สศค. รับสภาพ "จีดีพี" ร่วง "มะกัน-ยุโรป" อ้างเหตุปฏิวัติ เลิกหนุนอุดหนุนเศรษฐกิจไทย หวังพึ่งนโยบายการคลังกู้ชาติ


สศค. รับสภาพ "จีดีพี" ร่วง "มะกัน-ยุโรป" อ้างเหตุปฏิวัติ เลิกหนุนอุดหนุนเศรษฐกิจไทย หวังพึ่งนโยบายการคลังกู้ชาติ
กระทรวงการคลัง เตรียมทบทวนตัวเลขจีดีพี ปี 2549-2550 ใหม่จากเป้าเดิม 4.5% และ 3.9% ตามลำดับ อ้างมีทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามากระทบ สถานการณ์การเมืองเริ่มชัดเจน ราคาน้ำมันโลกลด ดอกเบี้ยทรงตัว หวั่นสหรัฐฯ ยุโรป ตั้งแง่อ้างเหตุการณ์ปฏิวัติเล่นงานไทย เผยตัวการบริโภคและการลงทุนเอกชนลดลงตัวส่งผลให้เศรษฐกิจเดือนสิงหาคมชะลอตัว โชคดีได้ส่งออกช่วยนายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังจะมีการทบทวนตัวเลขอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2549 และ 2550 ใหม่อีกครั้ง จากเดิม         ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 4.5% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน อาทิ สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปี 2550 สามารถประกาศใช้ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์เดิม ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก   เริ่มปรับตัวลดลง โดยเดือนสิงหาคม 2549 อยู่ที่ 69 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราดอกเบี้ยในโลกเริ่มทรงตัวคือในอัตรา 5.25%   "ส่วนตัวเลขจีดีพีในปีนี้และปีหน้าจะออกมาเป็นเท่าใด สศค. จะต้องประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ อีกครั้ง ว่าจะมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบอีกหรือไม่ โดยจะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีปี 2549 อย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่ขณะนี้ยังยืนยันตัวเลขจีดีพีปี 2549 ว่าจะขยายตัวที่ 4.5% เท่าเดิม"นายสมชัย กล่าวสำหรับปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในสหภาพยุโรป ไม่เข้าใจและไม่ชอบการปฏิรูประบอบการปกครองของประเทศไทย โดยขณะนี้ กำลังติดตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด  ดังนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องชี้แจงและอธิบายให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเข้าใจ   นายสมชัย ยังกล่าวว่า การที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2550 จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนมกราคม 2550 จากเดิมที่คาดว่าจะประกาศใช้ได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2550 นั้น จะส่งผลให้เบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยจะสามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง  ที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2550 ขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงยังทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและแข็งแกร่งมากขึ้น  "ในปี 2550 นโยบายการคลังถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ โดยจะมีการจัดทำนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล แต่จะขาดดุลจำนวนเท่าใดนั้น ต้องทำการหารือกับสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง ภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้" รองผอ.สสค. กล่าว นอกจากนี้นายสมชัย ยังเปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังโดยรวมในเดือนสิงหาคม 2549 ก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิรูปการปกครอง ว่า โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ 73.2 % ลดลงจากเดือนก่อนที่ 74.2% จากการที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงโดยการบริโภคประชาชน ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้


จากภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ
9.1% ลดลงจาก 13.9% ในเดือนสิงหาคม รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน
ด้านมูลค่าการส่งออกเดือนสิงหาคมมีมูลค่าทั้งสิ้น 11,857 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.8 % ซึ่งเป็นการขยายเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์   ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว 1.9% ด้านการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐก็ขยายตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 197.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9%  ขณะที่รัฐบาลก็ยังสามารถทำรายจ่ายงบประมาณได้สูงถึง 116.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% ส่วนภาคการเกษตร พบว่า การผลิตเริ่มชะลอลง ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านด่านท่าอากาศยานกรุงเทพก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.2% โดยมีจำนวนประมาณ 8.31 แสนคน

แนวหน้า  ผู้จัดการรายวัน  ข่าวสด  29  ก.ย.  49

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 52602เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท