จึงได้เปิดให้ทุกคนมาหาหนังสืออ่านได้ (ผู้ใหญ่ฯกำลังหาที่อยู่ เพราะผมบอกจะบริจาคให้ทั้งหมด ถ้าพิสูจน์ให้ผมเชื่อว่าจะมีการดูแลรักษากันดี ๆ และตอนนี้เยาวชนที่เรียน กศน. ก็เป็นเจ้าภาพในการเรียนรู้วิธีการที่จะเป็นบรรณารักษ์ชุมชนอยู่ครับ แต่ไม่ทราบจะสำเร็จหรือไม่ นึกขึ้นได้ พรุ่งนี้จะแวะถามข่าวผู้ใหญ่เสียเลย)
     กรณีในเมืองผมไปประชุมบ่อย ไ ที่ กทม. ว่างก็แวะไปหาเพื่อนบ้าง เคยพูดถึงเรื่องนี้ เขาบอกว่า “ถ้ายังขับรถไปทำงานเอง หรือนั่งรถเมล์ (ไม่มีคนขัยรถให้) อีกนาน หนังสือพิมพ์ได้ได้อ่านบ้างที่ทำงานเท่านั้น กลับถึงบ้านเหนื่อยกับการเดินทางก็นอน แต่ที่แน่ ๆ คือฟังวิทยุนี่แหละที่มากที่สุดรับจากทางนี้มาก แต่ไม่เหมือนจากหนังสือนะเพราะเชื่อยากในบางเรื่อง”
     ประเด็นนี้ควรจะต้องหาข้อมูลอย่างจริงจัง เพราะบริบทที่ไม่เหมือนกันคงจะให้นิสัยการอ่านที่แตกต่างกัน (ไม่ใช่สมมติฐานนะ...ฮา)

    

     แต่ตอนนี้สิ่งที่จะทำให้ชนบทไม่อ่านหนังสือก็คือ VCD ครับ ถูกมาทั้งแผ่น ทั้งเครื่อง อันนี้แหละที่ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่มีร้านให้เช่าถูก ๆ (หนังเรื่องละ 10 บาท) เปิดขึ้นในชุมชนใกล้ ๆ บ้านผม

ข้อคิดเห็นที่มาจากการสังเกตจากต่างที่ต่างทางกัน ผมว่าเป็นความจริงครับ...ช่วยกันแสดงความคิดเห็น...ลปรร.สนุกดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท