ความต้องการและบทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร


ความต้องการและบทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตรในภาคใต้

ความต้องการและบทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงาน

เคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตรในภาคใต้

--------

     การวิจัย เรื่อง ความต้องการและบทบาทหน้าที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตรในภาคใต้  มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความต้องการของเกษตรอำเภอ  เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร และคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตร และเปรียบเทียบความต้องการและบทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  ตลอดจนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  ช่วงเวลาวิจัย ระหว่างสิงหาคม  2546 - ธันวาคม 2546

     ผลการวิจัย สรุปได้ ดังนี้

     1.  บทบาทของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตร  มี  5 ด้าน  ได้แก่

          1.1  การสร้างและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ที่สำคัญ  ได้แก่ การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน  การกระตุ้นการรวมกลุ่ม  การถ่ายทอดความรู้ เป็นต้น

          1.2  การส่งเสริมการประหยัดและสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ที่สำคัญ  ได้แก่  การถ่ายทอดความรู้การประกอบอาหาร  การถนอมอาหารและแปรรูปอาหาร  เป็นต้น

          1.3  การส่งเสริมการประกอบธุรกิจ (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือวิสาหกิจชุมชน)  ที่สำคัญ ได้แก่  การถ่ายทอดความรู้มาตรฐานสินค้า  ควบคุมการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน  ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์  ประสานงานแหล่งทุน และตลาด  เป็นต้น

          1.4  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  ที่สำคัญ  ได้แก่  ส่งเสริมการผลิตอาหารเพื่อโภชนาการ  ส่งเสริมกองทุนอาหารหมู่บ้าน  การปรับปรุงบ้านเรือน  ส่งเสริมการออมทรัพย์ เป็นต้น

           1.5  การส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่สำคัญ ได้แก่  ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแปรรูป  ถนอมอาหาร และหัตถกรรม  เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น  แนะนำการประกอบอาหารจากผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ เป็นต้น

     2.  ความต้องการและบทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตร

          2.1  เกษตรอำเภอ มีความต้องการให้เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร ปฏิบัติงานในการส่งเสริมการเกษตรอยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปน้อย  ได้แก่  1) การส่งเสริมการประกอบธุรกิจ  2) การสร้างและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  3) การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกษตร  4) การพัฒนาคุณภาพชีวิต  5) การส่งเสริมการประหยัดและสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

          2.2  เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร มีความต้องการปฏิบัติงานการส่งเสริมการเกษตร ในระดับมาก  3 ด้าน  เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย  ได้แก่  1)  การสร้าง และพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  2) ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ  3) การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          2.3  คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  มีความต้องการให้เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตร  ระดับมาก  4 ด้าน  เรียงลำดับจากมากไปน้อย  ได้แก่  1) การส่งเสริมการประกอบธุรกิจ  2)  การสร้างและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3)  การพัฒนาคุณภาพชีวิต

          2.4  บทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานส่งเสริมการเกษตร  ระดับมาก  มี 1 ด้าน  ได้แก่  การสร้างและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ที่เหลืออีก  4 ด้าน  อยู่ระดับปานกลาง

          2.5  ทั้งเกษตรอำเภอ  เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร และคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ต้องการให้เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  ปฏิบัติงานในการส่งเสริมการเกษตร  โดยภาพรวม  ทั้ง  5 ด้าน  อยู่ในระดับมาก  แต่เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร ปฏิบัติงานได้จริงโดยภาพรวม ทั้ง 5 ด้าน   อยู่ในระดับปานกลาง  โดยความต้องการเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่งเสริมการเกษตรของคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  เปรียบเทียบกับบทบาทที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

      3.  ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร

          3.1  เกษตรอำเภอ  มีข้อเสนอแนะ  1) เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  ควรปฏิบัติงานประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ (ร้อยละ 89.18 ของผู้ตอบ)  2) พัฒนานักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล ให้มีความรุ้ความเข้าใจงานเคหกิจเกษตร (ร้อยละ 6.76 ของผู้ตอบ)

          3.2 เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร มีข้อเสนอแนะ  1) เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร ควรปฏิบัติประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ  รับผิดชอบงานเคหกิจเกษตรในกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเพียงด้านเดียว  โดยไม่ต้องรับผิดชอบศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ร้อยละ 71.64 ของผู้ตอบ)  2) กรมส่งเสริมการเกษตร ควรอบรมเพิ่มพูนความรู้แก่เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรให้มากขึ้น (ร้อยละ 11.94 ของผู้ตอบ)  3) กรมส่งเสิรมการเกษตร ควรหาวิธีปรับตำแหน่งเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรเป็นนักวิชาการเคหกิจเกษตร (ร้อยละ 10.44 ของผู้ตอบ)  4) กรมส่งเสริมการเกษตร ควรวางยุทธศาสตร์การทำงานด้านกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้ชัดเจนและต่อเนื่อง (ร้อยละ 5.79 ของผู้ตอบ)

          3.3  คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  มีข้อเสนอแนะ  1) เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร ควรวางแผนออกเยี่ยมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้ครบทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด (ร้อยละ 71.21 ของผู้ตอบ)  2) เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  ควรร่วมประชุมประจำเดือนกับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุกกลุ่ม (ร้อยละ 12.12 ของผู้ตอบ)  3)  เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร ควรถ่ายทอดความรู้ด้านเคหกิจเกษตรให้กลุ่มแม่บ้านเกษตกรให้มากขึ้น (ร้อยละ 9.09 ของผู้ตอบ)

          3.4  ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ  1) ควรมอบหมายให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร  ทำหน้าที่ส่งเสริมเคหกิจเกษตรประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ  กรณีตำแหน่งดังกล่าวว่างลง  ควรบรรจุวุฒิคหกรรมศาสตร์ทดแทน  2) สำนักงานเกษตรอำเภอ ควรแบ่งหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร(วิสาหกิจชุมชน) ระหว่างนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร (เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร) กับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  เช่น  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล ควรรับผิดชอบการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (วิสาหกิจชุมชน)  ส่วนนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร (เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร)  รับผิดชอบด้านการถ่ายทอดความรู้เคหกิจเกษตร เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 52588เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
  • หากทุกงานได้มีจุดเริ่มต้นหรืออย่างน้อยก็มาจากเสียงของลูกค้าเช่นนี้ คงทำงานกันสนุกนะครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท