ก.ค.ศ. หวังพึ่ง ครม.ใหม่ทบทวนเงินพิเศษให้ครู


ก.ค.ศ. หวังพึ่ง ครม.ใหม่ทบทวนเงินพิเศษให้ครู
ตามที่กรมบัญชีกลางได้วินิจฉัยว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีสิทธิได้รับเงินวิทยฐานะตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือนเพิ่มอีกตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2547 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งตาม พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่ม      เป็นจำนวนเท่ากับอัตราเงินประจำตำแหน่งหรือเงินค่าตอบแทนพิเศษนั้น นายนิราศ สร่างนิทร เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้คณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.  จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อ ก.ค.ศ. ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับสิทธิในเงินค่าตอบแทนพิเศษตามมติ ครม. เหมือนที่ผ่านมา เพราะเดิมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีเงินประจำตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2523  ก็มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังอยู่แล้ว  ดังนั้นถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อจากเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายเดิม มาเรียกว่าเงินวิทยฐานะตามกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547     ก็ควรให้ครูได้รับสิทธิตามที่เคยได้รับอยู่เดิม ซึ่งหากติดขัดที่ระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งระบุเฉพาะผู้ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งก็ควรมีการปรับแก้ระเบียบของกระทรวงการคลังให้ครอบคลุมถึงเงินวิทยฐานะด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. กำลังเตรียมทำคำชี้แจงเสนอ ครม. ชุดใหม่ เพื่อขอให้ทบทวนการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวให้เหมือนกับข้าราชการพลเรือน โดยจะเน้นย้ำให้เห็นว่าในหลักการเดิมของระเบียบกระทรวงการคลังนั้น  ผู้ที่จะได้เงินค่าตอบแทนพิเศษตามมติ ครม. ก็มีข้าราชการครูรวมด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น แม้การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูจะเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็นเงินวิทยฐานะแต่ก็ยังคงเป็นข้าราชการครูอยู่  การเปลี่ยนชื่อเรียกเงินที่ได้รับจึงไม่ควรทำให้สิทธิของข้าราชการครูต้องหายไป แหล่งข่าวจากสำนักงาน ก.ค.ศ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้าราชการครูที่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษเพียง หลักหมื่นคนเท่านั้น และหาก ครม. ไม่ทบทวนหรือให้ความเห็นชอบตามที่ ก.ค.ศ. เสนอก็จะส่งผลกระทบต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษมาตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็น      วันประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ที่ครูทุกคนได้เข้าสู่ระบบ      วิทยฐานะในวันดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อไปก็จะทำให้ผู้ที่เคยได้รับเงินส่วนนี้อยู่เดือดร้อนอย่างมาก เพราะแต่ละคนก็จะมีรายจ่ายประจำ   อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า ครม.จะพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ให้ แต่ถ้าหากจะยกเลิกก็ควรจะยกเลิกระเบียบดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งจะประหยัดเงินได้เท่ากับจำนวนเงินประจำตำแหน่งที่รัฐต้องจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้

เดลินิวส์  ไทยรัฐ  สยามรัฐ  มติชน  29  ก.ย.  49

คำสำคัญ (Tags): #ครู
หมายเลขบันทึก: 52599เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท